xs
xsm
sm
md
lg

‘แนวความคิดจักรวรรดินิยมแบบงี่เง่า’ของสหรัฐฯ คือตัวการก่อสงครามการค้ากับจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กองบรรณาธิการเอ เชียไทมส์

<i>โดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ในอาการปลาบปลื้มยินดีกับ สตีฟ แบนนอน ที่ปรึกษาอาวุโสของเขา ระหว่างพิธีที่ทรัมป์สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2017 </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

‘Stupid imperialist thinking’ by US caused China trade war
By Asia Times staff
05/10/2018

นักเขียนจีนผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง “Unrestricted Warfare” ซึ่งในแง่หนึ่งกล่าวได้ว่าเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดความตึงเครียดที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ออกมากล่าวประณามทำเนียบขาวว่าตีความผลงานของเขาอย่างผิดพลาด

ในแง่หนึ่ง หนังสือของจีนเล่มนี้เองที่จุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าขึ้นมา ทั้งนี้หลังจากอ่านเรื่อง “Unrestricted Warfare” (สงครามที่ไม่มีการจำกัดขอบเขต) เล่มนี้แล้ว สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) (ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ทางการเมืองประจำทำเนียบขาวระดับหัวหน้านักยุทธศาสตร์ ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนที่แรงกดดันด้านต่างๆ จะทำให้เขาลาออกไป กระนั้นผู้สังเกตการณ์จำนวนมากก็เห็นว่าเขายังมีอิทธิพลทางความคิดต่อทรัมป์ไม่ใช่น้อย) ก็บรรลุถึงข้อสรุปที่ว่า จีนกำลังรณรงค์ทำสงครามทางเศรษฐกิจมุ่งเล่นงานสหรัฐฯอยู่

อย่างไรก็ดี เฉียว เหลียง (Qiao Liang) นักยุทธศาสตร์การทหารซึ่งเป็น 1 ใน 2 นักเขียนที่ร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนี้ กล่าวว่า แบนนอนผิดแล้วที่คิดอย่างนั้น

ขณะให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ในลักษณะที่เหมือนระดมยิงจรวดเอ็กโซเซต์ทางคำพูดเข้าใส่พวกแนวคิดแข็งกร้าวในวอชิงตัน เขาแจกแจงว่า “การที่สหรัฐฯกำลังเสื่อมทรุดอยู่ในเวลานี้นั้น เป็นเพราะพวกเขามีปัญหามากมายหลายอย่างซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นสิ่งซึ่งพวกเขาสร้างขึ้นมาเอง แต่พวกเขากลับหันมาประณามว่ามันเป็นความผิดของจีน ... เพราะพวกเขากำลังใช้แนวความคิดแบบจักรวรรดินิยมที่งี่เง่าและล้าสมัยมาตัดสินวินิจฉัยจีน” (ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.scmp.com/news/china/politics/article/2166969/chinese-military-strategist-who-inspired-steve-bannon-attacks)

หนังสือ Unrestricted Warfare ฉบับที่เป็นภาษาจีนนั้นตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่ปี 1999 และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษในอีก 10 ปีต่อมา เมื่อแบนนอนได้อ่านมันในปี 2010 หนังสือเล่มนี้ก็ได้สร้างความประทับใจให้เขามาก

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ เฉียว ซึ่งเป็นนายทหารปลดเกษียณจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กับ หวัง เซียงซุ่ย (Wang Xiangsui) ผู้ที่ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเป่ยหัง (Beihang University) หนังสือเล่มนี้เสนอสมมุติฐานหลักที่เรียบๆ ง่ายๆ ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร

พวกเขาบอกว่าเนื่องจากไม่มีประเทศใดหรอกที่จะสามารถท้าทายแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯโดยอาศัยเครื่องมือและหนทางต่างๆ ตามแบบแผนดั้งเดิม ดังนั้นทางเลือกที่ยังเหลืออยู่เพียงประการเดียวจึงได้แก่ การดึงแข้งดึงขาอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกรายนี้ด้วยสงครามทางเศรษฐกิจและสงครามทางข้อมูลข่าวสาร

“ยุทธศาสตร์ (ของฝ่ายจีน) โดยองค์รวมคือ จะต้องหลีกเลี่ยงไม่ทำสงครามแบบที่มีการปฏิบัติการทางทหาร (kinetic warfare) และมุ่งโฟกัสไปที่ (สงคราม) ทางข้อมูลข่าวสาร และ (สงคราม) ทางเศรษฐกิจ” แบนนอนเคยกล่าวเช่นนี้ระหว่างการให้สัมภาษณ์คราวหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว

แบนนอนยังย้อนความหลังถึงตอนที่เขาได้พบปะกับทรัมป์ในช่วงแรกๆ ระหว่างที่ทรัมป์รณรงค์หาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และเขาได้หยิบยกประเด็นเรื่องภัยคุกคามจากจีนขึ้นมาหารือ

“ผมบอกเขาว่าจีนกำลังทำสงครามทางเศรษฐกิจเล่นงานเราอยู่ตลอดระยะเวลา 20 ถึง 25 ปีมานี้” แบนนอนกล่าว และทรัมป์ก็ “เห็นด้วย” กับเขา แต่ เฉียว ปฏิเสธไม่ยอมรับการตีความเช่นนี้โดยบอกว่าเป็น “การวินิจฉัยที่ผิดพลาด” เขาเน้นย้ำด้วยว่าการที่ทรัมป์โจมตีจีนนั้นเนื่องจากได้รับคำแนะนำที่ผิดๆ

“ไม่มีมหาอำนาจใหญ่ๆ รายไหนเลย ที่เคยถูกอีกมหาอำนาจหนึ่งเข้าแทนที่อย่างสิ้นเชิง หรือถูกอีกมหาอำนาจหนึ่งเขมือบกลืนกินไปอย่างสมบูรณ์หรอก” เขาบอก “การล้มครืนของอภิมหาอำนาจหนึ่งๆ มีสาเหตุมาจากความเสื่อมทรุด (ของตัวเอง)”

กระนั้นการออกมากล่าวโจมตีแรงๆ ครั้งล่าสุดคราวนี้ของเฉียว ซึ่งถือเป็นเหยี่ยวดุรายหนึ่งในกลุ่มผู้มีแนวคิดสายแข็งกร้าวในปักกิ่ง ก็ปรากฏขึ้นในจังหวะเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งกำลังเพิ่มทวีขึ้น

เมื่อวันพฤหัสบดี (4 ต.ค.) รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ กล่าวหาจีนทั้งในเรื่องการแสดงความก้าวร้าวทางการทหาร, การโจรกรรมในทางพาณิชย์, และการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่เขาวาดภาพให้เห็นไปว่าชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกรายนี้มีพฤติการณ์แบบนักเลงอันธพาล (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.atimes.com/article/mike-pence-trumps-fight-with-china-just-got-personal/)

การแถลงเกี่ยวกับเรื่องนี้ของรองประธานาธิบดีเพนซ์ ยังมีขึ้นก่อนหน้าการเผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งซึ่งจัดทำโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ที่ระบุว่า จีนกำลังกลายเป็น “ความเสี่ยงอย่างสำคัญและเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ” ต่อการจัดหาจัดส่งวัสดุอันจำเป็นยิ่งยวดไปให้แก่กองทัพสหรัฐฯ

เอกสารความยาวราว 150 หน้าฉบับนี้ ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เห็น [1] ก่อนที่จะมีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ

“เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่รายงานฉบับนี้ค้นพบก็คือ จีนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงอย่างสำคัญและเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ต่อการจัดหาจัดส่งวัสดุต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเห็นกันว่ามีความหมายทางยุทธศาสตร์และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” รายงานฉบับนี้ระบุ

หมายเหตุผู้แปล

[1] รายงานข่าวของรอยเตอร์เกี่ยวกับเอกสารความยาวเกือบๆ 150 หน้าของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ นี้ (https://www.reuters.com/article/us-usa-military-china/pentagon-sees-china-as-growing-risk-to-u-s-defense-industry-idUSKCN1ME2SN) มีเนื้อหาดังนี้:


เพนตากอนมองจีนเป็น ‘อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ’ ต่ออุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ
โดย ฟิล สจวร์ต , ไมค์ สโตน , สำนักข่าวรอยเตอร์

Pentagon sees China as 'growing risk' to U.S. defense industry
By Phil Stewart, Mike Stone

จีนกลายเป็น “ความเสี่ยงอย่างสำคัญและเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ” ต่อการจัดหาจัดส่งวัสดุต่างๆ ซึ่งจำเป็นยิ่งยวดสำหรับการทหารของสหรัฐฯ ทั้งนี้ตามรายงานฉบับใหม่ที่มีเพนตากอนเป็นผู้นำการศึกษาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ในบรรดาอุตสาหกรรมแกนกลางของอเมริกาซึ่งทรงความสำคัญยิ่งยวดต่อความมั่นคงแห่งชาติ

รายงานการวิเคราะห์ที่มีความยาวเกือบ 150 หน้าฉบับนี้ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เห็นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (4 ก.ย.) ก่อนหน้าการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันศุกร์ (5 ก.ย.) ได้รวบรวมสรุปจุดอ่อนเปราะร่วมๆ 300 จุดที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนวัสดุและส่วนประกอบอันจำเป็นยิ่งยวดสำหรับการทหารของสหรัฐฯ

รอยเตอร์เป็นรายแรกที่รายงานผลสรุปสำคัญของการศึกษาชิ้นนี้ตั้งแต่เมื่อวันอังคาร (2 ก.ย.)

รายงานการวิเคราะห์ฉบับนี้บรรจุไว้ด้วยข้อเสนอแนะเป็นชุด เกี่ยวกับวิธีเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมอเมริกัน เป็นต้นว่าการขยายการลงทุนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรมซึ่งถือว่าทรงความสำคัญยิ่งยวด ทั้งนี้มีการพูดถึงแผนการอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย โดยบรรจุอยู่ในภาคผนวกซึ่งเป็นส่วนที่ถูกจัดชั้นความลับเอาไว้ของรายงานนี้ และไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน

จีนได้รับการเน้นย้ำให้น้ำหนักเป็นอย่างมากในรายงานฉบับนี้ โดยที่แดนมังกรถูกระบุว่าเป็นผู้มีฐานะครอบงำการซัปพลายพวกแร่ “แรร์ เอิร์ธ” (rare earth) ในระดับโลก แร่หายากเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับการนำมาใช้ในทางการทหารของสหรัฐฯ รายงานยังชี้ให้เห็นถึงโปรไฟล์ภาพรวมในระดับโลกของจีนในการเป็นผู้ซัปพลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภทตลอดจนเคมีภัณฑ์บางอย่างซึ่งใช้ในยุทโธปกรณ์ของอเมริกา

““เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่รายงานฉบับนี้ค้นพบก็คือ จีนกำลังกลายเป็นความเสี่ยงอย่างสำคัญและเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ต่อการจัดหาจัดส่งวัสดุต่างๆ และเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งเห็นกันว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ” รายงานฉบับนี้ระบุ

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนกำลังอยู่ในสภาพที่ยากลำบากเต็มไปด้วยปัญหาอยู่แล้ว โดยที่สงครามการค้าอันขมขื่นระหว่างประเทศเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลกซึ่งกำลังลุกลามขยายตัวนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากความตึงเครียดว่าด้วยการสืบเจาะล้วงความลับทางไซเบอร์, เรื่องไต้หวัน, และเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้

รายงานฉบับนี้เองก็อาจทวีความตึงเครียดทางการค้าระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง ด้วยการเป็นตัวหนุนเสริมแผนการริเริ่มผลักดันให้ “ซื้ออเมริกัน” (Buy American) ของคณะบริหารทรัมป์ ซึ่งมุ่งหมายที่จะป่าวร้องช่วยเหลือเพิ่มพูนยอดขายอาวุธให้มากขึ้นอีกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อป้อนงานให้แก่บริษัทผู้ผลิตของสหรัฐฯและสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น

รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ของอเมริกา ได้กล่าวหาจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (4 ต.ค.) ว่า พยายามที่จะบ่อนทำลายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางเทอมในวันที่ 6 พฤศจิกายน โดยเขาระบุว่า ปักกิ่ง “กำลังก้าวก่ายในระบอบประชาธิปไตยของอเมริกา”

ความเห็นเช่นนี้ของเพนซ์คือการขานรับคำพูดของตัวทรัมป์เองที่กล่าวไว้ในระหว่างขึ้นปราศรัยต่อสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเดือนที่แล้ว โดยในตอนนั้นทรัมป์บอกว่า “จีนกำลังพยายามที่จะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2018 ของเราที่กำลังจะมีขึ้น” ทั้งนี้พวกเจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนต่างออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน

รายงานฉบับนี้ยังตรวจสอบข้อบกพร่องต่างๆ ของสหรัฐฯซึ่งมีส่วนในการสร้างความอ่อนแอในอุตสาหกรรมภายในอเมริกา เป็นต้นว่า งบประมาณด้านกลาโหมของสหรัฐฯซึ่งอยู่ในลักษณะเหวี่ยงขึ้นเหวี่ยงลง จนกลายเป็นเรื่องยากสำหรับพวกบริษัทอเมริกันที่จะทำนายดีมานด์ความต้องการของรัฐบาล จุดอ่อนอีกประการหนึ่งซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวก็คือเรื่องการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอเมริกา

“ถึงแม้การค้นพบต่างๆ ในรายงานนี้ไม่น่าที่จะทำให้ตลาดตื่นเต้นเคลื่อนไหวอะไรตูมตาม แต่มันก็เสนอให้เห็นภาพอันตรายของความเสื่อมโทรมทางอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งขับดันโดยปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ” นี่เป็นข้อเขียนแสดงความคิดเห็นของ ลอเรน ธอมป์สัน ที่ปรึกษาด้านกลาโหม ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดกับบริษัทโบอิ้งและบริษัทอื่นๆ

ยังมีเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งในคณะบริหารสหรัฐฯ ซึ่งออกมาพูดกับพวกผู้สื่อข่าวโดยขอให้สงวนนาม โดยหยิบยกมาตรการจังหวะก้าวใหม่ๆ จำนวนมากซึ่งมุ่งรับประกันว่าฝ่ายทหารของสหรัฐฯจะยังคงได้รับซัปพลายตามที่ต้องการ เป็นต้นว่า จะมีการใช้ความพยายามเพื่อสร้างคลังสำรองเก็บสะสมพวกวัสดุหายาก และการขยายศักยภาพในการผลิตสิ่งต่างๆ อย่างเช่น แบตเตอรีลิเธียมแบบใช้ในน้ำทะเล ซึ่งมีความจำเป็นยิ่งยวดสำหรับสงครามต่อสู้เรือดำน้ำ

“มันเป็นเพียงเรื่องความบกพร่องด้านตลาดเท่านั้น ดังนี้เราสามารถที่จะจัดทำแผนการริเริ่มผลักดันใหม่ๆ เพื่อขับดันการลงทุนในด้านต่างๆ ที่จะช่วยให้เรามีการกระจายตัวมากยิ่งขึ้น” เป็นคำกล่าวของ อีริค ชิวนิ่ง รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรม

ระแวงจีนกำลังเป็นเจ้าตลาด

พวกเจ้าหน้าที่เพนตากอนมองว่ามีความเสี่ยงทางด้านความมั่นคงแห่งชาติหลายอย่างหลายประการ จากการที่ปักกิ่งมีอิทธิพลบารมีทางทหารและทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต้องการทำให้แน่ใจว่าจีนจะไม่สามารถทำให้การทหารของอเมริกาต้องเข่าอ่อนโซซัดโซเซ ด้วยการตัดการส่งวัสดุต่างๆ หรือด้วยการอาศัยเทคโนโลยีที่แดนมังกรส่งออกเป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลาย

รายงานฉบับนี้ชี้ว่า แผ่นวงจรพิมพ์ (printed circuit boards) ของโลกในเวลานี้จำนวนถึง 90% ผลิตกันในเอเชีย โดยกว่าครึ่งหนึ่งกำลังทำกันในจีน จึงถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการทหารของสหรัฐฯ

“ด้วยการโยกย้ายการผลิตแผ่นวงจรระดับก้าวหน้าไปยังโรงงานในต่างแดน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ก็มีความเสี่ยง เนื่องจากสูญเสียความสามารถในการมองเห็นเข้าไปจนถึงภายในต้นแหล่งซึ่งเป็นโรงงานผลิตพวกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตน” รายงานฉบับนี้บอก

เพนตากอนนั้นกลัดกลุ้มมานานแล้วว่า อาจมีการแอบฝัง “สวิตช์สังหาร” (kill switches) เอาไว้ในตัวทรานซิสเตอร์ ซึ่งสามารถที่จะปิดระบบต่างๆ ที่มีความอ่อนไหวของสหรัฐฯในเวลาที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกันขึ้นมา รายงานนี้ได้หยิบยกเรื่องความเสี่ยงของพวกชิปและไวรัส “ม้าไม้กรุงทรอย” ซึ่งกำลังแทรกซึมเข้าไปในระบบต่างๆ ทางด้านกลาโหมของสหรัฐฯ”

พวกเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองของสหรัฐฯก็ได้ออกมาเตือนในปีนี้เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนอาจใช้โทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เครือข่ายเมดอินไชน่าทั้งหลายในการแอบสืบความลับของอเมริกัน

รายงานฉบับนี้ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้เขียนรายงานมองว่าเป็นความพยายามของฝ่ายจีนซึ่งบางครั้งก็ไม่ยุติธรรมและผิดกฎหมาย ในการเข้าบ่อนทำลายอุตสาหกรรมสหรัฐฯโดยอาศัยการดำเนินยุทธศาสตร์จำนวนหนึ่ง เป็นต้นว่า การอุดหนุนการส่งออกจนทำให้ราคาต่ำอย่างไม่เป็นธรรมชาติ และการโจรกรรมเทคโนโลยีสหรัฐฯ

รายงานนี้พูดถึงกรณีตัวอย่างหลายๆ กรณี ที่เหลือผู้ผลิตวัสดุจำเป็นยิ่งยวดซึ่งเป็นบริษัทสหรัฐฯอยู่เพียงรายเดียว และกำลังอยู่ในขอบเหวของการที่จะต้องปิดกิจการ และเปลี่ยนมาเป็นการนำเข้าพวกวัสดุราคาต่ำกว่า “จากประเทศผู้ผลิตต่างชาติรายเดียวกับที่กำลังบีบบังคับให้พวกเขายุติการผลิตภายในประเทศนั่นเอง”


กำลังโหลดความคิดเห็น