xs
xsm
sm
md
lg

2 นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันได้รางวัลโนเบล จากผลงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, นวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (ซ้าย) และ พอล โรเมอร์ (ขวา) 2 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้ชนะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2018 </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ – 2 นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ (William Nordhaus) และ พอล โรเมอร์ (Paul Romer) ผู้บุกเบิกในเรื่องนำเอาโมเดลการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบตะวันตกมาปรับใช้โดยมุ่งเน้นที่พวกประเด็นทางสิ่งแวดล้อม และการแบ่งสรรกระจายผลประโยชน์ต่างๆ ของเทคโนโลยี เป็นผู้ชนะได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2018 เมื่อวันจันทร์ (8 ต.ค.)

การมอบรางวัลประจำปีนี้ให้แก่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองคนร่วมกัน เท่ากับเป็นการหันสปอตไลต์เข้าไปสู่การอภิปรายระดับโลกเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยที่ราชบัณฑิตสถานทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน (Royal Swedish Academy of Sciences) แถลงว่า ผลงานของทั้งคู่กำลังช่วยเหลือให้คำตอบแก่คำถามพื้นฐานต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการในการส่งเสริมสนับสนุนความมั่งคั่งรุ่งเรืองในระยะยาวที่ยั่งยืน

โรเมอร์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ของวิทยาลัยธุรกิจสเติร์น (Stern School of Business) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดจากผลงานของเขาว่าด้วยการเติบโตขยายตัวซึ่งมาจากภายใน (endogenous growth) อันเป็นทฤษฎีที่มีรากเหง้าอยู่ที่การเน้นลงทุนในด้านความรู้และทรัพยากรมนุษย์ เขาบอกว่าเขารู้สึกเซอร์ไพรซ์ที่ได้รับรางวัลคราวนี้ แต่ก็แสดงความคิดเห็นในเชิงบวก

“ผมคิดว่าปัญหาหนึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ก็คือ มีผู้คนจำนวนมากคิดว่าการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงลิ่วและมีความยากลำบากเหลือเกิน จนกระทั่งพวกเขาก็เลยเอาแต่เพิกเฉยละเลยเรื่องนี้ไปเสีย” เขากล่าวต่อที่ประชุมแถลงข่าวผ่านทางโทรศัพท์ “เรานั้นมีความสามารถอย่างเต็มที่ในการสร้างความก้าวหน้าชนิดเป็นเนื้อเป็นหนังในเรื่องการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และก็สามารถทำเช่นนั้นได้โดยไม่ต้องมีการทอดทิ้งโอกาสที่จะประคับประคองการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจเอาไว้”

เขาบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า เขาได้เตรียมความคิดมานานแล้วว่าเขาจะไม่เสาะแสวงหาทางชนะรางวัลนี้ เพราะการทำเช่นนั้นสามารถที่จะ “ฉีกคุณเป็นชิ้นๆ” ได้ ในตอนแรกทีเดียวเขาไม่ได้รับโทรศัพท์จากสวีเดนเมื่อตอนเช้าตรู่ซึ่งจะแจ้งให้เขาทราบว่าเขาได้รับรางวัลนี้ จากนั้นเมื่อเขาติดต่อโทรศัพท์กลับไป และถูกถามว่าเขาจะรับรางวัลนี้หรือไม่
<i>พอล โรเมอร์ หนึ่งในสองผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ พูดในที่ประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นที่วิทยาลัยธุรกิจสเติร์น แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เมื่อวันจันทร์ (8 ต.ค.) </i>
“ผมไม่เคยต้องการรางวัลนี้เลย แต่ว่า แน่นอนครับ ผมจะรับรางวัลนี้!” โรเมอร์เล่าทบทวนคำตอบของเขาที่ให้กับทางสวีเดน ณ การประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นอีกนัดหนึ่งในเวลาต่อมา ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

หลายชั่วโมงก่อนหน้าการประกาศผู้ชนะรางวัลนี้ คณะกรรมการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ ได้ออกรายงานสำคัญระบุว่า สังคมทั่วโลกจะต้องยอมเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั้งในวิธีการบริโภคพลังงาน, การเดินทาง, และการก่อสร้าง เพื่อหลีกหนีให้พ้นผลอันเลวร้ายที่สุดของภาวะโลกร้อน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้กล่าวซ้ำแล้วซ้ำอีกอ้างว่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นเพียงการโกหกหลอกลวง และปีที่แล้วเขายังประกาศจะนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส อันเป็นข้อตกลงระดับโลกเมื่อปี 2015 ซึ่งมุ่งต่อสู้กับปัญหานี้ โดยบอกว่าข้อเรียกร้องให้ตัดลดการปล่อยไอเสียคาร์บอนตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับนั้นเป็นเรื่องที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป

นอร์ดเฮาส์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเยล เป็นบุคคลแรกซึ่งสร้างโมเดลเชิงปริมาณขึ้นมา ที่มุ่งบรรยายให้เห็นการส่งผลกระทบซึ่งกันและกันระหว่างเศรษฐกิจกับภูมิอากาศ ประกาศมอบรางวัลของราชบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์สวีเดนระบุ

“เราหลับไม่รู้เรื่องเลย และเมื่อเราตื่นขึ้นมา ผมก็ได้รับโทรศัพท์แสนดีจากลูกสาวของผม” นอร์ดเฮาส์บอกกับรอยเตอร์ ณ บ้านพักของเขาในเมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต “เธอบอกว่า ‘พ่อ พ่อได้รางวัล มันดีเยี่ยมเลย’ นี่เป็นเสียงโทรศัพท์ที่ยอดเยี่ยมจริงๆ มันเป็นวิธีการได้รับรู้ที่ดีเยี่ยม”
<i>วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเยล พูดโทรศัพท์กับหลานๆ ภายหลังได้รับแจ้งว่าได้รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปีนี้ ณ บ้านพักของเขาในเมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต  เมื่อวันจันทร์ (8 ต.ค.) </i>
นอร์ดเฮาส์บอกว่าเขาได้รับรางวัลจากผลงานของเขาว่าด้วยการใช้ภาษีคาร์บอนเป็นกลไกสำหรับการลดโลกร้อน “มัน (รางวัลนี้) สำหรับผลงานว่าด้วยปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” เขาพูด “ผมทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลาเกือบ 40 ปี และถึงเวลาที่สุกงอมแล้ว”

คำถามใหญ่ของโลก

เปอร์ สตรอมเบิร์ก ประธานคณะกรรมการรางวัลโนเบลเศรษฐศาสตร์ บอกกับรอยเตอร์ว่า การมอบรางวัลครั้งนี้เป็นการให้เกียรติแก่การวิจัยใน “คำถามใหญ่ระดับโลก 2 คำถาม” ได้แก่ จะใช้วิธีอย่างไรในการรับมือกับผลกระทบด้านลบของการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งมีต่อภูมิอากาศ และ จะใช้วิธีอย่างไร “เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้จะทิ้งความมั่งคั่งรุ่งเรืองให้แก่ทุกๆ คน”

โรเมอร์ได้แสดงให้เห็นว่า พลังต่างๆ ทางเศรษฐกิจสามารถกำกับควบคุมความเต็มอกเต็มใจของพวกบริษัทต่างๆ ในการสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร สามารถช่วยเหลือให้บางสังคมมีการเติบโตรวดเร็วกว่าสังคมอื่นๆ หลายเท่าตัวได้อย่างไร ด้วยความเข้าอกเข้าใจว่าเงื่อนไขด้านตลาดเงื่อนไขใดบ้างซึ่งเอื้ออำนวยต่อการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถทำกำไรได้ สังคมก็สามารถออกแบบนโยบายต่างๆ ซึ่งจะส่งเสริมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ประกาศของราชบัณฑิตยสถานทางวิทยาศาสตร์ของสวีเดนกล่าวในอีกตอนหนึ่ง

ตัวโรเมอร์นั้นไม่ได้อยู่แต่ภายในโลกวิชาการเท่านั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขาลาพักจากวิทยาลัยสเติร์น และไปทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์กับเป็นรองประธานอาวุโสอยู่ที่ธนาคารโลกประมาณปีเศษ ก่อนจะลาออกเมื่อต้นปีนี้

ผลงานของเขาในเรื่องทฤษฎีว่าด้วยการเติบโตขยายตัวซึ่งมาจากภายใน ไม่ได้เป็นที่ยอมรับกันไปหมดทุกฝ่าย

พอล ครุกแมน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อหลายปีก่อนหน้านี้ เคยกล่าวกับหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ในปี 2013 ว่า มีเนื้อหาของทฤษฎีนี้มากเกินไปซึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับ “การสร้างสมมุติฐานต่างๆ ว่าด้วย หลายๆ สิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ (unmeasurable things) มีการส่งผลกระทบกระเทือนต่อ หลายๆ สิ่งที่ไม่สามารถวัดได้อันอื่นๆ (other unmeasurable things) อย่างไรบ้าง”


กำลังโหลดความคิดเห็น