รอยเตอร์ - นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลเกาหลีใต้ส่งผลให้อัตราการว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบ 8 ปีเมื่อเดือน ส.ค. กระพือเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ และฉุดคะแนนนิยมของประธานาธิบดี มุน แจอิน ลดฮวบเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อกลางปีที่แล้ว
อัตราการว่างงานขยับเพิ่มจาก 3.8% ในเดือน ก.ค. เป็น 4.2% ในเดือนที่แล้ว โดยมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 134,000 คนจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา นับเป็นสถิติเลวร้ายที่สุดสำหรับตลาดแรงงานเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. ปี 2010 ซึ่งเศรษฐกิจแดนโสมขาวได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตการเงินโลกจนมีคนตกงานถึง 10,000 คน
คิม ดงยอน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังเกาหลีใต้ ออกมาส่งสัญญาณวันนี้ (12 ก.ย.) ว่ารัฐบาลอาจทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก
“เราจะมีการหารือกับพรรครัฐบาลและทำเนียบประธานาธิบดีเกี่ยวกับแนวทางชะลอการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” คิม ให้สัมภาษณ์สื่อที่กรุงโซล พร้อมคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานคงจะยังไม่ฟื้นตัวได้ในอนาคตอันใกล้
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเตือนว่า เรื่องนี้อาจกัดเซาะต้นทุนทางการเมืองของ มุน ระหว่างที่เขากำลังพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์อันดีกับเกาหลีเหนือ และข่าวดีใดๆ ก็ตามที่จะมีขึ้นหลังการประชุมซัมมิตสองเกาหลีที่เปียงยางในเดือนนี้ก็อาจไม่เพียงพอที่จะบรรเทาความคับแค้นของชาวเกาหลีใต้ต่อปัญหาการว่างงาน และราคาที่พักอาศัยซึ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ
ผลสำรวจโดยแกลลัปโคเรียพบว่า ผู้ตอบคำถามกว่า 60% วิพากษ์วิจารณ์แนวทางบริหารเศรษฐกิจของ มุน รวมถึง “ความไร้ศักยภาพของรัฐบาลที่จะยกระดับชีวิตของประชาชนคนธรรมดา และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ”
ภาคค้าปลีกและโรงแรมซึ่งต้องอาศัยแรงงานจำนวนมากมีการสูญเสียตำแหน่งงานไปแล้วถึง 202,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. ปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตก็ลดการจ้างพนักงานลงถึง 105,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตร การก่อสร้าง และการขนส่งมีการว่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งพอจะชดเชยกับตัวเลขคนงานที่ถูกเลย์ออฟได้บางส่วน
คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดี มุน ลดต่ำกว่า 50% เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยผลสำรวจรายสัปดาห์ของแกลลัปโคเรียพบว่า ระดับความพึงพอใจในตัวผู้นำเกาหลีใต้ลดลง 4 จุดมาอยู่ที่ 49% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดตั้งแต่ มุน เข้าบริหารประเทศเมื่อเดือน พ.ค. ปี 2017
โอห์ ซุกแต นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน Societe Generale ชี้ว่า บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันพัฒนาเกาหลี (Korea Development Korea) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในการกำกับดูแลของรัฐ เชื่อว่าการที่รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีก 16% ในปีนี้ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่อยากรับพนักงานเพิ่ม
“ประธานาธิบดีจะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่มีอะไรจะเปลี่ยนแนวโน้มนี้ได้ จนกว่าตัวท่านเองจะยอมเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” โอห์ กล่าว
สำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้ ระบุว่า อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (workforce participation rate) ลดลงเล็กน้อยจาก 63.6% ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ 63.4% ในเดือน ส.ค. เนื่องจากมีตำแหน่งงานที่สูญเสียไปมากกว่าสร้างขึ้นใหม่