xs
xsm
sm
md
lg

‘ปักกิ่ง’ต้องการเรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ แต่บอกว่าไม่ได้มุ่งแข่งขันกับ‘สหรัฐฯ’

เผยแพร่:   โดย: กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

<i>เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของจีน แต่เป็นลำแรกที่ต่อขึ้นเองภายในประเทศ แล่นจากท่าเรือในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ในการออกเดินทางในทะเลหลวงเที่ยวแรกของเรือลำนี้ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Beijing wants six carriers, but won’t compete with the US
By Asia Times staff
17/05/2018

น่านน้ำทะเลหลวงในแปซิฟิกตะวันตกและตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย จะต้องได้เห็นเรือรบของจีนแล่นไปมาเพิ่มมากขึ้น ทันทีที่เรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของแดนมังกรซึ่งต่อขึ้นเองภายในบ้าน สามารถออกปฏิบัติการได้ ทั้งนี้สื่อจีนระบุว่ากองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจำเป็นที่จะต้องมีเรือชนิดนี้รวม 6 ลำ แต่ก็เน้นย้ำว่าจีนไม่ได้คิดเปรียบเทียบแข่งขันกับสหรัฐฯซึ่งยังเป็นเจ้าเหนือใครๆ ในด้านนี้

ไม่นานนักหลังจากเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ที่ต่อขึ้นเองภายในประเทศ แล่นจากท่าไปทำการทดสอบตัวเรือและระบบต่างๆ ในการเดินทางออกสู่ท้องทะเลหลวงเป็นเที่ยวแรกของตนเมื่อต้นสัปดาห์นี้ สื่อมวลชนของจีนก็เริ่มกระพือสร้างกระแส ด้วยการระบุว่ากองทัพเรือของแดนมังกรจำเป็นที่จะต้องมีเรือรบเช่นนี้เพิ่มขึ้นอีก 4 ลำ ในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ต่างๆ ของประเทศชาติ ในอาณาบริเวณแปซิฟิกตะวันตก และตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย

หนังสือพิมพ์จีนบางฉบับเสนอรายงานข่าวว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People’s Liberation Army หรือ PLA) ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของกองทัพจีนนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 6 ลำ ในการจัดกำลังเป็นกองเรือรบและหมู่เรือโจมตีเพื่อดูแลรักษาและขยับขยายผลประโยชน์ต่างๆ ของจีนในแปซิฟิกตะวันตกและมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ

นาวาเอกอาวุโส จาง เย่ (Senior Colonel Zhang Ye) นักวิจัยประจำคนหนึ่งที่สถาบันวิจัยทางนาวี แห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA Naval Research Institute) บอกกับหนังสือพิมพ์เหรินหมินรึเป้า (People’s Daily) ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นพรรคผู้ปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้ ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่นี้ ทางบริษัทผู้ต่อมีกำหนดที่จะส่งมอบให้กองทัพเรือภายในสิ้นปีนี้ และจากนั้นก็จะถูกนำขึ้นระวางเข้าประจำการภายในระยะเวลา 2 ปี ทั้งนี้เรือรบซึ่งยังไม่ได้มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการลำนี้ สามารถท่องไปตามเส้นทางต่างๆ ในซึกตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกและตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย เพื่อคอยปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ต่างๆ ของจีน ทั้งที่เป็นประโยชน์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และที่เป็นผลได้ทางทะเล

บริเวณตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย ถือเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญยิ่งยวดเส้นทางหนึ่งซึ่งรองรับซัปพลายทางด้านพลังงานและการไหลเวียนเข้าออกทางการค้าของประเทศจีน ขณะที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแปซิฟิกตะวันตก ก็มีความน่าห่วงใยด้านความมั่นคงอยู่หลายประการ จางบอกว่าถ้าหากมีเรือบรรทุกเครื่องบินอย่างเต็มจำนวน 6 ลำแล้ว จะทำให้จีนมีช่องทางขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นมากมายในกรณีเกิดสถานการณ์ที่อยู่ในฉากทัศน์ (scenario) อันเลวร้ายที่สุด ซึ่งจะต้องรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ ในแนวรบหลายๆ ด้าน

ภายในทศวรรษหน้า จีนน่าจะต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 –โดยที่มีข่าวลือแพร่ออกมาระยะหนึ่งแล้วด้วยซ้ำเกี่ยวกับข้อมูลจำเพาะต่างๆ ของเรือ ตลอดจนสถานที่ซึ่งจะใช้ต่อเรือลำนี้— อันจะทำให้แดนมังกรอยู่ในฐานะที่สามารถจัดวางกำลังเพื่อใช้งานเรือรบชนิดนี้ได้อย่างดีที่สุด กล่าวคือ ลำหนึ่งประจำเตรียมพร้อมรับศึกสงครามและออกแล่นตรวจการณ์, ลำหนึ่งสำหรับการฝึก, ขณะนี้อีกลำหนึ่งเข้ารับการซ่อมบำรุง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ดูจะเป็นความย้อนแย้งก็คือ สื่อมวลชนของทางการจีนยังได้รับการบอกกล่าวว่าอย่าได้ประโคมความยอดเยี่ยมเลิศเลอทางนาวีของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนกันมากเกินไป ดังนั้นในขณะที่โน้มน้าวชักชวนให้ชื่นชมเทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ บนเรือบรรทุกเครื่องบินต่อเองภายในบ้านลำนี้โดยใช้สำนวนภาษาตามแบบฉบับการโฆษณาชวนเชื่อของพรรคนั้นเอง รายงานข่าวต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ตามหน้าหนังสือพิมพ์จีนยังเดินตามแนวทางของทางการที่ว่าปักกิ่งไม่ได้มีเจตนารมณ์จะเข้าสู่ “การแข่งขันติดอาวุธด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน” กับสหรัฐฯ โดยที่แนวทางอันเป็นทางการของจีนจะตั้งธงเอาไว้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของแดนมังกรมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในด้านการป้องกันเท่านั้น

“จีนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเที่ยวสำแดงแสนยานุภาพทางนาวีของตนไปทั่วเหมือนกับที่สหรัฐฯทำอยู่ เราไม่ได้ต้องการจะทำสงครามในน่านน้ำชายฝั่งอันห่างไกลอยู่ ทางอีกซีกหนึ่งของโลก และด้วยเหตุนี้เราจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีเรือบรรทุกเครื่องบินให้เยอะแยะที่สุดเท่าที่กำลังความสามารถของเราจะมีได้ และเราก็ไม่ได้มีความมุ่งมั่นใจตั้งใจที่จะทำตัวเป็นตำรวจโลก” โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในเครือเหรินหมินรึเป้า รายงานโดยระบุว่าเป็นคำพูดของนายพลเรือเกษียณอายุรายหนึ่ง

นี่แหละคือวิธีการที่ปักกิ่งยอมรับตรงๆ ว่าเมื่อเปรียบเทียบกองทัพเรือของทั้งสองประเทศแล้ว ตนเองไม่มีทางเทียบเคียงได้เลย กล่าวคือ สหรัฐฯนั้นมีเรือบรรทุกเครื่องบินพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งประจำการในกองทัพอยู่ในเวลานี้เป็นจำนวน 11 ลำ โดยที่ลำหนึ่งคือ เจอรัลด์ จี ฟอร์ด (Gerald G Ford) ซึ่งต้องจัดให้เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินระดับซูเปอร์เนื่องจากมีระวางขับน้ำถึง 100,000 ตัน เรือลำนี้เวลานี้กำลังอยู่ระหว่างออกทดสอบในทะเลเช่นเดียวกัน

หู โป (Hu Bo) แห่งสถาบันวิจัยมหาสมุทร (Institute of Ocean Research) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ก็บอกกับโกลบอลไทมส์ว่า ความห่างไกลอย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยนี้ไม่ใช่มีเฉพาะเพียงในเรื่องจำนวนและขนาดเท่านั้น แต่การที่กองทัพเรือสหรัฐฯมีฝูงอากาศยานปีกนิ่งทำหน้าที่เตือนภัยล่วงหน้าซึ่งประจำอยู่กับเรือบรรทุกเครื่องบิน ก็เป็นความได้เปรียบอันน่าเกรงขามยิ่งอีกประการหนึ่ง

อากาศยานเตือนภัยล่วงหน้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี ในเวลาออกปฏิบัติการทางอากาศที่มีความดุเดือดรุนแรงสูงในน่านน้ำทะเลหลวง

ฝูงเฮลิคอปเตอร์เตือนภัยล่วงหน้าทำนองนี้ ซึ่งประจำอยู่บนเรือเหลียวหนิง (Liaoning) เรือบรรทุกเครื่องบินจีนเพียงลำเดียวที่เข้าประจำการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเวลานี้ ยังไม่สามารถปฏิบัติการอย่างเต็มที่ได้เนื่องจากบินได้ในระดับความสูงแค่ต่ำๆ อีกทั้งพิสัยในการตรวจจับเฝ้าติดตามก็สั้น เนื่องจากทางลาดสำหรับส่งอากาศยานขึ้นสู่ท้องฟ้า (ski-jump ramp) เป็นรุ่นเก่าล้าสมัยอย่างที่เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งต่อขึ้นในยุคสหภาพโซเวียตใช้กันอยู่ โดยที่เรือลำใหม่ซึ่งต่อในบ้านของจีนก็ยังคงก็อปปี้ต่อมา ทางลาดเช่นนี้ไม่สามารถส่งอากาศยานปีกนิ่งขนาดใหญ่ได้ เพราะมีน้ำหนักมากเกินไป


กำลังโหลดความคิดเห็น