xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกาจากฐานะยิ่งใหญ่เป็น‘อภิมหาอำนาจรายสุดท้าย’ที่เหลืออยู่รายเดียวของโลก ก้าวสู่ความเสื่อมทรุดในเวลานี้ได้อย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทอม เองเกลฮาร์ดต์

<i>ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวคำปราศรัยประกาศ “ภารกิจสำเร็จแล้ว”  บนเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น ในเดือน พ.ค. 2003 ภายหลังกองทัพอเมริกันบุกเข้าไปรุกรานและยึดครองอิรักได้  แต่ต่อมาภาพนี้กลายเป็นภาพที่ถูกล้อเลียนเย้ยหยันตลอดมา เนื่องจากผลพวงต่อเนื่องของสงครามหฤโหดคราวนี้กลับสะท้อนถึงความเสื่อมทรุดของสหรัฐฯ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

How the last superpower was unchained
By Tom Engelhardt
17/06/2018

ชาวอเมริกันย่อมไม่คิดที่จะนำเอาคำว่า “ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย” มาประยุกต์ใช้กับพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันในฐานะของประเทศ, ของประชาชน, หรือของรัฐบาลก็ตามที กระนั้น ลองคิดให้ดีเถอะ คำๆ นี้ช่างมีความเหมาะเหม็งเสียจริงๆ

ลองคิดว่ามันเป็นเรื่อง “เดอะ ฮิวแมน คอมเมอดี” (the human comedy) ในเวอร์ชั่นอเมริกันล้วนๆ ก็แล้วกัน นั่นก็คือ มีมหาอำนาจยิ่งใหญ่รายหนึ่งซึ่งช่างแสนรู้อยู่ตลอดกาลว่าโลกนี้ต้องการอะไร และจึงคอยหยิบยื่นคำแนะนำอันอุดมเปี่ยมล้นให้แก่ผู้ไม่รู้ประสีประสา คำแนะนำดังกล่าวนี้ฟังดูแล้วเหมือนกับพูดอย่างมีอารมณ์ขัน ถ้าหากมันจะไม่ได้มีความโหดเหี้ยมเลวร้ายจนถึงขนาดนั้น

ถ้าหากคุณลองมองดู คุณก็จะสามารถพบเห็นตัวอย่างมากมายในลักษณะนี้ในที่แทบทุกหนทุกแห่งทีเดียว เป็นต้นว่า ในตอนหนึ่งของข้อเขียนจากหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์กไทมส์ ชิ้นหนึ่ง ที่พูดถึงการเจรจาอันสับสนวุ่นวายแบบชาวทรัมป์ (Trumpian) ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือที่สิงคโปร์ ผู้สื่อข่าว โมโตโค ริช (Motoko Rich) เขียนเอาไว้ว่า “ทั้งฝ่ายอเมริกันและฝ่ายเกาหลีใต้ต่างต้องการที่จะโน้มน้าวฝ่ายเกาหลีเหนือให้มองเห็นว่า การทุ่มเททรัพยากรเกือบทั้งหมดของประเทศเข้าไปยังกองทัพและโครงการนิวเคลียร์ของพวกเขาต่อไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นการคดโกงเบียดบังความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจของพลเมืองของพวกเขาเอง อย่างไรก็ดีฝ่ายเกาหลีเหนือไม่เห็นว่าทั้งสองเรื่องนี้จะเกี่ยวข้องอะไรกันเป็นพิเศษ” [1]

ลองคิดถึงเรื่องนี้ให้ดีๆ สักแป๊บหนึ่งนะครับ ลองย้อนกลับมาดูที่อเมริกาเองบ้าง แน่นอนทีเดียวว่าสหรัฐฯนั้นได้เริ่มดำเนินการอัปเกรดคลังแสงนิวเคลียร์อันใหญ่โตมหึมาอยู่แล้วของตน [2] ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ [3] (นี่ยังเป็นตัวเลขก่อนหน้าที่ค่าใช้จ่ายจะเริ่มบานปลายเกินงบประมาณด้วยซ้ำ) ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งรัฐสภาสหรัฐฯและประธานาธิบดีของสหรัฐฯต่างถูกพิสูจน์ยืนยันมานมนานหลายปีแล้วว่า มีความกระตือรือร้นที่จะทุ่มเทเงินทองอย่างน้อยที่สุดปีละ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าไปในงบประมาณของพวกหน่วยงานที่กำลังกลายเป็นรัฐความมั่นคงแห่งชาติ [4] (ตัวเลขนี้ยังกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ [5] ขณะเดียวกันก็ทิ้งห่างไกลสุดกู่เมื่อเทียบกับงบประมาณด้านเดียวกันนี้ของมหาอำนาจรายอื่นๆ ไม่ว่ารายไหนก็ตามบนพื้นพิภพนี้ [6]) แต่ในเวลาเดียวกันนั้นพวกโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯเองต่างอยู่ในสภาพทรุดโทรมและผุพัง [7] ถึงกระนั้นสหรัฐฯยังคงมีอยู่รู้สึกว่าฝ่ายเกาหลีเหนือผู้ยากจนข้นแค้นช่างทำตัวได้อย่างน่าพิศวงงงงวยเหลือเกิน เมื่อพวกเขาก็เดินไปบนเส้นทางอันสุดโต่งเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน!

ธรรมดาแล้วชาวอเมริกันย่อมไม่คิดที่จะนำเอาคำว่า “ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย, ไม่ประสีประสาอะไรเลย” (Clueless) มาประยุกต์ใช้กับพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นอเมริกันในฐานะของประเทศ, ของประชาชน, หรือของรัฐบาลก็ตามที กระนั้น ลองคิดให้ดีเถอะ คำๆ นี้ช่างมีความเหมาะเหม็งเสียจริงๆ

เมื่อพูดกันถึงคำว่าไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรแล้ว ยังมีเส้นทางที่แปลกประหลาดน่าพิศวงยิ่งกว่านี้อีกเส้นทางหนึ่งซึ่งสหรัฐฯนั้นแหละกำลังเดินอยู่ตลอดมา อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่ชั่วขณะซึ่งทราบๆ กันอยู่ในสมัยของจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ได้ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องติดตามมาอย่างมากมายมหาศาลชนิดไม่มีอะไรเทียบได้อีกแล้ว กระนั้นก็ตามด้วยเหตุผลบางอย่างบางประการมันกลับยังคงถูกสังเกตถูกมองพบเห็นกันน้อยนิดที่สุด หัวข้อนี้แหละคือสิ่งที่ชาวอเมริกันมองกันไม่กันหรือมองกันไม่ออก ความจริงแล้ว ถ้าคุณนำเอาสหรัฐอเมริกามานั่งอยู่บนเก้าอี้โซฟาคนไข้ในห้องจิตแพทย์ ตรงนั้นแหละซึ่งน่าจะเป็นสถานที่สำหรับการเริ่มต้น

อเมริกาที่เคยถูกควบคุมยับยั้ง

ในแง่หนึ่ง เรื่องราวของอเมริกาก็เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเนิ่นนานเก่าแก่ที่สุดบนโลกใบนี้ นั่นคือ มันเป็นเรื่องการก้าวผงาดและการเสื่อมโทรมล่มสลายของจักรวรรดิต่างๆ นั่นเอง ขอให้สังเกตนะครับว่าคำว่าจักรวรรดินี้ผมใช้เป็นพหุพจน์ คือจักรวรรดิที่มีกันอยู่หลายๆ แห่ง ในอดีตที่ผ่านมานั้น –อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงช่วงหลังๆ นี้แหละ “จักรวรรดิ” ต้องเป็นพหุพจน์ ต้องมีกันหลายๆ แห่งเสมอ นับตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 15 ตอนที่พวกกองเรือของมหาอำนาจจักรวรรดินิยมชาวยุโรปแห่งแรกๆ บุกตีเข้าไปในโลกอันกว้างใหญ่ด้วยความคิดที่จะปราบปรามเข้าพิชิตกดขี่เป็นต้นมา มันก็เป็นการแข่งขันแย่งชิงกันของจักรวรรดิหลายๆ แห่งทุกทีไป ทั้งนี้มีอยู่อย่างน้อยที่สุดสัก 3 ครั้งกระมังซึ่งมีจักรวรรดิมหาอำนาจรายสำคัญกว่าเพื่อนหลายรายก้าวผงาดขึ้นมาและแย่งชิงกันเป็นใหญ่เป็นผู้มีอำนาจครอบงำเหนือคนอื่น หรือไม่ก็กำลังเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ จากอำนาจดังกล่าว

หากจะหาคำจำกัดความประวัติศาสตร์ของเหล่ามหาอำนาจยิ่งใหญ่ทั้งหลายบนพื้นพิภพนี้ ก็คงก็คงอยู่ในลักษณะที่ว่า ผู้ที่ออกมาท้าทาย ก้าวผงาดขึ้นมา ส่วนผู้ที่ถูกท้าทาย ก็เสื่อมทรุดลงไป (the challenging rise, the challenged decline) ลองคิดดูนะครับว่านี่แหละคือเนื้อหาสาระในเรื่องเล่าขานของประวัติศาสตร์ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายศตวรรษเหลือเกิน เป็นนิยามที่สามารถสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงปี 1945 เมื่อมีเหลืออยู่เพียง 2 “อภิมหาอำนาจ” (superpowers) คือสหรัฐฯกับสหภาพโซเวียต ซึ่งพบว่าพวกเขากำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในขอบเขตทั่วทั้งโลก

ในระหว่างอภิมหาอำนาจ 2 รายนี้ สหรัฐฯทั้งแข็งแรงกว่า, มีอำนาจมากกว่า, และร่ำรวยมั่งคั่งกว่านักหนาอยู่เสมอมา โดยทฤษฎีแล้วสหรัฐฯหวาดกลัวหมีรัสเซียตัวนี้ ซึ่งถูกขนานนามว่า “จักรวรรดิแห่งความชั่วร้าย” (Evil Empire) [8] และพากเพียรพยายามทำงานเพื่อ “ควบคุมยับยั้ง” [9] ให้อยู่แต่ข้างหลัง “ม่านเหล็ก” (Iron Curtain) อันมีชื่อเสียงโด่งดัง ขณะที่สมัครพรรคพวกของรัสเซียที่อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งมีกันเป็นจำนวนน้อยนิดเสมอมา ก็ตกเป็นเหยื่อของความหวาดกลัวอย่างชนิดคลั่งไคล้และการปราบปรามกดขี่

อย่างไรก็ตาม ความจริง (อย่างน้อยที่สุดเมื่อเราลองมองย้อนทบทวนกลับไป) มีอยู่ว่า ในระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งสงครามเย็น (Cold War) นี้ ที่แท้แล้วฝ่ายโซเวียตกำลังทำประโยชน์ให้แก่วอชิงตันอย่างแปลกประหลาดและไม่เป็นที่สังเกตพบเห็นกัน ตลอดทั่วดินแดนจำนวนมากของมหาทวีปยูเรเชีย และอาณาบริเวณอื่นๆ ตั้งแต่คิวบาไปจนถึงตะวันออกกลาง อำนาจของโซเวียต และการแย่งชิงแข่งขันกับสหรัฐฯเพื่อแผ่อิทธิพลและการเข้าครอบงำอย่างไม่มีวันจบสิ้นซึ่งมีพร้อมกับอำนาจนี้ มักคอยเตือนพวกผู้นำอเมริกันอยู่เสมอว่าอำนาจของพวกเขาเองนั้นมีขอบเขตจำกัดของมันอยู่

นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลย (โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงศตวรรษที่ 21 ด้วยแล้วก็ยิ่งสมควรมองกันกันได้ชัดเจน แต่เอาเข้าจริงแล้วกลับยังคงไม่ถูกมองกันให้ชัดๆ อยู่นั่นเอง) ในเวลานั้นดูเหมือนยังคงมองเห็นกันได้ว่าอำนาจของอเมริกันไม่สามารถที่จะแผ่ออกไปโดยตลอดถ้วนทั่วได้ ยังมีหลายๆ อย่างที่อเมริกาไม่สามารถกระทำได้ มีพื้นที่หลายๆ บริเวณซึ่งอเมริกาไม่สามารถควบคุมได้ มีความฝันหลายๆ อย่างซึ่งพวกผู้นำของอเมริการู้ว่าไม่สามารถใฝ่ฝันถึงได้ จากปี 1945 จนถึงปี 1991 สหรัฐฯก็แฉกเช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต สามารถกล่าวได้ว่าได้ “ถูกควบคุมยับยั้ง” เอาไว้จากอีกฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้อาจจะไม่มีใครเลยในตอนนั้นที่ขบคิดในลักษณะดังกล่าว

ในช่วงปีเหล่านี้ โดยเนื้อหาสาระแล้วฝ่ายรัสเซียจึงกำลังปกปักรักษาวอชิงตันให้พ้นภัยจากตัววอชิิงตันเอง อำนาจของโซเวียตกลายเป็นเครื่องเตือนชนิดจับต้องได้ต่อพวกผู้นำทางการเมืองและทางการทหารชาวอเมริกันว่า บริเวณบางแห่งบนพื้นพิภพนี้ยังคงเป็นพื้นที่ซึ่งเข้าไปไม่ได้ (เพียงแต่ว่าในช่วงปีเหล่านี้ บริเวณเช่นนี้ถูกเรียกขานกันด้วยคำว่า “เงาทมิฬ” the shadows)

กล่าวโดยสรุปแล้ว สหภาพโซเวียตได้ช่วยเหลือวอชิงตันให้พ้นภัยทั้งจากแฟนตาซีจินตนาการอันตราย และทั้งจากนรกของการบุกเดี่ยวไปคนเดียว ถึงแม้ว่าชาวอเมริกันสามารถตระหนักถึงความเป็นจริงเช่นนี้ได้ในระดับเล็กน้อยที่สุด

นี่คือสถานการณ์ที่ดำรงอยู่จวบจนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม 1991 เมื่อในตอนท้ายของการแข่งขันแบบจักรวรรดิที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายศตวรรษ เพื่อแย่งชิงอำนาจ (และการแข่งขันกันด้านกำลังอาวุธอย่างไม่รู้จบซึ่งมาพร้อมกับการแย่งชิงอำนาจนี้) ปรากฏว่าเหลือมหาอำนาจยักษ์ใหญ่มหึมาอยู่เพียงรายเดียวเท่านั้นที่ยังคงยืนหยัดอยู่บนพิภพโลก ผมขอพูดถึงบรรยากาศซึ่งดูจะสามารถบอกเล่าบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกที่มีกันอยู่ในเวลานั้นได้ดีทีเดียว เมื่อตอนที่สหภาพโซเวียตเกิดระเบิดแตกทลายขึ้นมาจากภายในนั้น ปฏิกิริยาเริ่มแรกของวอชิงตันไม่ใช่เป็นอารมณ์ความรู้สึกแบบผู้พิชิตชัยชนะหรอก (ถึงแม้สิ่งนี้ก็ปรากฏออกมาด้วยในอีกไม่นานต่อมา) แต่เป็นอาการช็อกอย่างรุนแรง เป็นความรู้สึกไม่อยากเชื่อที่เกิดอะไรบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาอย่างที่ไม่มีใครเคยคาดหมาย, เคยทำนาย, หรือกระทั่งกล้าจินตนาการ จนกระทั่งมาถึงตรงชั่วขณะตรงนั้น วอชิงตันวางแผนการอะไรก็คาดคำนวณคิดคำนึงถึงโลกที่มี 2 อภิมหาอำนาจดำรงอยู่ตราบสิ้นกัลปาวสาน

อเมริกาที่ไม่ถูกควบคุมยับยั้ง

อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักหลังจากนั้น ชนชั้นนำของวอชิงตันก็บรรลุข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นมา ด้วยถ้อยคำที่ถือเป็นวลีแห่งยุคสมัยทีเดียว นั่นคือ “จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์” (the end of history) [10] เมื่อพิจารณาจากความยับเยินของสหภาพโซเวียต มันดูราวกับว่าชัยชนะในท้ายที่สุดได้ตกเป็นของสหรัฐฯซึ่งอีกไม่ช้าไม่นานพวกนักการเมืองของประเทศนี้จะเรียกขานมันว่าเป็น “อภิมหาอำนาจรายสุดท้าย” , ชาติ “ที่จำเป็นต้องมีขาดหายไม่ได้” [11], รัฐ “ที่ถือเป็นข้อยกเว้น” [12], เป็นดินแดนยิ่งใหญ่เหนือจินตนาการ (อย่างน้อยที่สุดก็จวบจนกระทั่่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ออกรณรงค์หาเสียงด้วยการป่าวร้องคำขวัญซึ่งบ่งบอกเป็นนัยว่าอเมริกันทั้งหลายไม่ได้มีความยิ่งใหญ่เหลืออยู่อีกแล้ว [13])

ในความเป็นจริง ณ ชั่วขณะนั้นมีเส้นทางอยู่หลายหลากเส้นทางทีเดียวซึ่งเปิดกว้างให้แก่ “อภิมหาอำนาจรายสุดท้าย”รายเดียวที่ยังคงอยู่นี้ มีการพูดจากัน (ถึงแม้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น) แม้กระทั่งถึงเรื่อง “การแบ่งปันผลกำไรจากสันติภาพ” -- ซึ่งหมายถึงความเป็นไปได้ที่ว่า ในโลกที่ปราศจากอภิมหาอำนาจคอยแก่งแย่งแข่งขันกันแล้วเช่นนี้ เงินทองงบประมาณแผ่นดินที่เก็บจากพวกผู้เสียภาษีก็น่าจะเลิกนำไปลงทุนในพลังแห่งการทำสงคราม แต่หันมาลงทุนในสิ่งที่สร้างสันติภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และในเรื่องการอยู่ดีกินดีของพลเมืองของประเทศ)

อย่างไรก็ตาม การพูดจาเช่นนี้ยืนยาวไปได้เพียงแค่ราว 1 ถึง 2 ปี โดยมักจะอยู่ในระดับที่ถือว่าสำคัญน้อยเสมอมา ก่อนที่จะถูกโยนไปซุกเอาไว้ในห้องเก็บของของวอชิงตัน ตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่มีพวกรัฐ “อันธพาล” ผอมโซขี้โรคเพียงสองสามรายเหล่านั้นที่หลงเหลืออยู่ให้เล่นงานจัดการ –อย่าง ... เอ้อ (ขอกลืนน้ำลายก่อน) ... เกาหลีเหนือ, อิรัก, และอิหร่าน— แต่เงินทองงบประมาณแผ่นดินก็ไม่เคยได้บ่ายหน้ากลับบ้านกันจริงๆ เลย เช่นเดียวกับแนวความคิดที่ติดไปกับเงินทองเหล่านั้นก็ไม่เคยหวนกลับมาบ้านเช่นกัน

ควรต้องถือว่าเป็นโชคดีของพวกนักเพ้อฝันทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งอีกไม่ช้าไม่นานจะเข้ากุมบังเหียนในวอชิงตัน จากการที่สงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งแรก (the first Gulf War) ระหว่างปี 1990 – 1991 ซึ่งยุติลงไม่ถึงปีก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นการแผ้วถางเส้นทางให้เกิดความพรักพร้อมยอมรับสไตล์แนวความคิดที่แตกต่างผิดแผกออกไป ชัยชนะอย่างง่ายดายฉับพลันในคราวนั้นได้นำไปสู่ความฝันหวานทางการทหารประเภทใหม่ ซึ่งจินตนาการไปว่าการทหารที่อาศัยความรู้ความสามารถทางด้านไฮเทค อย่างเดียวกันกับพวกที่ใช้ในการขับไล่ไสส่งกองทัพของซัดดัม ฮุสเซน จอมเผด็จการแห่งอิรัก ให้ล่าถอยไม่เป็นขบวนออกไปจากคูเวตในเวลาสั้นๆ เช่นนั้นได้ ก็จะมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้ทั้งนั้นบนโลกใบนี้โดยปราศจากการถูกต่อต้านคัดค้านอย่างจริงจังใดๆ

กระนั้นก็ตามที ตั้งแต่เริ่มต้นกันทีเดียวก็มีสัญญาณหลายๆ ประการบ่งบอกชี้ถึงอนาคตที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นอย่างสุดกู่ ผมจะขอยกตัวอย่างที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่สักตัวอย่างหนึ่ง นั่นคือ เหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์แบบแบล็กฮอว์กถูกยิงตกในปี 1993 [14] ซึ่งชาวอเมริกันทั้งหลายดูจะยังจดจำกันได้ดี เมื่อกองทัพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของสหรัฐฯต้องตกเป็นเหยื่อของขุนศึกชาวโซมาเลียและกลุ่มติดอาวุธท้องถิ่น และพบว่าตนเองไร้ความสามารถที่จะบังคับใช้เจตนารมณ์ของตนในรัฐที่มีความน่าประทับใจน้อยที่สุดรัฐหนึ่งของพื้นพิภพนี้ (แล้วมันก็ยังคงเป็นสถานที่ซึ่งสร้างความหงุดหงิดผิดหวังให้แก่กองทัพยิ่งใหญ่นี้อยู่นั่นเองในอีกราวเสี้ยวศตวรรษต่อมา [15])

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งยุคหลังปี 1991 แทบไม่มีใครเลยในวอชิงตันซึ่งหันมาขบคิดพิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่า ช่วงศตวรรษที่ 20 ยังมีการปลดปล่อยปรากฏการณ์อีกอย่างหนึ่งเป็นอิสระขึ้นมาบนโลกใบนี้ อันได้แก่ ขบวนการปลดแอกแห่งชาติของพวกกบฏผู้ก่อความไม่สงบ ที่โดยทั่วไปแล้วเป็นพวกกบฏฝ่ายซ้าย และเคลื่อนไหวไปตลอดทั่วทั้งโลกแห่งอาณานิคม (มันก็คือโลกของพวกจักรวรรดิที่เคยแข่งขันแย่งชิงกัน และเวลานี้กำลังถูกสอดแทรกเข้าไปในหลืบมุมของหนังสือประวัติศาสตร์นั่นเอง) โดยที่ไม่ได้สูญหายไปไหน ในศตวรรษที่ 21 ขบวนการกบฏก่อความไม่สงบดังกล่าวนี้ ซึ่งเวลานี้ส่วนใหญ่อิงอยู่กับศาสนาหรืออิงอยู่กับการก่อการร้ายหรือไม่ก็ทั้งสองอย่าง จะปรากฏตัวออกมาเสนอการควบคุมยับยั้งในเวอร์ชั่นใหม่สุดโหดเหี้ยมให้แก่อภิมหาอำนาจรายสุดท้ายของพื้นพิภพ

ปลดโซ่ซึ่งยับยั้งดึงรั้งประเทศที่โลกขาดไม่ได้

ในวันที่ 11 กันยายน 2001 นักรบญิฮาดระดับโลกผู้ฉลาดหลักแหลมผู้หนึ่งที่อยู่ในนามของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ได้จัดส่ง [16] กองกำลังทางอากาศของเขา (คือเครื่องบินโดยสารไอพ่นสหรัฐฯที่จี้ยึดมาจำนวน 4 ลำ) และอาวุธสุดแม่นยำของเขา (ลูกน้องที่พร้อมฆ่าตัวตายจำนวน 19 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวซาอุดีอาระเบีย) เข้าโจมตี “เป้าหมายศักดิ์สิทธิ์” 3 แห่งใน “มหาวิหารของอเมริกัน” ซึ่งได้แก่ เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ), อาคารเวิลด์เทรดเซนเตอร์, และอีกเป้าหมายหนึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าต้องเป็นอาคารรัฐสภาสหรัฐฯหรือไม่ก็ทำเนียบขาว (ทั้งสองแห่งต่างไม่ได้ถูกโจมตีเพราะเครื่องบินโดยสารเหล่านี้ลำหนึ่งได้ตกลงไปในทุ่งแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนีย [17]) ในแง่หนึ่ง จากการกระทำเช่นนี้ บิน ลาดิน ไม่เพียง “เปิดนรกบนดิน” ตามตัวอักษรเท่านั้น แต่ยังทำการปลดโซ่ที่ยับยั้งดึงรั้งอภิมหาอำนาจรายสุดท้ายรายเดียวที่คงอยู่นี้อีกด้วย [18]

วิลเลียม เชคสเปียร์ น่าจะเลือกสรรคำสำหรับกล่าวถึงสิ่งที่เกิดตามมาว่า “อหังการ” แต่กระนั้นคงต้องให้โอกาสและยกโทษแก่พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของคณะบริหารบุช (รวมทั้งพวกอนุรักษนิยมใหม่ที่สนับสนุนพวกเขา) สักหน่อยเหมือนกัน มันไม่เคยมีช่วงเวลาเหมือนอย่างเมื่อตอนนั้นมาก่อนเลย เป็นช่วงเวลาของความเป็นหนึ่ง มหาอำนาจยิ่งใหญ่ที่มีอยู่เพียงรายเดียว ถูกทอดทิ้งเอาไว้ตามลำพังคนเดียว ในฐานะผู้พิชิต บนพื้นพิภพที่มีชื่อว่าโลก เป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ที่มีอยู่เพียงรายเดียว --ซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยเหลือล้นอย่างไม่มีใครเทียมทาน มีกองทัพที่ไฮเทคยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีใครแข่งขันด้วย ในเมื่อปรปักษ์ที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียวตกอยู่ในสภาพพังทลายเสียแล้ว ทว่ามาถึงตอนนี้กลับถูกท้าทายโดยนักรบญิฮาดกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง

สำหรับประธานาธิบดีบุช, รองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ (Dick Cheney) และลูกทีมคนอื่นๆ ของพวกเขา นี่มันดูเหมือนกับเป็นโอกาสที่สวรรค์ส่งให้มาโดยแท้ทีเดียว ขณะที่พวกเขาก้าวพ้นออกมาจากอาการช็อกของ 9/11 ก้าวพ้นออกมาจาก “เพิร์ลฮารเบอร์แห่งศตวรรษที่ 21” [19] นั่นแล้ว พวกเขาก็เหมือนกับได้ค้นพบสูตรมหัศจรรย์สูตรหนึ่งในท่ามกลางกองซากปรักหักพังของพวกอาคารศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เป็นสูตรมหัศจรรย์ว่าด้วยวิธีการที่จะเข้าควบคุมเหนือพิภพใบนี้ในท้ายที่สุด อย่างที่รัฐมนตรีกลาโหมโดนัลด์ รัมสเฟลด์ (Donald Rumsfeld) ได้แนะนำผู้ช่วยคนหนึ่งในเพนตากอนในวันนั้นนั่นแหละ “ทำให้ใหญ่โตมโหฬารไปเลย กวาดล้างมันให้เรียบ อะไรๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและที่ไม่เกี่ยวข้อง”[20]

ภายในเวลาไม่กี่วัน อะไรๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและที่ไม่เกี่ยวข้องก็กำลังถูกกวาดล้างกันจริงๆ ประเทศชาติเกือบจะประกาศออกมาในทันทีว่า “อยู่ในภาวะสงคราม” แล้วจากนั้นอีกไม่ช้าไม่นาน การสู้รบขัดแย้งนี้ยังถูกตั้งชื่อขึ้นมาด้วย นั่นคือ “สงครามต่อสู้การก่อการร้ายทั่วโลก” (Global War on Terror) สงครามนี้ไม่ใช่การทำศึกปราบปรามเพียงแค่พวกอัล-กออิดะห์ (al-Qaeda) หรือไม่ใช่กระทั่งต่อประเทศๆ หนึ่ง ซึ่งคืออัฟกานิสถานที่ดินแดนจำนวนมากถูกปกครองโดยกลุ่มตอลิบาน (Taliban) เท่านั้น มากกว่า 60 ประเทศ [21] ซึ่งถูกระบุว่ามี “เครือข่ายผู้ก่อการร้าย” ในรูปแบบต่างๆ หลายหลาก ได้พบว่าพวกเขาเองแทบมีหวังจะถูกเล็งปืนใส่จากคณะบริหารบุชได้ในทันทีทันใด และนี่ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นของเรื่องนี้อีกด้วย

ในเดือนตุลาคม 2001 การรุกรานอัฟกานิสถานเปิดฉากขึ้นมา ในฤดูใบไม้ผลิของปี 2003 การรุกรานอิรักก็ตามมาอีก และนี่เป็นเพียงขั้นตอนแรกๆ ของสิ่งซึ่งจะถูกมองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นการบังคับใช้ระบบ “สันติภาพโดยอเมริกา” (Pax Americana การสร้างสันติภาพและเสถียรภาพขึ้นมาด้วยอำนาจอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา) ในอาณาบริเวณมหาตะวันออกกลาง (Greater Middle East)

ไม่มีข้อสงสัยอะไรอีกแล้วว่า อีกหลายๆ ประเทศ ตัวอย่างเช่น อิหร่าน [22] กับ ซีเรีย ไม่ช้าไม่นานนักจะต้องถูกผลักไสให้เดินไปบนเส้นทางสายเดียวกับอิรักและอัฟกานิสถาน อันที่จริงแล้ว พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปในทีมของบุช ได้พยายามบ่มเพาะสร้างความฝันทำนองนี้แหละมาตั้งแต่โน้น— เมื่อปี 1997 แล้ว ตอนที่พวกเขาหลายๆ คนจัดตั้งกลุ่มคลังสมอง (think-tank) ขึ้นมากลุ่มหนึ่ง [23] (แล้วยังกลายเป็นกลุ่มคลังสมองกลุ่มแรกที่ได้เคยเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกด้วย) ซึ่งใช้ชื่อว่า “โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Century) และเริ่มต้นเขียน [24] สิ่งที่ในตอนนั้นยังเป็นแฟนตาซีฝันเฟื่องของพวกบุคคลที่ไม่ได้เฉียดใกล้จับต้องอำนาจกันเลย กระทั่งเมื่อมาถึงปี 2003 นั่นแหละ พวกเขาคืออำนาจในตัวมันเองแล้ว และความฝันเฟื่องของพวกเขาก็ได้ขยายตัวจนมีความใหญ่ยิ่งมโหฬารขึ้นไปอีก

นอกเหนือจากการจินตนาการว่าจะสร้าง “สันติภาพโดยพรรครีพับลิกัน” (Pax Republicana) ในทางการเมืองขึ้นในสหรัฐฯแล้ว พวกเขายังฝันกันอย่างจริงจังถึง “สันติภาพโดยอเมริกา” (Pax Americana) ที่จะแผ่กว้างครอบคลุมไปทั่วทั้งพิภพในอนาคต ซึ่งมันจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทีเดียว ที่มีมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวโดยลำพัง จะสามารถเข้าควบคุมกิจการ (ในบางแง่มุมบางลักษณะ) กิจการงานของทั่วทั้งพื้นพิภพที่มีนามว่าโลกได้

แล้วนี่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องซึ่งเกิดขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว จากนั้นก็ผ่านไปเท่านั้นด้วย แท้ที่จริงแล้ว “ลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” (unilateralism) ของคณะบริหารบุชนี้ ตั้งอยู่บนความมั่นใจเชื่อแน่ที่ว่า ตนสามารถจริงๆ ที่จะสร้างอนาคตชนิดซึ่งไม่มีประเทศไหนหรือแม้กระทั่งกลุ่มของประเทศใดๆ ก็ตามที จะสามารถขยับเฉียดใกล้เข้ามาเพื่อประลองหรือท้าทายแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ เอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ปี 2002 ของคณะบริหารชุดนี้ ได้ระบุเรื่องนี้เอาไว้อย่างโจ่งแจ้งชัดเจน [25] ว่า: สหรัฐฯต้อง “สร้างและธำรงรักษา” กองทัพชนิดที่ “เหนือการท้าทายใดๆ” [26] ซึ่งนี่เป็นถ้อยคำของยุคสมัยนั้น

พวกเขาแทบไม่บังเกิดความสงสัยข้องใจกันเลยว่า และมีความมั่นใจอย่างสุดๆ ว่า เมื่อเผชิญหน้ากับกองกำลังอาวุธทำลายล้างของสหรัฐฯที่มีเทคโนโลยีก้าวลำหน้าที่สุดและใหญ่โตแข็งแกร่งที่สุดของโลก พวกรัฐศัตรูทั้งหลายก็จะต้อง “รู้สึกตื่นตระหนกตัวสั่นงันงก” แม้เพียงแค่ได้เห็นการสาธิตอย่างเรียบง่ายถึงแสนยานุภาพของกองกำลังนี้[27] ขณะที่พวกรัฐเพื่อนมิตรก็แทบจะไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากยินยอมอ่อมน้อมเชื่อฟังเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่างที่บุชได้ไปกล่าว [28]ไว้ในการประชุมใหญ่ครั้งหนึ่งของกลุ่มทหารผ่านศึกสงครามในต่างประเทศ (Veterans of Foreign Wars) เมื่อปี 2007 ว่า กองทัพสหรัฐฯนั้น “เป็นกองกำลังสำหรับการปลดปล่อยมนุษย์ซึ่งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกได้เคยรู้จักกันมา”

ถึงแม้ในเวลานั้นมีการพูดกันมากเกี่ยวกับ “การปลดปล่อย” อัฟกานิสถาน แล้วจากนั้นก็ปลดปล่อยอิรัก แต่อย่างน้อยที่สุดในจินตนาการของพวกเขาแล้วประเทศแท้จริงที่กำลังถูกปลดปล่อย ก็คือสหรัฐอเมริกา --อภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่ยังดำรงคงอยู่ของพื้นพิภพ ถึงแม้คณะบริหารบุชได้รับการพูดถึงได้รับการพิจารณาอย่างเป็นทางการว่าเป็น คณะบริหารสาย “อนุรักษนิยม” แต่พวกเจ้าหน้าที่ระดับสำคัญของคณะบริหารชุดนี้แท้ที่จริงเป็นนักฝันเฟื่องทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับตัวพ่อตัวแม่ และวิสัยทัศน์ของพวกเขาในเรื่องโลก ก็เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างยิ่งกับความคิดแบบอนุรักษนิยม มันเป็นทัศนะแบบไม่ยอมถอยกลับมารับฟังพิจารณาอะไรทั้งนั้นและมุ่งมองไปแต่ข้างหน้าในทุกสิ่งทุกอย่าง

มันเป็นแนวความคิดหัวรุนแรงในลักษณะซึ่งสมควรทำให้สาธารณชนชาวอเมริกันแตกตื่นหวั่นผวา (ทว่ากลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น) เป็นแนวความคิดหัวรุนแรงในลักษณะที่ไม่เคยได้พบเห็นกันมาก่อนเลย

“ความตื่นตระหนกตัวสั่นงันงก” สำหรับอภิมหาอำนาจรายสุดท้าย

ลองคิดถึงสิ่งที่พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้กระทำเอาไว้ในช่วงเวลาภายหลัง 9/11 ในแง่ที่ว่ามันเป็นพฤติการณ์ของความละโมบหิวกระหายอย่างถึงที่สุดดูซิครับ พวกเขาพยายามที่จะกลืนกินสวาปามพิภพทั้งพิภพกันเลย พวกเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้มันกลายเป็นพิภพซึ่งมีความเป็นหนึ่ง ในแบบที่ไม่มีใครเคยฝันเคยจินตนาการกันอย่างจริงจังมาก่อน

อย่างเบาที่สุดก็ต้องบอกว่า มันคือวิสัยทัศน์แห่งความบ้าคลั่ง ถ้าหากเป็นคณะบริหารของพวกอนุรักษนิยมอย่างแท้จริงแล้ว แม้กระทั่งในช่วงขณะที่ดูเหมือนจะมองเห็น (อย่างน้อยที่สุดก็ในสายตาของพวกเขาล่ะ) ว่าข้อจำกัดทั้งหลายทั้งปวงได้ถูกปลดถูกถอดออกไปจนหมดสิ้นแล้ว คณะบริหารนี้ก็ยังน่าจะต้องบังเกิดความลังเลขึ้นมาอยู่ดี อย่างน้อยที่สุด พวกเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของคณะบริหาร ก็ควรต้องปฏิบัติต่อสถานการณ์ในยุคหลังโซเวียตล่มสลาย ด้วยความระมัดระวังตัวและความสงบเสงี่ยมกันพอประมาณ

ทว่าแบบนั้นไม่ใช่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช, ดิ๊ก เชนีย์, โดนัลด์ รัมสเฟลด์, และผองเพื่อนหรอก เบื้องหน้าของสิ่งที่ดูเหมือนกับว่าความเป็นไปได้ทั้งหลายกำลังอยู่ในระดับสูงสุดนั้นเอง พวกเขาก็พิสูจน์ตัวให้เห็นถึงความไม่รู้ประสีประสาอะไรเลย ในเรื่องที่ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะมีอะไรในโลกซึ่งมีอิทธิฤทธิ์สามารถที่จะบังคับยับยั้งดึงรั้งพวกเขาไว้

แม้กระทั่งในหมู่ผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขาก็เถอะครับ ใครกันล่ะที่สามารถจินตนาการได้ตั้งแต่ในตอนนั้นว่า เมื่อมาถึงขณะนี้หลังจากที่เวลาผ่านพ้นไปมากกว่า 16 ปี สหรัฐฯซึ่งยังคงมั่งคั่งร่ำรวยชนิดไม่มีใครเทียบเทียมได้ และยังคงทุ่มเทงบประมาณทางการทหารชนิดที่เมื่อนำเอาค่าใช้จ่ายด้านนี้ของอีก 7 ประเทศในอันดับสูงถัดๆ ไป [29] มารวมกันก็ยังไม่อาจแข่งขันด้วยได้ [30] นั้น จะยังคงอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าไม่อาจคว้าชัยชนะใดๆ มาได้เลย ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาเหล่านี้ศัตรูประเภทต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญอยู่ก็เป็นพวกศัตรูที่ติดอาวุธอย่างเบาบาง

ใครกันล่ะที่สามารถจินตนาการได้ว่า ไม่เหมือนกับมหาอำนาจจักรวรรดินิยมรายอื่นๆ จำนวนมากก่อนหน้านี้ (ซึ่งนี่รวมไปถึงสหรัฐฯเองในช่วงต้นๆ ของยุคสงครามเย็นด้วย) สหรัฐฯยังคงตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถควบคุมอะไรได้ทั้งนั้น ตรงกันข้ามตั้งแต่อัฟกานิสถานไปจนถึงซีเรีย, อิรัก, และลึกเข้าไปในแอฟริกา สหรัฐฯมีแต่พบว่าตนเองตกอยู่ในภาวะทำ “สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด” [31] และกำลังสร้างความหงุดหงิดผิดหวังบนพิภพซึ่งเพิ่มจำนวนไปด้วย รัฐที่ล้มเหลว [32], เมืองที่ถูกทำลายราบ [33], ประชาชนที่ต้องพลัดบ้านเมือง [34], และรัฐบาล “ประชานิยมฝ่ายขวา” [35] ซึ่งก็รวมไปถึงรายหนึ่งที่อยู่ในกรุงวอชิงตันด้วย

ใครกันล่ะที่สามารถจินตนาการได้ว่า ในสภาพที่สหรัฐฯไม่อาจฝันหวานแม้เพียงจางๆ ได้อีกต่อไปถึงเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากสันติภาพ ประเทศนี้ไม่เพียงพบว่าตนเองอยู่ในสภาพเสื่อมทรุดเท่านั้น หากแต่ยังเป็น (จำเป็นต้องหาวลีใหม่ๆ มาใช้จับสาระสำคัญของช่วงจังหวะเวลาอันแปลกประหลาดนี้ด้วย โดยที่อาจจะเรียกกันว่าเป็น) ความเสื่อมทรุดจากการทำตัวเอง

ใช่ครับ ในที่สุดแล้วก็เกิดมีมหาอำนาจหน้าใหม่ ซึ่งคือประเทศจีน กำลังก้าวผงาดขึ้นมา และกำลังสามารถทำเช่นนั้นได้บนพิภพนี้ที่ดูเหมือนกับว่ามันกำลังตกต่ำลง [36] ดังนั้นมันจึงมาถึงบทสรุปเกี่ยวกับระยะเวลาเสี้ยวศตวรรษกว่าๆ ซึ่งอเมริกาอยู่ในสภาพไร้โซ่ตรวนแห่งจากถูกบังคับยับยั้ง และอยู่ในสภาพที่คิดแต่จะลุยไปข้างหน้าเพียงลำพังคนเดียว

พื้นพิภพนามว่าโลกนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่ามีสภาพเป็นแค่วัตถุทรงกลมลูกเล็กๆ ลูกหนึ่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล แต่ประวัติศาสตร์เท่าที่ผ่านมาของศตวรรษนี้ก็บ่งชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงบางอย่างบางประการ ซึ่งมีข้อพิสูจน์ยืนยันแล้วว่าพวกผู้ปกครองของอเมริกยังคงไม่ได้รู้ประสีประสาอะไรเกี่ยวกับความเป็นจริงดังกล่าวนี้เอาเลย ความเป็นจริงที่ว่าก็คือ หลังจากระยะเวลาหลายร้อยปีแห่งการต่อสู้ช่วงชิงกันของจักรวรรดิต่างๆ พิภพนี้ก็ยังคงเป็นพิภพที่มีขนาดกว้างใหญ่เกินไป ยังคงดำรงความผิดแผกแตกต่างกันเอาไว้มากเกินไป ยังคงเจ้าอารมณ์บูดบึ้งเกินกว่าที่มหาอำนาจรายหนึ่งรายเดียวใดๆ จะสามารถเข้าควบคุมได้ สิ่งที่คณะบริหารบุชพยายามนั้นเหมือนกับการอ้าปากสวาปามเพื่อกลืนกินเอาสิ่งต่างๆ เข้าไปมากจนเกินไป และก่อให้เกิดผลลัพธ์ประเภทที่ต้องเรียกว่าเป็น อาการอาหารไม่ย่อยแห่งชาติ (และอาการอาหารไม่ย่อยแห่งพื้นพิภพด้วย)

ไม่ว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง ในกรุงวอชิงตันจะเคยมองกันอย่างไร แต่การหายลับไปของสหภาพโซเวียตนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นของขวัญที่น่ายินดีปรีดาอะไรเลย ตรงกันข้ามมันคือความวิบัติหายนะระดับตัวพ่อตัวแม่ มันถอดเอาความรู้สึกทั้งหลายในเรื่องมีข้อจำกัดควบคุม ออกไปจากชนชั้นนำทางการเมืองของอเมริกา แล้วนำไปสู่เรื่องราวของความละโมบโลภมากในระดับพื้นพิภพ ในกระบวนการเช่นนี้เอง ยังนำพาสหรัฐฯให้เข้าไปอยู่ในเส้นทางของการทำตัวเองให้เสื่อมทรุดอีกด้วย

ประวัติศาสตร์ของความละโมบในยุคของพวกเรายังคงไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมา แต่มันจะเป็นเรื่องราวซึ่งถูกเขียนขึ้นมาสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน ในเรื่องราวดังกล่าว ความโลภมากของพวกนักฝันเฟื่องทางภูมิรัฐศาสตร์เหล่านั้นจะบรรจบเข้ากับความละโมบของพวกอภิมหาเศรษฐีเคลือบทองคำสุกสกาววาบวับ ที่มีจำนวนแค่ไม่ถึง 1% ของพลโลก แต่กำลังเตรียมตัวเพื่อสวามปามกลืนกินระบบการเมืองทั้งระบบของอภิมหาอำนาจรายสุดท้าย และเข้าไล่ล่ายึดครองแย่งชิงความมั่งคั่งร่ำรวยของพื้นพิภพเอาไว้ให้ได้จำนวนมากๆ โดยปล่อยเหลือทิ้งให้แก่คนอื่นๆ เพียงแค่เศษๆ

ไม่ว่าคุณกำลังพูดถึงเรื่องแรงกระตุ้นเพื่อเข้าควบคุมพิภพนี้เอาไว้ในทางการทหารหรือในทางการเงินก็ตามที ลงท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีเหล่านี้ก็ส่งผลก่อให้เกิดความพินาศผุพังอย่างเป็นประวัติการณ์ทั้งนั้น หากจะใช้วลียอดนิยมจากสมัยของบุชแล้ว สักวันหนึ่งหน้าพวกเราชาวอเมริกันอาจจะต้องเผชิญกับสิ่งที่แทบไม่ต่างอะไรจาก “การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง” ในระดับทั่วทั้งพิภพหรอก แล้วถึงตอนนั้นความตื่นตระหนกหวาดผวาจะมีมากมายถึงขนาดไหน

แน่นอนทีเดียว พวกเราทั้งหมดเวลานี้ยังคงกำลังอาศัยอยู่บนพิภพซึ่งเด็กๆ ของบุชได้เคยพยายามที่จะสวาปามเขมือบกลืนทีเดียวให้หมดทั้งโลก โดยที่พวกเขาก็ปล่อยทิ้งให้พวกเราต้องอยู่ในโลกซึ่งมีแต่สงครามที่ไม่มีวันจบสิ้น ภัยอันตรายอันไม่มีวันจบสิ้น และก็ปล่อยทิ้งพวกเราให้อยู่ในอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งความไม่รู้ประสีประสาได้ก้าวผงาดขึ้นมาจนกลายเป็นอำนาจอย่างใหม่ไปแล้ว

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ทอม เองเกลฮาร์ดต์ เป็นผู้สร้างและดำเนินงานเว็บไซต์ Tomdispatch.com ที่เป็นโครงการหนึ่งของ The Nation Institute โดยที่เขาเองก็เป็นสมาชิกผู้หนึ่งของสถาบันแห่งนี้ เขาเป็นผู้เขียนหนังสือที่ได้รับการยกย่องชมเชยอย่างสูง เรื่อง The End of Victory Culture ว่าด้วยประวัติศาสตร์ลัทธิเชิดชูชัยชนะอย่างเลยเถิดของชาวอเมริกัน (American triumphalism) ในช่วงสงครามเย็น สำหรับผลงานหนังสือเล่มล่าสุดของเขาได้แก่เรื่อง Shadow Government: Surveillance, Secret Wars, and a Global Security State in a Single-Superpower World

(ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ TomDispatch.com)

เชิงอรรถ
[1] https://www.nytimes.com/2018/06/01/world/asia/trump-north-korea-economic-aid.html
[2] https://www.armscontrol.org/act/2017-12/news/cbo-nuclear-arsenal-cost-12-trillion
[3] https://www.ucsusa.org/nuclear-weapons/us-nuclear-arsenal
[4]http://www.tomdispatch.com/post/176311/tomgram%3A_william_hartung%2C_the_trillion-dollar_national_security_budget/
[5] https://www.washingtonpost.com/world/national-security/trump-plans-to-ask-for-716-billion-for-national-defense-in-2019--a-major-increase/2018/01/26/9d0e30e4-02a8-11e8-bb03-722769454f82_story.html?utm_term=.2cabe10b8f72
[6] http://www.politifact.com/truth-o-meter/statements/2016/jan/13/barack-obama/obama-us-spends-more-military-next-8-nations-combi/
[7] https://www.infrastructurereportcard.org/
[8] http://voicesofdemocracy.umd.edu/reagan-evil-empire-speech-text/
[9] https://history.state.gov/milestones/1945-1952/kennan
[10]http://www.tomdispatch.com/post/176228/tomgram%3A_andrew_bacevich%2C_how_we_got_here
[11]https://www.voanews.com/a/obama_tells_air_force_academy_us_is_one_indispensable_country_world_affairs/940158.html
[12] https://eaglerising.com/15660/marco-rubio-liberals-may-not-believe-know-america-exceptional/
[13]http://www.tomdispatch.com/post/176133/tomgram%3A_engelhardt,_has_the_american_age_of_decline_begun/
[14] https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Mogadishu_(1993)
[15] https://www.usatoday.com/story/news/world/2018/06/09/u-s-special-ops-soldier-killed-4-wounded-attack-somalia/687427002/
[16]http://www.tomdispatch.com/blog/176183/tomgram%3A_engelhardt%2C_a_9_11_retrospective%3A_washington%27s_15-year_air_war/
[17] https://en.wikipedia.org/wiki/United_Airlines_Flight_93
[18]http://www.tomdispatch.com/blog/176345/tomgram:_engelhardt,_doing_bin_laden%27s_bidding/
[19]http://www.tomdispatch.com/post/118775/9_11_an_explosion_out_of_the_towering_inferno
[20] https://www.cbsnews.com/news/plans-for-iraq-attack-began-on-9-11/
[21] http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/1547561.stm
[22] https://www.nytimes.com/2003/03/18/opinion/things-to-come.html
[23]http://www.tomdispatch.com/blog/175336/tomgram%3A_engelhardt,_war_is_a_drug/
[24] http://www.rrojasdatabank.info/pfpc/PNAC---statement%20of%20principles.pdf
[25] http://www.tomdispatch.com/post/174796/the_theater_of_the_imperially_absurd
[26] https://georgewbush-whitehouse.archives.gov/nsc/nss/2002/nss9.html
[27] https://www.hrw.org/legacy/press/2003/12/us-iraq-press.htm
[28] http://www.nytimes.com/2007/08/22/washington/w23policytext.html
[29] https://www.sipri.org/sites/default/files/2018-05/sipri_fs_1805_milex_2017.pdf
[30] https://www.pgpf.org/chart-archive/0053_defense-comparison
[31]http://www.tomdispatch.com/post/176433/tomgram%3A_andrew_bacevich%2C_not_so_great_wars%2C_theirs_and_ours/
[32]http://www.tomdispatch.com/post/176094/tomgram%3A_engelhardt,_tomorrow's_news_today/
[33]http://www.tomdispatch.com/post/176310/tomgram%3A_engelhardt%2C_bombing_the_rubble/
[34] http://www.unhcr.org/en-us/figures-at-a-glance.html
[35]http://www.tomdispatch.com/blog/176359/tomgram%3A_john_feffer%2C_drowning_liberalism_in_the_bathtub
[36]http://www.tomdispatch.com/post/175703/tomgram%3A_engelhardt,_the_biggest_criminal_enterprise_in_history/


กำลังโหลดความคิดเห็น