xs
xsm
sm
md
lg

In Clip: รายงานเสถียรภาพทางการเงินโลก IMF ชี้ “เศรษฐกิจโลก” เสี่ยงเกิดวิกฤตรอบต่อไป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – ระดับหนี้ที่สูงเกินเพดานปี 2008 และความล้มเหลวปฎิรูประบบการธนาคารเป็นตัวการสำคัญที่อาจผลักดันทำให้เกิดวิกฤตการเงินครั้งใหม่ สถาบันการเงินระหว่างประเทศออกมาเตือนล่าสุดผ่านรายงานเสถียรภาพทางการเงินโลกของ IMF (Global Financial Stability Report)

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(3 ต.ค)ว่า สถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF แถลงว่า ระบบเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งใหม่ ตามหลังความล้มเหลวของรัฐบาลชาติต่างๆและบรรดาผู้กำกับที่ไม่สามารถผลักดันทำให้เกิดการปฎิรูปเพื่อป้องกันระบบจากพฤติกรรมที่ไม่รอบคอบ

จากการที่ระดับหนี้ของโลกปรับตัวสูงขึ้นกว่าเพดานเมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงปีของการล้มครืนทางเศรษฐกิจทั่วโลกล่าสุด แต่กลับพบว่าความเสี่ยงที่ยังคงอยู่ที่ทำให้ ,“ภาคส่วนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับ” ในระบบการเงิน สามารถทำให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงินไปทั่วโลก IMF แถลง

ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากในการปกป้องเงินทุนสำรองของธนาคารตลอดช่วง 10 ปีล่าสุด และสร้างระบบควบคุมที่เข้มงวดในภาคการเงินการธนาคาร แต่ทว่า “ความเสี่ยง” ยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ดีต่างๆ เป็นต้นว่า ช่วงเวลาของอัตราดอกเบียต่ำและความผันผวนทางตลาดถูกทำให้สงบลง แต่ทว่าความเสี่ยงเหล่านั้นยังคงสามารถข้ามไปยังแอเรียใหม่ได้ IMF ชี้ และเสริมต่อว่า ผู้ดูแลต้องมีความตื่นตัวตลอดต่อสถานการณ์ที่กำลังก่อตัวเหล่านี้

สื่ออังกฤษรายงานว่า นอกจากนี้ที่สำคัญยังมีสถานการณ์อย่างน่าตกใจในภาคการกู้ยืมที่เรียกว่า “ภาคธนาคารเงา” (Shadow Banking)ของจีน และความล้มเหลวในการใช้มาตรการเข้มงวดกำกับบริษัทประกันภัยและบริษัทบริหารหลักทรัพย์ต่างๆ ที่เป็นผู้ดูแลกองทุนมูลค่าล้านล้านดอลลาร์นั้นถูกทางIMF ระบุถึงว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวล

ซึ่งอ้างอิงจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) พบว่า “ธนาคารเงา” หมายถึงกลุ่มองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในระบบธนาคารตามปกติแต่มีความเกี่ยวข้องกับการระดมเงินทุน การจัดการสภาพคล่องและระยะเวลาชำระหนี้ การรับโอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ และการใช้ Financial leverage ทั้งทางตรงและทางอ้อม และยังรวมไปถึงธุรกรรมการจัดหาเงินทุนขององค์กรเหล่านี้อีกด้วย

และในยามที่ธนาคารในระบบไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ธนาคารเงาได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินมากขึ้นเนื่องจากธนาคารเงานั้นเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการระดมเงินทุนไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตแต่อาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารในระบบอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ยังพบว่า ทางสถาบันการเงินระหว่างประเทศ IMF ยังแสดงความกังวลผ่านรายงานเสถียรภาพทางการเงินโลกของ IMF (Global Financial Stability Report) ไปถึง การเติบโตของบรรดายักษ์ใหญ่ข้ามชาติวาณิชธนกิจทั้งหลาย เป็นต้นว่า เจพี มอร์แกน (JP Morgan)ของสหรัฐฯ และธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ของจีน (Industrial and Commercial Bank of China) นั้นพบว่า ขยายตัวไปไกลกว่าระดับในช่วงปี 2008 ส่งผลทำให้เกิดความกลัวว่า บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่เหล่านี้อาจจะตกอยู่ในสภาพ “ใหญ่เกินกว่าจะล้ม” (too big fail)

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์ของ คริสตีน ลาร์การ์ด ผู้อำนวยการ IMF ในสัปดาห์นี้ก่อนหน้าการประชุมประจำปีที่กำลังจะเกิดขึ้นในบนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ในสัปดาห์ถัดไป ชี้ว่า เธอรู้สึกวิตกถึงมูลค่าหนี้รวมทั่วโลกทั้งในภาคสาธารณะและภาคเอกชนซึ่งเพิ่มขึ้น 60% ในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่วิกฤตการเงินที่ได้แตะเพดาน All Time High ที่ 182 ล้านล้านดอลลาร์

ลาการ์ดย้ำว่าการก่อตัวขึ้นในภาคหนี้นี้ทำให้รัฐบาลของชาติกำลังพัฒนาและบริษัทต่างๆจะตกอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบมากขึ้นต่ออัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้น และทำให้เกิด “flight of funds” และทำให้เศรษฐกิจของชาตินั้นๆอ่อนแอลง ซึ่งลาการ์ย้ำว่า สิ่งเหล่านี้สมควรเป็นเครื่องเตือนภัยให้ได้รับรู้

ด้านกอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ออกมาแสดงความเห็นในเดือนกันยายนล่าสุดว่า “เศรษฐกิจโลกกำลังเดินละเมอเข้าสู่วิกฤตในอนาคต” และความเสี่ยงไม่ได้ถูกจัดการในเวลานี้ เรากำลังอยู่ในโลกที่ไร้ผู้นำ




กำลังโหลดความคิดเห็น