xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องบินทิ้งระเบิดมังกร‘โอ่อวดรัศมีทำการ’ จากเกาะเทียมทะเลจีนใต้สามารถไปถึงช่องแคบมะละกา

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>เครื่องบินทิ้งระเบิด เอช-6 เค ของกองทัพอากาศจีน </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Mischief in Malacca: The long reach of China’s atoll bombers
By Asia Times staff
04/06/2018

กองทัพปลดแอกประชาชนจีนบอกว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดของตนซึ่งฝึกขึ้นลงที่สนามบินบนเกาะเทียมในทะเลจีนใต้นั้น สามารถบินไปไกลจนถึงคาบสมุทรมลายู ขณะที่บางฝ่ายระบุว่าไปจนถึงช่องแคบมะละกาได้ทีเดียว

จีนไม่ได้เคยปิดบังถือเป็นความลับเลยสำหรับข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเกาะเทียมต่างๆ ที่ตนถมทะเลสร้างขึ้นมาจากพืดหินใต้น้ำและเกาะปะการังซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้นั้น จะถูกใช้งานในฐานะที่เป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งไม่มีวันจม” ครั้นเมื่อมาถึงเวลานี้เราก็กำลังได้รับรู้เพิ่มเติมว่า “เรือบรรทุกเครื่องบิน” เหล่านี้ สามารถแผ่อำนาจอิทธิพลไปได้ไกลขนาดไหน

พวกหนังสือพิมพ์จีนในความควบคุมของรัฐกำลังรายงานกันว่า อากาศยานที่ใช้ทางวิ่งเครื่องบินบนเกาะเทียมเหล่านี้ได้ ซึ่งก็รวมถึงเครื่องบินทิ้งระเบิดพิสัยไกลแบบ เอช-6 เค (H-6K long-range bomber) ด้วยนั้น มีศักยภาพที่จะบินไปไกลจนถึงช่องแคบมะละกา ช่องทางยุทธศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสิงคโปร์, มาเลเซีย, และอินโดนีเซีย ที่เป็นทางสัญจรของเรือสินค้าซึ่งแออัดพลุกพล่านที่สุดในโลก

รายงานเช่นนี้ปรากฏออกมาภายหลังจากที่มีข่าวว่ากองทัพอากาศแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้ส่งเครื่องบินแบบต่างๆ ไปฝึกซ้อมขึ้นลงที่ทางวิ่งเหล่านี้บางแห่งเมื่อเร็วๆ นี้ โดยกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเองกล่าวยืนยันเอาไว้ในบัญชีสื่อสังคมเว่ยโป๋ (Weibo account) ของตนเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ได้นำเอาเครื่องบินทิ้งระเบิดหลายๆ แบบ รวมทั้ง เอช-6 เค ด้วย ไปยังสนามบินที่ไม่ได้ระบุชัดเจน โดยบอกเพียงแค่ว่าอยู่ใน “บริเวณทะเลทางใต้” และได้มีการฝึกจำลองการโจมตีต่อเป้าหมายต่างๆ ในทะเลอีกด้วย

โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในเครือของ เหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อ้างอิงคำพูดของ ซ่ง จงผิง (Song Zhongping) ผู้สังเกตการณ์ด้านการทหารผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีนนั้นมีสมรรถนะในการตรวจการณ์ทั่วทั้งอาณาบริเวณทะเลจีนใต้แล้ว รวมไปถึง “ทุกๆ ชาติซึ่งมีชายแดนติดกับทะเลแห่งนี้ และไปไกลจนถึงช่องแคบมะละกาที่อยู่ทางตอนใต้”

เอช-6 เค ซึ่งเป็นการนำเอาเครื่องบินโมเดลเก่ายุคโซเวียตมาออกแบบปรับปรุงอย่างมโหฬารให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่นั้น มีความสามารถที่จะติดตั้งจรวดร่อนแบบยิงจากอากาศ (air-launched cruise missiles) เพื่อการโจมตีจากระยะไกล (long-range standoff offensive) ขณะกำลังใช้ยุทโธปกรณ์นำวิถีความแม่นยำสูง (precision-guided munitions)

ด้วยรัศมีทำการสู้รบระยะทาง 3,500 กิโลเมตร เครื่องบินแบบนี้สามารถบินไปได้ไกลจนถึงคาบสมุทรมลายูทีเดียว ภายหลังทะยานขึ้นจากทางวิ่งยาว 2,700 เมตรบนเกาะปะการัง มิสชีฟ (Mischief Reef) ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ภายในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้พื้นที่ของลากูน (ทะเลสาบน้ำเค็ม) ตรงกลางเกาะปะการังแห่งนี้ เป็นบริเวณกว้างใหญ่ทีเดียวได้ถูกถมสร้างให้เป็นเกาะเทียมขนาดเนื้อที่ 1,379 เอเคอร์ (ประมาณ 3,489 ไร่)

ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรที่จีนกำลังโฟกัสให้น้ำหนักมากเหลือเกินกับการป้องกันช่องแคบมะละกา เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการลำเลียงสินค้าเข้าออกของแดนมังกรในแต่ละปีประมาณครึ่งหนึ่ง และการนำเข้าน้ำมันของจีนราว 80% ต้องผ่านไปตามช่องทางน้ำเส้นนี้ ปักกิ่งคงจะต้องพึ่งพาอาศัยช่องแคบมะละกาเช่นนี้ไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็จนกระทั่งไทยสามารถหาทางสร้างคลอง ที่ตัดผ่านพื้นที่แคบๆ ทางภาคใต้ของตนได้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการเดินทางในทะเลเป็นระยะทางไกลรอบๆ มหาสมุทรอินเดีย

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อเป็นจุดอ่อนเปราะของความมั่นคงปลอดภัยทางด้านการค้าและทางด้านพลังงานของจีนเช่นนี้ เส้นทางเดินเรือทะเลนี้จึงจะยังคงได้รับความสนใจอย่างใกล้ชิดจากกองทัพปลดแอกประชาชนจีนอย่างต่อเนื่องต่อไป พวกนักวิเคราะห์บอกว่าข้อความที่จีนส่งออกมานั้นชัดเจนมาก นั่นคือ ปักกิ่งกำลังโอ่อวดระยะทำการอย่างสุดไกลของเครื่องบินทิ้งระเบิดของตน ก็เพื่อเป็นการตักเตือนใครก็ตามที่อาจจะพยายามปิดตายช่องแคบมะละกา หรือพยายามหน่วงรั้งการไหลเวียนทางการค้าและการไหลเวียนของน้ำมันของแดนมังกร


กำลังโหลดความคิดเห็น