xs
xsm
sm
md
lg

อุดมคติประชาธิปไตยแบบบกพร่องผิดพลาดของอเมริกา กำลังถูกดูหมิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คริสตินา ลิน


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Growing disdain for America’s false democratic ideals
By Christina Lin
10/04/2018

สหรัฐฯกำลังถูกดูถูกดูหมิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ จากการป่าวร้องชี้นิ้วใส่ประเทศอื่นๆ ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนมาเป็นอาวุธในเรื่องนี้ด้วย แต่จากการที่อเมริกานิยมใช้อำนาจบาตรใหญ่ในระบบระหว่างประเทศ รวมทั้งการเข้าโค่นล้มระบอบปกครองเผด็จการที่ตนเองไม่ชอบ ทว่าวางเฉยต่อเผด็จการที่เป็นเพื่อนมิตร ทำให้เวลานี้สหรัฐฯถูกผู้คนตราหน้าว่า เป็น “ประชาธิปไตยบกพร่องล้มเหลว” และเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เท่านั้น

ในปี 2017 อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit หรือ EIU) ธุรกิจหนึ่งในเครือนิตยสารอีโคโนมิสต์ ที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและการให้คำปรึกษาทางด้านธุรกิจ ได้ลดอันดับที่ให้แก่ระบบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ[1] อีไอยูนั้นมีการจัดทำดัชนีประชาธิปไตยประจำปี ซึ่งให้ภาพสรุปคร่าวๆ เกี่ยวกับประชาธิปไตยในทั่วโลก ด้วยการให้เรตติ้งประเทศต่างๆ ใน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ กระบวนการเลือกตั้งและคุณสมบัติด้านพหุนิยม, สิทธิเสรีภาพของประชาชน, การทำงานตามบทบาทหน้าที่ของรัฐบาล, การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน, และวัฒนธรรมทางการเมือง จากนั้นพวกเขาก็นำมาเอาคะแนนที่แต่ละประเทศได้รับในแต่ละด้านมาจำแนกจัดประเภทออกเป็นรัฐบาล 4 แบบด้วยกัน ซึ่งก็คือ รัฐบาลที่มีประชาธิปไตยอย่างเต็มที่, ประชาธิปไตยแบบบกพร่องผิดพลาด, ระบอบการปกครองลูกผสม, และระบอบการปกครองแบบเผด็จการรวบอำนาจ

สหรัฐฯนั้นถูกจัดเรตติ้งให้อยู่ในกลุ่มประชาธิปไตยแบบบกพร่องผิดพลาด –กล่าวคือเป็นประเทศที่มีการเลือกตั้งอย่างเสรีทว่าถูกถ่วงน้ำหนักให้ย่ำแย่ด้วยธรรมาภิบาลที่อ่อนแอ, มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ด้อยพัฒนา, และมีการเข้าร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับต่ำ นอกจากนั้นยังมีผลโพลของสำนักต่างๆ อย่าง พิว (Pew), แกลลัพ (Gallup), ตลอดจนสำนักหยั่งเสียงสำรวจความคิดเห็นรายอื่นๆ ซึ่งระบุว่า ระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอเมริกันนั้นมีความบกพร่องขาดเขินความไว้วางใจระหว่างกัน ซึ่งมีผลในทางกัดกร่อนการทำงานไปตามบทบาทหน้าที่ของระบบประชาธิปไตย

นอกจากนั้นแล้วยังมีความบกพร่องขาดความไว้วางใจกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างพวกมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาในประชาคมระหว่างประเทศ กับสหรัฐฯ และอันที่จริงแล้ว อีไอยูไม่ได้เป็นเพียงหน่วยงานเดียวหรอกซึ่งได้ลดเรตติ้งระบบประชาธิปไตยสหรัฐฯ ยังมีตัวแสดงอีกรายหนึ่งซึ่งถือได้ว่าเซอร์ไพรซ์ทีเดียว ก็ได้ดาวน์เกรดประชาธิปไตยของสหรัฐฯด้วยเช่นกัน ตัวแสดงดังกล่าวนี้คือ ประเทศจีน

สหรัฐฯเป็นประชาธิปไตยบางส่วน แต่ก็เป็นเผด็จการบางส่วนใช่หรือไม่ ?

ในหนังสือที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2010 ของเขาซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า “The China Dream” (ความฝันของประเทศจีน) พันเอก (ปลดเกษียณ) ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนนามว่า หลิว หมิงฝู (Liu Mingfu) ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยป้องกันประเทศของจีน (China’s National Defense University) ได้ท้าทายวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯที่มีต่อบรรดาชาติที่ไม่ใช่ฝ่ายตะวันตก

เขาชี้ว่า บ่อยครั้งที่สหรัฐฯมองข้ามไม่สนใจที่จะผลักดันให้เกิดฉันทามติระหว่างประเทศขึ้นมา แถมยังใช้แสนยานุภาพทางทหารของตนไปในการโค่นล้มพวกผู้เผด็จการที่ตนเองไม่ชอบและตราหน้าว่าเป็น “พวกที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” และ “พวกที่ไม่มีความถูกต้องชอบธรรม” (ตัวอย่างเช่น ในอิรัก, ลิเบีย, และซีเรีย) ขณะเดียวกันกลับกำลังแสดงความสนับสนุนพวกผู้เผด็จการ “ที่ถูกต้องชอบธรรม” ซึ่งเป็นเพื่อนมิตรกับสหรัฐฯ (ตัวอย่างเช่น ในกาตาร์ และซาอุดีอาระเบีย) หลิวเน้นย้ำว่าพฤติกรรมเช่นนี้ของสหรัฐฯคือความล้มเหลวไม่สามารถผ่านการทดสอบความเป็นมหาอำนาจ “ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริงได้

เขาหยิบยกเหตุผลขึ้นมาสาธยายว่า สหรัฐฯไม่ได้เป็นมาตรฐานทองคำสำหรับ “ประชาธิปไตย” หรือเป็นตัวแสดงที่ “ถูกต้องชอบธรรม” รายหนึ่งในระบบระหว่างประเทศแต่อย่างใด พร้อมกับประณามตำหนิอเมริกันที่ชื่นชอบในการโค่นล้มรัฐบาลต่างประเทศทั้งหลายซึ่งกล้าท้าทายวอชิงตัน

หลิวถึงขนาดประกาศอย่างชวนให้ตกตะลึงว่า สหรัฐฯนั้นเป็นเพียงพวกประชาธิปไตยครึ่งใบ –มีระบบประชาธิปไตยภายในบ้าน แต่กลายเป็นมหาอำนาจเผด็จการรวบอำนาจและมุ่งทำตัวเป็นเจ้าเมื่ออยู่ต่างแดน เขากล่าวว่า “คุณสมบัติที่ถือเป็นสาระสำคัญของประเทศประชาธิปไตยรายหนึ่งๆ นั้นต้องมี 2 ด้านด้วยกัน ด้านแรกคือมีนโยบายประชาธิปไตยภายในประเทศอย่างชนิดที่ปราศจากลัทธิเผด็จการรวบอำนาจในสังคมภายในประเทศ ส่วนด้านที่สองคือมีนโยบายระหว่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โดยปราศจากการวางตัวเองเป็นเจ้าใหญ่นายโตในประชาคมระหว่างประเทศ”

เขากล่าวต่อไปว่า “ในการวินิจฉัยตัดสินว่าประเทศหนึ่งๆ เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าประเทศนั้นได้นำเอาระบบประชาธิปไตยมาใช้ทั้งภายในบ้านและในทางการทูตระหว่างประเทศหรือไม่” เนื่องจากสหรัฐฯล้มเหลวไม่ผ่านการทดสอบ “ความเป็นประชาธิปไตย” ในระบบระหว่างประเทศ หลิวจึงเห็นว่าสหรัฐฯเป็นเพียงประเทศ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” และด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรทำตัวคอยกวัดแกว่งชี้นิ้วไปที่ชาติอื่นๆ ด้วยข้อหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย หรือกระทั่งพยายามโค่นล้มรัฐบาลของชาติเหล่านั้น

อารมณ์ความรู้สึกเช่นนี้มีอยู่ในบุคคลจำนวนน้อยภายในหมู่ชนชั้นนำของสหรัฐฯอีกด้วย ในบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2015 เลสซี เกล์บ (Leslie Gelb) ประธานบริหารของสภาว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations), พลโท (ปลดเกษียณ) โรเบิร์ต การ์ด (Robert Gard) ประธานเกียรติคุณของศูนย์กลางเพื่อการควบคุมอาวุธและการไม่แพร่กระจายอาวุธ (Center for Arms Control and Nonproliferation), และ พลจัตวา (ปลดเกษียณ) จอห์น เอช จอห์นส์ (John H Johns) ศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศสหรัฐฯ (US National Defense University)[2] ได้ร่วมกันเรียกร้องให้สหรัฐฯกับรัสเซียร่วมมือกันในซีเรีย และให้สหรัฐฯยุติความหลงใหลต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ผู้เขียนคณะนี้กล่าวว่า “ในอดีตที่ผ่านมา วอชิงตันได้เคยพยายามบีบบังคับให้พวกผู้เผด็จการอย่าง อัสซาดแห่งซีเรีย, มูอัมมาร์ อัล-กัดดาฟี ในลิเบีย, และ ซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก ต้องถอยออกจากเวทีไป เราได้เชิดชูผลักดันบรรทัดฐานแบบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศเหล่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับกลายเป็นว่า มีความโกลาหลปั่นป่วยเพิ่มมากขึ้นและการทำลายล้างสูงยิ่งขึ้น แทนที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่บรรทัดฐานและความมุ่งมาดปรารถนาเพื่อการปฏิวัติทางประชาธิปไตย”

ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องที่สหรัฐฯนำเอาประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นอาวุธเพื่อรับใช้ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ของตนก็มีความเสี่ยงที่จะกัดกร่อนบรรทัดฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ตลอดจนความน่าเชื่อถือและความซื่อสัตย์ของพวกองค์การด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย [3]

สหรัฐฯใช้สิทธิมนุษยชนเป็นอาวุธ

ในกรณีเมื่อปี 2014 ของเอริเทรีย ประเทศที่อยู่ตอนเหนือของแอฟริกาตะวันออก ซึ่งมีข้อพิพาททางชายแดนกับเอธิโอเปีย ปรากฏว่าสหรัฐฯพยายามที่จะลงโทษคว่ำบาตรชาติเล็กๆ ที่มีประชากร 6 ล้านคนนี้ด้วยข้อหาว่า “ให้ความสนับสนุนการก่อการร้าย” ทั้งนี้เพื่อเอาอกเอาใจเอธิโอเปีย ซึ่งอเมริกามองว่าเป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งในการทำ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

ครั้นเมื่อ “กลุ่มเฝ้าติดตามโซมาเลีย-เอริเทรียของสหประชาชาติ” (UN’s Somali-Eritrea Monitoring Group) ไม่พบข้อพิสูจน์ใดๆ ว่าเอริเทรียกำลังสนับสนุนกลุ่มอัล-ชาบับ (al-Shabaab) สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น 14 ชาติจากทั้งหมด 15 ชาติแสดงท่าทีว่าพวกเขาต้องการให้ยกเลิกการลงโทษคว่ำบาตรเสีย แต่สหรัฐฯกลับคัดค้านซึ่งเท่ากับใช้สิทธิวีโต้ความเคลื่อนไหวนี้ จากนั้นสหรัฐฯก็ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสหประชาชาติเพื่อการไต่สวนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในเอริเทรีย (UN Commission of Inquiry on Human Rights in Eritrea หรือ COI) ให้เข้าสอบสวนการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และปูพื้นฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในท้ายที่สุด

เรื่องนี้ทำให้ เรดี เบเรเคเทียบ (Redie Bereketeab) นักวิจัยอาวุโสและรองศาสตราจารย์ที่สถาบันนอร์ดิกแอฟริกา (Nordic Africa Institute) ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อระเบียบวิธีวิจัยอันน่าแคลงใจของ COI [4] เขาบอกว่าคณะกรรมาธิการยูเอ็นชุดนี้มุ่งรวบรวมข้อมูลข่าวสารจากพวกฝ่ายค้านที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและขุ่นเคืองรัฐบาล, คนที่ยื่นขอสถานะเป็นผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ, และพวกประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต่อต้านคัดค้านเอริเทรีย ขณะที่แหล่งข่าวเหล่านี้ทั้งหมดถูกปกปิดสงวนนาม และยูเอ็นไม่มีหนทางใดๆ เลยที่จะตรวจสอบยืนยันคำให้การของพวกเขา

เมื่อสภาวการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เบเรเคเทียบจึงตั้งคำถามว่าสิทธิของปัจเจกบุคคลจะได้รับการพิทักษ์คุ้มครองได้อย่างไร ถ้าหากความมั่นคงปลอดภัยร่วมของพวกเขาภายในประเทศหนึ่งๆ และบรรทัดฐานสากลในเรื่องอธิปไตย, บูรณภาพแห่งดินแดน, และพรมแดนแห่งชาติ กำลังถูกล่วงละเมิด

ในทำนองเดียวกัน เหตุโจมตีด้วยอาวุธเคมีในซีเรียที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2013, 2017, และ 2018 สิ่งที่สหรัฐฯเล่าพรรณนาออกมาก็คือมันเป็นกรณีที่รัฐบาลซีเรียใช้ก๊าซพิษต่อพลเรือนผู้ปราศจากอาวุธ ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นการยั่วยุให้เกิดการตอบโต้อย่างดุเดือดแข็งกร้าวจากสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นผู้พิทักษ์ศีลธรรมของระบบสิทธิมนุษยชนสากล อันที่จริงแล้วการใช้ก๊าซพิษกับพลเรือนผู้บริสุทธิ์คือการประกอบอาชญากรรมสงคราม ดังนั้นหน้าที่ซึ่งจะต้องกระทำคือการรวบรวบหลักฐานสำหรับการฟ้องร้องกล่าวโทษ และหากพบว่ามีความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลแล้ว ก็ทำการลงโทษอาชญากร

ในกรณีเมื่อปี 2013 ที่มีการใช้อาวุธเคมีโจมตีในเขตโกตา (Ghouta) ที่ฝ่ายกบฏซีเรียยึดครองอยู่ และเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่แถบรอบนอกของกรุงดามัสกัสนั้น หลักฐานไม่อาจสรุปบ่งบอกได้ว่าฝ่ายใดกันแน่เป็นผู้ก่ออาชญากรรมนี้ บิลด์ อัม ซอนน์ทาก (Bild am Sonntag) หนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมัน [5] รายงานว่า บีเอ็นดี (BND) ซึ่งเป็นสำนักงานข่าวกรองของเยอรมนีไม่ได้มีข้อพิสูจน์อย่างเด็ดขาดชัดเจนว่ารัฐบาลซีเรียคือผู้รับผิดชอบ แต่เสนอแนะว่าน่าที่จะประณามรัฐบาลซีเรียได้[6] ขณะที่ การ์ลา เดล ปอนเต (Carla Del Ponte) ผู้ตรวจการณ์ยูเอ็น (UN Inspector) [7] แถลงว่าพวกกบฏอาจจะใช้ก๊าซซาริน (sarin)ด้วยเช่นกัน[8] ทว่าหลักฐานที่มีอยู่ถือได้ว่า “เป็นข้อสงสัยที่แข็งแรงเป็นรูปธรรม แต่ยังไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์อย่างไม่สามารถโต้แย้งได้” เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงดูเหมือนกับว่าทั้งสองฝ่ายต่างมีแรงจูงใจที่จะใช้ก๊าซพิษ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอสำหรับการกล่าวโทษฟ้องร้องแบบ “สแลม ดังก์” ได้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีการโจมตีเมื่อปี 2017 และปี 2018 [9] ในอิดลิบ (Idlib) และในกูตา ดูเหมือนว่าฝ่ายกบฏมีแรงจูงใจมากกว่าที่จะใช้ก๊าซพิษ ทั้งนี้หลักฐานที่ใช้กันก็คือคลิปวิดีโอซึ่งยื่นเสนอแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยกลุ่ม “หมวกนิรภัยสีขาว” (White Helmets) ที่ได้เงินทุนสนับสนุนจาก รัฐบาลอังกฤษ/องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเสด) ทั้งนี้ทำนองเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในเอริเทรีย กลุ่มหมวกนิรภัยสีขาวก็เป็นพวกที่แฝงฝังอยู่ภายในกลุ่มฝ่ายค้านติดอาวุธและมีท่าทีต้อนรับวาระทางการเมืองของกลุ่มเหล่านี้[10] การโจมตีทั้งในปี 2017 และ 2018 นี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลซีเรียกำลังเป็นฝ่ายมีชัย แทนที่จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ --ซึ่งในบรรดาข้อเขียนทางรัฐศาสตร์มองกันว่าคือแรงจูงใจสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลตัดสินใจโจมตีประชาชนของพวกเขาเองด้วยความสิ้นหวัง อย่างที่ศาสตราจารย์ แมกซ์ อะบราห์มส์ (Max Abrahms) ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ เงื่อนไขทางโครงสร้างในฉากทัศน์ (scenario) นี้ อยู่ในลักษณะที่ตรงกันข้ามอย่างชัดเจนกับความเป็นจริงที่ว่าอัสซาดกำลังมีชัย ดังนั้นจึงเป็นฝ่ายกบฏต่างหากซึ่งมีแรงจูงใจแข็งแรงที่สุด [11][12][13]

ด้วยเหตุนี้ อะบราห์มส์จึงมองไม่เห็นหลักเหตุผลใดๆ ที่อัสซาดจะเข้าโจมตีประชาชนของเขาเอง และทำตัวเสี่ยงภัยต่อการถูกนานาชาติแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ ในเมื่ออันที่จริงแล้วเขากำลังเป็นผู้ชนะในสงครามกลางเมือง ยิ่งไปกว่านั้น เรื่องเล่าของสหรัฐฯเกี่ยวกับรัฐบาลซีเรียกำลังใช้ก๊าซพิษต่อประชาชนของตนเองยังดูสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีกจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไจช์ อัล-อิสลาม (Jaysh Al-Islam) ซึ่งมีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้อุปถัมภ์ [14] อันเป็นกลุ่มที่กำลังทำงานกับกลุ่ม “หมวกนิรภัยสีขาว” ในโกตา ในการเผยแพร่คลิปวิดีโอเกี่ยวกับโจมตีครั้งหลังๆ มานี้นั้น เคยถูกกล่าวหาเสียเองว่าเป็นผู้ใช้อาวุธเคมีต่อชาวเคิร์ดในเมืองอะเลปโปเมื่อปี 2016 [15] นอกจากนั้นยังมีความจริงที่ชวนให้ไม่สบายใจอย่างอื่นๆ อีก เป็นต้นว่า อุโมงค์ใต้ดินลอดใต้โกตา ซึ่งพวกฝ่ายค้านติดอาวุธใช้ในการเข้าๆ ออกๆ เมือง [16], และการค้นพบห้องแล็ปฯอาวุธเคมีของกลุ่มไจช์ อัล-อิสลาม[17] ซึ่งสื่อตะวันตกกระแสหลักไม่ได้มีการเสนอข่าวอย่างถูกต้องเหมาะสม กระนั้นก็ตามสหรัฐฯก็ก่อกวนยุแหย่ให้มีการโจมตีรัฐบาลซีเรียอยู่ดีถึงแม้ไม่ได้มีหลักฐานที่สรุปได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลนี้ประกอบอาชญากรรม ดูๆ แล้วช่างคล้ายๆ กับการกล่าวหาเรื่องภัยคุกคามจากอาวุธอานุภาพทำลายร้ายแรง (WMD) ถูกนำมาใช้อ้างเป็นความชอบธรรมในการโค่นล้มซัดดัม ฮุสเซน และทำลายล้างอิรักในปี 2003

ถึงแม้พยายามอาศัยเสื้อคลุมอันมุ่งทำให้ตนเองดูมีความถูกต้องเที่ยงธรรมยึดมั่นหลักการเคร่งครัด ที่พวกชนชั้นนำในวอชิงตันนำเอามาใช้คลุมร่าง แต่ก็เป็นอีกคำรบหนึ่งซึ่งประชาชนทั้งหลายมองเห็นแตกต่างออกไป ในผลการสำรวจความคิดเห็น วิน/แกลลัพ อินเตอร์เนชั่นแนล โพลล์ 2013 (2013 Win/Gallup International poll) ซึ่งได้สอบถามผู้คนกว่า 66,000 คนใน 65 ประเทศ สำหรับคำถามที่ว่าประเทศใดทำท่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพของโลกใหญ่โตที่สุด ปรากฏว่าสหรัฐฯติดอันดับ 1 ด้วยคะแนน 24% ติดตามมาด้วยปากีสถานที่ได้ 8%

จากการเย้ยหยันกฎหมายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง, การบังคับใช้ศีลธรรมแบบคัดสรรเฉพาะที่ถูกจริตของตนและสองมาตรฐาน, การนำเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนมาใช้เป็นอาวุธ, การรุกรานประเทศอื่นๆ และการทำลายล้างชีวิตผู้คนพลเรือน, การรับใช้ผลประโยชน์ของรัฐบาลต่างประเทศแทนที่จะทำงานเพื่อสวัสดิภาพของประชาชนชาวอเมริกัน พวกชนชั้นปกครองในวอชิงตันจึงกำลังนำพาอเมริกาให้เดินไปบนเส้นทางที่ผิดพลาด น่าเศร้าที่พฤติการณ์เช่นนี้กำลังเสี่ยงภัยที่จะก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันและการแตกขั้วแบ่งค่ายเพิ่มมากขึ้นอีก รวมทั้งการถึงแก่มรณกรรมของประชาธิปไตยสหรัฐฯในท้ายที่สุด

เชิงอรรถ

[1] https://www.cnbc.com/2017/01/25/us-is-no-longer-a-full-democracy-eiu-warns.html
[2] http://foreignpolicy.com/2015/12/18/russia-putin-lavrov-obama-syria-ukraine-isis/
[3] http://www.atimes.com/us-weaponization-of-human-rights-is-eroding-international-norms/
[4] http://www.css.ethz.ch/en/services/digital-library/articles/article.html/196509
[5] https://www.theguardian.com/world/2013/sep/08/syria-chemical-weapons-not-assad-bild
[6] https://www.huffingtonpost.com/2013/09/08/syria-chemical-assad_n_3889551.html
[7] http://www.bbc.com/news/world-middle-east-22424188
[8] https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/middleeast/syria/10039672/UN-accuses-Syrian-rebels-of-chemical-weapons-use.html
[9] http://www.newsweek.com/wheres-evidence-assad-used-sarin-gas-his-people-810123
[10] http://www.atimes.com/white-helmets-instrument-regime-change-syria/
[11] https://twitter.com/hashtag/Syria?src=hash&ref_src=twsrc%5Etfw
[12] https://t.co/5htX53KzU3
[13]https://twitter.com/MaxAbrahms/status/983137286085906432?ref_src=twsrc%5Etfw
[14] https://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/middleeast/syria/11971269/Syrian-rebels-using-caged-pro-Assad-captives-as-human-shields.html
[15] http://www.kurdistan24.net/en/news/7a0f6294-ab7f-4d15-b5af-3ff4b444ab3f/Syrian-rebels-admit-chemical-use-against-Kurds
[16] https://www.youtube.com/watch?v=OKIiVdTLjKM
[17] https://mideastshuffle.com/2018/03/22/terrorist-capabilities-laid-bare-in-an-eastern-ghouta-chemical-lab/
[18] https://www.huffingtonpost.com/2014/01/02/greatest-threat-world-peace-country_n_4531824.html

(ข้อเขียนจากบุคคลภายนอก ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยแบบไม่ประจำ (Nonresident Fellow) ที่ศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) โดยเธอเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตะวันออก กลาง/เมดิเตอร์เรเนียน เธอยังเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยให้แก่ ศูนย์เจนส์ด้านข่าวกรองทางเคมี, ชีวภาพ, รังสี, และนิวเคลียร์ (Jane’s Chemical, Biological, Radiological, and Nuclear Intelligence Centre) ณ บริษัทวิจัย ไอเอสเอส มาร์คิต (IHS Markit)


กำลังโหลดความคิดเห็น