xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันไม่แคร์แล้ว'หลักนิติธรรม' ฉีกสัญญาระหว่างประเทศ2ฉบับ แถมจวก 'ศาลโลก' หลังไอซีเจตัดสินให้อิหร่านชนะ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ขณะแถลงข่าว ณ ทำเนียบขาว ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันพุธ (3 ต.ค.) </i>
รอยเตอร์ – คณะบริหารทรัมป์รีบฉีกสัญญาระหว่างประเทศสองฉบับ หลังนโยบายของตัวเองถูกอิหร่านและปาเลสไตน์ฟ้องร้องศาลโลก ด้านที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของอเมริกายังกล่าวหาศาลสูงสุดของสหประชาชาติแห่งนี้ว่า เล่นการเมืองและไร้น้ำยา

จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ยังแถลงในวันพุธ (3 ต.ค.) ว่า จะทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหมดที่อาจทำให้อเมริกาถูกผูกมัดกับการวินิจฉัยตัดสินคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า ศาลโลก

ก่อนหน้านั้นในตอนเช้าวันพุธ ไอซีเจอ่านคำตัดสินชั่วคราวให้อเมริกาต้องดำเนินการให้แน่ใจว่า มาตรการลงโทษอิหร่านที่จะเข้มข้นขึ้นอีกระดับในเดือนหน้านั้น จะไม่ส่งผลต่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมหรือความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน

คำวินิจฉัยนี้สืบเนื่องจากการที่เตหะรานร้องเรียนว่า มาตรการแซงก์ชันของอเมริกาที่เริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนั้นละเมิดเงื่อนไขของสนธิสัญญาทางไมตรีปี 1955 ระหว่างประเทศทั้งสอง ซึ่งเป็นสัญญาที่ได้ลงนามตั้งแต่ก่อนการปฏิวัติอิสลามปี 1979 อันทำให้สองชาติกลายเป็นศัตรูคู่อาฆาต

ปรากฏว่าวอชิงตันตอบโต้การตัดสินของศาลโลกครั้งนี้ ด้วยการประกาศถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว

ไอซีเจซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นองค์กรซึ่งระบุอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศต่างๆ

เวลานี้ชาติพันธมิตรมากมายของอเมริกา กำลังกังวลกับท่าทีของคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อระบบพหุภาคี เนื่องจากในระยะเวลาเกือบ 2 ปีนับจากได้รับเลือกตั้ง ทรัมป์ทั้งฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯกับอีกมหาอำนาจ 5 ชาติทำกับอิหร่าน, ถอนตัวจากข้อตกลงต่อสู้โลกร้อน, ถอนตัวจากองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก), รวมทั้งยังขู่ว่า อเมริกาจะดำเนินการฝ่ายเดียว ถ้าสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ไม่ยอมเพิ่มงบประมาณการทหาร

ในการแถลงคราวนี้ โบลตันซึ่งอ้างอิงถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า “การละเมิดอำนาจไอซีเจของอิหร่าน” ยังแจ้งด้วยว่า อเมริกายังจะถอนตัวจาก “พิธีสารเลือกรับ” ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตปี 1961

“เราจะดำเนินการทบทวนข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหมดซึ่งอาจจะยังคงทำให้สหรัฐฯต้องถูกผูกพันอยู่กับเขตอำนาจศาลและการระงับข้อพิพาทของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” โบลตันบอก พร้อมพูดต่อไปว่า “สหรัฐฯจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยขณะที่มีการนำเอาข้ออ้างต่างๆ ที่มีเป้าหมายทางการเมืองและไม่มีมูลความจริงมาใช้เล่นงานเรา”

การประกาศถอนตัวจากพิธีสารเลือกรับนี้ มีขึ้นหลังจากปาเลสไตน์ร้องเรียนเมื่อเดือนที่แล้วว่า การตัดสินใจของอเมริกาในการย้ายสถานทูตจากเทลอาวีฟไปยังเยรูซาเลม เป็นการละเมิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

อนุสัญญาเวียนนานั้นเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศต่างๆ และมักถูกอ้างอิงถึงว่า เป็นเครื่องมือที่ทำให้มีการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดในทางการทูต
<i>รัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ ของสหรัฐฯ ประกาศที่กระทรวงในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (3 ต.ค.) ว่าสหรัฐฯยกเลิกสนธิสัญญาทางไมตรีปี 1955 ที่ทำไว้กับอิหร่าน  </i>
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็แถลงว่า อเมริกาจะถอนตัวจากสนธิสัญญาทางไมตรีกับอิหร่าน รวมทั้งยังวิจารณ์ว่า ไอซีเจไม่มีอำนาจวินิจฉัยมาตรการแซงก์ชันที่สำคัญจำเป็นต่อผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ

พอมเพโอสำทับว่า การที่ไอซีเจวินิจฉัยเข้าข้างอิหร่านช่วยสนับสนุนมุมมองของอเมริกาว่า สนธิสัญญาทางไมตรีกับอิหร่านไร้สาระอย่างแท้จริง

ด้านจาวัด ชารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านทวิตตอบโต้ว่า อเมริกากำลังทำตัวเป็นระบอบนอกกฎหมาย

เมื่อปี 2008 คณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เคยงัดข้อกับไอซีเจ หลังจากศาลแห่งนี้วินิจฉัยว่า การประหารชีวิตชาวเม็กซิโกคนหนึ่งในรัฐเทกซัสละเมิดพันธะหน้าที่ของอเมริกาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับกรณีล่าสุด โบลตันอ้างว่า ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับอิหร่านและปาเลสไตน์ แต่เพื่อความสอดคล้องของนโยบายของสหรัฐฯ ในการปฏิเสธอำนาจของไอซีเจซึ่งฝักใฝ่การเมืองและไร้ประสิทธิภาพ พร้อมย้ำว่า อเมริกายังคงเป็นภาคีในอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต และคาดหวังว่า ประเทศภาคีอื่นๆ จะปฏิบัติตามหน้าที่ของตนภายใต้อนุสัญญานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น