xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึก “สงครามการค้า” ปักกิ่ง-วอชิงตัน จีนมุ่งพัฒนาอุตฯ ไฮเทค-สหรัฐฯ เร่งขัดขวาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เครื่องบินโดยสาร C919 ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องบินแบบแรกที่ผลิตขึ้นตามความริเริ่มของรัฐบาลแดนมังกร เพื่อแข่งขันในตลาดเครื่องบินโดยสารไอพ่นขนาดใหญ่  ทั้งนี้อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมไฮเทคซึ่งจีนเร่งส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ “เมด อิน ไชน่า 2025” </i>
นิวยอร์กไทมส์/เอเจนซีส์ - หัวใจของข้อพิพาททางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่กำลังดุเดือดเข้มข้นขึ้นทุกที เป็นคำถามสำคัญยิ่งยวดระดับรากฐานข้อหนึ่ง คำถามนั้นก็คือ ระหว่างสองประเทศนี้ ใครกันมีความพร้อมมากกว่าที่จะอดทนกับความเจ็บปวดในระยะสั้น เพื่อที่จะได้รับผลดีในระยะยาว อันได้แก่บทบาทความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอนาคตทั้งหลาย

ประเทศจีนนั้นได้เริ่มต้นเดินหน้าแผนการเชิงรุกราคาแพงที่มุ่งปรับเปลี่ยนติดอาวุธให้แก่ระบบเศรษฐกิจของตนสำหรับอนาคต โดยมุ่งหมายที่จะมีฐานะครอบงำในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและอวกาศ, ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), และอื่นๆ อีก แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีว่า แนวทางของจีนเน้นพึ่งพิงวิธีปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและการกำจัดคู่แข่งอย่างเอารัดเอาเปรียบ และถึงแม้เหล่าผู้นำแดนมังกรออกตัวว่าพวกเขาไม่ต้องการให้เกิดสงครามการค้า ทว่าก็กำลังปกป้องแผนการของตัวเองอย่างเหนียวแน่น และแทบไม่มีทีท่าว่าจะยอมอ่อนข้อให้ทำเนียบขาว

การที่ทรัมป์ออกมาข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรอย่างสูงลิ่วต่อสินค้าเข้าของจีนในมูลค่ามากขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีฝ่ายใดยอมถอยยอมอ่อนข้อมากเพียงพอจนโน้มน้าวจูงใจอีกฝ่ายหนึ่งให้ประนีประนอมด้วย ดังนั้นในความเห็นของพวกอนุรักษนิยมฝ่ายขวาของสหรัฐฯแล้ว วอชิงตันอาจจำเป็นที่จะต้องเพิ่มภาษีศุลกากรให้สูงขึ้นและครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก จึงจะสามารถบีบคั้นเรียกร้องความสนใจจากปักกิ่งได้

ดังที่ ดีเร็ก ซิสเซอร์ส นักวิชาการประจำของ อเมริกัน เอนเตอร์ไพรส์ อินสติติวท์ องค์กรคลังสมองแนวทางอนุรักษนิยมชื่อดัง ชี้ว่า ถ้าคณะบริหารสหรัฐฯตั้งใจต่อสู้จริงๆ แล้ว ก็ควรเตรียมตัวใช้มาตรการซึ่งเข้มข้นมากขึ้น

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2015 จีนได้ออกแผนยุทธศาสตร์ชาติที่เรียกว่า “เมด อิน ไชน่า 2025” ซึ่งรัฐบาลแดนมังกรเตรียมความช่วยเหลือเอาไว้คิดเป็นมูลค่า 300,000 ล้านดอลาร์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอันก้าวหน้าล้ำสมัยให้เติบโตเข้มแข็งในจีน ทั้งด้วยการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากพวกธนาคารที่รัฐควบคุมอยู่, การให้หลักประกันว่าจะได้ส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ในประทศจีน, และการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยด้วยการอุดหนุนชดเชยต่างๆ อย่างกว้างขวาง เป้าหมายการดำเนินการที่กำหนดกันเอาไว้ มีทั้งการช่วยเหลือให้พวกกิจการของจีนสามารถเข้าซื้อหาครอบครองบรรดาคู่แข่งชาวตะวันตก, การพัฒนาเทคโนโลยีระดับก้าวหน้า, และการก่อสร้างโรงงานขนาดมหึมาซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุนจากขนาดได้อย่างแท้จริง

จากวาระแห่งชาติเช่นนี้เอง จึงทำให้จีนดูมีความมุ่งมั่นที่จะปกป้องรักษานโยบายระยะยาวของตนเอาไว้ ถึงแม้จะต้องสูญเสียผลประโยชน์เฉพาะหน้าต่างๆ ไปเยอะแยะ ดังที่สะท้อนในคำแถลงของ เกา เฟิง โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนเมื่อต้นเดือนนี้ที่บอกว่า “เราจะไม่เป็ฝ่ายเริ่มต้นสงคราม อย่างไรก็ตาม ถ้าคนอื่นเปิดศึกขึ้นมา เราก็จะตอบโต้อย่างเด็ดขาด อย่างชนิดไม่ตัดทางเลือกใดๆ ทั้งสิ้น”

สำหรับอเมริกา ชัยชนะในสงครามเช่นนี้จะเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ยืนยัน แต่ที่ยากกว่านั้นเสียอีกคือการเอาชนะในสงครามนี้ให้สำเร็จ

ปักกิ่งอาจจะหลบเลี่ยงด้วยการประกาศว่า มีแผนลดการสนับสนุนของภาครัฐตามที่วอชิงตันต้องการแล้ว ทว่าเรืองนี้พิสูจน์ตรวจสอบให้เห็นจริงในเชิงปริมาณได้ยาก เนื่องจากระบบการเมืองของแดนมังกรแสนจะคลุมเครือไม่โปร่งใส ขณะที่รัฐยังควบคุมเรื่องข้อมูลข่าวสารเอาไว้อย่างแน่นหนา

หรือพญามังกรอาจบอกว่ายกเลิกกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้เล่นท้องถิ่น และที่เรียกร้องให้บริษัทอเมริกันต้องยอมแบ่งปันถ่ายโอนเทคโนโลยีถ้าต้องการเข้าถึงตลาดจีน แต่แล้วกลับใช้วิธีการซิกแซกอย่างอื่นๆ ดังมีตัวอย่างว่า ผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติขณะนี้ถูกกดดันให้ถ่ายโอนเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าแก่หุ้นส่วนฝ่ายเจ้าถิ่น ขณะเดียวกันพวกบริษัทเทคโนโลยีต่างแดนก็ถูกเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ให้เข้ารับการตรวจสอบด้านความมั่นคง และธุรกิจต่างชาติอีกหลายแขนงร้องเรียนมานานแล้วว่า มีกฎมากมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม

เวลานี้การรณรงค์ให้การอุดหนุนทางการเงินของรัฐบาลจีนเพื่อกระตุ้นส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค เริ่มผลิดอกออกผลให้เห็นแล้วด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ตลอดเส้นทางจากท่าอากาศยานนานาชาติผู่ตง เข้าตัวเมืองเซี่ยงไฮ้นั้น จะมองเห็นโรงเก็บเครื่องบินขนาดยักษ์และศูนย์ออกแบบที่ผนังเป็นกระจกขนาดใหญ่โตกว้างขวาง ตั้งเรียงรายจนดูเหมือนไม่จบไม่สิ้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของจีนที่จะสร้างบริษัทผลิตเครื่องบินพาณิชย์ยักษ์ใหญ่มาแข่งกับโบอิ้งของอเมริกาหรือแอร์บัสของยุโรป

หรือถ้าเดินทางไปยังเขตโรงงานทั้งในเซี่ยงไฮ้และแถวชานเมือง สิ่งที่จะได้พบคือโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตใหม่ๆ ขนาดมหึมามากมายหลายแห่ง ที่พร้อมขึ้นสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรีของรถยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถประเภทนี้

กระนั้น การที่จะพิสูจน์ยืนยันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเพราะทางการจีนให้การสนับสนุนบริษัทท้องถิ่นอย่างไม่เป็นธรรม เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบาก
<i>หุ่นยนต์อุตสาหกรรมผลิตโดยบริษัทจีน สาธิตการยกสินค้า ในงานการประชุมหุ่นยนต์โลก ที่กรุงปักกิ่ง ในภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 23 ส.ค. 2017 ภาพนี้   อุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์ เป็น 1 ในความหวังใหม่ที่จีนปรารถนาเป็นเจ้าตลาด  ขณะที่สหรัฐฯตั้งท่าขัดขวาง </i>
จริงอยู่ อเมริกาสามารถนำข้อโต้แย้งของตนไปร้องเรียนกับองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบกฎกติกาทางการค้าของทั่วโลก และมีข้อห้ามธนาคารของรัฐปล่อยเงินกู้ขนาดใหญ่โดยคิดดอกเบี้ยต่ำเกินจริง แต่ดับเบิลยูทีโอเรียกร้องต้องการหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ในรูปของสัญญาและเอกสารต่างๆของทางการจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นหลักฐานที่รีดเค้นออกมาได้ยากจากประเทศที่มีการควบคุมภายในแน่นหนาแบบจีน

กระทั่งหากดับเบิลยูทีโอตัดสินว่า จีนผิดจริง การโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ปักกิ่งปฏิบัติตามคำตัดสินก็ใช่จะเป็นเรื่องง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่นคำวินิจฉัยตัดสินของดับเบิลยูทีโอเมื่อเกือบ 6 ปีที่แล้วเกี่ยวกับกรณีที่จีนกีดกันระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของต่างชาติ ปรากฏว่าจนถึงตอนนี้ปักกิ่งยังคงตรองไม่ตกว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินอย่างไร แม้ถูกร้องเรียนหลายครั้งจากคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา และการกระทุ้งจากคณะบริหารของทรัมป์เมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม

นี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้คณะบริหารทรัมป์ไม่หวังพึ่งดับเบิลยูทีโอ และหันมาใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรแทน ทว่ามันก็เท่ากับเป็นการขุดเครื่องมือจากทศวรรษ 1980 มาจัดการนโยบายอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นตัวกำหนดรูปแบบและทิศทางของศตวรรษที่ 21

ปรากฏว่า โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) คนปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นรองผู้แทนการค้าสหรัฐฯยุคคณะบริหารประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน และภาษีศุลกากรที่ไลต์ไฮเซอร์ใช้ขู่ญี่ปุ่นในครั้งนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการที่ถูกปัดฝุ่นมาใช้ในตอนนี้ เพียงแต่ว่าสองยุคสองสมัยนี้มีความแตกต่างชัดเจนในสองประการ

ข้อแรกนั้น ในช่วงทศวรรษ 1980 ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพิงอเมริกาให้ช่วยปกป้องคุ้มครองจากอำนาจอิทธิพลทางทหารของสหภาพโซเวียต แต่ปัจจุบัน จีนกลับเป็นคู่แข่งสำคัญด้านการทหารของอเมริกา และกำลังเดินหน้าแผ่ขยายอิทธิพลทั่วโลก เช่น ส่งเรือรบไปทะเลบอลติก และสร้างฐานทัพเรือในแอฟริกาตะวันออก

ความแตกต่างประการที่ 2 คือ สหภาพยุโรป (อียู) ที่ไม่พอใจมาตรการภาษีในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจไม่ยอมร่วมมือกับทรัมป์ จึงเปิดทางให้ปักกิ่งตอบโต้การรีดภาษีนำเข้าของอเมริกาอย่างง่ายดาย ด้วยการเปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าจากแอร์บัสและเดมเลอร์ของยุโรป แทนโบอิ้งและฟอร์ดของอเมริกา

พวกเจ้าหน้าที่จีนเวลานี้โต้แย้งข้อกล่าวหาของวอชิงตันเรื่องแนวทางปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยบอกว่า มาตรการภาษีศุลกากรของทรัมป์ต่างหากที่ละเมิดกฎของดับเบิลยูทีโอ ปักกิ่งยังปฏิเสธว่า ไม่ได้บังคับให้บริษัทอเมริกันถ่ายโอนเทคโนโลยีให้ เช่น แผนการเมด อิน ไชน่า 2025 นั้น เจ้าหน้าที่จีนยืนยันว่า เป็นแค่การให้แนวทางและคำแนะนำ ไม่ใช่คำสั่ง และบริษัทต่างชาติก็มีเสรีภาพในการตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

บริษัทต่างชาติจำนวนมากกำลังติดอยู่ตรงกลางระหว่างความทะเยอทะยานด้านอุตสาหกรรมของจีน กับความพยายามของอเมริกาในการขวางทางจีน ในจำนวนนี้ก็รวมถึงพวกบริษัทการบินและอวกาศ และบริษัทผู้ผลิตรถ

นอกจากนั้นความขัดแย้งระหว่างจีน-อเมริกามีโอกาสมากที่จะลุกลาม เนื่องจากยุทธศาสตร์ เมด อิน ไชน่า 2025 อาจประสบความสำเร็จในการสร้างคู่แข่งรายสำคัญหน้าใหม่ๆ ของเจเนอรัล อิเล็กทริก (จีอี) และอินเทล ขึ้นมา รวมทั้งคู่แข่งหน้าใหม่สำหรับบริษัทนอกอเมริกาอย่างซีเมนส์ และซัมซุง ด้วย

มาตรการภาษีศุลกากรอาจสร้างความเสียหายให้แก่บริษัทพวกนี้ ถ้าหากสหรัฐฯกับจีนยังคงเดินหน้าขึ้นภาษีตอบโต้เข้าใส่กันไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันพวกเขาก็มีความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ถ้าปักกิ่งประสบความสำเร็จในการปลุกปั้นบริษัทขนาดใหญ่ที่กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมของพวกเขาขึ้น

ตัวอย่างเช่น โบอิ้งอาจต้องแบกรับภาระภาษีศุลกากรที่รัฐบาลอเมริกันเรียกเก็บจากชิ้นส่วนเครื่องบินพลเรือนที่บริษัทสั่งซื้อจาก เอวิก ซึ่งเป็นบริษัทการบินและการทหารของรัฐบาลจีน เนื่องจากหากต้องการขายเครื่องบินให้จีน โบอิ้งจำเป็นต้องสั่งซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทแห่งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในทางกลับกัน จีนก็กำลังผลักดันกิจการค้าร่วมที่มี เอวิก รวมอยู่ด้วย ให้กลายเป็นคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินของโบอิ้ง

เคนเน็ธ จาร์เร็ต ประธานหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ ทิ้งท้ายว่า แม้สมาชิกหอการค้าฯของเขารู้สึกไม่สบายใจที่เห็นวอชิงตันกับปักกิ่งกำลังใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กันไปมา แต่ก็เชื่อว่า อย่างไรเสียอเมริกาก็ต้องกดดันจีนให้หนักกว่านี้
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อ 31 มี.ค.2016 ขณะที่บริษัทเทสลา มอเตอร์ส ของสหรัฐฯ เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น โมเดล 3  รถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมไฮเทคอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งจีนมุ่งมั่นส่งเสริมสนับสนุน </i>
<i>ภาพถ่ายเมื่อ 24 ม.ค. 2015 จากรายการทีวีในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านพัก  ทั้งนี้ชาวอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ กำลังนิยมติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ </i>
อุตสาหกรรมผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮเทคแรกๆ ที่จีนยึดได้และทรัมป์เข้ากีดกัน

อุตสาหกรรมการผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นเจ้าตลาดอยู่ เป็นความสำเร็จที่ปักกิ่งสามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างให้คณะบริหารของสหรัฐฯ มองเห็นภาพชัดเจนว่า จากนโยบายอุตสาหกรรมปัจจุบันของจีน ประเทศหนึ่งสามารถเข้าครอบงำหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่ออนาคตอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างไร

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ งัดมาตรการภาษีศุลกากรมาใช้ครั้งแรกนับจากเข้ารับตำแหน่ง ด้วยการประกาศขึ้นภาษีแผงพลังงานแสงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 มกราคมปีนี้ หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ผลิตในประเทศว่า ถูกสินค้านำเข้าราคาถูกเขมือบยอดขายไปเกือบหมด ตอนนั้นนักวิเคราะห์บางคนอ่านเกมว่า นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของมาตรการแข็งกร้าวที่จะขยายผลไปยังประเทศคู่ค้ากลุ่มใหญ่ขึ้น

ตัวทรัมป์เองนั้นไม่ปลาบปลื้มแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แต่กระตือรือร้นพูดถึงถ่านหิน ซึ่งเป็นพลังงานที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ได้มากกว่าทั้งในช่วงหาเสียงจนกระทั่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจปล่อยผ่านไปได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานแสดงอาทิตย์เป็นหนึ่งในเรื่องราวความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนในการพยายามปลุกปั้นอุตสาหกรรมขั้นสูง

อันที่จริงแล้ว อเมริกานี่แหละที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์มาโดยตลอดจนกระทั่งเมื่อหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ที่จู่ๆ รัฐบาลจีนก็อัดฉีดเงินทุนก้อนใหญ่เพื่อขยายอุตสาหกรรมนี้ ธนาคารในการควบคุมของรัฐปล่อยกู้หลายหมื่นล้านดอลลาร์ในอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดๆ แม้มีข่าวอึกทึกครึกโครมเรื่องที่ผู้ผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์หลายแห่งล้มละลายก็ตาม

ปัจจุบัน บริษัทจีนกลายเป็นผลิตแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 3 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ขณะที่บริษัทอเมริกันและยุโรปส่วนใหญ่ต้องปิดโรงงาน และหลายแห่งถึงขั้นล้มละลาย

ข้อมูลของสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ระบุว่า การอุดหนุนอย่างมโหฬารและการวางแผนอุตสาหกรรมของทางการปักกิ่งเป็นต้นเหตุให้ผลผลิตแผงและโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ของจีนล้นตลาด รวมทั้งทำให้บริษัทอเมริกันพับกิจการไปถึง 30 แห่ง ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกของจีนพุ่งกระฉูดจาก 7% ในปี 2005 เป็น 61% ในปี 2012

ทรัมป์สั่งเก็บภาษีศุลกากรแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 30% ในปีแรกและค่อยๆ ลดลงจนเหลือ 15% ในปีที่ 4 ซึ่งถือว่า ไม่รุนแรงเท่าที่ซันนิวาและโซลาร์เวิลด์ สองบริษัทที่ร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากวอชิงตันต้องการ

กระนั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของอเมริกาจำนวนมากต่างคัดค้านข้อร้องเรียนของซันนิวา-โซลาร์เวิลด์ เนื่องจากภาษีจะทำให้แผงพลังงานแสงอาทิตย์ราคาแพงขึ้นส่งผลให้ขายได้ยากขึ้น

สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ระบุว่า ภาษีของทรัมป์จะส่งผลให้ผู้รับติดตั้ง วิศวกร ผู้จัดการโครงการ 23,000 คนตกงาน ขณะที่แผนการลงทุนในพลังงานชนิดนี้นับพันล้านดอลลาร์ถูกยกเลิก นอกจากนั้นแรงงาน 1 ใน 3 ของทั้งหมด 260,000 คนในอุตสาหกรรมนี้ยังเสี่ยงถูกลอยแพเนื่องจากอัตราภาษีจะส่งผลกระทบในระยะยาว

ศูนย์เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในอเมริกาทักท้วงว่า ถ้าทรัมป์ต้องการให้ “อเมริกามาก่อน” จริง ก็ควรลดการพึ่งพิงแหล่งพลังงานที่สร้างมลพิษและทำให้โลกร้อน องค์กรนี้ยังชี้ว่า การขึ้นภาษีแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีแรงจูงใจทางการเมืองและมีเป้าหมายเพื่อช่วยบริษัทสองแห่งที่ล้มเหลวเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงว่า การรีดภาษีทำให้ผลิตภัณฑ์นี้มีราคาแพงเกินกว่าที่คนอเมริกันจะเข้าถึงได้


กำลังโหลดความคิดเห็น