xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าสหรัฐฯเปิดศึกใหญ่ในซีเรีย จีนก็อาจจับมือเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: คริสตินา ลิน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China could be the wild card if US attacks Syria
By Christina Lin
12/04/2018

เวลานี้จีนกับรัสเซียอาจจะยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรกันอย่างแนบแน่น แต่ถ้าหากสหรัฐฯไม่สนใจ “เส้นแดง” ที่ห้ามล่วงละเมิดของคนอื่น ไม่ว่าจะในซีเรีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือในเอเชียตะวันออก ฝ่ายทหารของประเทศทั้งสองก็ดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณไปถึงวอชิงตันว่า จะไม่สู้รบเพียงโดยลำพังหรอกถ้าหากถูกโจมตี

เมื่อปี 2012 สื่อมวลชนหลายรายในตะวันออกกลางรายงานข่าวความเป็นไปได้ที่จะมีการซ้อมรบซึ่งจะมีทั้งอิหร่าน, รัสเซีย, จีน, และซีเรียเข้าร่วม โดยจะกระทำกันในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทั้งนี้มันจะกลายเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่โตที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เคยมีการวางแผนกันทีเดียว เมื่อจะมีการใช้กำลังทหารถึง 90,000 คน, เครื่องบิน 400 ลำ, รถถัง 1,000 คัน, และจรวดอีกเป็นร้อยๆ ลูก [1]

ขณะที่การซ้อมรบดังกล่าวไม่ได้มีการจัดขึ้นมาจริงๆ ในเวลานั้น แต่มันก็เป็นส่งสัญญาณประการหนึ่งไปถึงสหรัฐฯและชาติตะวันตกอื่นๆ ว่า มหาอำนาจแห่งยูเรเชีย 4 รายนี้กำลังขีดเส้นประกาศว่าอย่าได้รุกล้ำข้ามเข้ามาเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นจะต้องเจอดีแน่ --และเส้นที่ขีดนี้ดูเหมือนว่าจะหมายถึงซีเรีย

พวกนักการเมืองในกรุงวอชิงตันมีความโน้มเอียงที่จะได้เห็นได้ยินอย่างชัดเจนแต่เฉพาะความหวาดกลัวและความปรารถนาของพวกเขาเอง โดยที่ขาดไร้ความเข้าอกเข้าใจถึงความหวั่นหวาดและความต้องการของคนอื่นๆ เนื่องจากทึกทักคิดเอาเองว่าฝ่ายอื่นๆ จะต้องแสดงปฏิกิริยาไปตามสมมุติฐานต่างๆ ซึ่งชนชั้นนำในเมืองหลวงสหรัฐฯยึดถืออยู่ อย่างไรก็ตาม การขาดไร้ความสามารถทั้งในการที่จะสะท้อนภาพตัวเอง และในการฝึกหัดทำตัวเข้าไปอยู่ในจุดยืนของฝ่ายอื่นๆ เพื่อที่จะได้เข้าอกเข้าใจทัศนะมุมมองของพวกเขาเช่นนี้ นับว่าเป็นเรื่องที่มีอันตรายมาก –และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ, การคาดคำนวณอย่างผิดๆ, และการทำให้การสู้รบขัดแย้งทางทหารที่อยู่ในขอบเขตจำกัดบานปลายขยายตัวกลายเป็นสงครามใหญ่โตมากขึ้น

สิ่งซึ่งพวกผู้นำในกรุงวอชิงตันไม่ได้ตระหนักกันเลยก็คือว่า สหรัฐฯไม่ได้เป็นประเทศเดียวหรอกที่สามารถขีดเส้นสีแดงประกาศไม่ให้คนอื่นๆ ล่วงล้ำ จากการขาดไร้ความเคารพและการล่วงละเมิดผลประโยชน์ด้านความมั่นคงปลอดภัยอย่างถูกต้องชอบธรรมของรัฐอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีนก็ตามที ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังทำตัวเสี่ยงภัยเหมือนกับกำลังพยายามเปิด “หีบของแพนโดรา” (Pandora’s box) ที่บรรจุความชั่วร้ายนานา ในเทพปกรณัมกรีก ซึ่งส่งผลดึงดูดมหาอำนาจใหญ่จำนวนเพิ่มมากขึ้นเข้ามาพิทักษ์ปกป้องรัฐบาลซีเรียจากพวกผู้ก่อการร้ายและการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

จีนมีผลประโยชน์ที่สำคัญๆ อยู่ในซีเรีย

สำหรับจีนแล้ว มีเดิมพันมีผลประโยชน์สำคัญอะไรบ้างในซีเรียที่จะต้องพิทักษ์ปกป้อง?

อย่างที่มีรายงานข่าวกันไปอย่างกว้างขวางแล้ว ปัจจุบันกองทหารจีนกำลังอยู่บนแผ่นดินซีเรียเรียบร้อยแล้ว [2] เพื่อทำการสู้รบกับพวกหัวรุนแรงชาวอุยกูร์ (Uyghur) จำนวนนับพันๆ คน[3][4] ไม่ว่าจะอยู่ในพวกรัฐอิสลาม (ไอซิส) หรือพวกอัลกออิดะห์จีน (Chinese al-Qaeda) [5] พวกนักรบญิฮาดได้เคยเปิดการโจมตีสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำคีร์กีซสถานมาแล้วเมื่อปี 2016 [6]และปักกิ่งก็หวั่นเกรงว่าคนเหล่านี้ยังกำลังวางแผนการก่อเหตุโจมตีมากขึ้นอีก ทั้งต่อดินแดนของจีน และต่อพลเมืองตลอดจนทรัพย์สินของจีนที่อยู่ในต่างแดน

ถ้าหากรัฐบาลซีเรียต้องมีอันล้มครืนลงไปจากการโจมตีทางทหารของสหรัฐฯ และพวกฝ่ายค้านติดอาวุธซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักรบญิฮาดร้อยพ่อพันแม่หลายหลากกลุ่ม รวมทั้งชาวอุยกูร์ด้วย ได้รับอนุญาตให้มีที่พักพิงหลบภัยอย่างถาวรในซีเรียแล้ว ผู้คนเหล่านี้ก็จะได้รับการฝึกอบรมและการติดอาวุธอย่างต่อเนื่องต่อไปเพื่อให้กลายเป็นกองกำลังสู้รบแบบมืออาชีพเพิ่มมากขึ้นอีกสำหรับเข้าโจมตีจีนและทำการแบ่งแยกซินเจียง (ซินเกียง) ออกไปจากจีน ทำนองเดียวกับที่กำลังมีการแบ่งแยกซีเรียออกเป็นเสี่ยงๆ อยู่ในเวลานี้

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า จีนถือว่าสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางสำคัญที่สุดของตนก็คือ อธิปไตย, บูรณภาพแห่งดินแดน, การพัฒนาเศรษฐกิจไปอย่างต่อเนื่อง, และการอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่เมื่อสหรัฐฯกำลังจัดหาแหล่งพักพิงหลบภัยในซีเรียให้แก่พวกอัลกออิดะห์จีนที่มุ่งก่อเหตุโจมตีจีน ทำนองเดียวกับที่อัฟกานิสถานทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงหลบภัยให้แก่พวกอัลกออิดะห์ที่เข้าโจมตีสหรัฐฯในวันที่ 11 กันยายน 2001 เรื่องนี้ย่อมอาจกระตุ้นยั่วยุให้มังกรจีนต้องนำเอากำลังทหารอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยของตนเข้ามาต่อต้านสู้รบกับภัยคุกคามนี้

แต่นอกเหนือจากการมุ่งปกป้องพิทักษ์ดินแดนของตนไม่ให้ถูกโจมตีประทุษร้ายแล้ว จีนยังจำเป็นที่จะต้องได้รับทรัพยากรด้านพลังงานจากตะวันออกกลาง และจะต้องมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดในภูมิภาคนั้น เรื่องนี้คือการธำรงรักษาและประคับประคองให้มาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนจีนเพิ่มสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นเครื่องรับประกันและเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความชอบธรรมและความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยเหตุดังนั้น เมื่อฝ่ายทหารของสหรัฐฯพยายามข่มขู่คุกคามอยู่ไม่หยุดหย่อนที่จะติดอาวุธให้พวกหัวรุนแรงชาวอุยกูร์เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของซินเจียง และวิเคราะห์ใคร่ครวญเรื่องการวางทุ่นระเบิดรอบๆ ท่าเรือแห่งต่างๆ ของจีนเพื่อตัดขาดการค้าและซัปพลายด้านพลังงานของแดนมังกร มันจึงเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่ไว้วางใจวอชิงตันและข้องใจสงสัยในเจตนารมณ์ของสหรัฐฯในเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในจีน

ตัวอย่างเช่น บทความชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารของสถาบันนาวีสหรัฐฯ “ยูเอส เนวัล อินสติติว โพรซีดดิ้งส์” (US Naval Institute’s Proceedings) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “Deterring the Dragon” (การป้องปรามพญามังกร) [7] นายทหารเรือปลดเกษียณยศนาวาโทผู้หนึ่งได้เสนอให้วางทุ่นระเบิดใต้น้ำเชิงรุกเอาไว้รอบๆ ชายฝั่งของจีนที่อยู่ติดๆ กับท่าเรือแห่งหลักๆ ของแดนมังกร รวมทั้งเข้าทำลายเส้นทางสื่อสารทางทะเลของบรรดาเรือของจีน เขายังเสนอแนะให้ส่งกองกำลังทหารปฏิบัติการพิเศษเข้าไปติดอาวุธให้พวกชนกลุ่มน้อยที่กำลังหัวแข็งควบคุมยากของจีนทั้งในซินเจียงและในทิเบต

ในบทความเมื่อปี 2015 ชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์ “War on the Rocks” [8] ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “The economics of war with China: This will hurt you more than it hurts me,” (เศรษฐศาสตร์ของสงครามกับจีน: นี่จะสร้างความเจ็บปวดให้คุณมากกว่าที่มันสร้างความเจ็บปวดให้ผม) พันเอกแห่งกองทัพบกสหรัฐฯผู้หนึ่งก็เสนอแนะเช่นกัน [9] ให้รณรงค์วางทุ่ระเบิดเชิงรุก เพื่อทำให้เศรษฐกิจของจีนประสบภาวะชะงักงัน เขาเสนอเหตุผลว่าเนื่องจากท่าเรือขนถ่ายสินค้าแบบตู้คอนเทนเนอร์ระดับท็อป 10 ของโลกมีอยู่ถึง 7 แห่งเป็นท่าเรือจีน ดังนั้นแดนมังกรจึงมีความอ่อนแอเปราะบางมากเพื่อต้องเผชิญกับการปิดล้อมทางด้านพลังงานและด้านการค้า

จากการที่เอกสาร “ยุทธศาสตร์กลาโหมแห่งชาติ” (National Defense Strategy) ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ฉบับใหม่ล่าสุด มีเนื้อหาพูดถึงการวางแผนทำสงครามกับจีนและรัสเซียอย่างคึกคักกระตือรือร้น [10] เมื่อบวกกับพวกข้อเขียนบทวิจารณ์ด้านการทหารที่พูดถึงวิธีการในการตัดซัปพลายด้านพลังงานของจีน เราย่อมรู้สึกพิศวงสงสัยว่าแล้วพวกนักวางแผนด้านกลาโหมของจีนล่ะกำลังมีความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของสหรัฐฯไปในทางใด และที่สำคัญที่สุดคือ จีนจะแสดงการตอบโต้อย่างไร?

พยัคฆ์หมอบ มังกรซ่อน

ฝ่ายทหารของจีนและของรัสเซียดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณถึงสหรัฐฯว่า ทั้ง 2 ประเทศนี้ไม่ว่าฝ่ายใดก็ตามที จะไม่ยืนอยู่คนเดียวโดดเดี่ยวหรอกเมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกโจมตีขึ้นมา –ไม่ว่าในเอเชียตะวันออก หรือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 กองทัพได้ทำการฝึกซ้อมร่วมมาแล้วหลายๆ คร้งทั้งในทะเลเมดิเตอรเรเนียน, ทะเลบอลติก,[11] และทะเลจีนใต้

ในปี 2001 ประเทศทั้งสองยังได้ลงนามใน “ข้อตกลงมิตรภาพ” ฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเน้นหนักถึงการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน [12] ยังไม่ใช่เป็นสนธิสัญญาร่วมป้องกันทางทหาร ถึงแม้มีบางฝ่ายแสดงความคิดเห็นว่า มาตรา 9 ของข้อตกลงฉบับนี้อาจถูกตีความให้ขยายครอบคลุมถึงเรื่องเช่นนั้นได้ อย่างไรก็ตาม จากการที่สหรัฐฯกำลังระบุชื่อ จีน, รัสเซีย, อิหร่าน, และเกาหลีเหนือ เสมือนกับเป็นแกนอักษะแห่งปีศาจ (axis of evil) กลุ่มใหม่ เอาไว้ในเอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ฉบับล่าสุดของตน การคาดโทษว่าจะใช้มาตรการแซงก์ชั่นต่อรัสเซีย และการข่มขู่ที่จะเปิดสงครามการค้ากับจีนอย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อน อาจจะผลักดันปักกิ่งและมอสโกไปสู่การจับมือรวมกลุ่มกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างที่ ศาสตราจารย์ไลล์ โกลด์สไตน์ (Lyle Goldstein) แห่งวิทยาลัยสงครามนาวีสหรัฐฯ (US Naval War College) แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในวารสาร เดอะ เนชั่นแนล อินเทอเรสต์ (The National Interest) [13] ฉากทัศน์ (scenario) ที่มีความเป็นไปได้ประการหนึ่งก็คือ การที่จีนกับรัสเซียจับมือเป็นพันธมิตรกันและทำการสู้รบด้วยอาวุธกับสหรัฐฯพร้อมๆ กัน เขาชี้ว่าขณะที่พวกนักยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในปัจจุบันประเมินว่า “การบีบคั้นทางยุทธศาสตร์และการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเวลานี้ยังไม่ได้ไปไกลถึงระดับที่ประเทศทั้งสองมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมา” แต่ความคิดเช่นนี้ย่อมส่อนัยว่า หากวอชิงตันยิ่งเพิ่มแรงบีบคั้นมากขึ้นไปอีก ฉากทัศน์เช่นนี้ก็จะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้

พิจารณาจากการที่มอสโกกับปักกิ่งได้เคยลงนามทำสนธิสัญญาด้านกลาโหมกันมาแล้วเมื่อปี 1950 [14] การจัดทำข้อตกลงเช่นนี้ในเวอร์ชั่นใหม่จึงดูน่าจะเป็นจริงได้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าหากจีนไม่ช่วยเหลือรัสเซียเมื่อรัสเซียถูกโจมตีในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแล้ว จีนก็คงไม่สามารถวาดหวังได้ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากรัสเซียในเอเชียตะวันออก

อย่างไรก็ดี วอชิงตันน่าที่จะไม่ให้น้ำหนักอะไรนักแก่ฉากทัศน์เช่นนี้ และต้องการที่จะจินตนาการถึงชัยชนะอย่างรวดเร็วจากการใช้ “ปฏิบัติการทำลายขวัญและสร้างความตื่นกลัว” ต่อรัฐบาลซีเรีย ถ้าหากพวกเขาเปิดศึกใหญ่ในซีเรีย ทั้งนี้สืบเนื่องจากสิ่งที่ บทความในนิตยสาร “เดอะ ดิโพลแมต” (The Diplomat) ของ ฟรานซ์-สเตฟาน แกดี้ (Franz-Stefan Gady) เรียกขานว่าเป็น พยาธิวิทยาแห่ง “ช่องว่างในเรื่องสงคราม” (“war gap” pathology) [15] ซึ่งเขาหมายถึงความล้มเหลว (ของอเมริกา) ที่จะเข้าอกเข้าใจถึงธรรมชาติอันถ่องแท้ของการสู้รบขัดแย้งทางการทหาร

แกดี้แจกแจงว่า ประสบการณ์เกี่ยวกับสงครามของคนอเมริกันนั้นมีความโดดเด่นของตนเองซึ่งแตกต่างไปจากประสบการณ์ในเรื่องนี้ของผู้คนทางยุโรป, เอเชีย, ตะวันออกกลาง, และแอฟริกา ถึงแม้รัฐบาลสหรัฐฯกำลังทำสงครามอย่างไม่หยุดไม่หย่อนตามภูมิภาคต่างๆ เหล่านี้นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา แต่ก็ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนและทางทหารของอเมริกันในดินแดนสหรัฐฯเองถูกโจมตีเลยในตลอดช่วงเวลาแห่งศึกสงครามที่ดำเนินมาเกือบๆ 2 ทศวรรษนี้ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง ชาวอเมริกันจึงมีความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามในทางที่สะอาดถูกสุขอนามัยมากกว่าคนอื่นๆ เพราะการสู้รบขัดแย้งทางการทหารนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศซึ่งอยู่ห่างไกลโพ้นออกไป และมีเพียงทหารอเมริกัน, นักรบต่างชาติและพลเรือนต่างชาติเท่านั้นที่ถูกฆ่าถูกสังหาร

ยิ่งไปกว่านั้น พวกอาวุธยุทโธปกรณ์ไฮเทค และระเบิด “สมาร์ท บอมบ์” ก็ทำให้สงครามกำลังกลายเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยเปลี่ยนให้มันกลายเป็นประสบการณ์ทำนองเดียวกับการเล่นวิดีโอเกม “ซึ่งการใช้วลีจำพวก “การโจมตีอย่างแม่นยำ” (surgical strikes) หรือ “ความเสียหายแบบเจอลูกหลง” (collateral damage) กลายเป็นตัวอำพรางปิดบังความหฤโหดจริงๆ และผลต่อเนื่องจริงๆ ของการถล่มโจมตีจากทางอากาศ” ดังนั้นสำหรับพวกผู้นำสหรัฐฯแล้ว สงครามจึงกลายเป็นหนทางออกที่สามารถบริหารจัดการได้มากกว่าออปชั่นอื่นๆ ที่เป็นแบบไม่ใช้กำลังทหาร เนื่องจากพวกเขาอยู่ในสถานที่ห่างไกลออกไปในทางภูมิศาสตร์, ขาดไร้ความเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนและความสยดสยองของสงครามเมื่อมันเกิดขึ้นมาในดินแดนของตัวเอง, แล้วก็เปลี่ยนสงครามให้กลายเป็นความพยายามที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น, สะอาดสะอ้านมากยิ่งขึ้น, และเป็นไปอย่างตื่นรู้มากยิ่งขึ้น

แต่ว่าประสบการณ์ในลักษณะเช่นนี้ กลับไม่ใช่เป็นประสบการณ์ของคนอื่นๆ ซึ่งยังคงมีความทรงจำที่ผ่านไปเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับความสยดสยองของสงครามและการสู้รบขัดแย้งที่เกิดขึ้นในดินแดนของพวกเขาเอง และพวกเขาจึงแสดงปฏิกิริยาต่อภัยคุกคามทางการทหารในลักษณะที่ทรงพลังมากกว่า

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง นาฟีซ อาเหม็ด (Nafeez Ahmed) [16] ได้เคยทำนายเอาไว้ในเดือนตุลาคม 2014 ว่า รัสเซียจะเข้าทำสงครามซีเรียด้วย ถ้าพวกมหาอำนาจตะวันตกปรับเปลี่ยนภารกิจจากการต่อสู้ปราบปรามพวกไอซิส มาเป็นการมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในซีเรีย และพยายามแทนที่ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ด้วยระบอบการปกครองแบบอิสลามิสต์ซึ่งจะส่งออกการก่อการร้ายและส่งออกชาวมุสลิมผู้ถูกปลุกปั่นให้กลายเป็นพวกหัวรุนแรงจำนวนเพิ่มมากขึ้นเข้าไปในยังแคว้นเชชเนีย (Chechnya) ของรัสเซีย

หวังว่าการประเมินของอาหมัดจะผิดพลาดสำหรับปี 2018 แต่ก่อนที่ทรัมป์และพวกที่ปรึกษาของเขาจะออกคำสั่งให้เปิดฉากโจมตีใหญ่ในซีเรียนั้น พวกเขาจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงไพ่ตัวโจ๊กเกอร์ (wild card) –เนื่องจากเบื้องหลังสิงโตแห่งดามัสกัส อาจจะไม่ได้มีเพียงหมีรัสเซียยืนอยู่เท่านั้น บางทียังจะมีมังกรจีนซ่อนตัวอยู่ด้วย-- และพวกเขากำลังเสี่ยงภัยที่จะขยาย “การโจมตีอย่างแม่นยำ” ของพวกเขา ให้กลายเป็นสงครามระหว่างมหาอำนาจเต็มขั้นขึ้นมาในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

เชิงอรรถ
[1]http://www.jpost.com/Middle-East/Iran-Russia-China-Syria-plan-largest-war-game
[2]https://www.i24news.tv/en/news/international/161888-171204-commando-units-and-rice-the-chinese-are-coming-to-syria
[3]https://www.middleeastmonitor.com/20170509-syria-5000-chinese-uyghurs-fighting-in-syria/
[4]https://twitter.com/jenanmoussa/status/864593687191465984/video/1
[5]https://www.longwarjournal.org/?s=turkistan+islamic+party+syria
[6]https://www.reuters.com/article/us-kyrgyzstan-blast-china/kyrgyzstan-says-uighur-militant-groups-behind-attack-on-chinas-embassy-idUSKCN11C1DK
[7]http://www.usni.org/magazines/proceedings/2014-02/deterring-dragon-under-sea
[8]https://warontherocks.com/2015/11/the-economics-of-war-with-china-this-will-hurt-you-more-than-it-hurts-me/
[9]http://www.airuniversity.af.mil/Portals/10/ASPJ/journals/Volume-29_Issue-2/V-Pietrucha.pdf
[10]https://www.defensenews.com/pentagon/2018/01/30/the-pentagon-is-planning-for-war-with-china-and-russia-can-it-handle-both/
[11]http://www.newsweek.com/russia-nato-war-games-europe-player-china-630940
[12]http://www.fmprc.gov.cn/mfa_eng/wjdt_665385/2649_665393/t15771.shtml
[13]http://nationalinterest.org/feature/china-russia-alliance-20333
[14]https://www.cia.gov/library/readingroom/docs/CIA-RDP80R01443R000300050007-8.pdf
[15]https://thediplomat.com/2018/04/is-the-us-suffering-a-war-gap/
[16]http://weekly.ahram.org.eg/News/13671.aspx

(ข้อเขียนจากบุคคลภายนอก ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

ดร.คริสตินา ลิน เป็นนักวิจัยแบบไม่ประจำ (Nonresident Fellow) ที่ศูนย์เพื่อความสัมพันธ์สองฟากฝั่งแอตแลนติก (Center for Transatlantic Relations) วิทยาลัยการระหว่างประเทศศึกษาชั้นสูงพอล เอช. นิทซ์ (SAIS) มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) โดยเธอเป็นผู้ชำนาญการในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ตะวันออก กลาง/เมดิเตอร์เรเนียน เธอยังเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัยให้แก่ ศูนย์เจนส์ด้านข่าวกรองทางเคมี, ชีวภาพ, รังสี, และนิวเคลียร์ (Jane’s Chemical, Biological, Radiological, and Nuclear Intelligence Centre) ณ บริษัทวิจัย ไอเอสเอส มาร์คิต (IHS Markit)

หมายเหตุผู้แปล

บทความชิ้นนี้ คริสตินา ลิน เขียนและเผยแพร่ก่อนหน้าสหรัฐฯ,อังกฤษ,ฝรั่งเศสใช้ขีปนาวุธจำนวนมากยิงถล่มใส่อาคารสถานที่หลายแห่งซึ่งพวกเขากล่าวหาว่าเป็นจุดที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเคมีของรัฐบาลซีเรีย จากนั้นชาติตะวันตกเหล่านี้ก็หยุดไปไม่ได้มีท่าทีจะเปิดฉากรุกทำสงครามใหญ่อย่างที่มีการสร้างบรรยากาศขึ้นมาในตอนก่อนการโจมตี

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้อคิดเห็นข้อวิเคราะห์จำนวนมากในบทความนี้ยังดูน่าศึกษาน่าพิจารณา



กำลังโหลดความคิดเห็น