xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ เตรียมฟื้นเจรจา ‘โสมแดง’ ตั้งเป้าปลดนุกให้สำเร็จภายในเดือน ม.ค. ปี 2021

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รอยเตอร์ - สหรัฐฯ พร้อมที่จะรื้อฟื้นการเจรจากับเกาหลีเหนืออีกครั้ง หลังจากที่เปียงยางให้คำมั่นสัญญาเมื่อวานนี้ (19 ก.ย.) ว่าจะทำลายศูนย์ทดสอบขีปนาวุธ และอาจยอมปิดโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอนหากวอชิงตันมีมาตรการบางอย่างแลกเปลี่ยน

ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังได้เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือร่วมหารือที่นครนิวยอร์กในสัปดาห์หน้า โดยหวังที่จะทำให้กระบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์เสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ม.ค. ปี 2021

สหรัฐฯ แสดงท่าทีพอใจกับคำแถลงร่วมในการประชุมซัมมิตครั้งที่ 3 ระหว่างประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้ และผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือที่กรุงเปียงยาง โดยทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่าเกาหลีเหนือจะอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าไปสังเกตการณ์การทำลายศูนย์ทดสอบเครื่องยนต์จรวดและฐานยิงที่เมืองตงชาง-รี นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะดำเนินมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น ปิดโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน หากสหรัฐฯ ยอมกระทำการบางอย่างเพื่อเป็นสิ่งตอบแทน

หลายสัปดาห์ที่มานี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ต่างไม่มั่นใจว่าเกาหลีเหนือพร้อมจะเจรจากับสหรัฐฯ อย่างซื่อตรงหรือไม่ และการประชุมซัมมิตครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม ที่สิงคโปร์เมื่อเดือน มิ.ย. ก็ยังไม่เห็นผลใดๆ ที่เป็นรูปธรรม

การกำหนดให้โสมแดงปลดนุกภายในเดือน ม.ค. ปี 2021 ถือเป็นกรอบเวลาที่ชัดเจนที่สุดสำหรับความพยายามยุติโครงการนิวเคลียร์ที่เป็นภัยคุกคามต่อทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกา

นอกจากจะเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศ รี ยองโฮ ของเกาหลีเหนือมาหารือนอกรอบระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่นครนิวยอร์กแล้ว พอมเพโอ ยังได้เชื้อเชิญคณะผู้แทนเปียงยางให้เดินทางไปพบกับ สตีเฟน บีกัน (Stephen Biegun) ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเกาหลีเหนือที่กรุงเวียนนา “โดยเร็วที่สุด”

พอมเพโอ ยอมรับว่า การที่ผู้นำ คิม ตัดสินใจจะยอมทำลายศูนย์ทดสอบขีปนาวุธ ตงชาง-รี ต่อหน้าผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ และนานาชาตินั้น ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่กระบวนการปลดนิวเคลียร์ที่สามารถตรวจสอบได้อย่างสมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อเมริกันบางคนยังไม่คลายสงสัย และมองว่า คิม กำลังใช้ยุทธศาสตร์การทูตแยกเกาหลีใต้ออกห่างจากสหรัฐฯ

ผู้นำสองเกาหลีได้ประกาศแผนกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟและถนน ฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมร่วมแกซอง และจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้เดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่รีสอร์ตบนภูเขาคุมกังของเกาหลีเหนือด้วย

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เชื่อว่า คิม พยายามที่จะผ่อนคลายแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่ดีกับโซลเพื่อลดบทบาทและความจำเป็นในการคงทหารอเมริกันไว้ในเกาหลีใต้

สหรัฐฯ มีทหารประจำการถาวรอยู่ในเกาหลีใต้ราว 28,500 นายเพื่อช่วยป้องปรามการโจมตีจากโสมแดง

เปียงยางนั้นมุ่งหวังมาโดยตลอดให้อเมริกาถอนทหารออกไปจากคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ ทรัมป์ เองก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความจำเป็นและค่าใช้จ่ายที่สหรัฐฯ ต้องแบกรับ

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนหนึ่งระบุว่า “สิ่งที่เกาหลีเหนือเสนอมานั้นยังไม่มีอะไรที่จะนำไปสู่การปลดนิวเคลียร์โดยไม่สามารถรื้อฟื้นกลับมาได้อีกแม้แต่อย่างเดียว ไม่ว่าคุณจะตีความอย่างไร จะกำหนดกรอบเวลาภายในเดือน ม.ค. ปี 2021 หรือเวลาไหนๆ และมันไม่ได้ช่วยลดภัยคุกคามทางทหารที่เกาหลีใต้และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคกำลังเผชิญอยู่”

“ทุกอย่างที่เสนอมาล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า สหรัฐฯ จะต้องยอมลดแรงกดดันเพื่อให้เกาหลีเหนือร่วมมือด้วย แถมยังมีช่องโหว่หรือทางออกให้พวกเขาอีกมากมาย”

เจ้าหน้าที่อเมริกันยังชี้ถึงความกำกวมเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐฯ ควรจะทำเพื่อให้เกาหลีเหนือยอมปิดโรงงานนิวเคลียร์ยองบยอน และ คิม อาจใช้ช่องโหว่นี้เป็นข้ออ้างว่าสหรัฐฯ ยังไม่ได้ผ่อนปรนมากพอที่จะทำให้โสมแดงปฏิบัติตามสัญญา


กำลังโหลดความคิดเห็น