xs
xsm
sm
md
lg

‘ตะวันตก’โหมโจมตีว่าทั้งหมดล้วนเป็นความผิดของ‘ปูติน’ ทว่าเขาจะชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีต่ออยู่ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์

<i>ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย พูดบนเวทีสัมมนาเยาวชนงานหนึ่งในกรุงมอสโก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา  ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันอย่างกว้างขวางว่า เขาจะเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำหนดจัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 18 มี.ค. </i>
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

It’s all Putin’s fault… but still he wins
By Pepe Escobar
16/03/2018

ฝ่ายตะวันตกโหมกระพือการโจมตีประณาม “ระบอบอัตตาธิปไตย” ของรัสเซีย แต่ปูตินก็ยังคงเป็นที่นิยมชมชื่นของประชาชนในแดนหมีขาว ทำนองเดียวกับ สี จิ้นผิง เป็นที่ต้อนรับในประเทศจีน และการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคมนี้ แทบจะรับประกันได้เต็มร้อยทีเดียวว่า ปูตินจะเป็นผู้ชนะ

ถึงแม้พวกที่เป็นโรคหวาดกลัวรัสเซีย กำลังพยายาม “ปล่อยของ” ออกมาจากสหรัฐฯและสหราชอาณาจักรกันตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันและตลอด 7 วันของแต่ละสัปดาห์ ทว่าข้อเท็จจริงที่พวกเขาไม่ชื่นชอบเอาเลยก็ยังคงมีอยู่ว่า วลาดิมีร์ ปูติน นั้นแทบจะรับประกันได้เต็มร้อยทีเดียวว่า จะได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ในการเลือกตั้งวันอาทิตย์ 18 มี.ค.นี้

หากไม่พูดถึงข้อสรุปที่ใครๆ ต่างทราบล่วงหน้ากันเรียบร้อยอยู่แล้ว สิ่งซึ่งยังคงต้องรอลุ้นกันอยู่จริงๆ ก็คือ สมการ 70:70 อันได้แก่ ปูตินจะสามารถดึงดูดให้มีผู้ออกมาให้สิทธิลงคะแนนถึง 70% หรือไม่ และเขาจะชนะด้วยระดับเสียงโหวต 70% ของคะแนนเสียงทั้งหมดหรือเปล่า ถ้าหากทำได้ มันก็จะเป็นการรับรองให้ความเห็นชอบอย่างหนักแน่นมั่นคงต่อแผนการทั้งที่เป็นนโยบายภายในประเทศและนโยบายการต่างประเทศของเขาไปจนตลอดถึงปี 2024 ทีเดียว

แม้ว่าปักกิ่งไม่ได้มีการบอกกล่าวแถลงตัวเลขออกมาอย่างเป็นทางการ จึงทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันในเชิงปริมาณได้อย่างชัดๆ แต่ก็น่าจะพูดได้อย่างไม่ขัดเขินว่า ปูตินได้รับความนิยมในรัสเซีย พอๆ กับที่ สี จิ้นผิง ได้รับอยู่ในจีน –ถึงแม้เวลานี้ สี กำลังถูกโจมตีเล่นงานจากพวกหน้าเดิมๆ ในโลกตะวันตกว่า ตั้งท่าจะกลายเป็น “เหมา เจ๋อตง คนใหม่” ก็ตามที ภายใต้กรอบโครงของความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับจีน เมื่อพูดกันจากแง่มุมในทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว นี่คือยุคสมัยของปูติน-สี และก็จะยังเป็นเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

ความนิยมชมชอบของประชาชนภายในประเทศที่มีต่อปูติน ได้รับการยืนยันจากผลโพลของสำนักเลวาดา (Levada) [1] ซึ่งระบุว่า ผู้ตอบคำถามในการสำรวจถึง 70% ทีเดียวกล่าวว่า การผนวกแหลมไครเมียเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดผลดีต่อรัสเซีย ทั้งนี้ความสนับสนุนโดยรวมต่อการที่ไครเมียกลับเข้ามารวมอยู่กับรัสเซียอีกครั้งหนึ่งภายหลังการทำประชามติในดินแดนแห่งนั้น ยังคงยืนอยู่ในระดับมากมายมโหฬารถึง 86%

เกี่ยวกับการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียคราวนี้ ฝ่ายตะวันตกให้ความสนอกสนใจเพียงเฉพาะแค่ อเล็กเซย์ นาวัลนีย์ (Alexei Navalny) ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธว่าขาดคุณสมบัติไม่สามารถลงสมัครได้ และนาวัลนีย์ก็เลยเรียกร้องให้คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้

อันที่จริงยังมีผู้สมัครที่พรรคคอมมิวนิสต์ส่งลงแข่งขัน ซึ่งได้แก่ ปาเวล กรูดีนิน (Pavel Grudinin) ผู้ที่ลงท้ายแล้วอาจจะได้คะแนนราว 7% ของผู้ออกมาโหวตทั้งหมด สำหรับผู้สมัครขาประจำเก่าแก่ยาวนานอย่าง วลาดิมีร์ จิรินอฟสกี้ (Vladimir Zhirinovsky) นักชาตินิยมระดับฮาร์ดคอร์จากพรรค LDPR อาจจะได้เสียงเกิน 5% นิดหน่อย ส่วน ค์เซเนีย ซอบชัค (Ksenia Sobchak) ผู้สมัครของพรรคลิเบอรัล (Liberal) ซึ่งอ้างตัวเองว่าเป็นผู้นำตัวจริงของเสียงโหวตเพื่อประท้วงคัดค้านคนอื่นๆ ทั้งหมดนั้น คงจะได้สักแค่ 1.5%

ซอบชัค ซึ่งเป็นมือใหม่หัดขับในทางการเมือง ได้พยายามสร้างจุดเด่นขึ้นมาอยู่สองสามอย่าง เป็นต้นว่า สวมใส่เสื้อกีฬาแขนยาวเขียนข้อความต่อต้านสงครามตัวโตๆ เพื่อเน้นย้ำเรื่องที่เธอโจมตีปูตินว่าเป็นตัวแทนของพรรคนิยมสงคราม

เธอยังเสนอนโยบายคล้ายๆ กับของ เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) แห่งพรรคเดโมแครตของสหรัฐฯ นั่นคือเรียกร้องให้ผันเอางบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมมาใช้ในเรื่องการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ แต่แล้วเธอยังโจมตีคัดค้านการที่รัสเซีย “เข้ายึดครอง” แหลมไครเมีย “อย่าง “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เรื่องนี้ไม่เป็นที่สบอารมณ์ของผู้คน โดยที่ผู้มีสิทธิออกเสียงราว 80% บอกว่าพวกเขาจะไม่มีวันโหวตให้เธอเลย แต่อย่างน้อยที่สุด ซอบชัค ก็พยายามที่จะเริ่มต้นวางตำแหน่งของเธอเองเสียใหม่สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยต่อไปในปี 2024

การต่อสู้ระหว่างรัสเซียกับอังกฤษเมื่อครั้งอดีตหวนกลับมาอีกครา

การรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซียกำลังดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา –ทำให้มองเห็นได้ว่าการระดมโจมตีในสงครามข้อมูลข่าวสารของฝ่ายตะวันตกซึ่งกำลังถล่มเล่นงานสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “ระบอบอัตตาธิปไตย” (autocracy) ของประเทศนี้ แท้ที่จริงคือการโกหกพกลม ขณะที่พวกผู้สังเกตการณ์อย่างเช่น กิลเบิร์ต ดอคเทอโรว์ (Gilbert Doctorow) พยายามที่จะเสนอภาพรวมๆ แบบซึ่งมีความสมดุลออกมา [2]

การโต้วาทีในสไตล์ตะวันตกก็มีการแพร่ภาพออกอากาศกันในโทรทัศน์ช่องข่าวชั้นนำ 2 ช่อง ได้แก่ รอสซิยา-1 (Rossiya-1) และ เปอร์วี คานัล (Pervy Kanal) รวมทั้งทางสถานีโทรทัศน์ซึ่งมีคนดูน้อยกว่าอย่าง โออาร์ที (ORT) และ ทีวีที (TVT) ซึ่งดำเนินการโดยภาครัฐ ทั้งนี้ไม่ได้มีการห้ามปรามขัดขวางเลยเมื่อมีการประณามวิจารณ์เรื่องช่วงห่างระหว่างกรุงมอสโกกับภูมิภาคอื่นๆ ในการได้รับงบประมาณส่วนเกินต่างๆ, อัตราเงินเดือนค่าจ้างที่ดีที่สุด, และบริการสาธารณะชั้นดี, โดยที่มีการเปรียบเทียบกับพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ภูมิภาคที่ขาดแคลน”

เช่นเดียวกับเรื่อง “การได้รับประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติ” ของภาคชนบทรัสเซีย –อย่างเช่นในรายรับจำนวน 740,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯของรัฐวิสาหกิจ “กาซปรอม” (Gazprom) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฏว่าแทบทั้งหมดเป็นรายรับจากการส่งออก และมีการลงทุนเพียงแค่ 12,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นในการนำเอาก๊าซเข้าสู่ครัวเรือนต่างๆ ของชาวรัสเซีย

ปูตินนั้น ในช่วงสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียง ได้รับประโยชน์จากการเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีใหม่ที่ดูดีงดงาม 2 เรื่องทางเครือข่ายสังคมของรัสเซีย ซึ่งได้แก่ ว์คอนตัคเจ (Vkontakte) และ ออดโนคลาสส์นิคิ (Odnoklassniki) โดยที่เรื่องหนึ่งอัดแน่นไปด้วยบทสัมภาษณ์สั้นๆ นำมาตัดต่อเรียงร้อยกันอย่างน่าดูน่าชม ส่วนอีกเรื่องหนึ่งว่าด้วยประวัติครอบครัวของปูติน ปรากฏว่าทั้ง 2 เรื่องได้รับความนิยมมาก มียอดคนคลิกมาดูเป็นจำนวนล้านๆ ทีเดียว

แล้วควรต้องบอกกันด้วยว่า คำให้สัมภาษณ์ฉบับเต็มไม่มีการตัดต่อ [3] ที่เขาพูดกับ เมกิน เคลลี (Megyn Kelly) แห่งเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี (NBC) ของสหรัฐฯนั้น กลายเป็นคนละเรื่องคนละราว เรียกได้ว่ากลายเป็นสัตว์คนละประเภททีเดียว กับเวอร์ชั่นความยาว 20 นาทีที่ถูกหั่นถูกตัดอย่างแหลกลาญซึ่งนำออกฉายต่อผู้ชมชาวอเมริกัน สำหรับคำถามในการสัมภาษณ์คราวนี้ไม่มีคำถามใดเลยซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ออกเสียงชาวรัสเซียบังเกิดความเชื่อถือให้เครดิตแก่การเป็นประธานาธิบดีของปูติน [4]

ครั้นแล้วก็เกิดกรณีแสนอัปยศเกี่ยวกับการวางยาพิษสายลับสองหน้าผู้หนึ่งในเมืองซัลส์บิวรีขึ้นมา –นี่คือพล็อตนวนิยายจารชนตามแบบฉบับของ จอห์น เลอ คาร์ (John le Carré) ที่บ้าบอคอแตกเข้ารกเข้าพงไปเลยชัดๆ แทนที่ผู้คนในรัสเซียจะเชื่อถือตามสคริปต์ของผู้ที่จัดวางเรื่องนี้ขึ้นมาซึ่งมุ่งหวังให้มันกลายเป็น “รัสเซียเกต” (Russiagate) สคริปต์นี้กลับล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า [5] และผู้คนจำนวนมากในรัสเซียกำลังตีความว่า มันคือการที่สหราชอาณาจักรกำลังเข้ามาแทรกแซงโดยตรงในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัสเซีย

พร้อมกันนั้น เวอร์ชั่นของทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร ที่มุ่งกล่าวโทษว่ารัสเซียอาจจะเป็นผู้ร้ายในกรณีนี้นั้น กำลังถูกท้ายทายจากพวกแหล่งข่าวอิสระต่างๆ [6]

องค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (The Organization for the Prohibition of Chemical Weapons หรือ OPCW) ได้เคยระบุอย่างชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่า “โครงการอาวุธเคมีทั้งหมดทั้งสิ้นของรัสเซียได้ถูกทำลายไปอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ซึ่งก็แน่นอนว่าครอบคลุมถึงสมรรถนะในการผลิตสารเคมีทำลายประสาทของรัสเซียด้วย” [7]

องค์การ OPCW ซึ่งทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯต่างก็เป็นสมาชิกอยู่ด้วยทั้งคู่ กระทั่งแสดงความสงสัยข้องใจ [8]ว่า สาร “โนวิชอค” (Novichok) ในสภาพที่เป็นอาวุธเคมีนั้นมีอยู่จริงๆ หรือเปล่า [9]

เคร็ก เมอร์เรย์ (Craig Murray) อดีตเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำอุซเบกิสถาน พยายามที่จะชำแหละปริศนานี้ โดยเน้นย้ำว่า ตัวเขาสามารถ “เป็นพยานบุคคลได้ว่า ในอุซเบกิสถานนั้น ทั้งหน่วยงานความมั่นคงของสหราชอาณาจักรและของสหรัฐฯต่างแสดงความยินยอมพร้อมใจที่จะยอมรับและแสดงความเชื่อถือข่าวกรอง ซึ่งพวกเขาทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นเท็จ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในทางนโยบายของพวกเขา” [10]

มีการตั้งคำถามอันสมเหตุสมผลในเรื่องที่ว่าเกิดอะไรขึ้นมาจริงๆ ต่อทรัพย์สินต่างๆ ของ เอ็มไอ 6 ในแผ่นดินสหราชอาณาจักร [11] ในขณะที่ลอนดอนต้องเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์ที่มีเดิมพันสูงลิบลิ่วกับคนทรยศชาวต่างชาติผู้หนึ่ง ซึ่งถูกรัสเซียดูหมิ่นเหยียดหยาม และส่งผ่านไปให้แก่สหรัฐฯ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนสปายสายลับกันระหว่างมอสโกกับวอชิงตัน

จัดวางกระดานหมากรุกภูมิรัฐศาสตร์กันใหม่

ถึงแม้มีการโหมประโคมกันอย่างสนุกสนานราวกับอาการโรคฮิสทีเรีย แต่นิยายเรื่องซัลส์บิวรีที่อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจเขียนให้ตื่นเต้นเร้าใจ ก็แทบไม่ได้มีผลในการกลบลบคำปราศรัยอันทรงความสำคัญชนิดสามารถเปลี่ยนเกมได้ของปูตินเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ในคำปราศรัยนี้เขาได้กล่าวสรุปให้เห็นภาพรวมโดยที่มีรายละเอียดประกอบ ไม่เพียงเฉพาะวาระภายในประเทศเท่านั้น หากแต่ในเรื่องความพร้อมของรัสเซียที่จะเข้าจัดวางกระดานหมากรุกเชิงภูมิรัฐศาสตร์กันเสียใหม่อีกด้วย [12]

เขาเน้นย้ำถึงวิธีการที่ “รัสเซียจะต้องนำตัวเองให้สามารถแทรกเข้าไปอยู่ในหมู่ 5 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างมั่นคง ขณะที่ตัวเลขจีดีพีต่อประชากรแต่ละคน (per-capita GDP) ของรัสเซียก็ต้องเพิ่มขึ้นให้ได้ 50% ภายในช่วงกลางๆ ของทศวรรษหน้า”

เขายกย่องเชิดชูการบูรณาการมหาทวีปยูเรเชีย –อย่างเช่นในการพัฒนา “ระเบียงใหญ่ของการคมนาคมขนส่งแห่งยูเรเชีย” (large Eurasian transport corridors) ซึ่งกำลังก่อสร้างขึ้นมาโดยจีน, รัสเซีย, และคาซัคสถาน ตลอดจนในการพัฒนา “ศักยภาพของเส้นทางสายหลักไบคาล-อามูร์ (Baikal-Amur Mainline) และทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian Railway)”

ปูตินยังเน้นย้ำเรื่อง เส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือ (Northern Sea Route) จาก มูรมันสก์ (Murmansk) ไปยังช่องแคบเบริง (Bering Strait) ว่า “จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการพัฒนาภูมิภาคอาร์กติกและภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย” รวมทั้งกำลังทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าจากเอเชียไปยุโรปมีความรวดเร็วยิ่งขึ้นถึงหนึ่งในสาม

ทั้งนี้รัสเซียจะลงทุนเป็นจำนวนหลายแสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 เพื่อพัฒนาทั้งเรือ, อู่ต่อเรือ, และท่าเรือแห่งต่างๆ ตามเส้นทางเดินเรือทะเลสายเหนือนี้ –โดยที่คาดหมายกันว่าการขนส่งสินค้าจะเติบโตขยายตัวเป็น 10 เท่าตัวภายในปี 2025 [13]

และนี่ดูเหมือนว่าสำหรับจีนแล้ว มันก็กลายเป็นเรื่องที่มีลำดับความสำคัญสูงในทางยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคอาร์กติกด้วยเช่นกัน –ในขณะที่เวลานี้ เส้นทางสายไหมขั้วโลก (Polar Silk Road) กำลังถูกนำมาบูรณาการอย่างเต็มที่เข้าไปในแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI)

นอกจากนั้นยังมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ “คาบสมุทรยามัล” (Yamal Peninsula) [14] อันมีศูนย์กลางอยู่ที่ก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ ซึ่งจะทำให้รัสเซียสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกสำหรับก๊าซธรรมชาติเหลว (liquefied natural gas หรือ LNG) ขึ้นไปอย่างน้อยที่สุดอีกเท่าตัวภายในปี 2020

ในส่วนที่กาซปรอมดูจะมีอิทธิพลบารมีเพิ่มสูงขึ้นมากมายจากโครงการเหล่านี้นั้น ปูตินก็ได้พยายามหาทางถ่วงดุลอยู่แล้ว โดยเขาบอกว่า “สภาพที่เศรษฐกิจของรัสเซียต้องขึ้นต่อราคาไฮโดรคาร์บอนนั้น ได้ลดต่ำลงมาแล้วอย่างสำคัญ ขณะเดียวกันเราก็มีทุนสำรองของเราทั้งที่เป็นทองคำและสกุลเงินตราต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อก็ลดลงมาสู่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ นั่นคือแค่สูงกว่า 2% นิดเดียว”

กลับมาอีกครั้ง-การแข่งขันกันที่มุ่งหน้าสู่ภาวะ MAD อย่างบ้าคลั่ง

แล้วก็มาถึงเรื่องที่ถูกประโคมเป็นข่าวฮือฮา

ปูตินได้พูดแจกแจงให้เห็นว่า เวลานี้สภาพการแข่งขันกันทางด้านอาวุธ ซึ่งเป็นการมุ่งหน้าสู่ภาวะ MAD (Mutually Assured Destruction ความพินาศย่อยยับที่จะเกิดขึ้นกับแต่ละฝ่ายอย่างแน่นอน ) กำลังหวนคืนมาได้อย่างไร แถมยังเป็นการกลับมาพร้อมด้วยแรงคลั่งแค้นซึ่งทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างดุเดือดรุนแรงยิ่งกว่าเก่าเสียอีก --การอธิบายของเขายังเป็นการบอกกล่าวอย่างเป็นนัยๆ ด้วยว่า บรรดากลไกด้านการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯทั้งหลายทั้งปวงนั้น เมื่อมาถึงตอนนี้ มันอาจจะกลายเป็นของไร้ค่าไร้ประโยชน์ไปเสียแล้ว

และเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับ “การก้าวร้าวรุกรานของรัสเซีย” อย่างที่พวกหน้าเดิมๆ ชอบปลุกปั่นชอบยุยงพูดกันด้วย หากแต่มันเป็นการที่มอสโกทำการตอบโต้องค์การนาโต้ซึ่งกำลังรุกล้ำบริเวณชายแดนของรัสเซียมาตลอดกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ปูตินพูดเอาไว้อย่างนี้: “ผมจะขอพูดเกี่ยวกับระบบใหม่ล่าสุดของบรรดาอาวุธทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย ที่เรากำลังสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อตอบโต้ต่อการที่สหรัฐอเมริกาถอนตัวออกตามอำเภอใจฝ่ายเดียวจากสนธิสัญญาต่อต้านขีปนาวุธ (Anti-Ballistic Missile Treaty สนธิสัญญาควบคุมระบบป้องกันขีปนาวุธ) และในทางปฏิบัติก็กำลังนำเอาระบบป้องกันขีปนาวุธต่างๆ ของพวกเขาเข้าประจำการทั้งในสหรัฐฯ รวมทั้งยังล้ำเลยออกไปจากพรมแดนแห่งชาติของพวกเขาเสียด้วย” ทั้งนี้ปูตินประกาศความตั้งใจของเขาที่จะตอบโต้เรื่องนี้เป็นครั้งแรกตั้งแต่เมื่อกว่า 11 ปีก่อน [15]

อันเดรย์ มาร์ตืย์อานอฟ (Andrei Martyanov) นักวิเคราะห์ด้านกำลังทางนาวี ได้จำแนกแยกแยะอย่างถี่ถ้วนว่าระบบอาวุธยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดทั้งหมดของรัสเซียนี้หมายถึงอะไรบ้าง [16] อย่างไรก็ตาม ปูตินยังแถมพกประกาศสิ่งที่ทำให้ชาไปทั้งตัวอีกอย่างหนึ่งด้วย เขาบอกว่า: “การใช้อาวุธนิวเคลียร์ใดๆ ต่อรัสเซียหรือต่อบรรดาพันธมิตรของรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นอาวุธพิสัยใกล้, กลาง, หรือพิสัยใดๆ ก็ตามที จะถูกถือว่าเป็นการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ต่อประเทศนี้ การตอบโต้จะเกิดขึ้นในทันที พรั่งพร้อมด้วยเครื่องประกอบที่ติดตามมาอย่างครบครัน ไม่ควรที่จะมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีกแล้ว”

ดังนั้น MAD 2.0 ก็กำลังกลายเป็นความปกติธรรมดาอย่างใหม่ (new normal) ไปเสียแล้ว การประเมินของศาสตราจารย์ สตีเฟน โคเฮน (Stephen Cohen) นั้น ถูกต้องโดยพื้นฐานทีเดียว [17]

มาถึงตอนนี้ การโฆษณาป่าวร้องกันว่า “ปูตินเป็นปีศาจร้ายกาจที่สุด” กำลังหมุนวนไปเรื่อยๆ อย่างชนิดควบคุมกันไม่อยู่ แม้กระทั่งสวีเดนก็ยังกำลังบ่มเพาะแผนอุบายที่จะ “ปลุกระดม” ทั่วทั้งสังคมของตนขึ้นมาต่อต้านรัสเซีย [18] มีการเผยแพร่เรื่องราวแบบพวกนักเขียนการ์ตูนเพี้ยนๆ ถึงขนาดระบุว่ารัสเซียเป็นรัฐอันธพาลซึ่งกำลังข่มขู่คุกคามทั่วโลกด้วยอาวุธเคมี

ขณะที่ สี จิ้นผิง ดำเนินการขับดันการต่อเชื่อมแบบหลายหลากชั้น โดยผ่านแผนการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เขาก็จะต้องรวมศูนย์ใส่ใจกับความบิดเบี้ยวอันสลับซับซ้อนซึ่งอยู่ภายในของโมเดลจีน ปูตินก็เช่นกัน พร้อมๆ กับที่เสริมสร้างความแข็งแกร่งแน่นหนาให้แก่จุดยืนของรัสเซียในแวดวงมหาอำนาจ เขาก็ จะต้องรวมศูนย์ให้ความสนใจกับเรื่องการนำเศรษฐกิจแดนหมีขาวให้ฟื้นกลับคืนเข้าร่องเข้ารอย

พวกชนชั้นนำที่เชื่อถือมุ่งมั่นให้ยุโรปและอเมริกาซึ่งอยู่สองฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติกรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง (เรียกกันว่าพวกแอตแลนติซิสต์ Atlanticist) จำนวนมากทีเดียวยังคงไม่ให้ราคา สี และ ปูติน โดยมองว่าเป็น “ผู้เผด็จการ” แต่เมื่อพิจารณาจากการบูรณาการของยูเรเชีย (ยุโรป+เอเชีย) ซึ่งนี่แหละเป็น “ดีลแท้จริง” ในการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจแห่งยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 แล้ว ความคิดเห็นเช่นนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

หมายเหตุ
[1] https://themoscowtimes.com/news/70-percent-of-russians-say-crimea-annexation-was-good-for-the-country-60811
[2] https://russia-insider.com/en/russia-will-elect-president-sunday-analysis-race-last-days/ri22778
[3] https://www.youtube.com/watch?v=9mhi_AyQAyw&t=178s
[4] https://consortiumnews.com/2018/03/12/nbcs-clueless-boost-for-putin/
[5] https://consortiumnews.com/2018/03/14/intel-committee-rejects-basic-underpinning-of-russiagate/
[6] https://medium.com/insurge-intelligence/the-british-governments-russia-nerve-agent-claims-are-bullshit-a69b4ee484ce
[7] https://www.opcw.org/news/article/opcw-director-general-commends-major-milestone-as-russia-completes-destruction-of-chemical-weapons-stockpile-under-opcw-verification/
[8] https://www.opcw.org/fileadmin/OPCW/CSP/RC-3/en/rc3wp01_e_.pdf
[9] http://www.bbc.com/news/world-europe-43377698
[10] https://www.craigmurray.org.uk/archives/2018/03/russian-to-judgement/
[11] https://orientalreview.org/2018/03/12/fatal-quad-who-is-assassinating-former-mi6-assets-on-british-soil/
[12] http://en.kremlin.ru/events/president/news/56957
[13] https://worldmaritimenews.com/archives/246360/putin-northern-sea-routes-traffic-to-increase-tenfold-by-2025/
[14] http://www.gazprom.com/about/production/projects/mega-yamal/
[15] https://www.youtube.com/watch?v=hQ58Yv6kP44
[16] https://russia-insider.com/en/new-wonder-weapon-it-now-russia-which-rules-waves/ri22709#.Wp7aOnodDwg.facebook
[17] https://www.thenation.com/article/how-washington-provoked-and-perhaps-lost-a-new-nuclear-arms-race/
[18]https://www.defensenews.com/global/europe/2018/03/14/fortress-sweden-inside-the-plan-to-mobilize-swedish-society-against-russia/

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้สื่อข่าวไม่ประจำที่ (correspondent-at-large) ของเอเชียไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น