xs
xsm
sm
md
lg

ขบคิดคาดคะเนถึง ‘สงครามใหญ่ทางนาวี’ ระหว่างจีนกับอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Great China-India naval war could be an anti-climax
By Doug Tsuruoka
06/02/2018

พวกนักวิเคราะห์มองว่า ถ้าหากเกิดสงครามทางนาวีระหว่างจีนกับอินเดียขึ้นมา ศึกดังกล่าวน่าจะอยู่ในลักษณะต่างฝ่ายต่างระมัดระวังป้องกันตัว มากกว่าที่จะเป็นยุทธการอันดุเดือดเลือดพล่าน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อจำกัดของเรือบรรทุกเครื่องบินแดนมังกร ที่จะต้องปฏิบัติการห่างไกลจากฐานทัพในบ้านตัวเอง

การเผชิญหน้ากันอย่างตึงเครียดบริเวณชายแดนจีน-อินเดียเมื่อปีที่แล้ว โดยที่กองกำลังอาวุธของทั้งสองประเทศตรึงกันอยู่เป็นแรมเดือนทีเดียว ก่อให้เกิดการคาดเดากะเก็งกันว่ามันจะเป็นอย่างไรถ้ายักษ์ใหญ่เอเชียที่ต่างฝ่ายต่างมีอาวุธนิวเคลียร์ 2 รายนี้เข้าทำสงครามกันจริงๆ ขึ้นมา

เวลานี้ปักกิ่งและนิวเดลีได้หยุดพักนำเรื่องความแตกต่างไม่ลงรอยระหว่างกันของพวกเขาเก็บเข้าลิ้นชักเอาไว้ก่อน ทว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเกิดการปะทุปะทะกันขึ้นในอนาคตก็ยังคงดำรงอยู่ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.straitstimes.com/asia/south-asia/india-china-may-face-new-border-flare-up-experts) สภาพเช่นนี้กำลังสะกิดยั่วเย้าพวกนักวิเคราะห์ทางการทหารให้ขบคิดเสนอทฤษฎีเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการประจันหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างกองกำลังอาวุธของอินเดียและของจีนตามแนวพรมแดนเทือกเขาหิมาลัยและในมหาสมุทรอินเดีย การประเมินพิจารณาเรื่องเช่นนี้ยิ่งดูมีเหตุผลรองรับเพิ่มมากขึ้นอีกจากการที่วอชิงตันกำลังฉายสปอตไลต์มุ่งผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ว่าด้วย “อินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ซึ่งมองว่าอินเดียเป็นพลังหนึ่งที่จะเข้าทัดทานความทะเยอทะยานของจีนในภูมิภาคแถบนี้

ว่ากันเฉพาะในเรื่องกำลังทางนาวีแล้ว ความสนอกสนใจมีจุดโฟกัสอยู่ที่การเผชิญหน้าซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินที่จัดตั้งขึ้นใหม่ๆ หมาดๆ ของจีน กับกองนาวีลักษณะเดียวกันของฝ่ายอินเดีย นอกจากนั้นแล้วต้องไม่ลืมว่ากองทัพเรือของทั้งสองประเทศต่างกำลังมีโครงการต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ๆ รวมทั้งยังโอ่อวดเกี่ยวกับกองเรือดำน้ำซึ่งติดขีปนาวุธทำหน้าที่ไล่ล่าสังหาร และกระทั่งติดขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม สำหรับพวกที่กำลังคาดหมายว่าจะเกิดการประจัญบานอันดุเดือดระหว่างเรือบรรทุกเครื่องบินของประเทศทั้งสอง ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในยุทธนาวีมิดเวย์ (Battle of Midway) ระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าที่จะต้องประสบความผิดหวัง

เบน โฮ วัน เบง (Ben Ho Wan Beng) ผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมซึ่งมีฐานอยู่ในสิงคโปร์ (ดูโปรไฟล์ของเขาได้ที่ https://www.rsis.edu.sg/profile/ben-ho/#.Wni1b1PwY8Y) ระบุว่า การสู้รบขัดแย้งกันทางนาวีระหว่างจีนกับอินเดีย ถ้าหากจะเกิดขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องของการมุ่งป้องกันตัวด้วยความระมัดระวังอย่างสูง และคั่นด้วยการโจมตีแบบฉาบฉวยแบบตีแล้วถอยเป็นระยะๆ ทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falklands War) ปี 1982 ระหว่างอาร์เจนตินากับสหราชอาณาจักร

ไม่เหมือนกับในทะเลจีนใต้ จีนนั้นไม่ได้มีฐานทัพอากาศที่เป็นมิตรแห่งใดๆ ในมหาสมุทรอินเดียเอาเลย เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนใดๆ ก็ตามซึ่งถูกส่งเข้าไปประจำในภูมิภาคนี้จะสามารถป้องกันตัวเองได้เพียงด้วยกำลังทางอากาศที่ค่อนข้างจำกัดมาก ทั้งนี้ตามความเห็นของ โฮ ซึ่งทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านนาวี อยู่กับโครงการการทหารศึกษา (Military Studies Program) ของสถาบันการระหว่างประเทศศึกษา เอส. ราชารัตนัม (S. Rajaratnam School of International Studies) ในสิงคโปร์

โฮ เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่บทวิเคราะห์ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า “How Might China Fight a Sino-Indian Naval War” (จีนจะทำการสู้รบอย่างไรในสงครามนาวีจีน-อินเดีย?) เมื่อปลายเดือนมกราคม ใน ไอเอพีเอส ไดอะล็อก (IAPS Dialogue) นิตยสารทางออนไลน์ของสถาบันเพื่อเอเชียและแปซิฟิกศึกษา (Institute for Asia and Pacific Studies หรือ IAPS) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://iapsdialogue.org/2018/01/25/how-might-china-fight-a-sino-indian-naval-war/)

กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (The People’s Liberation Army Navy) มีแสนยานุภาพทางนาวีใหญ่โตกว่ากองทัพเรืออินเดียเป็นอย่างมาก –กล่าวคือ ใหญ่เป็น 4 เท่าตัวทีเดียว หรือประมาณการกันแบบคร่าวๆ ก็คือกองทัพเรือแดนมังกรมีเรือผิวน้ำลำสำคัญๆ รวม 283 ลำ ขณะที่กองทัพเรือแดนภารตะมี 66 ลำ ทั้งนี้ยังไม่นับรวมพวกเรือดำน้ำ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hindustantimes.com/india-news/indian-navy-outgunned-1-to-4-as-chinese-steps-up-presence-in-indian-ocean/story-MIbR4PoOSThQmtIuzRJiVN.html) ทว่าทั้ง โฮ และพวกนักวิเคราะห์คนอื่นๆ โต้แย้งว่า อินเดียมีข้อได้เปรียบสำคัญมากตรงที่กำลังทำการสู้รบใกล้ๆ กับฐานทัพในบ้านของตัวเอง ขณะที่จีนต้องเผชิญกับ “การถูกกดขี่อย่างทารุณของระยะทาง” (tyranny of distance) ซึ่งเคยสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อนให้แก่พวกเรือรบสหราชอาณาจักรในสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์

“จำนวนนั้นไม่เคยหรืออย่างน้อยก็ไม่ค่อยสามารถบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดในการสู้รบทางทะเลได้หรอก” เจมส์ โฮล์มส์ (James Holmes) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ วิทยาลัยสงครามนาวีของสหรัฐฯ (US Naval War College) ให้ความเห็นเช่นนี้เอาไว้ในบทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร “ฟอเรนจ์ โพลิซี” (Foreign Policy) ฉบับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อกล่าวถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นหากการสู้รบขัดแย้งทางนาวีระหว่างจีนกับอินเดียเกิดระเบิดขึ้นมา (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://foreignpolicy.com/2017/08/07/who-will-win-the-sino-indian-naval-war-of-2020/)

ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง นั่นคือ ทั้งจีนและอินเดียต่างกำลังใช้เรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งมี “ดาดฟ้าสำหรับทะยานขึ้น” (jump decks) ค่อนข้างเล็ก เรื่องนี้กลายเป็นการจำกัดจำนวนเครื่องบินขับไล่เพิ่มเติมซึ่งเรือสามารถที่จะบรรทุกได้ เช่นเดียวกับจำนวนสรรพาวุธที่เครื่องบินแต่ละลำสามารถบรรจุติดตั้งขณะบินขึ้น โฮชี้ว่าเรื่องนี้ยังกระทบกระเทือนต่ออัตราส่วนของเครื่องบินที่สามารถแบ่งสรรมาใช้สำหรับการโจมตี ต่อเครื่องบินที่ต้องแบ่งสรรใช้สำหรับการป้องกันอีกด้วย

มีความเป็นไปได้อยู่มากที่จีนจะจัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีเพียง 1 หมู่ไปประจำสู้รบกับอินเดีย สืบเนื่องจากเจอการแข่งขันจากลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่มีสูงกว่าของย่านแปซิฟิกตะวันตก “หมู่เรือบรรทุกเครื่องบินของจีนนี้ โดยสาระสำคัญแล้วก็คือจะต้องปฏิบัติการโดยลำพังตัวเอง” โฮ บอกกับเอเชียไทมส์ผ่านการสัมภาษณ์ทางอีเมล

ถ้าจีนจัดส่งหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินหมู่เดียวเข้าประจำในมหาสมุทรอินเดียจริงๆ โฮบอกว่ากองกำลงนี้น่าจะต้องปฏิบัติการด้วยความสุขุมรอบคอบเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากความเป็นไปได้ต่างๆ อันเยอะแยะมากมายที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่ในสภาพที่ห่างไกลจากบ้านมาก แดนมังกรยังจะต้องระแวงไม่มั่นใจที่จะให้เรือบรรทุกเครื่องบินของพวกเขาเข้าไปประชิดชายฝั่งของอินเดีย เพราะอาจจะตกเป็นเป้าหมายของพวกอาวุธซึ่งมุ่งต่อต้านการเข้าถึง/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area-denial weapons)

สำหรับฝ่ายอินเดียซึ่งมีประชามติภายในประเทศคอยหนุนส่ง ย่อมจะต้องพยายามค้นหาและโจมตีหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินจีนนี้ ทว่า โฮ เสนอทัศนะว่าเรื่องนี้จะกระทำได้ยากเย็นมาก เมื่อพิจารณาจากพื้นที่อันกว้างขวางใหญ่โตของมหาสมุทรอินเดียซึ่งฝ่ายจีนสามารถเล่นเอาเถิดหลอกล่อได้ ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสองชาติยังอยู่ในสภาพขาดแคลนดาวเทียมตรวจการณ์อันก้าวหน้ามากๆ ซึ่งสามารถที่จะระบุตำแหน่งของพวกเรือข้าศึกได้ ถึงแม้จีนจะมีภาษีดีกว่าตรงที่มีเทคโนโลยีเฝ้าติดตามอย่างใหม่ซึ่งกำลังปิดช่องโหว่ในเรื่องนี้

โฮ กล่าวเสริมว่า ทางฝ่ายอินเดียนั้น พวกเครื่องบินที่ตั้งฐานอยู่บนบก และเรือดำน้ำที่ส่วนใหญ่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล-ไฟฟ้า จะทำให้พวกเขาเผชิญข้อจำกัดในการปฏิบัติการเช่นกัน ในการพยายามค้นหาเรือบรรทุกเครื่องบินจีนซึ่งกำลังเคลื่อนที่ด้วยความรวดเร็วในน่านน้ำทะเลเปิด

ลงท้ายแล้ว พวกเรือดำน้ำจีนนั่นแหละอาจจะมีช่องทางในการปฏิบัติการมากกว่าในเวลาเกิดการสู้รบขัดแย้ง โดยที่เรือดำน้ำเหล่านี้น่าจะถูกส่งไปประจำใกล้ๆ กับพวกท่าเรือและสิ่งอำนวยความสะดวกทางนาวีที่สำคัญๆ ของฝ่ายอินเดีย โฮชี้

ทางด้านพวกเครื่องบินรบซึ่งอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น น่าจะประสบความลำบากหากจะเข้าสนับสนุนหมู่เรือบรรทุกเครื่องบินที่กำลังอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากเครื่องบินเหล่านี้ต้องบินข้ามน่านฟ้าของพวกชาติที่อ่อนไหวเกรงใจอินเดียอย่างเช่น บังกลาเทศ และพม่า จึงจะสามารถไปถึงมหาสมุทรอินเดียได้

ขณะเดียวกัน ขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบ ดีเอฟ-21 ดี ของจีน ซึ่งถูกคุยโอ่อวดกันเอาไว้มาก อาจจะกลับกลายเป็นอาวุธไร้ประโยชน์ในการต่อสู้กับเรือบรรทุกเครื่องบินอินเดีย เหตุผลสำคัญอยู่ตรงที่ว่าขีปนาวุธแบบนี้ยังต้องยิงจากภาคพื้นดินเท่านั้น โดยยังไม่มีเวอร์ชั่นที่ติดตั้งบนเรือ

นอกจากนั้นในความเห็นของโฮแล้ว ทั้ง ดีเอฟ-21 ดี และขีปนาวุธต่อสู้เรือแบบอื่นๆ จะต้องเผชิญการท้าทายซึ่งยากที่จะเอาชนะประการหนึ่ง นั่นคือพวกเรือบรรทุกเครื่องบินที่ตกเป็นเป้าหมายนั้นกำลังเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วซึ่งปกติแล้วอยู่ในระดับประมาณ 20 น็อต ดังนั้นจึงจะเคลื่อนที่ไปยังจุดอื่นห่างออกไป 2-3 กิโลเมตรแล้ว จากจุดที่มันถูกตรวจจับเอาไว้ในเวลาที่ทำการยิงขีปนาวุธออกไปในขั้นสุดท้าย

มีรายงานว่า ขีปนาวุธ ดีเอฟ-21ดี มีตัวเซนเซอร์ที่จะคอยเฝ้าติดตามพวกเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ไปในทะเล แต่ โฮ โต้แย้งว่าสมรรถนะดังกล่าวนี้ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ยืนยันเลย –แม้กระทั่งในการซ้อมรบ

“ยุทธนาวีมิดเวย์” ในช่องแคบมะละกา?

โฮ กล่าวว่าโอกาสความเป็นไปได้เพียงประการเดียวเท่านั้นที่จะเกิดยุทธนาวีมิดเวย์ (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธนาวีนี้ได้ที่ http://www.history.com/topics/world-war-ii/battle-of-midway) แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21 ขึ้นมา ก็คือหากอินเดียพยายามที่จะเข้าขัดขวางกองกำลังอาวุธทางนาวีของจีนขณะกำลังแล่นผ่านช่องแคบมะละกาอันคับแคบ แต่การกระทำในลักษณะเช่นนี้อาจจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับคืนอย่างแรงกล้า ไม่เพียงจากพวกรัฐริมช่องแคบมะละกาอย่าง มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, และสิงคโปร์ เท่านั้น หากจากประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของช่องทางเดินเรือช่องนี้” โฮกล่าว

เรือบรรทุกเครื่องบินของจีน VS ของอินเดีย

ปัจจุบันจีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ออกปฏิบัติการได้อยู่ 1 ลำ คือ เรือเหลียวหนิง ซึ่งเป็นเรือยุคสหภาพโซเวียตที่ซื้อหาจากยูเครนแล้วนำมาซ่อมแซมยกเครื่องปรับปรุงใหม่ขนานใหญ่ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://chinapower.csis.org/aircraft-carrier/) แล้วก็มีเรือบรรทุกเครื่องบินแบบ ไทป์ 001 เอ (Type 001A) ซึ่งแดนมังกรกำลังต่อขึ้นมาเองโดยอาจจะสามารถปล่อยลงน้ำได้ในปีนี้ มีรายงานว่าปักกิ่งวางแผนที่จะต่อเพิ่มขึ้นมาอีกหลายลำทีเดียว แต่ โฮ ชี้ว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน ไทป์ 001 เอ ล่าสุดของจีนนี้ก็จะเพิ่มกำลังทางอากาศได้สูงขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น จากความสามารถของเรือเหลียวหนิง ซึ่งบรรทุกเครื่องบินรบได้ 20 ลำ โดยเป็นเครื่องบินขับไล่ เสิ่นหยาง เจ-15 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Shenyang_J-15) ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับของอเมริกันแล้ว เรือบรรทุกเครื่องบินชั้นนิมิตซ์ (Nimitz-class) ของนาวีสหรัฐฯสามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่โจมตีได้มากกว่า 40 ลำทีเดียว

ทางด้านอินเดียมีเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ คือ ไอเอ็นเอส วิกรมาทิตย์ (INS Vikramaditya ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/INS_Vikramaditya) ซึ่งกำลังออกปฏิบัติการอย่างแข็งขันอยู่ในตอนนี้ สำหรับอีกลำหนึ่งได้แก่ ไอเอส วิกรานต์ (INS Vikrant) กำลังอยู่ระหว่างติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และคาดหมายว่าจะได้รับการขึ้นระวางในปี 2020 เรือบรรทุกเครื่องบินเหล่านี้แต่ละลำสามารถบรรทุกเครื่องบินปีกตรึงได้มากกว่า 20 ลำนิดหน่อย ทั้งนี้ยังไม่นับพวกเฮลิคอปเตอร์

เรือวิกรมาทิตย์ เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินชั้นเคียฟ (Kiev-class) ที่ผ่านการดัดแปลงปรับปรุง โดยเข้าประจำการในกองทัพเรืออินเดียในปี 2013 ก่อนหน้านี้เรือลำนี้เคยสังกัดอยู่กับกองทัพเรือสหภาพโซเวียตในระหว่างสงครามเย็น อินเดียได้ซื้อหามาในปี 2004 และทำการปรับปรุงติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เสียใหม่อยู่หลายปี เครื่องบินที่ประจำอยู่บนเรือลำนี้คือเครื่องบินขับไล่ มิก-29 เค ผลิตในรัสเซีย สำหรับเรือวิกรานต์ นับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ต่อขึ้นในอินเดียเอง

เครื่องบินขับไล่ เจ-15 VS มิก-29

เมื่อเปรียบเทียบ เจ-15 ของจีน กับ มิก 29 เค ของอินเดีย โฮบอกว่า “หากดูจากแผ่นกระดาษแล้ว คุณสมบัติความสามารถในการสู้รบของเครื่องบินทั้ง 2 แบบนั้นดูคู่คี่สูสีกันเอามากๆ ขณะที่ มิก-29 เค ของอินเดียมีน้ำหนักเบากว่าและมีความคล่องตัวสูงกว่า แต่ เจ-15 ของจีนมีอัตราความสามารถในการใช้งานได้ (serviceability rate) ดีกว่า และนี่หมายความว่าในการปฏิบัติการแต่ละครั้งนั้น จำนวนของเครื่องบินแบบนี้ซึ่งสามารถที่จะนำออกมาใช้ได้จะมีอัตราสูงกว่า”

แต่ในเรื่องสมรรถนะความสามารถของนักบิน ยังคงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พวกนักวิจารณ์ตั้งคำถามมานานแล้วเกี่ยวกับคุณภาพของพวกนักบินขับไล่ของจีนที่ยังคงไม่เคยผ่านการพิสูจน์ยืนยันเลย ขณะที่พวกนักบินขับไล่ของอินเดียเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกกับนักบินสหรัฐฯและกล่าวกันว่ามีผลในทางบวกเมื่อเปรียบเทียบกับนักบินอเมริกัน แต่ก็มีคนอื่นๆ อีกเช่นกันซึ่งบอกว่าจีนกำลังปิดช่วงห่างในเรื่องการฝึกอบรมนี้อยู่แล้ว

ถ้าหากจีนรู้สึกว่าการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินของตนไปประจำในมหาสมุทรอินเดียจะมีความเสี่ยงอย่างมากเช่นนี้ แดนมังกรจะพยายามเร่งรัดไล่ล่าหาฐานทัพที่เป็นมิตรจากพวกชาติมหาสมุทรอินเดียอย่างเช่น มัลดีฟส์ หรือไม่? อันที่จริงเวลานี้จีนก็กำลังแผ่ขยายรอยเท้าเชิงยุทธศาสตร์และความผูกพันทางยุทธศาสตร์ของตนในภูมิภาคแถบนี้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ฐานทัพเรือแห่งใหม่ในประเทศจีบูตี ตรงบริเวณจงอยแอฟริกา (Horn of Africa) นอกจากนั้นมีรายงานข่าวหลายกระแสเรื่องจีนกำลังตั้งฐานทัพเรืออีกแห่งหนึ่งที่เมืองกวาดาร์ (Gwadar) ในปากีสถาน (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.scmp.com/news/china/diplomacy-defence/article/2127040/first-djibouti-now-pakistan-port-earmarked-chinese) อย่างไรก็ตาม โฮกล่าวว่าการที่จีนจะมีที่มั่นการปรากฏตัวทางทหารอย่างถาวรในบรรดาชาติซึ่งอยู่ในเขตอิทธิพลของอินเดีย อย่างเช่น มัลดีฟส์ หรือ ศรีลังกา นั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้หรอก เนื่องจากจะต้องเกิดปฏิกิริยาตอบโต้กลับอย่างแรงจากนิวเดลี

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นเป็นบรรณาธิการประจำกองบรรณาธิการ (Editor-at-Large) ของเอเชียไทมส์


กำลังโหลดความคิดเห็น