xs
xsm
sm
md
lg

‘ความตึงเครียด’เพิ่มสูง เมื่อ‘ไต้หวัน’เตรียมซ้อมรบใหญ่ ที่มุ่งฝึกต่อต้านการรุกรานของ‘จีน’

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>รถถังของไต้หวันระดมยิงปืน ระหว่างการซ้อมรบ “ฮั่นกวงเอ็กเซอร์ไซส์” ประจำปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2017  สำหรับการฝึกของปีนี้กำหนดเริ่มขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย. โดยที่จะมีขนาดใหญ่โตที่สุดในรอบระยะเวลากว่า 30 ปีที่มีกิจกรรมการซ้อมรบรายการนี้ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Tensions rise as Taiwan readies for anti-invasion drill
By Asia Times staff
18/05/2018

ไทเปเตรียมพร้อมสำแดงแสนยานุภาพของตนครั้งใหญ่ ในการซ้อมรบประจำปีที่มุ่งหมายให้เป็นการฝึกต่อต้านการรุกรานของแผ่นดินใหญ่ ขณะเดียวกันเครื่องบินของจีนก็ก่อกวนด้วยการบินข้ามเส้นพรมแดนทางอากาศไม่หยุดหย่อน

ไต้หวันอยู่ระหว่างการเร่งเตรียมการเพื่อเริ่มการซ้อมรบประจำปีของตนที่มีชื่อว่า “ฮั่นกวงเอ็กเซอร์ไซส์” (Han Kuang Exercise ) ในวันที่ 4 มิถุนายน โดยที่วอร์เกมกินเวลา 5 วันคราวนี้ซึ่งสมมุติจำลองสถานการณ์ว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนบุกเข้ารุกรานไต้หวัน จะเป็นการสำแดงกำลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยพบเห็นมาในระยะหลายปีหลังๆ ของเกาะแห่งนี้ทีเดียว

ทั้งนี้กระทรวงกลาโหมไต้หวันแถลงว่า ขนาดอันใหญ่โตของการซ้อมรบในปีนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลอดระยะเวลา 34 ปีนับตั้งแต่การฝึก ฮั่นกวงเอ็กเซอร์ไซส์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1984

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน มีกำหนดการจะตรวจเยี่ยมกองทหารทุกๆ หน่วยที่เข้าร่วมการฝึกซ้อม นอกเหนือจากการเดินทางไปยังสถานที่ตั้งของกองพันจรวดที่มีความสำคัญมาก ณ ฐานทัพอากาศชิงฉวนกั่ง (Ching Chuan Kang Air Base) ในเขตเทศมณฑลไถจง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของเกาะ

กองพันจรวด ณ ฐานทัพแห่งนี้เป็นเสมือนป้อมปราการซึ่งมีภารกิจในการดูแลรักษาและการยิงจรวดชนิดจากพื้นสู่อากาศแบบ เอ็มไอเอ็ม-104 แพทริออต (MIM-104 Patriot) ที่ถือเป็นแกนกลางของโล่ป้องกันอากาศยานทางยุทธวิธีพิสัยไกลถึงกลางของเกาะแห่งนี้

ปรากฏว่ามีทหารพลร่มคนหนึ่งซึ่งสังกัดกองบัญชาการการบินทหารบกและการปฏิบัติการพิเศษ (Army Aviation and Special Forces Command) ได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการฝึกซ้อมเพื่อการซ้อมรบครั้งนี้ ณ ฐานทัพอากาศชิงฉวนกั่งในวันพฤหัสบดี (17 พ.ค.) เมื่อร่มชูชีพของเขาไม่สามารถกางเต็มที่ภายหลังที่เขากระโดดจากเครื่องบินขนส่ง ซี-130 เฮอร์คิวลิส (C-130 Hercules) ในระดับความสูงเกือบๆ 400 เมตร

กระทรวงกลาโหมของไต้หวันแถลงว่าได้แจ้งให้กองทหารทุกหมู่เหล่านำเอามาตรการความปลอดภัยที่เข้มข้นยิ่งขึ้นมาใช้ และปรับปรุงการฝึกให้มั่นใจได้ว่าการซ้อมรบกระทำกันอยู่ในลักษณะที่มีความปลอดภัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันขึ้นมาอีก

พวกหนังสือพิมพ์ไต้หวันพากันรายงานข่าวด้วยว่า ไช่เป็นผู้ที่เรียกร้องต้องการให้เพิ่มขนาดของการซ้อมรบครั้งนี้ ท่ามกลางการบีบบังคับคุกคามของปักกิ่งที่จะ “ยึด (ไต้หวัน) กลับคืนมาด้วยกำลังทหาร”

ยังคงต้องติดตามกันต่อไปว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีนจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างไร โดยเฉพาะการใช้กำลังทางอากาศและทางทะเลของตนซึ่งเคลื่อนที่วนเวียนไม่ได้หยุดและพุ่งเป้าหมายไปที่ตัวเกาะอยู่แล้ว ในช่วงเวลาที่กองทัพไต้หวันเข้าสู่การซ้อมรบอย่างเต็มตัว ซึ่งมุ่งฝึกการร่วมมือประสานงานและทดสอบยุทธวิธีต่างๆตลอดจนการจัดกำลังพลของตน ภายใต้ธีมหลักว่าด้วยการต่อต้านการรุกราน

“สายสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ (ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งตั้งอยู่คนละฟากของช่องแคบไต้หวัน) อาจจะเข้าสู่ชั่วขณะที่สามารถจุดไฟติดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในตอนที่ไต้หวันกำลังระดมสรรพกำลังทางทหารทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์แทบทั้งหมดของตน ... ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการประจันหน้าทางอากาศระหว่างเครื่องบินรบของจีนและของไต้หวันนั้นเป็นเรื่องซึ่งไม่สามารถที่จะตัดออกไปได้” นักวิจารณ์คนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ลิเบอร์ตี้ไทมส์ (Liberty Times) ของไทเป กล่าวให้ความเห็น

ยังมีรายงานด้วยว่าเมื่อวันพฤหัสบดี (17 พ.ค.) มีเครื่องบินขนส่งแบบ วาย-8 (Y-8) ของจีนลำหนึ่ง ซึ่งถูกดัดแปลงให้ทำหน้าที่รบกวนสัญญาณการสื่อสาร ได้บินเลยข้ามแนวเส้นกึ่งกลางของช่องแคบไต้หวัน ซึ่งถือเป็นเส้นพรมแดนทางอากาศและทางทะเลโดยพฤตินัยระหว่างจีนกับไต้หวัน ทั้งนี้เชื่อกันว่า วาย-8 ลำนี้บินขึ้นมาจากฐานทัพแห่งหนึ่งในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางภาคใต้ของจีน

การบินข้ามเส้นของเครื่องบินจีนลำนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นความอืดอาดเชื่องช้าของกองทัพอากาศไต้หวัน ในการส่งเครื่องบินของตนเองขึ้นสกัดกั้นการล่วงละเมิดน่านฟ้า กระทรวงกลาโหมไต้หวันก็เพียงแต่ชี้ว่านอกเหนือจากการเร่งรีบส่งฝูงเครื่องบินไอพ่นขึ้นไปติดตามและตักเตือนอากาศยานใดๆ ที่กำลังล่วงล้ำเข้ามาแล้ว เครื่องบินกองทัพปลดแอกประชาชนจีนซึ่งกำลังบินข้ามเส้นแบ่งครึ่งช่องแคบเข้ามา ยังจะตกอยู่ในพิสัยทำการของ เอ็มไอเอ็ม-104 แพทริออต ตลอดจนจรวดต่อสู้อากาศยานแบบอื่นๆ ของไต้หวันอีกด้วย

อันที่จริงเคยเกิดเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้มาแล้วครั้งหนึ่งในวันจันทร์ (14 พ.ค.) เมื่อเครื่องบิน วาย-8 อีกลำหนึ่งซึ่งถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเครื่องบินเพื่อทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์และการรบกวนสัญญาณสื่อสารในทางยุทธวิธี ได้เคลื่อนที่โฉบเฉี่ยวเส้นแบ่งกึ่งกลาง และบินเข้าใกล้กรุงไทเป ก่อนที่จะกลับออกไปตามเส้นทางเดิมและเข้าสู่เขตของจีน


กำลังโหลดความคิดเห็น