xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ทรัมป์” สงวนท่าทีเจรจา “คิม” หลังโซลวอน “มะกัน-โสมแดง” ถอยคนละก้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้นำ คิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ และประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
ผู้นำเกาหลีใต้ออกมาเรียกร้องในสัปดาห์นี้ให้สหรัฐฯ ยอมลดเงื่อนไขต่อเกาหลีเหนือลงบ้าง เพื่อให้ได้มีโอกาสเจรจาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ หลังจากผู้แทนโสมแดงออกมาแบะท่าว่าเปียงยางพร้อมพูดคุยกับอเมริกา ขณะที่สหรัฐฯ ยังยืนกรานให้เกาหลีเหนือต้องก้าวไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจังเสียก่อน

ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้หวังที่จะใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว “พยองชางเกมส์” ซึ่งปิดฉากลงไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ (25 ก.พ.) ที่ผ่านมาเป็นเวทีลดความตึงเครียดระหว่างเกาหลีเหนือกับสหรัฐฯ และผ่อนคลายการเผชิญหน้าด้านนิวเคลียร์ซึ่งเป็นวิกฤตความมั่นคงที่ทั่วโลกกังวล

โสมแดงเดินเกมหว่านเสน่ห์ทางการทูตโดยส่งทั้งนักกีฬา เชียร์ลีดเดอร์ และคณะนักแสดงหลายร้อยชีวิตเดินทางมายังเกาหลีใต้ รวมถึงบุคคลสำคัญอย่าง คิม โยจอง น้องสาวแท้ๆ ของผู้นำ คิม จองอึน และล่าสุดก็ได้ส่งนายพล คิม ยองชอล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลกิจการข้ามแดนให้แก่พรรคแรงงานเกาหลีเหนือมาร่วมพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกด้วย

อย่างไรก็ดี คณะผู้แทนเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ กลับไม่ได้พูดคุยหรือปฏิสัมพันธ์ใดๆ ทั้งสิ้นระหว่างการแข่งขัน และเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมาวอชิงตันก็ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเกาหลีเหนือ ซึ่งประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ คุยว่าจะเป็นบทลงโทษที่ “หนักหนาสาหัสที่สุด” เท่าที่เคยมีมา

ระหว่างเข้าพบผู้ช่วยของ มุน เมื่อวันจันทร์ (26) นายพล คิม ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีเรือรบโชนันของเกาหลีใต้เมื่อปี 2010 จนทำให้ทหารเรือเสียชีวิต 46 นาย กล่าวย้ำชัดเจนว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือ “เปิดประตูสำหรับการเจรจากับสหรัฐฯ”

ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวขณะหารือกับนาง หลิว เหยียนตง ผู้แทนพิเศษที่รัฐบาลจีนส่งมาร่วมพิธีปิดโอลิมปิกที่พยองชางว่า “ผมคิดว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องลดเงื่อนไขสำหรับการเจรจาลงบ้าง ส่วนเกาหลีเหนือก็ต้องแสดงความตั้งใจจริงที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์”

“มันเป็นเรื่องสำคัญที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือจะต้องนั่งลงพูดคุยกันโดยเร็วที่สุด” มุนกล่าว พร้อมเรียกร้องให้จีนช่วยสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย

คิม ยองชอล บอกกับประธานาธิบดี มุน ว่าเกาหลีเหนือนั้น “เต็มใจ” ที่จะเจรจา แต่ปรากฏว่าสหรัฐฯ กลับปฏิเสธความเป็นไปได้ทุกทาง จนกว่าเกาหลีเหนือจะแสดงเจตนารมณ์ปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างจริงจัง

“แล้วเราจะได้เห็นกันว่า ถ้อยแถลงของเปียงยางวันนี้ที่บอกว่าอยากจะพูดคุย จะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ด้วยหรือไม่” ทำเนียบขาวแถลง “เราจำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันขั้นสูงสุดต่อไป จนกว่าเกาหลีเหนือจะยอมละทิ้งนิวเคลียร์”

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาตอบข้อเสนอของเกาหลีเหนืออย่างระมัดระวังเมื่อวันจันทร์ (26) โดยระบุว่า การพูดคุยระหว่างวอชิงตันกับเปียงยางจะเกิดขึ้นได้ภายใต้ “เงื่อนไขที่เหมาะสม” เท่านั้น แต่ก็ไม่เอ่ยชัดเจนว่าเงื่อนไขเหล่านั้นคืออะไรบ้าง

"เราแข็งกร้าวกับพวกเขามาตลอด เพราะเหตุนี้พวกเขาจึงอยากเจรจา ก็มาคอยดูกันว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร" ผู้นำสหรัฐฯ กล่าว พร้อมเตือนด้วยว่าหากมาตรการคว่ำบาตรชุดล่าสุดที่ประกาศไปเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (23) ยังไม่ได้ผล “เราจะขยับไปสู่เฟสสอง ซึ่งจะเป็นอะไรที่หนักหน่วงมาก”

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า รัฐบาล ทรัมป์ และชาติพันธมิตรสำคัญในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ กำลังเตรียมขยายมาตรการสกัดเรือที่ต้องสงสัยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ ซึ่งอาจรวมถึงการส่งหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ไปประจำการณ์ในน่านน้ำเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

แม้การสกัดจับเรือต้องสงสัยจะเคยทำมาก่อนแล้ว แต่กลยุทธ์ใหม่อจะขยายขอบเขตของปฏิบัติการดังกล่าวโดยมีทั้งการติดตามอย่างใกล้ชิด และยึดเรือที่ต้องสงสัยขนชิ้นส่วนอาวุธและสินค้าต้องห้ามอื่นๆ เข้า-ออกจากเกาหลีเหนือ แต่จะไม่ถึงขั้นปิดล้อมน่านน้ำโสมแดง ซึ่งเปียงยางเคยเตือนแล้วว่าจะถือเป็นการ “ประกาศสงคราม”
ประธานาธิบดี มุน แจอิน แห่งเกาหลีใต้
ฮัน แตซอง ทูตซึ่งรัฐบาลเกาหลีเหนือส่งไปร่วมการประชุมว่าด้วยการลดอาวุธของสหประชาชาติที่นครเจนีวา ฝากคำเตือนไปถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “สหรัฐฯ ควรรู้ไว้ด้วยว่าการคว่ำบาตรและแรงกดดันต่างๆ นั้นข่มขู่เกาหลีเหนือไม่ได้ และไม่มีวันใช้ได้ผล”

“ถ้าสหรัฐฯ ละเลยความพยายามอย่างจริงใจของเราที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์สองเกาหลี และหันไปเลือกแนวทางยั่วยุและเผชิญหน้า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีก็พร้อมที่จะตอบสนอง” ฮัน กล่าว

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุในสัปดาห์นี้ว่า โจเซฟ ยุน ผู้แทนพิเศษสหรัฐฯ ด้านกิจการเกาหลีเหนือ เตรียมที่จะเกษียณตนเองในวันศุกร์นี้ (2 มี.ค.) โดยประกาศดังกล่าวมีขึ้นแค่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจาก ทรัมป์ ออกมาปฏิเสธการเจรจาทุกรูปแบบจนกว่าเปียงยางจะทำตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯ กำหนดขึ้น

ยุน ซึ่งเป็นชาวเกาหลีใต้โดยกำเนิดสนับสนุนให้สหรัฐฯ มีปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ โดยรับหน้าที่ติดต่อด้านการทูตกับโสมแดงอย่างเงียบๆ มาตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2016

ภารกิจของ ยุน เผชิญอุปสรรคจากความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่างทำเนียบขาวกับกระทรวงการต่างประเทศภายใต้รัฐบาลทรัมป์ และการจากไปของเขาก็ทำให้สหรัฐฯ ขาดบุคคลที่จะสานต่อนโยบายทางการทูต ในช่วงเวลาที่โสมแดงส่งสัญญาณว่าพร้อมพูดคุยด้วย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้ผู้ไม่ประสงค์ออกนามเผยกับรอยเตอร์ว่า ยุน “รู้สึกไม่ศรัทธาและเบื่อหน่ายแนวทางแข็งกร้าวที่ทำเนียบขาวใช้ต่อเกาหลีเหนือมาตั้งแต่ต้น”

นักวิเคราะห์ด้านเอเชียตะวันออกบางคนมองว่า การถอนตัวของ ยุน จะส่งผลเสียร้ายแรงต่อความพยายามใช้การทูตลดภัยคุกคามจากขีปนาวุธนิวเคลียร์โสมแดง ซึ่งเวลานี้สามารถยิงโจมตีถึงแผ่นดินสหรัฐฯ ได้แล้ว และนั่นหมายความว่าโอกาสที่สงครามจะปะทุก็มากขึ้นตามไปด้วย

“นี่เป็นข่าวร้ายอย่างยิ่ง” แฟรงค์ จันนูซี ประธานมูลนิธิแมนสฟิลด์และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก กล่าวผ่านทวิตเตอร์ “โจ ยุน เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพียงคนเดียวในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่สามารถดูแลนโยบายต่อเกาหลีเหนือซึ่งมีความสลับซับซ้อน”


กำลังโหลดความคิดเห็น