xs
xsm
sm
md
lg

IMF คาดเศรษฐกิจโลกโตต่อเนื่องปีนี้-ปีหน้า แต่ห่วงความเสี่ยงวิวาทะการค้าอเมริกา-จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i> มอริซ ออบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แถลงข่าวเปิดตัวรายงาน “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดเมื่อวันอังคาร (17 เม.ย.) ที่สำนักงานใหญ่ของไอเอ็มเอฟ กรุงวอชิงตัน </i>
เอเจนซีส์ - “ไอเอ็มเอฟ” คาดเศรษฐกิจโลกจะยังคงเติบโตต่อเนื่องจนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มแง่บวกนี้กำลังถูกคุกคามจากข้อพิพาททางการค้าที่ลุกลามระหว่างอเมริกากับจีน พร้อมกับติงวอชิงตันเกาไม่ถูกที่คัน เนื่องจากแผนการริเริ่มทางการค้าของทรัมป์ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าหรือดุลบัญชีเดินสะพัดแต่อย่างใด

ในรายงานทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (17 เม.ย.) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าอยู่ที่ 3.9% ซึ่งเป็นอัตราที่ปรับสูงขึ้นในเดือนมกราคม โดยส่วนหนึ่งอิงกับการคาดการณ์ว่า มาตรการลดภาษีจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในอเมริกา

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.8%

กระนั้น มอริซ ออบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ตั้งข้อสังเกตระหว่างแถลงข่าวเปิดตัวรายงานฉบับนี้ว่า ผลลัพธ์แง่บวกดังกล่าวจะจางหายอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้การเติบโตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าชะลอลง รวมทั้งเตือนว่า แนวโน้มข้อจำกัดทางการค้าและการขู่ตอบโต้กันระหว่างอเมริกากับจีนจะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นและทำให้การเติบโตชะลอลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

สำหรับคำถามที่ว่า จะเกิดสงครามการค้าหรือไม่นั้น ออบสต์เฟลด์มองว่า ทั้งจีนและอเมริกาต่าง “ยิงขู่” ด้วยแผนการภาษีศุลกากรแต่ยังไม่มีการบังคับใช้จริง จึงยังมีโอกาสที่ทั้งสองประเทศจะใช้ประโยชน์จากกลไกการหารือพหุภาคีเพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งลุกลาม

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเสริมว่า แผนการริเริ่มทางการค้าของคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลน้อยมากในการลดยอดขาดดุลการค้าและยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมของอเมริกา เนื่องจากต้นเหตุของปัญหามาจากการใช้จ่ายเกินรายได้ที่มี

ในรายงานล่าสุดฉบับนี้ ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตของอเมริกาขึ้นมา 0.2% จากที่เคยพยากรณ์ไว้ในเดือนมกราคม โดยล่าสุดนี้เป็น 2.9% สำหรับปีนี้ และ 2.7% ในปีหน้า

รายงานระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และประเทศเศรษฐกิจชั้นนำจะได้รับผลกระทบจากสังคมชราภาพและประสิทธิภาพการผลิตที่เฉื่อยชา

ไอเอ็มเอฟแจงว่า ความต้องการสินค้าออกที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้เป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.4% ในปีนี้ ตรงข้ามกับญี่ปุ่นที่ถูกคาดหมายว่า อัตราเติบโตจะยังคงซึมเซาอยู่ที่ 1.2% และชะลอลงเหลือ 0.9% ในปี 2019

สำหรับจีนและอินเดียคงเดิม โดยรายงานระบุว่า อัตราเติบโตของจีนปีนี้และปีหน้าจะอยู่ที่ 6.6% และ 6.4% ส่วนอินเดีย 7.4% และ 7.8% ตามลำดับ

ทางด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานไอเอ็มเอฟบอกว่าอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, และเวียดนาม เมื่อรวมๆ กันแล้วจะยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่สูงกว่าระดับ 5% ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ขณะที่แคนาดา ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ตลอดจนถึงประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำบางประเทศถูกปรับลดเป้าหมายการเติบโตลง

รายงานสำทับว่า แนวโน้มที่ประเทศกำลังพัฒนาจะมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น กำลังจะเผชิญอุปสรรคในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลาง อนุภูมิภาคซับ-ซาฮารา ละตินอเมริกา และแคริบเบียนที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมในช่วงไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า ได้รับการชดเชยจากแนวโน้มการทำกำไรเพิ่มของภาคธุรกิจที่จะกระตุ้นการขึ้นค่าแรงและการลงทุน ส่งผลต่อเนื่องในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ทว่า ความตึงเครียดทางการค้า เช่น ระหว่างอเมริกากับจีนที่งัดมาตรการภาษีศุลกากรห้ำหั่นกันเมื่อเร็วๆ นี้ อาจส่งผลโดยตรงต่อกิจกรรมการค้าและเศรษฐกิจ รวมทั้งตลาดการเงินและกระทบความเชื่อมั่นโดยรวม

ทั้งนี้ รายงานการวิจัยในปี 2016 พบว่า ภาษีศุลกากรหรือกำแพงกีดกันการค้าอย่างอื่นๆ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 10% ในทุกประเทศ อันจะทำให้ผลผลิตและการบริโภคทั่วโลกลดลง 1.75% หลังจากเวลาผ่านไป 5 ปี และเกือบ 2% ในระยะยาว ขณะที่ปริมาณการค้าโลกจะดิ่งลงถึง 15% หลังจาก 5 ปี และ 16% หลังจากนั้น

สัปดาห์ที่แล้ว คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟเตือนว่า ประเทศต่างๆ ควรละเว้นจากลัทธิกีดกันการค้าในทุกรูปแบบ เนื่องจากแรงเสียดทานทางการค้าจะส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ รวมทั้งบ่อนทำลายระบบที่ส่งเสริมความมั่งคั่งของโลก

ไอเอ็มเอฟแนะนำว่า อเมริกาและประเทศอื่นๆ ควรรับมือความกังวลเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์และความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ด้วยการส่งเสริมการเติบโต กระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึงมากขึ้น และขยายโอกาสทางเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์


กำลังโหลดความคิดเห็น