xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งปีของทรัมป์ หนึ่งปีแห่งความตกต่ำบนเวทีโลกของอเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: อัลเฟรด ดับเบิลยู. แมคคอย


The World According to Trump, Or How to Build a Wall and Lose an Empire
By Alfred W. McCoy
16/01/2018

ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีอเมริกันมาได้เกือบๆ 1 ปี พวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศในหมู่ชนชั้นนำของวอชิงตัน จำนวนมากทีเดียวต่างรู้สึกสังหรณ์อย่างแรงกล้าถึงลางร้ายเกี่ยวกับอนาคตในระดับโลกของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ พวกเขาพากันคร่ำครวญที่อำนาจอิทธิพลบารมีบนพื้นพิภพนี้ของอเมริกาซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 70 ปีสร้างขึ้นมา กำลังถูกโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี และสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวในระดับนานาชาติ

ขณะที่ปี 2017 ในสหรัฐฯปิดฉากลงด้วยการที่เหล่าอภิมหาเศรษฐีเชิญชวนกันยกแก้วดื่มแสดงความยินดี ปรีดาให้แก่การที่พวกเขาได้รับการลดหย่อนภาษีอย่างมโหฬาร ส่วนพวกผู้บริหารบริษัทพลังงานพากันส่งเสียงเชียร์ที่พวกเขาได้รับการปลดโซ่ตรวนทำให้สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในบรรดาที่ดินของรัฐบาลกลางสหรัฐฯตลอดจนน่านน้ำชายฝั่งทั้งหลายของอเมริกา[1] แต่ยังมีอยู่ภาคส่วนหนึ่งของชนชั้นนำอเมริกันซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในการเปิดแชมเปญเฉลิมฉลองด้วย นั่นก็คือ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศของวอชิงตัน ไม่ว่าจะมีแนวความคิดเอนเอียงไปทางฝักฝ่ายไหนในทางการเมือง พวกเขาจำนวนมากต่างรู้สึกสังหรณ์อย่างแรงกล้าถึงลางร้ายเกี่ยวกับอนาคตในระดับโลกของประเทศชาติภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ตัวอย่างเช่น ในการคร่ำครวญอย่างยาวเหยียดเมื่อช่วงสิ้นปีเก่า ฟารีด ซาคาเรีย (Fareed Zakaria) คอมเมนเตเตอร์แนวคิดอนุรักษนิยม [2] ของสถานีโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็น กล่าวอย่างห่อเหี่ยวเกี่ยวกับ “การตัดสินใจอย่างโง่เขลาและอย่างทำให้ตนเองกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ของคณะบริหารทรัมป์ ในการสละอิทธิพลบารมีระดับโลกของสหรัฐฯ – ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลายาวนานมากกว่า 70 ปีในการสร้างขึ้นมา” เขากล่าวต่อไปว่า “เรื่องเล่าระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา” ก็คือการที่ “ผู้สร้าง, ผู้สนับสนุนค้ำจุน, และผู้รักษากฎเกณฑ์ ของระบบระหว่างประเทศซึ่งดำรงอยู่ในเวลานี้ กำลังถอนตัวถอยหลังเข้าสู่สภาพโดดเดี่ยวที่ถือตนเองเป็นศูนย์กลาง” จึงกำลังทำให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจขึ้นมา ซึ่งจะถูกเติมเต็มโดยพวกมหาอำนาจที่รังเกียจแนวทางเสรีนิยมอย่างเช่น จีน, รัสเซีย, และตุรกี [3]

คณะบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ก็ตั้งข้อสังเกตอย่างสลดเศร้าสร้อยว่า “การโอ้อวดคุยโต และความกระหายในการต่อสู้ทำศึก ตลอดจนความโน้มเอียงที่จะเสาะแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อตัวเอง (ของประธานาธิบดีทรัมป์) ไม่เพียงแต่กำลังทำให้อเมริกาสูญเสียความสนับสนุนจากทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังกำลังทำให้อเมริกาอยู่ในภาวะโดดเดี่ยวอีกด้วย” [4] ทางด้าน ซูซาน ไรซ์ (Susan Rice) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ละทิ้งความสุภาพเรียบร้อยไม่ทำอะไรอย่างแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายซึ่งเหล่านักการทูตระดับท็อปทั้งหลายของวอชิงตันยึดถือกันอยู่ แล้วทำการชำแหละทรัมป์ว่า กำลังโยนทิ้งอย่างไม่ใยดี “ความเป็นผู้นำอย่างมีหลักการ (ของสหรัฐฯ) ซึ่งเป็นรากฐานแห่งนโยบายการต่างประเทศอเมริกันนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วหันมาถือ (จุดยืนแบบ) “อเมริกามาเป็นอันดับแรก” (America first)” ซึ่งรังแต่จะ “ให้กำลังใจพวกคู่แข่งและทำให้ตัวเราเองอ่อนแอลง” [5]

แต่ไม่ว่าจะใช้ถ้อยคำอันแหลมคมและครอบคลุมกว้างขวางขนาดไหนก็ตามที เสียงวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ก็ยังคงไม่สามารถเริ่มต้นบอกเล่าถึงขนาดขอบเขตอย่างเต็มๆ ของความเสียหายซึ่งทำเนียบขาวของทรัมป์กำลังก่อให้เกิดขึ้นต่อระบบอำนาจแห่งโลก ซึ่งวอชิงตันได้สร้างขึ้นและมาและเฝ้าธำรงรักษาอย่างระมัดระวังในตลอดช่วงระยะเวลากว่า 70 ปีมานี้ อันที่จริงพวกผู้นำอเมริกันยืนกันอยู่ที่ระดับบนสุดของโลกเป็นเวลาเนิ่นนานเกินไปแล้วกระมัง จนกระทั่งพวกเขาไม่สามารถจดจำได้อีกต่อไปว่าพวกเขาก้าวขึ้นไปอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร ดูเหมือนว่าในหมู่ชนชั้นนำด้านนโยบายการต่างประเทศของวอชิงตัน มีน้อยคนนักซึ่งมีความเข้าอกเข้าใจอย่างเต็มที่ในระบบอันสลับซับซ้อนที่ทำให้สหรัฐฯมีอำนาจอิทธิพลในทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องรากฐานทางภูมิรัฐศาสตร์อันเป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่น ขณะที่ทรัมป์เดินทางไปทั่วโลก เที่ยวทวิตและพูดจาเหลวไหลไปทั่ว เขากลับกลายเป็นผู้ที่กำลังแสดงให้เราเห็นอย่างไม่ตั้งใจถึงโครงสร้างอันสำคัญยิ่งของอำนาจเช่นนี้ ในลักษณะเดียวกับที่อัคคีภัยซึ่งสร้างความวิบัติหายนะได้เหลือทิ้งพวกคานเหล็กกล้าของอาคารที่เสียหายยับเยินไปแล้ว ยังคงยืนตระหง่านอย่างถนัดชัดเจนเหนือกองซากปรักหักพังติดคราบเขม่าดำ

สถาปัตยกรรมแห่งอำนาจระดับโลกของอเมริกัน

สถาปัตยกรรมของระเบียบโลกซึ่งวอชิงตันสร้างขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่เพียงแค่น่าเกรงขามเท่านั้น หากแต่ดังที่ทรัมป์กำลังสอนสั่งเราอยู่แทบทุกเมื่อเชื่อวันในเวลานี้นั่นแหละ มันยังมีความอ่อนแอบอบบางอย่างน่าประหลาดใจอีกด้วย ตรงแกนกลางของสถาปัตยกรรมนี้ ระบบโลกตั้งอยู่บนองค์ประกอบหรือลักษณะ 2 อย่างที่อยู่คู่เคียงกันหรือ “ทวิลักษณ์” (duality) ซึ่งมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนมาก องค์ประกอบหรือลักษณะอย่างหนึ่งคือความเป็นประชาคมแบบอุดมคติที่ชาติอธิปไตยทั้งหลายต่างเสมอภาคเท่าเทียมกันภายใต้กฎกติกาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ องค์ประกอบหรือลักษณะอย่างนี้ บางครั้งมีการต่อเชื่อมอย่างเคร่งเครียดจริงจัง หรือบางทีก็ต่อเชื่อมอย่างเบาบางเต็มที กับองค์ประกอบหรือลักษณะอีกอย่างหนึ่ง คืออำนาจสิทธิ์ขาดของอเมริกันที่อิงอยู่กับสภาพความเป็นจริงแห่งอำนาจทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หากพูดกันให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ขอให้ลองคิดว่าทวิลักษณ์นี้คือ กระทรวงการต่างประเทศ VS กระทรวงกลาโหม

ในช่วงสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯได้ลงทุนใช้ชื่อเสียงเกียรติคุณของตนเพื่อก่อตั้งประชาคมระหว่างประเทศซึ่งจะส่งเสริมสนับสนุนสันติภาพและแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองในระหว่างประเทศต่างๆ โดยผ่านพวกสถาบันที่มีความถาวรยืนนานหลายๆ สถาบัน เป็นต้นว่า สหประชาชาติ (จัดตั้งขึ้นในปี 1945), กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (ปี 1945), และ ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade หรือ GATT แกตต์) (ปี 1947) ซึ่งในเวลาต่อมาได้แปลงร่างไปเป็น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) และเพื่อให้การปกครองอภิบาลระเบียบโลกดังกล่าวนี้ดำเนินไปโดยยึดอยู่ในหลักนิติธรรม (rule of law) วอชิงตันยังได้ช่วยเหลือให้มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮก อีกทั้งในเวลาต่อมายังจะส่งเสริมสนับสนุนทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนและในเรื่องสิทธิของสตรี

สำหรับองค์ประกอบหรือลักษณะตามสภาพที่เป็นจริงในทางปฏิบัติของทวิลักษณ์นี้ วอชิงตันก็ได้สร้างเครื่องมือกลไก 4 ระดับขึ้นมา ได้แก่ ด้านการทหาร, การทูต, เศรษฐกิจ, และการปฏิบัติการอย่างปิดลับซ่อนเร้น [6] เพื่อที่จะผลักดันฐานะการครอบงำโลกของตนเองให้เดินหน้าต่อไปด้วยความดุร้ายเหี้ยมเกรียม ตรงแกนกลางขององค์ประกอบนี้คือกองทัพที่ไร้เทียมทาน ซึ่ง (ต้องขอบคุณฐานทัพในต่างแดนจำนวนเป็นร้อยๆ แห่ง [7]) ที่รายล้อมโลกเอาไว้, คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งน่าเกรงขามที่สุดบนพื้นพิภพนี้, กำลังทางอากาศและทางนาวีอันใหญ่โตมโหฬาร, และขบวนแถวของพวกกองทัพบริวารซึ่งไม่มีใครอาจเปรียบปาน นอกจากนั้น เพื่อธำรงรักษาความเหนือชั้นกว่าทางการทหารของตนเอาไว้ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯยังให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาลแก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์, การผลิตนวัตกรรมต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ซึ่งนำไปสู่สิ่งต่างๆ มากมายเหลือคณา โดยหนึ่งในจำนวนนั้นได้แก่ ระบบดาวเทียมสื่อสารรอบโลกระบบแรก ที่เป็นการพ่วงเอาอวกาศเข้าเป็นเครื่องมือกลไกอันทรงประสิทธิภาพของตนสำหรับการสำแดงฐานะความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ระดับโลก

นอกจากแสนยานุภาพอันแข็งแกร่งทั้งหมดนี้แล้ว ยังเสริมเติมด้วยกลไกเครื่องมือที่มุ่งโน้มน้าวชักจูงทำให้เกิดการโอนอ่อนผ่อนตาม ในรูปของกองทัพนักการทูตผู้ออกปฏิบัติงานอย่างกระตือรือร้นอยู่ทั่วโลก คอยทำงานส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความผูกพันระดับทวิภาคีอย่างใกล้ชิดกับพวกพันธมิตรอย่างเช่นออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร และก่อเกิดกำเนิดกลุ่มพันธมิตรพหุภาคีอย่างเช่น นาโต้ (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ North Atlantic Treaty Organization – NATO) , ซีโต้ (องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Treaty Organization – SEATO), และองค์การรัฐอเมริกัน (Organization of American States – OAS) ภายใต้กระบวนการนี้ สหรัฐฯจะคอยแจกจ่ายกระจายความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจไปยังชาติต่างๆ ทั้งใหม่และเก่า ขณะเดียวกัน เนื่องจากได้รับความคุ้มครองป้องกันจากฐานะความเป็นเจ้าระดับโลกดังกล่าวนี้ อีกทั้งได้รับความช่วยเหลือจากข้อตกลงการค้าพหุภาคีฉบับต่างๆ ซึ่งกำหนดรายละเอียดและตัดสินใจกันในกรุงวอชิงตัน พวกบรรษัทนานาชาติของอเมริกาจึงสามารถลงแข่งขันอย่างทำกำไรได้งามๆ ในตลาดระหว่างประเทศทั้งหลายตลอดทั้งช่วงระยะเวลาแห่งสงครามเย็น

อีกมิติหนึ่งซึ่งสหรัฐฯเพิ่มเติมให้แก่ความเป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่ระดับโลกของตน ได้แก่ เครื่องมือกลไกระดับที่ 4 ที่เป็นการปฏิบัติการแบบปิดลับซ่อนเร้น ในระดับนี้มีทั้งการปฏิบัติการเพื่อสอดแนมทั่วโลกโดยสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ NSA) และการออกปฏิบัติการแบบปิดลับในตลอดทั่วทั้ง 5 ทวีปของสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) [8] ด้วยหนทางเช่นนี้ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอจนโดดเด่นเตะตาอีกทั้งแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางตลอดทั่วพิภพ วอชิงตันก็ได้ทำการชักใยบงการการเลือกตั้งในที่ต่างๆ [9] และกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการทำรัฐประหารยึดอำนาจในประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาว่าไม่ว่าใครก็ตามขึ้นมาเป็นผู้นำพาประเทศซึ่งสังกัดอยู่กับฝ่ายสหรัฐฯของม่านเหล็ก (Iron Curtain) ในช่วงสงครามเย็น ใครคนนั้นก็จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำผู้ยินยอมเป็นบริวารอย่างเชื่อถือได้ มีความเป็นมิตรและคอยรับใช้สหรัฐฯ

ด้วยหนทางวิธีการต่างๆ ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้แทบไม่มีผู้สังเกตการณ์คนใดมีความเข้าอกเข้าใจด้วยความซาบซึ้งอย่างเต็มที่เสียแล้ว กลไกอันใหญ่โตมโหฬารแห่งความเป็นมหาอำนาจระดับโลกดังกล่าวนี้ ยังตั้งอยู่บนรากฐานทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีความแข็งแกร่งแน่นหนาอย่างเป็นพิเศษ[10] ดังที่ จอห์น ดาร์วิน (John Darwin) นักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อธิบายเอาไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์อันมีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมจักรวรรดิต่างๆ ในมหาทวีปยูเรเชียตลอดระยะเวลา 600 ปีที่ผ่านมาของเขา ทั้งนี้เขาบอกว่า วอชิงตันประสบความสำเร็จสามารถบรรลุความเป็น “จักรวรรดิอันยิ่งใหญ่มหึมา … ในขนาดขอบเขตซึ่งไม่เคยมีปรากฏให้เห็นกันมาก่อน” ด้วยการกลายเป็นมหาอำนาจรายแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถเข้าควบคุมจุดแกนหลักอันทรงสำคัญทางยุทธศาสตร์ทั้งหลาย “ในทั้งสองปลายของมหาทวีปยูเรเชีย” ทั้งด้วยการจัดตั้งเป็นฐานทัพทางทหารของตนขึ้นมา และด้วยการเข้าไปทำสนธิสัญญาเพื่อความมั่นคงร่วมกัน [11]

ขณะที่วอชิงตันพิทักษ์ปกป้องจุดแกนหลักทางยุทธศาสตร์ทางด้านยุโรปของตนโดยอาศัยองค์การนาโต้ สำหรับที่มั่นของอเมริกันในด้านตะวันออกนั้น ก็มีการสร้างความมั่นคงด้วยสนธิสัญญาเพื่อการป้องกันร่วมกัน 4 ฉบับซึ่งไล่เรียงครอบคลุมพวกรัฐชายฝั่งแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ผ่านฟิลิปปินส์ไปจนถึงออสเตรเลีย แล้วทั้งหมดเหล่านี้ยังผูกพันเข้าด้วยกันด้วยวงรัศมีแห่งอาวุธยุทโธปกรณ์อันน่าครั่นคร้าม ซึ่งรายล้อมรอบมหาทวีปยูเรเชียอันกว้างใหญ่ --โดยมีทั้งฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์, ขีปนาวุธนำวิถี, และกองนาวีอันใหญ่โตมหึมาทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, อ่าวเปอร์เชีย, และมหาสมุทรแปซิฟิก กลไกนี้ยังกำลังได้รับส่วนเสริมเพิ่มเติมเข้ามาล่าสุด นั่นก็คือ สหรัฐฯได้จัดสร้างฐานสำหรับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ชุดใหญ่จำนวนถึง 60 แห่งรอบๆ ผืนแผ่นดินยูเรเชียจากซิซีลีไปจนถึงเกาะกวมทีเดียว [12]

พลวัตแห่งความเสื่อมโทรมตกต่ำ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประมาณ 1 ทศวรรษก่อนหน้าที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเดินเข้าสู่ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) ของทำเนียบขาวแล้ว ได้ปรากฏสัญญาณหลายๆ ประการที่บ่งชี้ว่า เมื่อมองกันในระยะยาว กลไกอันน่าเกรงขามดังกล่าวนี้กำลังอยู่ในเส้นทางโคจรแห่งความทรุดโทรมตกต่ำ ถึงแม้ตัวบุคคลสำคัญๆ ที่ห่มคลุมด้วยความอหังการ์แบบจักรวรรดิใหญ่ของวอชิงตันยังคงเลือกที่จะเพิกเฉยละเลยความเป็นจริงนี้ก็ตามที สำหรับความงุ่มง่ามไม่ชำนาญงานทางการทูตของประธานาธิบดีคนใหม่อย่างโดนัลด์ทรัมป์ มันไม่เพียงแต่จะเร่งรัดแนวโน้มเช่นนี้เท่านั้น แต่ยังไฮไลต์ทำให้ความเสื่อมทรามนี้ยิ่งเปล่งประกายโดดเด่นเห็นถนัดชัดตาในหลายๆ ด้านด้วยซ้ำ

ตัวอย่างเช่น ตลอดระยะเวลาครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ส่วนแบ่งของอเมริกันในเศรษฐกิจโลกได้ลดต่ำลงจาก 40% ในปี 1960 เหลือ 22% ในปี 2014 แล้วยังหล่นวูบต่อมาจนอยู่ในระดับแค่ปริ่มๆ 15% ในปี 2017 [13] (ทั้งนี้เมื่อคิดคำนวณจากดัชนีค่าเสมอภาคด้านอำนาจซื้อ หรือ index of purchasing power parity ซึ่งเป็นมาตรวัดที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า [14]) เวลานี้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากยังเห็นพ้องกันแล้วว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและก้าวขึ้นเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลกภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษ [15]

ในขณะที่ฐานะการครอบงำเศรษฐกิจทั่วโลกของอเมริกากำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ เช่นนี้ พวกเครื่องมือแห่งอำนาจในทางลับๆ ของวอชิงตันก็อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัดเจนด้วยเช่นกัน ความสามารถของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (NSA) ในการเที่ยวสอดแนมไปทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประดาผู้นำต่างประเทศจำนวนมากมายจนน่าตื่นตะลึง หรือประชากรนับล้านๆ คนในประเทศของพวกเขา ครั้งหนึ่งเคยถือเป็นเครื่องมือที่แสนคุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับการสำแดงให้เห็นถึงความเป็นมหาอำนาจระดับโลกของอเมริกา แต่มาถึงตอนนี้ ส่วนหนึ่งเราคงต้องขอบคุณเอดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) ที่เปิดโปงให้ทราบเกี่ยวกับการแอบสอดรู้สอดเห็นของหน่วยงานนี้ และทำให้พวกชาติพันธมิตรที่ตกเป็นเป้าหมายอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวพากันโกรธกริ้ว ดังนั้น ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางการเมืองของเรื่องนี้ก็ได้เพิ่มพุ่งพรวดสูงลิ่ว ในทำนองเดียวกัน ระหว่างช่วงสงครามเย็น ซีไอเอได้เคยบงการชักใยผลการเลือกตั้งสำคัญๆ หลายสิบครั้งตามที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่มาถึงตอนนี้สถานการณ์กลับพลิกผันเป็นตรงกันข้าม โดยที่รัสเซียต่างหากกำลังใช้สมรรถนะทางสงครามไซเบอร์อันประณีตซับซ้อนของตนเข้าแทรกแซงก้าวก่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2016 –นี่ย่อมเป็นสัญญาณที่ชัดเจนมากอีกประการหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกว่าอำนาจในระดับโลกของวอชิงตันกำลังจืดจางหดหายลงเรื่อยๆ

เรื่องที่น่าตื่นตระหนกที่สุดยิ่งกว่าอะไรอื่นก็คือ เวลานี้ถือเป็นครั้งแรกทีเดียวที่วอชิงตันต้องเผชิญหน้าการท้าทายอย่างชนิดที่จะไม่มีการจางคลายสูญสลายไปได้ง่ายๆ ต่อฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯในยูเรเชีย ทั้งนี้จากการที่จีนกำลังเริ่มต้นการก่อสร้าง “เส้นทางสายไหมใหม่” [16] ซึ่งเป็นแผนการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าระดับล้านล้านดอลลาร์ ที่ประกอบไปด้วยเส้นทางรางไฟและสายท่อส่งน้ำมันต่างๆ แผ่คลุมไปทั่วมหาทวีปอันกว้างใหญ่นี้ รวมทั้งยังกำลังเตรียมการสร้างฐานทัพเรือแห่งต่างๆ ในทะเลอาหรับและทะเลจีนใต้ นี่ก็คือการที่ปักกิ่งกำลังเพิ่มทวีการรณรงค์อันยืดเยื้อยาวนาน เพื่อบั่นทอนฐานะครอบงำเหนือยูเรเชียของวอชิงตันซึ่งดำรงคงอยู่มานมนานแล้ว

ป้อมปราการแห่งสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้เข้าดำรงตำแหน่งมาได้เพียง 12 เดือน แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เร่งรัดความเสื่อมโทรมตกต่ำนี้ ด้วยการทำลายองค์ประกอบสำคัญๆ แทบทุกอย่างในสถาปัตยกรรมอันประณีตซับซ้อนแห่งอำนาจระดับโลกของอเมริกา

ถ้าหากจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ทุกๆ จักรวรรดิจำเป็นที่จะต้องมีคณะผู้นำซึ่งมีความชำนิชำนาญเชี่ยวชาญอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของมัน เพื่อคอยธำรงรักษาความสมดุลของโลกที่มักบอบบางเสียหายง่ายอยู่บ่อยๆ แล้ว เราก็ต้องบอกว่าคณะบริหารทรัมป์ประสบความล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างเห็นถนัดเตะตา ในขณะที่กระทรวงการต่างประเทศถูกชำแหละอย่างไม่มีชิ้นดี [17] และตัวเจ้ากระทรวง เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ก็ถูกทำลายเครดิตความน่าเชื่อถือ ทรัมป์จึงกลายเป็นผู้ที่เข้าควบคุมนโยบายการต่างประเทศเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว (ซึ่งเป็นเรื่องพิเศษมากสำหรับประธานาธิบดีอเมริกัน ถึงแม้ควรต้องระบุด้วยว่า ทรัมป์ยังมีเหล่านายพลที่เขาแต่งตั้งให้รับตำแหน่งสำคัญๆ ของฝ่ายพลเรือน คอยเป็นลูกขุนพลอยพยักอยู่ด้วย)

แล้วพวกผู้คนซึ่งติดต่ออยู่ใกล้ชิดเขาในช่วงระยะเวลานี้ มีการประเมินความสามารถทางสติปัญญาของเขากันอย่างไร สอดคล้องกับการที่ต้องเข้ารับบทบาทอันน่าครั่นคร้ามเช่นนี้หรือไม่?

แม้ว่าตั้งแต่ตอนรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแล้ว ทรัมป์ชอบคุยโตโอ้อวดซ้ำแล้วซ้ำอีกเกี่ยวกับการศึกษาอันเลอเลิศที่เขาได้รับจากวิทยาลัยบริหารธุรกิจวอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania’s Wharton School) และบอกว่านี่แหละคือคุณสมบัติประการหนึ่งที่ทำให้เขาพรักพร้อมที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดี แต่ในทางเป็นจริงแล้ว เขาเริ่มต้นศึกษาที่สถาบันแห่งนั้นในช่วงปลายทศวรรษ 1960 ด้วยความคิดที่ว่าเขารอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จนกระทั่งทำให้ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาการตลาดให้แก่เขา ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การสอนมาเป็นเวลามากกว่า 30 ปี ถึงขนาดตราหน้าเขาว่าเป็น “นักศึกษาที่โคตรโง่ทึ่มที่สุดที่ผมเคยสอนมา” (“the dumbest goddam student I ever had.”) [18] คุณสมบัติความอวดเก่งไม่ปรารถนาที่จะเรียนรู้อะไรต่อไปอีกเช่นนี้ ยังคงติดตัวทรัมป์ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีของเขาด้วย อย่างที่ แซม นันเบิร์ก (Sam Nunberg) ที่ปรึกษาทางการเมืองผู้ซึ่งถูกส่งไปเป็นติวเตอร์ให้แก่แคนดิเดตผู้นี้ในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ได้บอกเล่าเอาไว้ว่า “ผมไปได้ไกลที่สุดเพียงแค่ถึงบทแก้ไขที่ 4 (Fourth Amendment) ก่อนที่ … เขาจะตาปรือทำท่ากำลังจะผล็อยหลับ” [19]

หรือตามที่ ไมเคิล วูล์ฟฟ์ (Michael Wolff) นำเอามาเขียนเล่าไว้อีกไม่กี่เดือนต่อมา ในหนังสือเรื่อง “Fire and Fury”หนังสือเล่มใหม่ขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ของเขาที่มีเนื้อหาว่าด้วยทำเนียบขาวในยุคของทรัมป์ [20]ทั้งนี้วูล์ฟฟ์เขียนเอาไว้ว่า เมื่อตอนที่เจ้าพ่อสื่อ รูเพิร์ต เมอร์ด็อค (Rupert Murdoch) ยุติการสนทนาทางโทรศัพท์กับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ในเรื่องเกี่ยวกับความยุ่งยากซับซ้อนของโครงการออกวีซาประเภท เอช-1 บี สำหรับพวกผู้อพยพที่เป็นคนมีทักษะนั้น เมอร์ด็อควางหู และพูดว่า “ทำไมถึงโง่ฉิบ ...เลย” (What a f...ing idiot) [21]

และตอนเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว คงจะยังไม่มีใครลืมว่า หลังจากเพนตากอนจัดการบรรยายสรุประดับลับสุดยอดให้พวกบุคคลสำคัญๆ ของทำเนียบขาวฟัง ในเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารต่างๆ ทั่วโลกแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศทิลเลอร์สันก็ได้แสดงทัศนะทำนองเดียวกับเมอร์ด็อค ด้วยการพูดเป็นการส่วนตัวกับคนอื่น ตราหน้าประธานาธิบดีทรัมป์ว่า “ปัญญาอ่อนฉิบ...” ( f...ing moron) [22]

ยังมีผู้ช่วยในทำเนียบขาวอีกผู้หนึ่งเขียนเอาไว้ในอีเมลฉบับหนึ่งว่า “มันเป็นเรื่องย่ำแย่ยิ่งกว่าที่คุณจินตนาการได้เสียด้วยซ้ำ คนงี่เง่าคนหนึ่งแวดล้อมด้วยพวกตัวตลกเซ่อซ่า” [23] ทั้งนี้ตามที่วูล์ฟฟ์เขียนเอาไว้ในหนังสือของเขา “ทรัมป์ไม่ยอมอ่านอะไรทั้งนั้น ไม่อ่านแม้กระทั่งบันทึกที่ยาวเพียงหน้าเดียว ไม่อ่านพวกเอกสารสรุปนโยบาย ไม่อ่านอะไรเลย เขาจะลุกขึ้นมาจากเก้าอี้ขณะประชุมหารือไปได้ครึ่งๆ กลางๆ กับผู้นำโลกหลายต่อหลายคนเพราะว่าเขารู้สึกเบื่อ” เคตี้ วอลช์ (Katie Walsh) รองประธานเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเคยบอกว่า การรับมือกับประธานาธิบดีผู้นี้ “ก็เหมือนกับการพยายามหาออกมาให้ได้ว่าเด็กคนหนึ่งกำลังต้องการอะไร” [24]

คุณภาพของความคิดจิตใจเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนและอย่างอุดมสมบูรณ์ด้วย ในเอกสาร “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ” (National Security Strategy) ที่คณะบริหารทรัมป์นำออกมาเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ มันช่างเป็นเอกสารกลวงเปล่าไร้สาระที่พูดแกว่งไปแกว่งมาระหว่างการชักนำให้ไปในทางผิดๆ กับความหลงผิด “เมื่อตอนที่ผมเข้ารับตำแหน่ง” ทรัมป์ (หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่งซึ่งกำลังแสดงตัวว่าเป็นทรัมป์) เขียนเอาไว้อย่างมืดมนในคำนำของเขาสำหรับเอกสารฉบับนี้ “ระบอบปกครองอันธพาลต่างๆ กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ … เพื่อใช้ข่มขู่คุกคามทั่วทั้งพิภพ พวกกลุ่มก่อการร้ายอิสลามิสต์หัวรุนแรงกำลังขยายตัว … พวกมหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์กำลังบ่อนทำลายผลประโยชน์ต่างๆ ของอเมริกันในตลอดทั่วโลกอย่างก้าวร้าว … สภาพที่เราต้องแบกรับการแบ่งปันภาระอย่างไม่เป็นธรรมกับพวกพันธมิตรของเรา และการลงทุนไม่เพียงพอในด้านกลาโหมของเราเอง ได้ทำให้เกิดอันตรายขึ้นมา” [25]

อย่างไรก็ตาม คำนำ “ของเขา” ชี้ว่า ภายในเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 12 เดือน ประธานาธิบดีผู้นี้เพียงลำพังคนเดียวก็ได้รักษาประเทศชาติให้รอดพ้นจากสภาพที่แทบจะแน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องถูกทำลายย่อยยับ “เรากำลังระดมรวบรวมกำลังทั่วโลกเข้าคัดค้านระบอบปกครองอันธพาลในเกาหลีเหนือ และ … ระบอบเผด็จการในอิหร่าน ซึ่งพวกที่มุ่งมั่นตั้งใจแต่จะพยายามทำข้อตกลงนิวเคลียร์ที่เต็มไปด้วยความผิดพลาด ได้ละเลยเพิกเฉย” คำนำดังกล่าวสาธยายต่อไปในแบบฉบับแห่งการยกย่องสรรเสริญตนเองของชาวทรัมป์ “เราได้สร้างมิตรภาพของเราขึ้นมาใหม่ในตะวันออกกลาง … เพื่อช่วยในการขับไล่ไสส่งพวกผู้ก่อการร้ายและพวกสุดโต่ง … เหล่าพันธมิตรของอเมริกาเวลานี้กำลังร่วมส่วนมีคุณูปการเพิ่มมากขึ้นในเรื่องการป้องกันร่วมกันของพวกเรา, กำลังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ความเป็นพันธมิตรของเรา แม้กระทั่งความเป็นพันธมิตรที่แข็งแรงที่สุดอยู่แล้ว … เรากำลังทำการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ในด้านการทหารของสหรัฐฯ”

แทบจะทุกๆ ข้อความในเอกสารฉบับนี้ทีเดียว ต้องมีปัญหาเรื่องความไม่ถูกต้อง หรือไม่สมบูรณ์ หรือไม่สอดคล้องสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการที่คณะบริหารของทรัมป์มีความยากลำบากอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งในเรื่องการรับมือกับความจริง และถ้าหากเรามองเมินหยุดพักรายละเอียดเช่นนี้เอาไว้ก่อน ตัวเอกสารฉบับนี้ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางที่ประธานาธิบดีผู้นี้ (และพวกนายพลของเขา) เพิกเฉยละเลยช่วงเวลาหลายทศวรรษแห่งความเป็นผู้นำประชาคมระหว่างประเทศอย่างมั่นอกมั่นใจของอเมริกา และในตอนนี้กำลังพยายามที่จะล่าถอยหลบฉากออกจาก “โลกที่มีอันตรายอย่างมากมายเป็นพิเศษ” เพื่อเข้าสู่ “ป้อมปราการแห่งอเมริกา” (หมายเหตุผู้แปล: ตรงนี้ผู้เขียน- อัลเฟรด แมคคอย- ตั้งใจใช้คำภาษาเยอรมันว่า Festung America ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ Fortress America) ที่แสนจะจริงแท้แน่นอน เป็นป้อมปราการแห่งอเมริกาที่อยู่ข้างหลังของกำแพงคอนกรีตและกำแพงภาษี --ซึ่งเมื่อพิจารณาในทางแนวความคิดแล้ว มันมีบางแง่มุมอันแปลกประหลาดชวนขนลุกที่ทำให้คิดย้อนไปถึง กำแพงแอตแลนติก (Atlantic Wall) อันประกอบด้วยพวกหลุมบังเกอร์หน้าชายหาดที่จักรวรรดิไรช์ที่ 3 (Third Reich) ก่อสร้างขึ้นมาสำหรับเป็น Festung Europa (Fortress Europe ป้อมปราการแห่งยุโรป) ของพวกเขา ซึ่งในที่สุดแล้วก็ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า แต่นอกเหนือจากวาระทางนโยบายการต่างประเทศแบบใจแคบสายตาสั้นอย่างชัดเจนดังกล่าวนี้แล้ว เอกสารยุทธศาสตร์ของทรัมป์นี้ยังมองข้ามเรื่องต่างๆ อีกมากมาย ที่ยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับการธำรงรักษาอำนาจระดับโลกของอเมริกาเอาไว้ให้ได้โดยองค์รวม

ทั้งหมดที่คุณต้องทำก็มีเพียงแค่จดพาดหัวข่าวของสื่อรายวันตลอดทั้งปีที่ผ่านมา คุณก็จะสามารถมองเห็นได้อย่างถนัดถนี่ว่าฐานะการเป็นผู้ครองงำโลกของวอชิงตันกำลังพังครืนลงมาแล้ว ทั้งนี้ต้องขอบคุณความเพลี่ยงพล้ำปราชัยต่างๆ อันส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยาวไกล ซึ่งเป็นสิ่งที่มักจะปรากฏตัวพร้อมๆ กับการเสื่อมโทรมตกต่ำของจักรวรรดิ ขอให้เราลองดูพาดหัวข่าวของนิวยอร์ไทมส์ ในช่วง 7 วันแรกของเดือนธันวาคมที่ผ่านมาก็ได้ โดยที่ไม่ต้องพยายามนำเอาข่าวเหล่านี้มาต่อเชื่อมกันเลย แต่เราก็จะพบเห็นรายงานว่าด้วยการที่ประเทศแล้วประเทศเล่ากำลังถอยออกห่างจากวอชิงตัน อันดับแรกเลยคืออียิปต์ ประเทศซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯคิดเป็นมูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์ในรอบระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา แต่เวลานี้กำลังเปิดฐานทัพทางทหารของตนต้อนรับพวกเครื่องบินขับไล่ของรัสเซีย [26] ทั้งๆ ที่ในช่วงของประธานาธิบดีโอบามานั้นมีความพากเพียงพยายามที่จะเกี้ยวพาราสีประเทศนี้เป็นอย่างมาก ทางด้านพม่าก็มีหลักฐานชัดเจนว่ากำลังเคลื่อนขยับเข้าไปใกล้ชิดปักกิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ [27] ในเวลาเดียวกัน ออสเตรเลีย ผู้เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของอเมริกาในตลอด 100 ปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า แม้จะด้วยความลังเลใจเต็มที แต่แดนจิงโจ้ก็กำลังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเดินเกมทางการทูตของตน ทั้งนี้เพื่อรองรับฐานะอำนาจของจีนที่กำลังมีอิทธิพลครอบงำเพิ่มมากขึ้นทุกทีในเอเชีย [28] และสุดท้าย มีข่าวว่ารัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี ซึ่งเป็นป้อมประตูหอรบของอเมริกันในยุโรปมาตั้งแต่ปี 1945 กำลังชี้ให้เห็นอย่างเปิดเผยถึงการที่แดนดอยช์มีความแตกต่างมากขึ้นทุกทีกับวอชิงตันในประเด็นปัญหาทางนโยบายสำคัญๆ [29] พร้อมกับยืนยันด้วยว่าการปะทะกันระหว่างสองฝ่ายคงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง “จะไม่มีวันเหมือนเดิม” [30]

นี่เป็นเพียงแค่การสะกิดสะเกาผิวหน้าของข่าวที่เกิดขึ้นในเวลา 1 สัปดาห์ โดยที่ยังไม่ทันได้แตะต้องรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นกับพวกชาติพันธมิตรอยู่เป็นประจำ สืบเนื่องจากการจุดชนวนหรือการตอกย้ำจากการทวิตรายวันของประธานาธิบดีทรัมป์ เราอาจจะลองหยิบยกตัวอย่างสัก 3 ตัวอย่างจากทวิตเตอร์สร้างปัญหาของประธานาธิบดีผู้นี้ที่มีอยู่มากมายเหลือเกิน มันก็คงเพียงพอที่จะทำให้เห็นภาพได้แล้วกระมัง: 1. ประธานาธิบดีเปญา เนียโต ของเม็กซิโก ได้บอกเลิกการเดินทางเยือนสหรัฐฯแบบจัดเต็มรัฐพิธี หลังจากทรัมป์ทวิตว่า เม็กซิโกต้องออกเงินสำหรับ “กำแพงอันใหญ่โต อวบอ้วน สวยงาม” ตรงบริเวณพรมแดนระหว่างประเทศทั้งสอง [31] 2. การแสดงความโกรธเกรี้ยวจากพวกผู้นำของสหราชอาณาจักร โดยมีชนวนเหตุมาจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์รีทวิตคลิปวิดีโอต่อต้านมุสลิมของพวกเหยียดเชื้อชาติ ซึ่งโพสต์อยู่บนบัญชีทวิตเตอร์ของรองหัวหน้ากลุ่มการเมืองนาซีใหม่กลุ่มหนึ่งในประเทศนั้น [32] แล้วยังตามมาด้วยการที่เขาด่าว่านายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของสหราชอาณาจักรซึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์เขาในเรื่องการรีทวิตนี้ [33] 3.การที่เขาทวิตกล่าวหาปากีสถานเมื่อวันขึ้นปีใหม่ โดยระบุว่าประเทศนั้น “ไม่มีอะไรอย่างอื่นนอกจากการโกหกและหลอกลวง” เพื่อใช้เป็นอารัมภบทสำหรับการตัดความช่วยเหลือที่สหรัฐฯให้แก่ปากีสถาน [34] เมื่อพิจารณาจากความเสียทางทางการทูตทั้งหลายทั้งปวงแล้ว คุณย่อมสามารถพูดได้ว่า ทรัมป์กำลังทวิตขณะที่กรุงโรมถูกเผาผลาญอยู่ในกองเพลิง (หมายเหตุผู้แปล: ผู้เขียน –อัลเฟรด แมคคอย ดัดแปลงคำพังเพยที่พูดกันว่า จักรพรรดิเนโรสีไวโอลิน ขณะที่เผากรุงโรม)

เนื่องจากมีประเทศเพียงแค่ 40 ถึง 50 ประเทศเท่านั้นซึ่งมีความมั่งคั่งร่ำรวยเพียงพอที่จะแสดงบทบาทในระดับภูมิภาคได้ และยิ่งน้อยกว่านั้นมากเมื่อพูดถึงการแสดงบทบาทในระดับโลก ดังนั้นการสร้างความแปลกแยกให้แก่พันธมิตรหรือกระทั่งการสูญเสียพันธมิตรด้วยอัตราดังกล่าวนี้ ในไม่ช้าไม่นานหรอกวอชิงตันก็จะตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีเพื่อนมิตรเอาเสียเลย –อันที่จริงแล้วนี่คือสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์ค้นพบเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตอนที่เขาท้าทายมติต่างๆ จำนวนมากของสหประชาชาติ ด้วยการประกาศรับรองให้นครเยรูซาเลม เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ไม่ช้าไม่นานต่อมาก็ปรากฏว่าทำเนียบขาวถูกตำหนิติเตียนในเรื่องนี้จากคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งลงมติกันด้วยคะแนนเสียง 14 ต่อ 1 โดยที่กระทั่งพวกพันธมิตรใกล้ชิดอย่างเยอรมนีและฝรั่งเศสยังโหวตคัดค้านวอชิงตัน เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจาก นิกกี้ เฮลีย์ (Nikki Haley) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็น ออกมากล่าวเตือนอย่างเป็นลางร้ายว่า “สหรัฐฯจะจดชื่อเอาไว้” เพื่อลงโทษประเทศต่างๆ ที่กล้าออกเสียงคัดค้านตน อีกทั้งทรัมป์ยังได้ออกมาข่มขู่จะตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่ประเทศพวกนี้ด้วย [35] แล้วสมัชชาใหญ่สหประชาชาติก็เลยจัดการโหวตกันอย่างรวดเร็วด้วยคะแนน 128 ต่อ 9 (งดออกเสียง 35) ประณามการรับรองของสหรัฐฯ [36] –ถือเป็นหลักฐานยืนยันอย่างคมคายชัดเจนว่า อิทธิพลในระดับระหว่างประเทศของวอชิงตันกำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอย

ต่อไป ขอให้เราลองมาพิจารณาถึง “การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์” ในเสาหลักเสาหนึ่งในสถาปัตยกรรมแห่งอำนาจระดับโลกของอเมริกัน ซึ่งก็คือ การทหารของสหรัฐฯ ดังที่มีการอ้างอิงเอาไว้ในเอกสารยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ แต่ทั้งนี้ขออย่าได้ถูกหันเหความสนใจจากข้อเสนอเพิ่มงบประมาณให้แก่เพนตากอนสูงขึ้นถึง 10% เพื่อนำไปเป็นเงินทุนซื้อหาพวกเครื่องบินและเรือรบใหม่ๆ [37] เลยนะครับ เงินทองเหล่านั้นจำนวนมากทีเดียวจะตรงเข้าไปในกระเป๋าของพวกบริษัทผู้รับเหมาด้านกลาโหมรายยักษ์ๆ นั่นแหละ [38] ตรงกันข้ามขอให้มาโฟกัสกันในสิ่งที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงจะถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นมาได้ในวอชิงตัน นั่นก็คือร่างงบประมาณตามที่ทรัมป์เสนอนั้น จะตัดรายการให้เงินทุนสนับสนุนแก่การวิจัยพื้นฐานในเรื่องที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ อย่างเช่น “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial intelligence) ซึ่งน่าที่จะกลายเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดสำหรับระบบอาวุธอัตโนมัติภายใน 1 ทศวรรษนี้ [39]

ในความเป็นจริงแล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์และทีมงานของเขา ซึ่งถูกหันเหความสนใจด้วยวิสัยทัศน์ในเรื่องพวกเรือที่ส่องแสงแวววับและเครื่องบินที่เปล่งประกายสุกใส (ถึงแม้น่าจะสามารถทำนายอนาคตของโครงการอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านี้ได้ล่วงหน้าว่าจะต้องสะดุดติดขัดด้วยปัญหาค่าใช้จ่ายบานปลาย) และพร้อมที่จะโยนทิ้งสิ่งที่เป็นพื้นฐานอย่างแท้จริงของการที่สหรัฐฯสามารถรักษาฐานะครอบงำโลกเอาไว้ได้ อันได้แก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่ยอมหยุดยั้ง นี่แหละเป็นจุดที่ทำให้ความยิ่งใหญ่ทางการทหารของสหรัฐฯมีความเหนือล้ำกว่าคนอื่นใดมาช้านานแล้ว นอกจากนั้นจากการมุ่งขยายแต่กระทรวงกลาโหม ขณะเดียวกันที่มุ่งตัดทอนกระทรวงการต่างประเทศ ทรัมป์จึงยังกำลังสั่นคลอนเสถียรภาพของทวิลักษณ์ในอำนาจของสหรัฐฯ ด้วยการเบี่ยงเบนนโยบายการต่างประเทศให้ยิ่งเอนเอียงไปในทางการแก้ปัญหาด้วยการทหารที่มีราคาแพง (และก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่เป็นหนทางแก้ไขที่แท้จริง)

ไม่เพียงเท่านั้น ตั้งแต่เริ่มต้นเส้นทางการรณรงค์หาเสียงในปี 2016 ทรัมป์ยังได้ทุบทำลายเสาหลักอีกเสาหนึ่งแห่งอำนาจของอเมริกัน ด้วยการโจมตีระบบพาณิชยการของโลก และข้อตกลงการค้าพหุภาคี ซึ่งเป็นตัวสร้างความได้เปรียบให้แก่พวกบริษัทข้ามชาติของอเมริกามาช้านานแล้ว ไม่เพียงเขายกเลิกข้อตกลง “หุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ความหวังว่าจะสามารถตัดลดการค้าโลกถึง 40% ออกจากจีน และหันมายังสหรัฐฯแทนที่ [40] มิหนำซ้ำทรัมป์ยังข่มขู่ที่จะประกาศให้ข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งทำกับเกาหลีใต้เป็นโมฆะ [41] รวมทั้งยังยืนกรานเหลือเกินที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) เพื่อให้สนองตอบวาระ “อเมริกาเป็นอันดับแรก” (America first) ของเขา [42] ถึงแม้มองเห็นกันอยู่ว่าการเจรจาต่อรองที่ยังคงดำเนินอยู่ในเวลานี้นั้น น่าที่จะประสบความล้มเหลว

ฐานะทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐฯกำลังแตกหักเป็นเสี่ยง

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถึงแม้เป็นเรื่องจริงจังร้ายแรง แต่สมควรที่จะต้องบันทึกเอาไว้ว่า ทรัมป์ได้เผยให้เห็นว่าเขาสามารถสร้างความเสียหายให้แก่รากฐานทางภูมิรัฐศาสตร์แห่งอำนาจในระดับโลกของประเทศชาติได้อย่างล้ำลึกที่สุดถึงขนาดไหน ก็คือในชั่วขณะอันสำคัญยิ่ง 2 ชั่วขณะระหว่างเที่ยวการเดินทางเยือนยุโรปและเที่ยวการเดินทางสู่เอเชียของเขาเมื่อปีที่แล้ว ในทั้งสองแห่ง ทรัมป์ได้ส่งสัญญาณให้เห็นถึงความปรารถนาของเขาที่จะเข้าทุบทำลายบรรดาที่มั่นของวอชิงตัน ณ ทั้งสองปลายแห่งแกนทางยุทธศาสตร์ตรงมหาทวีปยูเรเชีย

ระหว่างไปเยือนอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ขององค์การนาโต้ ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในเดือนพฤษภาคม 2017 เขาได้กล่าวตำหนิวิจารณ์บรรดาชาติพันธมิตรในยุโรป (โดยที่มีรายงานว่าพวกผู้นำของประเทศเหล่านี้ต่างรับฟังด้วยสีหน้าท่าทางเย็นชา) ว่าพวกเขาบกพร่องล้มเหลวไม่ได้เข้าช่วยแบกรับส่วนแบ่งภาระค่าใช้จ่ายทางการทหารของกลุ่มพันธมิตรนี้อย่างยุติธรรม มิหนำซ้ำในขณะที่เขาอยู่ที่สำนักงานใหญ่แห่งนี้ เขายังปฏิเสธไม่ยอมกล่าวย้ำยืนยันถึงหลักการที่ถือเป็นแกนกลางของนาโต้ ซึ่งก็คือการป้องกันร่วมกัน[43] ถึงแม้ในเวลาต่อมาได้มีความพยายามหลายๆ ประการเพื่อเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นคราวนี้ ซึ่งได้ก่อให้เกิดความสะดุ้งหวาดกลัวแผ่ไปทั่วทั้งยุโรป และก็เป็นการหวั่นผวาที่สมควรแก่เหตุด้วย เนื่องจากนี่คือการส่งสัญญาณแสดงถึงการสิ้นสุดของระยะเวลามากกว่า 75 ปีแห่งฐานะความทรงอำนาจสูงสุดที่ไม่มีใครกล้าท้าทาย ฐานะความทรงอำนาจสูงสุดที่ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามใดๆ ของอเมริกันในยุโรป

จากนั้น ระหว่างเข้าร่วมการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ในเวียดนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ปล่อยลูกบอมบ์แห่ง “การปราศรัยอันยาวเหยียดและเผ็ดร้อน” (tirade) ที่มีเนื้อหาต่อต้านข้อตกลงการค้าพหุภาคี และยืนยันว่าเขาจะต้องยึดมั่นมุ่งคำนึงเรื่อง “อเมริกามาเป็นอันดับแรก” เสมอไป [44] การพูดเช่นนี้ในเอเชียซึ่งจีนกำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มันก็เหมือนกับเขากำลังประกาศอีกครั้งหนึ่งว่า ฐานะแห่งความทรงอำนาจสูงสุดของวอชิงตันนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลายเป็นโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว และช่างเหมาะเหม็งเหลือเกินที่ว่า ณ การประชุมครั้งเดียวกันนี้แหละ อีก 11 ชาติที่ยังเหลืออยู่ของข้อตกลงหุ้นส่วนภูมิภาคแปซิฟิก (TPP) นำโดย ญี่ปุ่น และ แคนาดา ได้ประกาศว่าสามารถสร้างความคืบหน้าครั้งใหญ่ในการบรรลุความตกลงสุดท้ายของ TPP ซึ่งทรัมป์ได้ปฏิเสธโยนทิ้งไปแล้ว –และแน่นอนทีเดียวว่าการทำความตกลงกันล่าสุดนี้ไม่ได้รวมเอาสหรัฐฯเข้าไว้ด้วย [45] “สหรัฐฯได้สูญเสียบทบาทความเป็นผู้นำของตนไปเสียแล้ว” นี่เป็นความเห็นของ ชยันต์ เมนอน (Jayant Menon) นักเศรษฐศาสตร์แห่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) โดยที่เขากล่าวต่อไปว่า “และจีนก็กำลังเข้าไปแทนที่อย่างรวดเร็ว” [46]

แท้ที่จริงแล้ว ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่วอชิงตันมีอยู่กับ 3 พันธมิตรสำคัญในแปซิฟิกกำลังทรุดโทรมลงเรื่อยๆ ในหลายๆ ทางที่มองเห็นได้ชัดเจน

ระหว่างการพูดคุยกันทางโทรศัพท์เพื่อแสดงมิตรไมตรีเนื่องในโอกาสที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ทรัมป์ได้แสดงการหยามหมิ่นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียอย่างไม่มีความจำเป็นอะไรเลย [47] มันกลับเป็นความประพฤติที่เพียงแต่ตอกย้ำทำให้ประเทศนั้นยิ่งเพิ่มความรู้สึกแปลกแยกต่อสหรัฐฯขึ้นอีก และมีความโน้มเอียงมากขึ้นที่จะแปรเปลี่ยนไปถือจีนเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของตน ทั้งนี้ในผลการสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อถูกถามว่าประเทศไหนที่พวกเขาเลือกที่จะให้เป็นพันธมิตรรายสำคัญที่สุด ปรากฏว่า 43%ของชาวออสเตรเลียทั้งหมดเลือกจีน [48] – การพลิกผันที่เมื่อก่อนคงไม่สามารถขบคิดจินตนาการกันขึ้นมาได้เช่นนี้ คือสิ่งที่การทูตในเวอร์ชั่นของทรัมป์ มีแต่กำลังทำให้บังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ

ในฟิลิปปินส์ การสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเดอร์เต ในเดือนมิถุนายน 2016 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันและรุนแรงขึ้นในนโยบายการต่างประเทศของแดนตากาล็อก โดยที่มะนิลายุติเลิกคัดค้านเรื่องที่ปักกิ่งก่อตั้งฐานที่มั่นต่างๆ ขึ้นมาในทะเลจีนใต้ ถึงแม้ว่าทรัมป์พยายามเกี้ยวพาราสีแบบรุกหนัก และในระหว่างเขากับดูเตอร์เตก็ดูมีความใกล้ชิดกันในทางอารมณ์ความรู้สึกระดับหนึ่ง แต่ดูเตอร์เตก็ยังคงเดินหน้าลดขนาดการซ้อมรบทางทหารร่วมกับสหรัฐฯที่ถือเป็นเหตุการณ์ประจำปีสำหรับประเทศของเขา [49] รวมทั้งปฏิเสธไม่ยอมกลับมาพิจารณาใหม่ในเรื่องที่เขาเอนเอียงไปทางข้างจีนอย่างเด็ดเดี่ยว การจัดแถวปรับแนวกันใหม่เช่นนี้ปรากฏให้เห็นเป็นหลักฐานในสำเนาถอดเสียงบทสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองเมื่อเดือนเมษายนซึ่งได้เกิดการรั่วไหลเผยแพร่ออกมา โดยที่ดูเตอร์เตยืนยันว่าหนทางแก้ไขประเด็นปัญหานิวเคลียร์เกาหลีเหนือนั้นควรต้องขึ้นอยู่กับจีนเท่านั้น [50]

ว่ากันที่จริงแล้ว ประเด็นปัญหาคาบสมุทรเกาหลีนี่แหละซึ่งทำให้ความจำกัดตีบตันของทรัมป์ในการแสดงบทบาทเป็นผู้นำระดับโลก ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด ทั้งนี้จากการที่ทรัมป์ริเริ่มกระทำเรื่อง 2 เรื่องอย่างคนที่ขาดไร้ข้อมูลความรู้ ซึ่งได้แก่ การป้ายร้ายสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้แก่ความเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ในยุคสงครามเกาหลี และการเรียกร้องเกาหลีเหนือปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้น เขาก็กำลังสนับสนุนพลวัตความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทางการทูต ซึ่งเปิดทางให้ปักกิ่ง, เปียงยาง, และแม้กระทั่งโซล สามารถแสดงชั้นเชิงอันพลิกแพลงเหนือกว่าวอชิงตัน

ระหว่างช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีและระยะเดือนแรกๆ ที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ทรัมป์ได้แสดงการดูหมิ่นเกาหลีใต้ครั้งแล้วครั้งเล่า [51] ทั้งด้วยการหยามเหยียดวัฒนธรรมของแดนโสม และเรียกร้องต้องการเงินทองระดับพันล้านดอลลาร์สำหรับการติดตั้งประจำการระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีใครควรรู้สึกประหลาดใจอะไรเลย เมื่อ มุน แจอิน กลายเป็นผู้ชนะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ในปีที่แล้ว เนื่องจากการเสนอหลักนโยบายที่จะกล้า “พูดว่าไม่” กับอเมริกา รวมทั้งให้คำมั่นสัญญาที่จะเปิดการเจรจาโดยตรงอีกครั้งกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จองอึน ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ระหว่างที่ประธานาธิบดีโสมขาวคนใหม่ผู้นี้เยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นรัฐพิธีเต็มยศเต็มขั้น (state visit) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มุนยังถูกโจมตีแบบไม่ทันระวังตั้งตัวจากทรัมป์อีกระลอกหนึ่ง เมื่อทรัมป์เรียกข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ว่า เป็นข้อตกลงซึ่ง “ไม่เป็นธรรมต่อคนงานชาวอเมริกัน” แถมเขายังแสดงความกราดเกรี้ยวต่อข้อเสนอของมุนที่จะเจรจากับฝ่ายเปียงยางอีกด้วย [52]

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง คิม จองอึนก็ได้กำกับอำนวยการการยิงทดสอบจรวดรวมแล้วถึง 16 ครั้งในปี 2017 ซึ่งส่งผลให้ประเทศของเขามีขีปนาวุธซึ่งทรงศักยภาพที่จะส่งอาวุธนิวเคลียร์ไปถึงโฮโนลูลู, ซีแอตเทิล (หรือแม้กระทั่งนิวยอร์ก และวอชิงตัน เมื่อการทดสอบยิงดำเนินมาถึงช่วงสิ้นปี 2017) [53] พร้อมๆ กันนั้น โสมแดงยังทำการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนลูกแรกของตน ด้วยความแน่อกแน่ใจว่าเกาหลีเหนือ “กำลังแสวงหาสมรรถนะที่จะเข่นฆ่าสังหารคนอเมริกันนับล้านๆ” [54] ทรัมป์ก็ถูกครอบงำด้วยความคิดที่จะต้องตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของเปียงยางให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตามที [55] แม้กระทั่งด้วยการออกมาข่มขู่ในเดือนสิงหาคมที่แล้วว่า จะทำให้เกาหลีเหนือเผชิญกับ “อัคคีและความโกรธเกรี้ยวอย่างที่โลกไม่เคยประสบพบเห็นมาก่อนเลย” [56]

อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาไม่กี่วันต่อมา สตีฟ แบนนอน (Steve Bannon) หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวในตอนนั้น ก็ออกมาเปิดโปงให้เห็นความกลวงเปล่าของการแผดเสียงคำรามทั้งหมดเหล่านี้ ด้วยการเล่าให้สื่อมวลชนฟังว่า “ไม่มีการใช้หนทางการทางทหารใดๆ หรอก จนกว่าจะมีใครสักคนแก้ไขส่วนหนึ่งของสมการนั้นให้ตกไปได้เสียก่อน ... นั่นคือ (ทำอย่างไร) ผู้คนหลายสิบล้านคนในกรุงโซลจะไม่ต้องตายในช่วงเวลา 30 นาทีแรกจากพวกอาวุธในสงครามตามแบบแผน” [57] ดังนั้น การข่มขู่เช่นนี้จึงเป็นอันล้มเหลวลง แต่ทรัมป์ยังคงเที่ยวอาละวาด ด้วยการทวิตคำผรุสวาทซ้ำๆ ซากๆ ว่า คิม จองอึน เป็น “มนุษย์จรวดจ้อย” (little Rocket Man) [58] และคุยโตว่า “ปุ่มนิวเคลียร์” ของตัวเขาเองนั้น “ใหญ่กว่าเยอะ” เมื่อเทียบกับของผู้นำเกาหลีเหนือ [59] ช่วงเวลา 12 เดือนแห่งการพลิกพลิ้วไปเรื่อยแบบเหนือคาดคิดและการทวิตโหมกระพือของท่านประธานาธิบดี ซึ่งแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในบันทึกรายงานการทูตยุคสมัยใหม่ ได้ผลักไสโซลให้เดินหน้าไปสู่การพูดจาโดยตรงกับเปียงยาง [60] – โดยงดเว้นไม่รวมเอาวอชิงตันเข้าไปด้วย และสร้างความอ่อนแอให้แก่ความเป็นพันธมิตรที่เคยแข็งแกร่งมั่นคงระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้

ในการทำสงครามประสาทกับเกาหลีเหนือเกี่ยวกับการทดสอบขีปนาวุธของโสมแดงนี้ ยุทธศาสตร์ของทรัมป์ที่พยายามก่อให้เกิดความสัมพันธ์ลักษณะรูปสามเหลี่ยมกับจีน (triangulation with China นั่นคือ วอชิงตันดุนหลังปักกิ่ง, ปักกิ่งผลักดันเปียงยาง) ได้สร้างความพ่ายแพ้ปราชัยอย่างใหญ่โตให้แก่อำนาจของอเมริกันในแปซิฟิกเรียบร้อยแล้ว ทว่าดูเหมือนจะยังไม่เป็นที่สำนึกรู้สึกกัน ทั้งนี้ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนหลังมานี้ เพื่อกระตุ้นส่งเสริมปักกิ่งให้บีบคั้นเปียงยาง ทำเนียบขาวจึงได้ระงับการส่งเรือรบออกตรวจการณ์ลาดตระเวนสำแดง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ที่มุ่งท้าทายการกล่าวอ้างอย่างเป็นเท็จของปักกิ่งเพื่อเข้าควบคุมเหนือดินแดนต่างๆ ในทะเลจีนใต้ [61] การหยุดชะงักเช่นนี้ส่งผลเสมือนเป็นยอมรับอย่างกลายๆ ว่าทางน้ำทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์นี้ได้ตกเป็นของจีนไปในทางเป็นจริง

ปักกิ่งนั้นใช้การปิดบังอำพรางเล็กๆ น้อยๆ อย่างเชี่ยวชาญ ออกมาแสดงตัวราวกับกำลังให้ความร่วมมือกับวอชิงตัน ทั้งด้วยการแสดง “ความวิตกกังวลอย่างยิ่ง” ต่อการทดสอบขีปนาวุธของเปียงยาง [62] และด้วยการบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรต่อโสมแดงแบบขอไปที แต่ขณะเดียวกันก็กลับเดินบทบาทในเชิงยุทธศาสตร์อย่างเฉลียวฉลาดยิ่งกว่าและอย่างคำนึงถึงผลระยะยาวมากกว่า ภายใต้กระบวนการเช่นนี้เอง จีนกำลังดำเนินการเพื่อลดทอนการซ้อมรบร่วมทางการทหารระหว่างอเมริกากับเกาหลีใต้ รวมทั้งพยายามบั่นทอนอานุภาพของกองทัพเรือสหรัฐฯในอาณาบริเวณซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นน่านน้ำในบ้านของตนเอง

ทรัมป์ชอบคุยอวดอยู่เรื่อยว่าเขาเป็นนักเจรจาต่อรองทำข้อตกลง และหนังสือเล่มหนึ่งของเขามีชื่อว่า The Art of the Deal [63] ทว่าในเวอร์ชั่นทางการทูตของ The Art of the Deal แล้ว ปักกิ่งต่างหากกำลังเป็นฝ่ายพิชิตวอชิงตัน

ทำให้จักรวรรดิล้มครืนลงมา

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทีเดียวว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากมุ่งโฟกัสจับจ้องความเสียหายที่ทรัมป์ก่อให้เกิดขึ้นมาในระยะเดือนแรกๆ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งอยู่ที่เรื่องภายในประเทศ ตั้งแต่การเปิดพื้นที่ป่าเขาซึ่งยังคงเป็นธรรมชาติมากๆ [64] ตลอดจนน่านน้ำนอกชายฝั่ง [65] ให้พวกบริษัทน้ำมันและแก๊สธรรมชาติเข้าไปเข้าขุดเจาะ, ไปจนถึงการข่มขู่คุกคามที่จะปิดช่องทางที่ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ, บิดเบือนแก้ไขกฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้าด้วยจุดมุ่งประสงค์ที่จะเอาอกเอาใจคนรวย, ยกเลิกจุดยืนธำรงความเป็นกลางในอินเทอร์เน็ต, และประกาศโมฆะมาตรการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งแวดล้อมทุกๆ อย่าง อย่างไรก็ดี นโยบายถอยหลังเข้าคลองเหล่านี้ ถ้าหากไม่ใช่ทั้งหมดเลยก็แทบจะทั้งหมดทีเดียวเชียวแหละ สามารถที่จะซ่อมแซมให้ฟื้นคืนดีขึ้นมาใหม่ หรือเลี้ยวกลับไปเข้าที่เข้าทางกันได้ใหม่ ถ้าหากพรรคเดโมแครตได้เข้ากุมอำนาจในรัฐสภาและทำเนียบขาว

แต่การดำเนินนโยบายการทูตแบบข้ามาคนเดียวในเวอร์ชั่นที่แสนจะเซ่อซ่าอย่างน่าตื่นตะลึง ภายในบริบทที่อเมริกากำลังอยู่ในภาวะเสื่อมถอยลงมาเรื่อยๆ ในระดับโลกอยู่แล้ว คือเรื่องที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง การสูญเสียฐานะความเป็นผู้นำของโลกนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งจะกอบกู้ฟื้นคืนกลับมาได้อย่างฉับพลันทันใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเหล่ามหาอำนาจที่เป็นปรปักษ์ต่างเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้าเติมเต็มช่องโหว่ที่เกิดขึ้นมา ดังเห็นได้ว่าขณะที่ทรัมป์กำลังลิดรอนที่มั่นของสหรัฐฯ ตรงบริเวณปลายแกนยุทธศาสตร์แห่งยูเรเชียอยู่นั้น จีนก็กำลังบีบคั้นกดดันอย่างไม่หยุดยั้งรีรอเพื่อเข้าไปแทนที่สหรัฐฯ และครอบงำเหนือมหาทวีปอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ ด้วยสิ่งที่ เอดเวิร์ด วอง (Edward Wong ) ผู้สื่อข่าวของนิวยอร์กไทมส์ เรียกว่า “การแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างทื่อๆ ตรงไปตรงมา ... ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกันกับการอาศัยแต่กำลังอย่างเหี้ยมโหด, การติดสินบน, และการข่มขู่ให้เกรงกลัว” [66]

ในช่วงเวลาที่พิเศษผิดธรรมดาเพียงแค่ปีเดียวเท่านั้น ทรัมป์ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของทวิลักษณ์อันละเอียดอ่อนซึ่งเป็นรากฐานสำหรับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯมานมนานแล้ว ทั้งนี้ เขาแสดงความนิยมชมชื่นสงครามเหนือการทูต, เพนตากอนเหนือกระทรวงการต่างประเทศ, และ ผลประโยชน์แห่งชาติอันคับแคบเหนือความเป็นผู้นำระดับระหว่างประเทศ, แต่ในโลกที่อยู่ในกระบวนการโลกาภิวัตน์ ซึ่งทุกๆ ส่วนถูกเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว ทั้งด้วยการค้า, อินเทอร์เน็ต, และการแพร่กระจายขีปนาวุธติดนิวเคลียร์เช่นนี้ การสร้างกำแพงขึ้นมาเพื่อป้องกันชายแดนนั้นจะไม่ได้ผลหรอก มันไม่มีทางเลยที่จะเกิด “ป้อมปราการแห่งสหรัฐอเมริกา” ขึ้นมาได้

หมายเหตุ

[1]https://www.nytimes.com/2018/01/04/climate/trump-offshore-drilling.html?emc=edit_na_20180104&nl=breaking-news&nlid=53052479&ref=headline&_r=0

[2]http://nymag.com/nymetro/news/politics/national/features/n_8621/

[3]https://www.washingtonpost.com/opinions/global-opinions/the-decline-of-us-influence-is-the-great-global-story-of-our-times/2017/12/28/bfe48262-ebf6-11e7-9f92-10a2203f6c8d_story.html?tid=ss_tw&utm_term=.d466c10b57eb

[4]https://www.nytimes.com/2017/12/21/opinion/trump-security-strategy.html?_r=0

[5]https://www.nytimes.com/2017/12/20/opinion/susan-rice-america-global-strategy.html

[6]https://www.amazon.com/Shadows-American-Century-Decline-Dispatch/dp/1608467732/ref=tmm_pap_swatch_0?_encoding=UTF8&qid=&sr=

[7]http://www.tomdispatch.com/blog/176043/tomgram%3A_david_vine,_our_base_nation/

[8]https://www.amazon.com/Shadows-American-Century-Decline-Dispatch/dp/1608467732/ref=tmm_pap_swatch_0?_encoding=UTF8&qid=&sr=

[9]https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2016/10/13/the-long-history-of-the-u-s-interfering-with-elections-elsewhere/?utm_term=.f07fc96f8d99

[10]http://www.tomdispatch.com/post/176007/tomgram%3A_alfred_mccoy,_washington%27s_great_game_and_why_it%27s_failing_/

[11]https://www.amazon.com/dp/1596916028/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20

[12]http://www.tomdispatch.com/blog/175454/

[13]https://www.forbes.com/sites/mikepatton/2016/02/29/u-s-role-in-global-economy-declines-nearly-50/#4e61075e5e9e

[14]https://www.statista.com/statistics/270267/united-states-share-of-global-gross-domestic-product-gdp/

[15]http://fortune.com/2017/02/09/study-china-will-overtake-the-u-s-as-worlds-largest-economy-before-2030/

[16]http://time.com/4992103/china-silk-road-belt-xi-jinping-khorgos-kazakhstan-infrastructure/

[17]https://www.nytimes.com/2017/11/24/us/politics/state-department-tillerson.html

[18]https://www.dailykos.com/stories/2017/10/12/1705902/-Former-Wharton-Professor-Donald-Trump-Is-the-Dumbest-Goddam-Student-I-Ever-Had

[19]http://nymag.com/daily/intelligencer/2018/01/michael-wolff-fire-and-fury-book-donald-trump.html

[20]https://www.amazon.com/dp/1250158060/ref=nosim/?tag=tomdispatch-20

[21]http://nymag.com/daily/intelligencer/2018/01/michael-wolff-fire-and-fury-book-donald-trump.html

[22]https://www.newyorker.com/magazine/2017/10/16/rex-tillerson-at-the-breaking-point

[23]https://www.nytimes.com/2018/01/03/us/politics/trump-bannon.html

[24]http://nymag.com/daily/intelligencer/2018/01/michael-wolff-fire-and-fury-book-donald-trump.html

[25]https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2017/12/NSS-Final-12-18-2017-0905.pdf

[26]https://www.nytimes.com/2017/11/30/world/middleeast/russia-egypt-air-bases.html

[27]https://www.nytimes.com/2017/11/30/world/asia/china-myanmar-aid-sanctions.html

[28]https://www.nytimes.com/2017/11/30/world/asia/china-myanmar-aid-sanctions.html

[29]https://www.nytimes.com/2017/12/05/world/europe/germany-trump-sigmar-gabriel.html

[30]http://www.newsweek.com/us-will-never-be-same-after-trump-germany-says-735881

[31]http://nymag.com/daily/intelligencer/2017/01/mexican-president-cancels-that-meeting-with-trump.html

[32]https://www.nytimes.com/2017/11/30/world/europe/trump-tweets-uk-visit.html

[33]https://www.theguardian.com/us-news/2017/nov/29/donald-trump-theresa-may-tweet-uk-us

[34]https://www.forbes.com/sites/leezamangaldas/2018/01/02/trump-brings-in-the-new-year-with-polarizing-pakistan-tweet/#49951be22b35

[35]https://www.nytimes.com/2017/12/20/world/middleeast/trump-threatens-to-end-american-aid-were-watching-those-votes-at-the-un.html

[36]https://www.nytimes.com/2017/12/21/world/middleeast/trump-jerusalem-united-nations.html?_r=0

[37]https://www.nytimes.com/2017/05/22/us/politics/trump-budget-winners-losers.html?module=ArrowsNav&contentCollection=Politics&action=keypress®ion=FixedLeft&pgtype=article

[38]http://www.tomdispatch.com/post/176336/tomgram%3A_william_hartung%2C_how_the_military-industrial_complex_preys_on_the_troops/

[39]https://www.nytimes.com/2017/05/27/technology/china-us-ai-artificial-intelligence.html?_r=0

[40]https://www.nytimes.com/2017/01/23/us/politics/tpp-trump-trade-nafta.html?mtrref=www.google.com

[41]https://www.nytimes.com/2017/09/04/world/asia/north-korea-nuclear-south-us-alliance.html

[42]https://www.nytimes.com/2017/10/11/business/economy/nafta-trump.html

[43] https://www.apnews.com/2ed02c1ee7c64061a2bf146bfb0a4b2c

[44] https://www.theguardian.com/us-news/2017/nov/10/trump-attacks-countries-cheating-america-at-apec-summit

[45] https://www.nytimes.com/2017/11/11/business/trump-tpp-trade.html?_r=0

[46] https://www.nytimes.com/2017/11/11/business/trump-tpp-trade.html?_r=0

[47] https://www.washingtonpost.com/graphics/2017/politics/australia-mexico-transcripts/?utm_term=.af632387ab44

[48] https://www.nytimes.com/2017/02/02/world/australia/donald-trump-malcolm-turnbull-refugees.html

[49] https://www.voanews.com/a/us-philippines-engage-in-joint-military-exercises/3842140.html

[50] https://theintercept.com/2017/05/23/read-the-full-transcript-of-trumps-call-with-philippine-president-rodrigo-duterte/

[51] https://www.nytimes.com/2017/05/04/world/asia/in-south-korea-campaign-one-topic-shoulders-out-others-trump.html

[52] https://www.nytimes.com/2017/06/30/world/asia/trump-south-korea-china.html

[53] http://www.cnn.com/2017/05/29/asia/north-korea-missile-tests/index.html

[54] https://www.whitehouse.gov/wp-content/uploads/2017/12/NSS-Final-12-18-2017-0905.pdf

[55] https://www.theguardian.com/us-news/2017/sep/26/donald-trump-north-korea-nuclear-fix-mess

[56] http://beta.latimes.com/politics/washington/la-na-essential-washington-updates-trump-warns-north-korea-of-fire-and-1502220642-htmlstory.html

[57] http://prospect.org/article/steve-bannon-unrepentant

[58] http://time.com/5042837/donald-trump-north-korea-twitter-china__trashed/

[59] https://www.nytimes.com/2018/01/02/us/politics/trump-tweet-north-korea.html

[60] https://www.nytimes.com/2018/01/03/us/politics/trump-north-korea-wedge-south-korea.html

[61] https://thediplomat.com/2017/08/south-china-sea-us-navy-conducts-freedom-of-navigation-operation/

[62] https://www.cnbc.com/2017/11/29/china-north-korea-missile-reaction.html

[63] https://www.amazon.com/Trump-Art-Deal-Donald-J/dp/0399594493/ref=sr_1_3?s=books&ie=UTF8&qid=1515270543&sr=1-3&keywords=the+art+of+the+deal

[64] http://www.tomdispatch.com/blog/176349/

[65] https://www.nytimes.com/2018/01/04/climate/trump-offshore-drilling.html

[66] https://www.nytimes.com/2018/01/05/sunday-review/china-military-economic-power.html?_r=0

(ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ TomDispatch.com)

อัลเฟรด ดับเบิลยู แมคคอย เป็นศาสตราจารย์แฮริงตันทางด้านประวัติศาสตร์ (Harrington Professor of History) ของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มที่ปัจจุบันกลายเป็นงานคลาสสิกไปแล้ว นั่นคือเรื่อง The Politics of Heroin: CIA Complicity in the Global Drug Trade ซึ่งติดตามสืบสวนการเชื่อมต่อโยงใยกันของการค้ายาเสพติดผิดกฎหมายกับการปฏิบัติลับต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 50 ปี หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา คือ In the Shadows of the American Century: The Rise and Decline of U.S. Global Power (สำนักพิมพ์ Dispatch Books)


กำลังโหลดความคิดเห็น