xs
xsm
sm
md
lg

วอชิงตันห้ามบริษัทอเมริกันขาย ‘ชิป’ ให้ บีบปักกิ่งเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ภายในจีน

เผยแพร่:   โดย: แฟรงก์ เฉิน

<i>บูธของ แซดทีอี คอร์เปอเรชั่น ในงานแสดงสินค้าแห่งหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2017  ทั้งนี้สหรัฐฯออกคำสั่งเมื่อต้นสัปดานี้ห้ามขาย “ชิป” อเมริกันให้บริษัทยักษ์จีนรายนี้ </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US chip export ban has Beijing calling for home alternatives
By Frank Chen
18/04/2018

กรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯออกคำสั่งห้ามพวกบริษัทอเมริกันขาย “ชิป” ให้แก่ แซดทีอี กิจการยักษ์ใหญ่ด้านระบบเครือข่ายและการสื่อสารของแดนมังกร ทำให้จีนเรียกร้องเร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานด้านไฮเทคนี้กันภายในประเทศ แต่ข้อเท็จจริงอันไม่สวยหรูเลยมีอยู่ว่า เวลานี้ชิปเมดอินไชน่ามีส่วนแบ่งตลาดอยู่เพียงแค่ 0 – 5% ในแทบทุกๆ ประเภทผลิตภัณฑ์เท่านั้น

คำสั่งของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ในเรื่องห้ามบริษัทอเมริกันส่งออกชิปสำหรับใช้ในฮาร์ดแวร์อิเล็กทรอนิกส์ กำลังกลายเป็นนาฬิกาปลุกส่งเสียงดังสนั่นให้พวกผู้วางนโยบายของจีนและผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องมืออุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายของแดนมังกรสะดุ้งตื่นจากความหลับใหล และตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า ข้างใต้หน้าฉากอันโอ่อ่าสวยงามแห่งความก้าวหน้าของประเทศชาติในเรื่องเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการผลิตทางด้านการสื่อสารโทรมคมนาคมนั้น พวกยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่างเช่น แซดทีอี กลับมีจุดอ่อนอันบอบบางเสี่ยงต่อการถูกโจมตีอย่างง่ายดาย

กิจการของจีนเหล่านี้ยังคงต้องพึ่งพาอาศัยชิปและแผงวงจรไฟฟ้าซึ่งผลิตจากที่อื่นๆ ถึงแม้พวกเขามีฐานะเป็นเจ้าตลาดในผลิตภัณฑ์อย่างเช่น ซอฟท์ สวิตช์ (soft switches), เซิร์ฟเวอร์, และระบบ เน็ตเวิร์ก โปรโตคอล (network protocol systems)

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯเพิ่งออกคำสั่งเมื่อวันจันทร์ (16 เม.ย.) ที่ผ่านมา ห้ามบรรดาบริษัทอเมริกันจำหน่ายพวกชิ้นส่วนสำคัญๆ เป็นต้นว่า ชิป ให้แก่บริษัท แซดทีอี คอร์เปอเรชั่น (ZTE Corporation) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น

ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันคราวนี้ถือเป็นเรื่องร้ายแรงสำหรับยักษ์ใหญ่ด้านระบบเครือข่ายและการสื่อสารรายนี้ เนื่องจาก แซดทีอี อาจจะประสบความลำบากยากเย็นในการหาซัปพลายเออร์แหล่งอื่นๆ เพื่อจัดซื้อชิปและโปรเซสเซอร์สำหรับใช้ประกอบในผลิตภัณฑ์เซิร์ฟเวอร์, สถานีฐาน (base stations), และระบบย่อยมัลติมีเดีย (multimedia subsystems) ของบริษัท

“เวลานี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการประเมินขนาดขอบเขตเต็มๆ ของผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นแก่บริษัทจากเรื่องนี้ และกำลังติดต่อสื่อสารในเชิงรุกกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองอย่างเหมาะสมตามควรแก่กรณี” แซดทีอี ระบุในคำแถลงสั้นๆ ฉบับหนึ่ง

คำสั่งห้ามครั้งนี้เป็นการยกระดับเพิ่มขยายบทลงโทษที่วอชิงตันประกาศตัดสินออกมาตั้งแต่ปี 2016 สำหรับความผิดที่ แซดทีอี ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎระเบียบต่างๆ ของสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็รวมถึงการจัดส่งอุปกรณ์การสื่อสารที่อยู่ในบัญชีลงโทษคว่ำบาตรไปยังอิหร่านและเกาหลีเหนือ

ทางด้านปักกิ่งได้เรียกคำส่งนี้ว่าเป็น ก้าวเดินหนึ่งแห่งการดำเนินการอย่าง “หยาบช้า” ในกระบวนการที่จีนกับคณะบริหารทรัมป์กำลังพิพาทตอบโต้ทางด้านการค้ากันแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” พร้อมกับบอกด้วยว่าเรื่องนี้จะเร่งกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชิปและด้านเซมิคอนดักเตอร์อื่นๆ ของจีนให้ทวีความคึกคักเข้มแข็งยิ่งขึ้น

“ประเด็นหลักก็คือ ขณะที่โลกาภิวัตน์เสนอให้หนทางที่สะดวกกว่าและราคาถูกยิ่งกว่า แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็ยังกลายเป็นเครื่องบ่มเพาะ “ความเกียจคร้าน” ขึ้นมาด้วย” โกลบอลไทมส์ (Global Times) หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในเครือเหรินหมินรึเป้า ปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวเอาไว้ในเช่นนี้ในหน้าบทความ “ถ้าการนำเข้าชิปมีความสะดวกกว่าและมีประสิทธิผลในการใช้ต้นทุนมากกว่าการเลือกใช้ของที่ทำขึ้นจากแหล่งภายในประเทศแล้ว ตลาดก็ย่อมพึงพอใจที่จะเลือกใช้ผลผลิตภัณฑ์นอกประเทศ และนี่เองคือคำอธิบายว่าทำไมเราจึงตกอยู่ในฐานะต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยีต่างประเทศถึงขนาดนี้”

จริงๆ แล้วพวกบริษัทสารสนเทศ-เทคโนโลยีของจีนเหล่านี้ ต้องพึ่งพาอาศัยชิ้นส่วนนำเข้ามากน้อยแค่ไหนกันแน่ๆ ?

รายงานประจำปี 2017 ว่าด้วยแผงวงจรไฟฟ้าของประเทศจีนฉบับหนึ่ง เปิดเผยให้ทราบว่า ในเรื่องไมโครโปรเซสเซอร์ (microprocessor units) ทั้งสำหรับเซิร์ฟเวอร์, คอมพิวเตอร์พีซีและสมาร์ตโฟน, ดิสเพลย์ ไดรเวอร์ สำหรับ ดิสเพลย์ แบบ ความคมชัดสูง/สูงอย่างยิ่ง (display drivers for high/ultra-definition displays), หน่วยความจำดีแรม (dynamic random-access memories), หน่วยความจำแฟลช NAND (NAND flash memories), อุปกรณ์วงจรรวมเอฟพีจีเอ (field-programmable gate arrays), อุปกรณ์ประมวลผลสัญญาณดิจิตอล (digital signal processor) เป็นต้น ส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์ที่ทำในจีนอยู่ที่ 0% ในปีนั้น

ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดสำหรับไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller units), ดิสเพลย์ โปรเซสเซอร์ (display processors), อิมเมจ โปรเซสเซอร์ (image processors) และหน่วยความจำแฟลช NOR (NOR flash memories) ที่ เมดอินไชน่า อยู่ในระดับระหว่าง 2 – 5% โดยแน่นอนอยู่แล้วว่าส่วนใหญ่ที่สุดเป็นพวกชิปโลว์-เอ็น ที่ขายกันในราคาแค่เศษๆ ของราคาผลิตภัณฑ์อิมพอร์ต

จีนใช้จ่ายเงินมากมายมหาศาลถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในการนำเข้าชิปชนิดต่างๆ ทั้งนี้ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยกระทรวงพาณิชย์แดนมังกร แน่นอนทีเดียวว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และชิปภายในประเทศจะต้องมีศักยภาพเพิ่มขึ้นไปอีกอย่างใหญ่โตมหึมา ถ้าหากสามารถแบ่งสรรเอาเงินก้อนนี้มาใช้จ่ายในด้านการวิจัยและพัฒนาพวกผลิตภัณฑ์ซึ่งทำในจีนเอง

วอชิงตันเริ่มที่จะตระหนักถึงหนทางต่างๆ ในการทัดทานขัดขวางการก้าวผงาดขึ้นมาของจีน และการจำกัดเข้มงวดเรื่องการส่งออกผลิตภัณฑ์ไฮเทคนี่แหละถือเป็นวิธีการหนึ่งซึ่งคณะบริหารทรัมป์สามารถหยิบขึ้นมาใช้ได้อย่างง่ายดาย

เวลาเดียวกันนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนได้ออกมายืนยันว่า ในฐานะที่เป็นตลาดการสื่อสารโทรคมนาคมใหญ่ที่สุดของโลก “มันเป็นเรื่องสมเหตุสมผลอยู่แล้วสำหรับประเทศจีนที่จะเสนอให้ส่วนแบ่งของตลาดของเราส่วนหนึ่ง เพื่อแลกเปลี่ยนกับเทคโนโลยี”

อันที่จริงปักกิ่งได้เรียกร้องมานานแล้วให้พวกผู้ผลิตชิปต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงาน fabrication และตั้งกิจการร่วมทุนกับพวกบริษัทจีน แต่มาถึงตอนนี้เรื่องการถ่ายโอนเทคโนโลยีคงจะถูกชะลอลง ในเมื่อวอชิงตันใช้ทั้งการตั้งกำแพงเครื่องกีดขวางเพิ่มมากขึ้นและทั้งความยุ่งยากแบบระบบราชการ เพื่อนำไปสู่การห้ามส่งออกชิปอย่างสิ้นเชิง โดยที่กำลังเล็งเป้าหมายเล่นงานบริษัทชั้นนำของจีนแห่งหนึ่งให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตา

พวกผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การที่สหรัฐฯใช้ผลิตภัณฑ์ชิปของตนมาเป็นไม้กระบองบังคับข่มขู่ แซดทีเอ และกิจการของจีนแห่งอื่นๆ เช่นนี้ ย่อมหมายความว่า วิธีการของแดนมังกรในการนำเอาการเปิดตลาดให้ส่วนหนึ่งมาแลกเปลี่ยนกับการที่บริษัทต่างชาติยอมถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้น ถึงเวลานี้กำลังกลายเป็นทางตันใช้การไม่ได้เสียแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น