xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’เจรจารอบ 2 ที่วอชิงตัน จะทำ‘ข้อตกลงการค้า’กันได้หรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คริสโตเฟอร์ สกอตต์

<i>รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สตีเวน มนูชิน (ขวา) เป็นผู้นำในการเจรจาด้านการค้ากับฝ่ายจีนที่กรุงวอชิงตัน โดยที่มีรายงานระบุว่าเขากำลังได้รับความไว้วางใจมากขึ้นในเรื่องนี้จากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Momentum builds for US and China to strike trade deal
By Christopher Scott
17/05/2018

นอกจาก ‘ทรัมป์’ สร้างบรรยากาศผ่อนปรนด้วยการทวิตเรื่องร่วมมือกับ ‘สี จิ้นผิง” แก้ปัญหา ZTE แล้ว ยังมีพัฒนาการอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหลังฉาก ซึ่งทำให้มองเห็นความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงครามตอบโต้ขึ้นภาษีศุลกากรใส่กันอันจะสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง และเสาะแสวงหาทางรอมชอมทำข้อตกลงการค้าระหว่างสองประเทศ

เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ตอนที่คณะบริหารทรัมป์จัดส่งคณะผู้แทนชุดหนึ่งไปยังปักกิ่ง ในความพยายามที่จะผลักดันความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง บรรยากาศในเวลานั้นแทบไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะทำให้มองโลกในแง่ดีได้เลย ถึงแม้การเดินทางเที่ยวนั้นเองถูกจับตามองว่าเป็นความหวังอันริบหรี่ที่สหรัฐฯกับจีนซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งและสองของโลก จะสามารถหลีกเลี่ยงสงครามแห่งการตอบโต้ขึ้นภาษีศุลกากรเข้าใส่กัน ซึ่งอาจส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องตกรางอัปปางลง

ทว่าการเพิ่มตัวบุคคลผู้มีแนวคิดแข็งกร้าวขึ้นชื่ออย่าง รัฐมนตรีคลัง วิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) และที่ปรึกษาฝ่ายการค้าประจำทำเนียบขาว ปีเตอร์ นาวาร์โร (Peter Navarro) เข้าไปในคณะผู้เจรจาชุดนี้ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีมีรัฐมนตรีคลัง สตีเวน มนูชิน (Steven Mnuchin) เป็นผู้นำร่อง ได้ทำให้ความกระตือรือร้นใดๆ มีอันหดหายจางคลายไปอย่างรวดเร็ว

คราวนี้ขอเดินหน้าฟาสต์ฟอร์เวิร์ดอย่างรวดเร็วมายังรอบที่ 2 ของความพยายามทวิภาคีครั้งสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงสงครามภาษีศุลกากร มีข้อน่าสังเกตว่าขณะที่การเจรจาต่อรองระหว่างคณะผู้แทนของสหรัฐฯกับของจีนกำลังดำเนินอยู่ในวอชิงตันเวลานี้นั้น ก็มีพัฒนาการที่ควรต้องจับตาเกิดขึ้นมาเป็นชุด ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่าทำเนียบขาวอาจจะกำลังมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะหาทางทำดีลตกลงกับฝ่ายจีน

สัญญาณประการแรกได้แก่การที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯทำท่าตระเตรียมที่จะถอยห่างออกมาจากจุดยืนแห่งการเริ่มต้นเจรจาต่อรองอันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเอาเสียเลย (โดยที่การใช้จุดยืนเช่นนี้ดูจะเป็นบุคลิกลักษณะประการหนึ่งของการเจรจาต่อรองในแบบของทรัมป์) --อันได้แก่ การเรียกร้องให้จีนต้องละทิ้งสิ่งที่เป็นแกนกลางแห่งนโยบายทางเศรษฐกิจของพวกเขา และตัดลดการได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯลงมาให้ได้อย่างฮวบฮาบและรวดเร็ว มิฉะนั้นก็จะต้องเผชิญกับการถูกวอชิงตันขึ้นภาษีศุลกากรเอากับสินค้าเข้าของจีนมูลค่า 150,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว— โดยการเตรียมตัวถอยนี้ปรากฏให้เห็นด้วยการทวิตข้อความเมื่อวันจันทร์ (14 พ.ค.)

ในข้อความที่เขาทวิตครั้งนี้ ทรัมป์บอกว่าเขากำลังทำงานกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน เพื่อช่วยให้ แซดทีอี (ZTE) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีน “มีหนทางที่จะหวนกลับเข้ามาทำธุรกิจได้” ทั้งนี้เป็นการอ้างอิงถึงคำสั่งห้ามก่อนหน้านี้ของทางการสหรัฐฯ ซึ่งไม่ให้กิจการทั้งหลายของอเมริกาขายชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้แก่แซดทีอี อันเป็นความเคลื่อนไหวที่พวกนักวิเคราะห์มองว่ามันคือคำสั่งประหารชีวิตบริษัทจีนแห่งนี้ในทางเป็นจริงนั่นเอง [1]

จากนั้นในวันจันทร์ (14 พ.ค.) มีรายงานข่าวปรากฏออกมาว่า รอสส์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของหน่วยงานที่สั่งเล่นงานแซดทีอี ด้วยบทลงโทษหนักหน่วงที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับความผิดลักษณะนี้ เวลานี้ได้สูญเสียอิทธิพลที่มีต่อประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว

โพลิติโค (Politico) เว็บไซต์ข่าวการเมืองชื่อดังของสหรัฐฯ รายงานโดยอ้างคำบอกเล่าของพวกเจ้าหน้าที่คณะบริหารทั้งในปัจจุบันและในอดีตว่า รอสส์กำลังถูกลดความสำคัญลงไปมาก พร้อมๆ กับที่ “อิทธิพลที่มนูชินมีต่อประธานาธิบดี กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น”

ต่อมาในวันพุธ (16 พ.ค.) มีข่าวเจาะอีกชิ้นหนึ่งรายงานว่า นาวาร์โร ซึ่งเป็นพันธมิตรที่มีความคิดแบบสายเหยี่ยวในเรื่องการทำสงครามการค้ากับจีนเช่นเดียวกับรอสส์ ก็ได้ถูกกีดกันออกมานอกวงแล้วเช่นเดียวกัน ถึงแม้ในเวลาต่อมาทำเนียบขาวได้ลดทอนน้ำหนักของข่าวนี้ โดยปรากฏอยู่ในรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งซึ่งออกมาจากสำนักข่าวและโทรทัศน์ บลูมเบิร์ก (Bloomberg) ระบุว่าตรงกันข้ามกับที่มีการรายงานเอาไว้ แท้จริงแล้วนาวาร์โรยังคงได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะของฝ่ายอเมริกันที่จะเข้าร่วมการเจรจากับฝ่ายจีนที่วอชิงตันคราวนี้

อย่างไรก็ดี ยังมีรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งจากเว็บไซต์ข่าว แอคซิโอส (Axios) ในวันพุธ (16 พ.ค.) เผยให้ทราบว่า นาวาร์โรรู้สึกว่าตัวเองถูกมนูชินกีดกันออกไปอยู่นอกวงตั้งแต่เมื่อสองสามอาทิตย์ก่อนในระหว่างเที่ยวการเดินทางไปจีนของพวกเขา นาวาร์โร “ได้กล่าวสาปแช่งมนูชิน และแสดงความโกรธเกรี้ยวในเรื่องที่ถูกปกปิดไม่ให้รู้เรื่องการเจรจาหารือ” แหล่งข่าวหลายรายที่ “คุ้นเคยกับการเผชิญหน้ากันของพวกเขา” บอกกับเว็บไซต์ข่าวแห่งนี้

ขณะเดียวกันนั้น ทรัมป์ก็ยังไม่ได้ออกมาลดทอนน้ำหนักความเห็นที่แสดงโดย แลร์รี คุดโลว์ (Larry Kudlow) ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว ในระหว่างที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อวันอังคาร (15 พ.ค.) ซึ่งคุดโลว์บอกว่าประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ต้องการทำสงครามการค้ากับจีน และทรัมป์นั้นเป็นผู้ที่สนับสนุนการค้าเสรี

“มันมีเรื่องการถูกชะตากัน (bromance) อยู่นิดๆ หน่อยๆ (ในระหว่างทรัมป์กับสี จิ้นผิง)” คุดโลว์กล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์แอคซิโอส “การถูกชะตากันมักเป็นเรื่องที่ดีนะ”

ทั้งนี้คุดโลว์เคยแสดงความเห็นทำนองเดียวกันนี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยในตอนนั้นเขามุ่งลดทอนน้ำหนักของโอกาสที่การเงื้อง่าทำท่าขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้าเข้าจีน จะมีผลบังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นเพียง 1 วัน ทรัมป์ได้ออกมาย้ำเน้นการข่มขู่ของเขาให้หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม โดยบอกว่าได้สั่งพวกเจ้าหน้าที่ดูแลด้านการค้า ไปจัดทำรายการสินค้านำจากจีนที่สมควรถูกขึ้นภาษีศุลกากร เพิ่มเติมขึ้นมาอีก 100,000 ล้านดอลลาร์

กุญแจสำคัญคือเรื่องแซดทีอี

การที่ทรัมป์ทวิตเรื่องแซดทีอี ซึ่งเขายังคงไม่ได้ถอยหลังกลับอย่างจริงจังใดๆ ทั้งสิ้น ถึงแม้เจอปฏิกิริยาตอบโต้อย่างดุเดือดรุนแรงผ่านสื่อมวลชนจากเหล่าพันธมิตรของเขา น่าจะเป็นสิ่งที่บอกกล่าวเล่าเรื่องได้อย่างชัดเจนที่สุด ในตอนเช้าวันพุธ (16 พ.ค.) เขาเพียงแค่อธิบายขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นว่า ยังไม่ได้มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายใดๆ เกี่ยวกับประเด็นนี้ “ยกเว้นแต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องอยู่กับข้อตกลงทางการค้าในภาพใหญ่”

ระหว่างให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์กับบลูมเบิร์กเมื่อวันอังคาร(15 พ.ค.) เอียน เบรมเมอร์ (Ian Bremmer) ประธานบริหารของ ยูเรเชียกรุ๊ป (Eurasia Group) บริษัทให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงทางการเมือง กล่าวว่าเมื่อพิจารณาถึงข้อความที่ทรัมป์ทวิตแล้ว “มีความชัดเจนมากๆ ว่าทรัมป์นั้นต้องการที่จะหาทางทำข้อตกลงกับจีนในเรื่องการค้า”

เรื่องการถอยหลังออกมาจากการสั่งลงโทษอย่างดุเดือดรุนแรงต่อแซดอีทีนี้ มีรายงานว่าเป็นข้อเรียกร้องประการหนึ่งที่ฝ่ายจีนกำหนดขึ้น หากต้องการให้การพูดจาหารือในวอชิงตันอาทิตย์นี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ มีบางคนบางฝ่ายถึงกับกล่าวว่ามันไม่มีทางที่จะขบคิดอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงได้เลย หากพยายามที่จะวาดภาพว่าปักกิ่งจะยังคงเดินเข้าสู่โต๊ะเจรจาโดยที่ไม่มีการทำตามเงื่อนไขข้อนี้ก่อน

“ผมคิดว่ามัน (เรื่องแซดทีอี) จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง” เจสซี ฮีตลีย์ (Jesse Heatley) ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลเรื่องจีน (Director at the China practice) ของ อัลไบรต์ สโตนบริดจ์ กรุ๊ป (Albright Stonebridge Group) บริษัทให้บริการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งตั้งสำนักงานในกรุงวอชิงตัน กล่าวให้ความเห็น “ถ้าหากแซดทีอีจะต้องเลิกล้มการได้แสดงบทบาทระดับท็อปของตน (ในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ของการสื่อสารยุค 5 จี) แล้ว ย่อมหมายความว่าจีนกำลังยอมอ่อนข้อยอมจำนนอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว”

ฮีตลีย์ ซึ่งเวลานี้ให้คำปรึกษาแนะนำพวกบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯเกี่ยวกับนโยบายของจีนอยู่ กล่าวต่อไปว่าการสั่งห้ามขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ให้แก่แซดทีอี อาจจะมีศักยภาพเป็นตัวแทนแสดงให้เห็นถึงความเพลี่ยงพล้ำปราชัยอย่างสำคัญ ในแผนการของจีนที่มุ่งจะสร้างตนเองให้กลายเป็นผู้นำในแวดวงอุตสาหกรรมไฮเทคทั้งหลาย

“เรื่อง 5 จี [2] กำลังจะกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากมายมหาศาล ในขณะที่จีนกำลังมองหาทางพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งพวกเมืองสมาร์ทซิตี้, อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งทุกอย่าง (Internet of Things), การต่อเชื่อมโยงกันในระบบบรอดแบนด์, และยานยนต์เคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง” เขากล่าว ทั้งนี้สิ่งที่เขาระบุออกมาเหล่านี้คือเรื่องที่ถูกจัดให้มีลำดับความสำคัญสูง ในแผนการ “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของสี จิ้นผิง

“การเลือกตั้งกลางสมัย” ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน

ทรัมป์มีหวังจะต้องถูกโจมตีหนักจากกลุ่มการเมืองแทบจะทุกฝ่ายในสหรัฐฯ หากเขายังเดินหน้าผลักดันเรื่องแซดทีอีเช่นนี้ต่อไป รวมทั้งจากฐานเสียงผู้สนับสนุนของพวกเขา ซึ่งเป็นพวกที่ส่วนใหญ่แล้วหนุนหลังแนวทางแข็งกร้าวกับจีนในเรื่องการค้า

ทว่าจุดโฟกัสในช่วงระยะไม่กี่สัปดาห์หลังๆ ของประธานาธิบดีผู้นี้ กำลังมีการปรับเปลี่ยนไปยังเรื่องลู่ทางโอกาสทางการเมืองของพรรครีพับลิกันของเขา ในการเลือกตั้งกลางสมัยที่กำหนดจะจัดขึ้นปลายปีนี้

พรรครีพับลิกันกำลังวาดหวังที่จะท้าทายเอาชนะแบบแผนทางการเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งในการเลือกตั้งกลางเทอม พรรคของประธานาธิบดีที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ มักต้องสูญเสียฐานะการได้ครองเสียงข้างมากในรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลโพลระยะหลังๆ มานี้ชี้ว่าความได้เปรียบของพรรคเดโมแครตกำลังลดน้อยถดถอยลงไปเรื่อยๆ เหตุผลของเรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเพราะพวกผู้มีสิทธิออกเสียง สนับสนุนการดูแลจัดการเรื่องเศรษฐกิจของพรรครีพับลิกัน

แต่ถ้าหากเกิดสงครามภาษีศุลกากร –ซึ่งอาจจะเริ่มต้นขึ้นมาอย่างเร็วที่สุดในฤดูร้อนปีนี้ ก่อนหน้าการเลือกตั้งกลางสมัยในต้นเดือนพฤศจิกายน— พวกนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าในเฉพาะหน้าระยะสั้นเลยจะต้องส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจ แล้วหากเดโมแครตชนะถึงขั้นครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ การดำเนินกระบวนการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งก็จะกลายเป็นเรื่องเป็นไปได้ขึ้นมาทันที

จากสัญญาณต่างๆ ที่แสดงให้เห็นฝ่ายประธานาธิบดีทรัมป์พรักพร้อมแล้วที่จะต่อรองทำดีลด้วย คำถามจึงอยู่ที่ว่าทางฝ่ายจีนมีความยินดีที่จะเสนออะไรให้บ้าง? ถึงแม้รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ยังคงไม่ค่อยปรากฏให้เห็น แต่จากการที่คณะผู้แทนของจีนซึ่งเดินทางมาวอชิงตันในสัปดาห์นี้มีขนาดใหญ่โตมาก ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าพวกเขากำลังเตรียมตัวที่จะพูดจาต่อรองเกี่ยวกับทางเลือกทั้งหลายในด้านต่างๆ หลายหลาก

สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนชี้ว่า รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ (Liu He) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจระดับท็อปของสี จิ้นผิง ด้วย “นำคณะผู้แทนซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญๆ ของรัฐบาลจีน” เดินทางมายังวอชิงตัน

ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นอย่างที่ทรัมป์ทวิตเอาไว้เมื่อตอนต้นสัปดาห์นี้ว่า จะต้องเฝ้าคอย “ติดตามกันต่อไป!” ด้วยความระทึกใจ

หมายเหตุผู้แปล

[1] ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ทางเอเชียไทมส์ ได้ชี้ให้เห็นว่าถ้าแซดทีอีไม่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ จะส่งผลต่อเนื่องอย่างแรงมาถึงพวกบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯด้วย เนื่องจากผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนรายนี้ ใช้พวกชิ้นส่วนต่างๆ จากบริษัทอเมริกันถึง 30% ทีเดียว ข้อเขียนชิ้นนี้มีเนื้อหาสำคัญดังนี้:


แซดทีอีซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทเทคโนโลยีมะกันปีที่แล้วกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

ZTE paid US tech firms US$2.3bn for parts, report
By Asia Times staff
12/05/2018

ราคาค่างวดอันแท้จริงที่ แซดทีอี ต้องจ่าย จากการถูกสหรัฐฯลงโทษคว่ำบาตร กำลังเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้ว โดยในการประกาศอย่างตรงไปตรงมาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ยักษ์ใหญ่ด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของจีนรายนี้ยืนยันว่า บริษัทกำลังจะต้องยุติ “การดำเนินงานที่สำคัญๆ”

ข่าวนี้ออกมาไม่ถึงเดือนหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯสั่งห้าม แซดทีอี ซื้อหาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ทำในสหรัฐฯ ดังเช่นเซมิคอนดักเตอร์ เป็นเวลา 7 ปี ส่งผลเท่ากับเป็นการทำลายสายโซ่ซัปพลาย (supply chain) ของบริษัทจนพังยับเยิน

ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว แซดทีอีได้ยอมจ่ายเงินค่าปรับให้ทางการสหรัฐฯเกือบๆ 900 ล้านดอลลาร์ ภายหลังยอมรับสารภาพว่าได้ละเมิดมาตรการแซงก์ชั่นของวอชิงตันด้วยการส่งออกเทคโนโลยีสหรัฐฯไปยังอิหร่านและเกาหลีเหนือ

ต่อมาในเดือนเมษายนปีนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯบอกว่า พบแซดทีอีละเมิดเงื่อนไขต่างๆ ของข้อตกลงประนอมยอมความซึ่งทำไว้กับกระทรวงในปีที่แล้ว และจึงออกคำสั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯทั้งหลายไม่ให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ให้แก่แซดทีอีเป็นเวลา 7 ปี

“จากผลของคำสั่งปฏิเสธไม่ขายให้ กิจกรรมการดำเนินงานสำคัญๆ (ของบริษัท จึง)เป็นอันต้องยุติลง” แซดทีอีระบุในรายงานที่ส่งถึงตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง “ณ เวลานี้ บริษัทยังคงเก็บรักษาเงินสดเอาไว้เป็นจำนวนเพียงพอ และจะยึดมั่นปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามข้อผูกพันทางการค้าของตนซึ่งจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามที่กำหนดเอาไว้ในกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ กลับเปิดเผยให้เห็นถึงผลกระทบต่อเนื่องอย่างหนักหนาสาหัสของเรื่องนี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/article/us-usa-china-zte/chinas-zte-paid-over-2-3-billion-to-u-s-exporters-last-year-zte-source-says-idUSKBN1ID020) โดยที่ข่าวของรอยเตอร์ระบุเอาไว้ดังนี้:

“ตามปากคำของเจ้าหน้าที่อาวุโสของแซดทีอีผู้หนึ่งบอกว่า เมื่อปี 2017 บริษัทได้ชำระเงินให้แก่ผู้ส่งออกสหรัฐฯ 211 รายรวมเป็นจำนวนมากกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์ โดยที่ชำระให้ ควอลคอมม์ (Qualcomm), บรอดคอม (Broadcom), อินเทล (Intel), และเทกซัส อินสทรูเมนต์ส (Texas Instruments) รายละกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก แซดทีอีจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซื้อหาชิ้นส่วนต่างๆ จากพวกบริษัทสหรัฐฯอย่างเช่น ควอลคอมม์ และอินเทล

“เจ้าหน้าที่แซดทีอีผู้นี้ ซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจให้แถลงเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ชี้ให้เห็นถึงขนาดขอบเขตของผลกระทบที่จะมีต่อพวกซัปพลายเออร์สหรัฐฯจากคำสั่งห้ามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ”

ประมาณการกันว่าบริษัทต่างๆ ในสหรัฐฯเป็นผู้จัดหาจัดส่งชิ้นส่วนต่างๆ ถึงราวๆ 30% ซึ่งใช้อยู่ในผลิตภัณฑ์ของแซดทีอี ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์อันสลับซับซ้อนสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคม

ผลจากการถูกรัฐบาลสหรัฐฯแบนคราวนี้ แซดทีอีซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น จะไม่สามารถเข้าไปซื้อหาโปรเซสเซอร์ของควอลคอมม์ และอุปกรณ์แอนดรอยด์ที่มีซอฟต์แวร์ของกูเกิล โมบายล์ เซอร์วิเซส (Google Mobile Services)

นอกจากนั้นยังจะสร้างความปั่นป่วนยุ่งเหยิงให้แก่การดำเนินงานในต่างประเทศของแซดทีอีอีกด้วย โดยที่จะกระทบกระเทือนความสามารถของบริษัทในการให้บริการต่างๆ เป็นต้นว่า การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานให้แก่พวกลูกค้าที่อยู่ในประเทศอื่นๆ หรือในภูมิภาคอื่นๆ

ก่อนที่จะถูกสหรัฐฯสั่งห้ามขายชิ้นส่วนให้ แซดอีทีกำลังเป็นผู้ให้บริการต่างๆ แก่ยูสเซอร์ 100 ล้านรายในอินเดีย, 300 ล้านรายในอินโดนีเซีย, และ 29 ล้านรายในอิตาลี เจ้าหน้าที่ผู้นั้นบอกกับรอยเตอร์

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. เอเชียไทมส์รายงานว่าแซดทีอีอาจจะต้องขายทิ้งธุรกิจสมาร์ทโฟนที่ประสบความสำเร็จของตน ทั้งนี้ตามรายงานของเว็บไซต์ข่าวการเงิน เอเอสต็อกส์ ไฟแนนเชียลนิวส์ (AAStocks Financial News) โดยผู้ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นผู้ซื้อได้แก่พวกบริษัทคู่แข่งภายในประเทศอย่างเช่น หัวเหว่ย, ออปโป, และเสี่ยวหมี่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.aastocks.com/en/stocks/analysis/stock-aafn-content/00763/NOW.872180/all)

“ถ้าแซดทีอีกำลังพิจารณาที่จะขายธุรกิจมือถือของตนกันจริงๆ แล้ว ก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่จุดจบของบริษัทกำลังใกล้เข้ามาแล้ว” เอิร์ล ลุม (Earl Lum) ประธานบริหารของ อีเจแอล ไวร์เลส รีเสิร์ช (EJL Wireless Research http://ejlwireless.com/) บริษัทให้คำปรึกษาและวิจัยซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯกล่าว

[2]เกี่ยวกับการแข่งขันเรื่อง 5 จี เอเชียไทมส์ได้โพสต์ข้อเขียนชิ้นหนึ่งกล่าวถึงเรื่องนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเอาไว้ในที่นี้:

5 G กลายเป็นสมรภูมิล่าสุดใน 'สงครามเทคโนโลยี' สหรัฐฯ-จีน
โดย กอร์ดอน วัตส์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

5G becomes the latest battlefield in US-China tech war
By Gordon Watts
16/05/2018

จีนกำลังนำหน้าชาติอื่นๆ ในการวิจัยพัฒนาเรื่อง 5 จี ประเทศเจ้าของเศรษฐกิจรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรายนี้ ได้อัดฉีดเงินทองเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์เข้าไปในโปรแกรมเพื่อการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารไร้สายระดับซูเปอร์ฟาสต์นี้ ซึ่งคาดหมายกันว่าขนาดของตลาดจะเติบโตขยายตัวจนมีมูลค่าถึง 1.15 ล้านล้านหยวน (180,500 ล้านดอลลาร์) ภายในปี 2026 ซึ่งก็คืออีก 8 ปีข้างหน้า

เปรียบเทียบกับภาค 4 จี แล้ว นี่จะเท่ากับมีอัตราส่วนการเติบโต 50% ทีเดียว รายงานของ ซีซีไอดี คอนซัลติ้ง (CCID Consulting) บริษัทวิจัยด้านไอทีและบริการให้คำปรึกษาแห่งใหญ่ที่สุดในจีน ระบุเน้นย้ำ

“สายโซ่แห่งอุตสาหกรรม 5 จี ของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ แล้ว อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์กว่า และจีนยังเพิ่งพัฒนาความได้เปรียบในบางด้านบางประการเพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย ทว่ามันก็ยังคงมีความลำบากอยู่บ้างและมีปัญหาคอขวดอยู่บ้าง” หลี่ เจิน (Li Zhen) นักวิเคราะห์อาวุโสซึ่งทำงานกับ ซีซีไอดี คอนซัลติ้ง ในปักกิ่ง บอก (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.chinadaily.com.cn/a/201805/16/WS5afb9bfda3103f6866ee8b04.html)

ส่วนหนึ่งในนโยบาย “เมดอินไชน่า 2025” (Made in China 2025) ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จับจ้องมอง 5 จีว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญยิ่งยวดอย่างยิ่งในการแข่งขันด้านอาวุธทางเทคโนโลยี

ทางฝ่ายสหรัฐฯก็ดูจะพิจารณาประเด็นนี้อยู่เช่นเดียวกัน โดยการศึกษาชิ้นหนึ่งที่รั่วไหลออกมาจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) ของสหรัฐฯบอกว่า ด้วยเหตุผลต่างๆ ทางด้านความมั่นคงปลอดภัย รัฐบาลสหรัฐฯควรที่จะสร้างเครือข่ายไร้สายไฮสปีดระดับชาติที่มีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ขึ้นมา ทั้งนี้ตามรายงานของสถาบันบรูคกิ้งส์ (Brookings Institute) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.brookings.edu/blog/techtank/2018/05/02/sprint-and-t-mobile-there-is-a-better-5g-solution-than-reducing-competition/)

ภัยคุกคามที่ว่าปักกิ่งกำลังกลายเป็นผู้นำหน้าสหรัฐฯในภาคส่วนนี้ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชนิดไล่หลังตามแซงกลับได้ลำบาก ยังถูกขีดเส้นใต้เน้นย้ำเอาไว้อีก ในรายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งของสมาคมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมือถือ (Cellular Telecommunications Industry Association หรือ CTIA) องค์กรที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมนี้ของสหรัฐฯ

การศึกษานี้ซึ่งดำเนินการโดยพวกบริษัทวิจัยด้านเทเลคอมอย่าง แอนาไลซิสส์ เมสัน (Analysys Mason) และ รีคอน แอนาลิทิคส์ (Recon Analytics) แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังเลยหน้าคนอื่นๆ ในกลุ่มไปแล้วเล็กน้อย โดยที่มีเกาหลีใต้ถูกทิ้งห่างนิดหน่อยแบบยังพอมองเห็นหลัง ส่วนสหรัฐฯนั้นหล่นไปอยู่ในอันดับ 3

“จีนยึดตำแหน่งผู้ที่วิ่งนำหน้าคนอื่นๆ อยู่เล็กน้อยในการแข่งขันสู่ 5 จี เรื่องนี้ต้องขอบคุณการผสมผสานกันของโมเมนตัมทางอุตสาหกรรมและการสนับสนุนจากรัฐบาล” เอกสารของ CTIA ชิ้นนี้ระบุ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://money.cnn.com/2018/04/16/technology/china-united-states-5g-technology-study/index.html)

ความเคลื่อนไหวประการหนึ่งของอุตสาหกรรมไร้สายของสหรัฐฯซึ่งมุ่งที่จะลดช่วงห่างเช่นนี้ ได้แก่การมองหาทางลงทุนคิดเป็นมูลค่า 275,000 ล้านดอลลาร์ เข้าไปในการจัดกระบวนทัพเรื่อง 5 จี ซึ่งน่าจะสามารถเพิ่มพูนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของประเทศได้ถึง 500,000 ล้านดอลลาร์ทีเดียว ตัวเลขข้อมูลจาก แอคเซนเจอร์ (Accenture) บริษัทที่ปรึกษาใหญ่ระดับโลกซึ่งได้รับการว่าจ้างจาก CTIA ระบุเอาไว้เช่นนี้ นอกจากนั้นมันยังจะสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาได้มากมายอาจจะถึง 3 ล้านตำแหน่ง การศึกษาชิ้นนี้ประมาณการ

เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่สหรัฐฯมองเรื่องนี้ว่ามีนัยความสำคัญอย่างใหญ่โตกว้างขวาง

“คณะบริหารทรัมป์ได้พิจารณาประเด็นปัญหาของ 5 จีโดยให้น้ำหนักกับแง่มุมผลกระทบทางด้านความมั่นคงแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว เมื่อตอนที่สกัดกั้นไม่ให้บรอดคอมเข้าเทคโอเวอร์ควอลคอมม์” ทอม วีเลอร์ (Tom Wheeler) นักวิจัยอาคันตุกะในด้านธรรมาภิบาลศึกษา ของศูนย์กลางเพื่อนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Center for Technology Innovation) ณ สถาบันบรูคกิ้งส์ กล่าว

ทั้งนี้บรอดคอมซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ แต่พยายามยืนยันว่าตนเองเป็นบริษัทอเมริกัน คือผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ขณะที่เซมิคอนดักเตอร์ก็ถือเป็นส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งสำหรับระบบ 5 จี

“สำหรับคณะบริหารชุดนี้แล้ว ดูเหมือนว่าความวิตกกังวลด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นเหตุผลที่เหนือกว่าอะไรอื่นๆ ทั้งหมด แต่พวกเขาไม่สามารถพูดได้ว่าไม่เห็นมีใครเตือนพวกเขาเลยหรอกนะ” วีเลอร์เขียนเอาไว้เช่นนั้ในบทความซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถาบันบรูคกิ้งส์ก่อนหน้านี้ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ ttps://www.brookings.edu/blog/techtank/2018/01/29/building-a-secure-5g-network-without-nationalization/)

ในขณะที่ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ดูเหมือนว่า 5 จี ได้กลายเป็นสมรภูมิล่าสุดในสงครามเพื่อช่วงชิงความเหนือล้ำกว่าทางด้านเทคโนโลยีไปเรียบร้อยแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น