รัสเซียทูเดย์ - ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย กล่าว ณ เวทีอีสเทิร์น อีโคโนมิก ฟอรัม ในเมืองวลาดิวอสต็อกในวันพุธ (12 ก.ย.) ชี้ชาติต่างๆ ทั่วโลกมีแนวโน้มลดการใช้ดอลลาร์ในการชำระบัญชีระหว่างประเทศ และสกุลเงินสหรัฐฯ คือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
“สิ่งที่เรากำลังเจอยามที่ชำระเงินในรูปแบบดอลลาร์ก็คือ มีหลายประเทศมากขึ้นที่ปรารถนาซื้อขายในรูปแบบสกุลเงินประจำชาติของพวกเขาเอง” ปูตินกล่าว “ยิ่งไปกว่านั้น การริเริ่่มการค้าทวิภาคีในรูปแบบสกุลเงินประจำชาติคือสิ่งที่ถูกต้องสำหรับความยั่งยืนทางการเงิน เราจะค่อยๆ มุ่งสู่ทิศทางนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป”
ผู้นำรัสเซียเน้นย้ำว่า มีความเสี่ยงมากมายในการใช้สกุลเงินประจำชาติชำระบัญชีระหว่างประเทศ แต่สามารถลดความสี่ยงต่างๆ เหล่านั้นให้เหลือน้อยที่สุดได้ “ความเสี่ยงมีอยู่ในทุกหนทุกแห่งและจำเป็นต้องลดความเสี่ยงเหล่านั้น และเพื่อให้ความเสี่ยงนั้นลดลง จึงจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยง”
ปูตินกล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐฯ คือเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน “หนี้สินต่างประเทศของสหรัฐฯมีจำนวนกว่า 20 ล้านล้านดอลลาร์ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปจากนี้? ใครจะรู้?”
ประธานาธิบดีรายนี้บอกว่ารัสเซียกำลังกระจายทุนสำรองระหว่างประเทศและหนี้สาธารณะ “ทุกอย่างนี้ก็เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ระบบการเงินของเรา”
รัสเซียเทขายตราสารหนี้สหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการคลังอเมริกาพบว่าสัดส่วนการถือครองตราสารหนี้สหรัฐฯ ของรัสเซีย ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี และมีมูลค่าทั้งหมดเพียง 14,900 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมีนาคม รัสเซียเคยถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ถึง 96,100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2010 มอสโกเคยเป็นผู้ถือครองตราสารหนี้อเมริการายใหญ่ติด 10 อันดับแรก โดยหนนั้นถือครองไว้ทั้งสิ้น 176,300 ล้านดอลลาร์
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งรัสเซียยังเดินหน้าเข้าถือครองทองคำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมอสโกมีสัดส่วนการถือครองโลหะมีค่าชนิดนี้เกือบ 2,200 ตันแล้ว สูงสุดในรอบเกือบ 2 ทศวรรษ