xs
xsm
sm
md
lg

“อาเบะ” ยอม “ทรัมป์” เปิดเจรจาการค้าทวิภาคี เบรกสหรัฐฯ ตั้งท่าจะรีดภาษีรถยนต์ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

<i>นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น เปิดการเจรจาข้างเคียงกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก เมื่อวันพุธ  (26 ก.ย.) </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ตกลงยินยอมเมื่อวันพุธ (26 ก.ย.) ที่จะเริ่มต้นการเจรจาทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เป็นการผ่อนคลายความหวาดกลัวที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะพุ่งเป้าเล่นงานชาติพันธมิตรสำคัญของตนในเอเชียรายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์แดนอาทิตย์อุทัย ในการรุกทำศึกขึ้นภาษีศุลกากรยกต่อไป

ในคำแถลงร่วมที่ออกมาภายหลังทรัมป์หารือกับอาเบะในนครนิวยอร์กวันพุธ สองประเทศระบุว่า การเจรจาจะเคารพในจุดยืนของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยจะเน้นคุยกันในเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์และภาคการเกษตรของญี่ปุ่น

ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่าไม่พอใจที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ถึง 69,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเกือบ 2 ใน 3 มาจากการส่งออกรถยนต์ไปจำหน่ายในอเมริกา และต้องการทำข้อตกลงทวิภาคีเพื่อแก้ปัญหานี้

แต่โตเกียวพยายามหลีกเลี่ยงเรื่อยมา ไม่ต้องการเปิดเจรจาทำข้อตลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทวิภาคีโดยตรง อย่างที่วอชิงตันเรียกร้อง โดยที่กรอบข้อตกลงล่าสุดซึ่งทำความตกลงกันได้นี้ ดูเหมือนมุ่งเปิดทางให้ทั้งสองฝ่ายต่างยังคงรักษาหน้าเอาไว้ได้ นั่นคือ อาเบะสามารถหลบเลี่ยงจากสถานการณ์อันย่ำแย่ที่สุด คือถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีศุลกากร 25% จากรถญี่ปุ่นนำเข้า อย่างที่ทรัมป์ตั้งท่าไว้ ขณะที่ทรัมป์ก็อ้างได้ว่าประสบชัยชนะสามารถนำเอาญี่ปุ่นมาเจรจากันแบบ 2 ฝ่าย

“นี่เป็นอะไรบางอย่างซึ่ง ด้วยเหตุผลหลายหลากตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังคงไม่เต็มใจที่จะทำ แต่ตอนนี้พวกเขากำลังมีความเต็มใจที่จะทำแล้ว” ทรัมป์กล่าวในการประชุมซัมมิตกับอาเบะ ซึ่งจัดขึ้นข้างเคียงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

“เรากำลังจะมีความสัมพันธ์กันที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดีขึ้นตั้งแต่ก่อนเรื่องการค้าแล้ว” เขาบอก

คำแถลงร่วมในวันพุธระบุว่า ข้อตกลงที่จะทำกันในเรื่องว่าด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น จะมีเนื้อหาที่มุ่งส่งเสริมเพิ่มพูนการผลิตและตำแหน่งงานในสหรัฐฯ

ในระยะหลังๆ มานี้โตเกียวบังเกิดความวิตกว่า ทรัมป์ทำท่าเรียกร้องให้ลดการนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น ไม่เช่นนั้นเขาก็อาจจะใช้มาตรการขึ้นภาษีอย่างแรงๆ ต่อการนำเข้าดังกล่าวโดยอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทรัมป์ใช้อยู่ในการขึ้นภาษีศุลกากรที่จัดเก็บจากสินค้าเข้าของจีนหลายรอบมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่พวกนักเศรษฐศาสตร์ในญี่ปุ่นกล่าวว่า เท่าที่มองเห็นอยู่ในขณะนี้ ข้อตกลงที่อาเบะทำกับทรัมป์นี้จะส่งผลลัพธ์ในทางบวกต่อญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ชี้ด้วยว่าในท้ายที่สุดแล้วทั้งสองประเทศจะสามารถตกลงกันได้บ้างนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบกัน

“ถ้าคุณดูแค่สิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ในครั้งนี้ ก็ต้องถือว่าญี่ปุ่นทำได้ดีเยี่ยมจริงๆ” จุนอิชิ ซูงาวาระ เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโสแห่งสถาบันวิจัยมิซูโฮ ให้ความเห็น

“แต่เมื่อมองกันให้ถ่องแท้แล้ว นี่เป็นเพียงการเริ่มก้าวเข้าไปสู่ข้อตกลงสุดท้ายใดๆ ก็ตามที่จะออกมาเท่านั้น และเราต้องจำไว้ด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่ลงท้ายแล้ว (ญี่ปุ่น) อาจต้องเจ็บปวดหนักหนาสาหัสก็ได้” เขาบอก

อาเบะบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวภายหลังเขาพบปะกับทรัมป์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นได้ประกาศการลงทุนใหม่ๆ ในสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 20,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ที่ทรัมป์เข้ารับตำแหน่ง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างงานได้ 37,000 ตำแหน่ง

อาเบะ ย้ำว่าคุณูปการที่มีอต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเช่นนี้ สร้างขึ้นมาได้บนพื้นฐานของหลักการค้าเสรี ขณะการกีดกันการค้านั้นจะมีแต่จะส่งผลเสีย ซึ่ง ทรัมป์ เองก็ยอมรับในจุดนี้

“เราต้องไม่หมุนเข็มนาฬิกาย้อนกลับ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม” อาเบะบอก “อันที่จริงแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อสานต่อความสัมพันธ์นี้”

ผู้นำญี่ปุ่นระบุว่า ตามข้อตกลงล่าสุดคราวนี้ ทรัมป์ รับปากจะไม่รีดภาษีศุลกากรเพิ่มจากอุตสาหกรรมยานยนต์แดนอาทิตย์อุทัย ขณะที่การเจรจาทางการค้ายังคงดำเนินอยู่

ขณะเดียวกันภาคการเกษตรของญี่ปุ่นซึ่งมีความสำคัญทางการเมืองเป็นอย่างมาก ก็ได้รับการคุ้มครองไม่ให้เปิดกว้างมากเกินกว่าเงื่อนไขที่ได้เจรจากันไว้ในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่ง ทรัมป์ ได้นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปเมื่อปีที่แล้ว

นายกฯ ญี่ปุ่นได้ออกมาย้ำในภายหลังว่า กรอบการเจรจาที่ว่านี้จะเป็นเพียงข้อตกลงการค้าว่าด้วยเรื่องตัวสินค้า (Trade Agreement on Goods หรือ TAG) เท่านั้น ไม่ใช่ข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ซึ่งจะมีผลครอบคลุมกว้างขวางกว่า คือรวมการลงทุนและบริการต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ บอกกับสื่อมวลชนว่า ตนหวังว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยินดีทำเอฟทีเออย่างเต็มรูปแบบ

เขาอธิบายว่าการที่จะเจรจาเพื่อจัดทำเอฟทีเอได้นั้น เขาจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภาอเมริกันให้ทำการเจรจาการค้าแบบ “ฟาสต์แทร็กต์” ซึ่งหมายถึงอำนาจในการเจรจาจัดทำรายละเอียดข้อตกลงทั้งฉบับจนแล้วเสร็จ แล้วจึงยื่นเสนอต่อรัฐสภาซึ่งจะลงมติว่าจะรับรองข้อตกลงนั้นหรือไม่ ทว่าไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียด

ไลท์ไฮเซอร์บอกว่า เขาจะเริ่มหารือกับพวกสมาชิกรัฐสภาในเรื่องนี้ตั้งแต่วันพฤหัสบดี (27)


กำลังโหลดความคิดเห็น