xs
xsm
sm
md
lg

“มัลดีฟส์” เดือด-ประกาศภาวะฉุกเฉิน รบ.ส่งกำลังบุกศาลจับผู้พิพากษาสูงสุด ฝ่ายค้านเรียกร้อง “อินเดีย” ยกทหารมาช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ทหารและตำรวจมัลดีฟส์ออกลาดตระเวนบนถนนสายหลักของกรุงมาเล เมืองหลวงของมัลดีฟส์ ในวันจันทร์ (5 ก.พ.) ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน ขณะที่ชาติหมู่เกาะมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้กำลังตกอยู่ในวิกฤตยุ่งเหยิงขึ้นเรื่อยๆ </i>
เอเจนซีส์ - สถานการณ์ในมัลดีฟส์ยิ่งปั่นป่วน ประธานาธิบดีอัลดุลลา ยามีน ประกาศภาวะฉุกเฉิน แล้วยังให้สั่งจับกุมประธานศาลสูงสุดจากที่ทำการในตอนเช้าตรู่วันอังคาร (6 ก.พ.) ท่ามกลางเสียงวิจารณ์โจมตีว่า เป็นการพยายามล้างบางศัตรูทางการเมืองของรัฐบาล

การที่รัฐบาลมัลดีฟส์ส่งกองกำลังความมั่นคงในชุดลายพรางสีฟ้าและติดอุปกรณ์ปราบจลาจล บุกเข้าไปในอาคารศาลสูงสุด และควบคุมตัวอับดุลเลาะห์ ซาอีด ประธานผู้พิพากษาศาลสูงสุด และ อาลี ฮามิด ผู้พิพากษาอีกคนหนึ่งของศาลสูงสุดเอาไว้ โดยตั้งข้อกล่าวหาคอร์รัปชั่น ทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายบริหารของมัลดีฟส์ตึงเครียดยิ่งขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยามีนก็ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลสูงสุดที่ให้ปล่อยตัวศัตรูทางการเมืองของเขา 9 คน

นับจากเข้ารับตำแหน่งในปี 2013 ยามีนทำให้ภาพลักษณ์ของมัลดีฟส์ซึ่งเป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอินเดียที่เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับหรู ต้องมีอันมัวหมองลง ด้วยการสั่งกวาดล้างผู้ต่อต้านและจับศัตรูทางการเมืองเกือบทั้งหมดคุมขัง

ในวันจันทร์ (5) เขายังสั่งจับกุมอดีตประธานาธิบดีเมามูน อับดุล เกยุม พี่ชายต่างมารดาของตัวเองที่ปัจจุบันให้การสนับสนุนฝ่ายค้าน

จากทวิตของบุตรสาวระบุว่า เกยุม วัย 80 ปี ซึ่งเป็นประธานาธิบดียาวนานถึง 30 ปีจนกระทั่งมัลดีฟส์จัดการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตยครั้งแรกในปี 2008 นั้น ถูกควบคุมตัวจากบ้านพักในกรุงมาเลช่วงเที่ยงคืนวันจันทร์ ขณะที่เจ้าตัวยืนยันผ่านคลิปที่เผยแพร่ในทวิตเตอร์ว่า ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ พร้อมเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเดินหน้าปฏิรูประเทศต่อไป

ต่อมาตอนเช้าตรู่วันอังคาร กองกำลังติดอาวุธหนักและตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ก็จู่โจมเข้าสู่ศาลสูงสุดเพื่อจับกุม 2 ผู้พิพากษา โดยตำรวจใช้สเปรย์พริกไทสลายผู้ชุมนุมนับร้อยที่รวมตัวกันอยู่หน้าศาล

ศาลสูงสุดอ่านคำพิพากษาซึ่งสร้างเซอร์ไพรซ์กันมากเมื่อวันพฤหัสบดี (1) ที่ผ่านมา โดยนอกจากระบุให้ปล่อยตัวศัตรูทางการเมืองของประธานาธิบดีแล้ว ยังสั่งให้รัฐบาลคืนตำแหน่งให้สมาชิกรัฐสภา 12 คนที่ถูกปลดหลังแปรพักตร์จากพรรคของยามีน

ปัจจุบัน พรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งหมายความถึงความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง

นอกจากนั้น คำตัดสินของศาลสูงสุดคราวนี้ยังเปิดทางให้อดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด นาชีด ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องหาที่ศาลสั่งพ้นข้อหา สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งในปีนี้

นาชีดเป็นผู้นำคนแรกของมัลดีฟส์ที่มาจากการเลือกตั้งระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันอยู่ในศรีลังกา หลังถูกตัดสินอย่างน่าเคลือบแคลงว่า มีความผิดฐานก่อการร้ายในปี 2015
<i>ตำรวจจับกุมตัวอดีตประธานาธิบดีเมามูน อับดุล เกยุม พี่ชายต่างมารดาของประธานาธิบดียามีน ซึ่งในปัจจุบันให้การสนับสนุนฝ่ายค้าน </i>
ทว่า ยามีนที่รอดพ้นจากความพยายามในการถอดถอนหลายครั้งจากข้อกล่าวหาทุจริต ได้ตอบโต้ด้วยการสั่งปิดสภาและประกาศภาวะฉุกเฉินนาน 15 วัน

รัฐบาลได้สั่งการให้ตำรวจและทหารปราบปรามความพยายามทั้งหลายที่จะจับกุมหรือถอดถอนยามีน รวมทั้งออกมาตอบโต้ว่า คำวินิจฉัยของศาลสูงสุดขัดกับรัฐธรรมนูญ และเตือนว่า ศาลต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นเดียวกัน

ขณะที่ฮัสเซน ชิฮับ โฆษกรัฐบาลแถลงว่า รัฐบาลจะพยายามทำให้สถานการณ์สงบ และรับประกันความปลอดภัยของพลเมืองและนักท่องเที่ยวทุกคนในมัลดีฟส์ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉินนี้

อาซิมา ชูคอร์ ผู้ช่วยประธานาธิบดีสำทับว่า เหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินคือ เนื่องจากคำตัดสินของศาลสูงสุดเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล

ตัวประธานาธิบดียามีนเองได้ออกมากล่าวปราศรัยต่อประเทศชาติผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ โดยระบุว่าเขากระทำการครั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการก่อรัฐประหาร พร้อมกับชี้ว่าพวกผู้พิพากษาได้เลือกที่จะเข้าข้างฝ่ายซึ่งคัดค้านเขา เนื่องจากผู้พิพากษาเหล่านี้กำลังถูกสอบสวนในความผิดคอร์รัปชั่น

“ผมประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากไม่มีหนทางอื่นๆที่จะรักษาให้ผู้พิพากษาเหล่านี้ต้องรับผิดตามความผิดที่กระทำ นี่คือการก่อรัฐประหาร ผมก็ต้องการรู้เหมือนกันว่าการก่อรัฐประหารครั้งนี้พวกเขามีการวางแผนอย่างดีแค่ไหน” ยามีนบอก

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมายความว่า กองกำลังความมั่นคงมีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลใดก็ตาม ระงับอำนาจของฝ่ายตุลาการ และขัดขวางไม่ให้รัฐสภาดำเนินการถอดถอนยามีน

อย่างไรก็ดี ภายใต้รัฐธรรมนูญของมัลดีฟส์ รัฐบาลต้องแจ้งต่อสภาเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหากมีการโต้แย้ง ศาลสูงสุดจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาท แต่ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่อำนาจศาลถูกระงับ จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดอะไรต่อไป

อดีตประธานาธิบดีนาชีด ซึ่งรัฐบาลยอมอนุญาตให้ออกจากคุกเพื่อไปรักษาตัวยังต่างประเทศในปี 2016 และจากนั้นก็ได้รับฐานะเป็นผู้ลี้ภัยจากรัฐบาลอังกฤษ ได้แถลงจากกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา ในวันอังคาร (6) แสดงความกังวลว่า อาจเกิดความไม่สงบภายในมัลดีฟส์ ชี้ว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเท่ากับเป็นการบังคับใช้กฎอัยการศึก พร้อมกับเรียกร้องให้อินเดียเข้าแทรกแซง เพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายๆ ของมัลดีฟส์

“ในนามของประชาชนชาวมัลดีฟส์ เราขอร้องด้วยความนอบน้อม ให้อินเดียจัดส่งผู้แทน ซึ่งหนุนหลังด้วยกองทหารของตน ไปปล่อยตัวผู้พิพากษาและเหล่านักโทษการเมือง … เราขอร้องให้มีการไปปรากฏตัวกันทางกายภาพ” นาชีดแถลงผ่านทางทวิตเตอร์

เขายังรบเร้าสหรัฐฯให้สกัดกั้นธุรกรรมทางการเงินของรัฐบาลยามีนอีกด้วย
<i>ตำรวจมัลดีฟส์ใช้ไม้กระบองบุกเข้าขับไล่กลุ่มผู้ประท้วง ในกรุงมาเล เมื่อตอนเช้าวันอังคาร (6 ก.พ.) </i>
ทางด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกคำแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลและกองทัพมัลดีฟส์เคารพหลักนิติธรรม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสถาบันประชาธิปไตย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความผิดหวังกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนถึงการคุมขังศัตรูทางการเมือง ลิดรอนสิทธิของสมาชิกรัฐสภาในการเป็นตัวแทนประชาชน รวมทั้งแก้ไขกฎหมายที่บ่อนทำลายสิทธิมนุษยชนและทำให้สถาบันต่างๆ อ่อนแอ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ยามีนเคารพหลักนิติธรรมและคำสั่งศาล

องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต้องไม่ถูกใช้เป็นใบอนุญาตในการกดขี่ปราบปรามฝ่ายตรงข้าม

สหประชาชาติ ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา อินเดีย และสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดมัลดีฟส์ และช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แอนโตนิโอ กูเตียเรส เลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในมัลดีฟส์อดกลั้น

นอกจากนี้ จีน อเมริกา และอินเดียยังออกคำแนะนำพลเมืองให้ใช้ความระมัดระวังในการเดินทางไปมัลดีฟส์

เวทีแข่งขันระหว่างอินเดียกับจีน

มัลดีฟส์นั้นตั้งอยู่ใกล้ๆ เส้นทางขนส่งทางทะเลที่สำคัญๆ หลายเส้น แล้วในช่วงหลังๆ มานี้ ยังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอีกมาก เมื่อจีนเริ่มต้นผูกสัมพันธ์ทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจด้วย โดยที่อินเดียและโลกตะวันตกมองอย่างระแวงว่า นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกขานกันว่า ยุทธศาสตร์ “สายสร้อยไข่มุก” ('String Of Pearls' strategy) ซึ่งจีนมุ่งสร้างเครือข่ายของเมืองท่าต่างๆ ในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

ที่ผ่านมาในอดีต อินเดียมีอิทธิพลบารมีในประเทศหมู่เกาะแห่งนี้มากมายยิ่งกว่า และแดนภารตะจึงมุ่งมองหาทางต่อสู้กับอิทธิพลจีนซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในมัลดีฟส์

การที่อดีตประธานาธิบดีนาชีดเรียกร้องอินเดียเข้าแทรกแซง ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องจากนิวเดลีเคยทำเช่นนี้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1988 โดยส่งกองทหารเข้าไปขัดขวางการก่อรัฐประหารซึ่งถูกระบุว่ามีทหารรับจ้างชาวต่างชาติเกี่ยวข้องอยู่ด้วย

เกิ่ง ส่วง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันตามปกติเมื่อวันอังคาร (6) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในของมัลดีฟส์ “เราเชื่อว่ารัฐบาลมัลดีฟส์, พรรคการเมืองต่างๆ และประชาชน มีสติปัญญาและมีความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยตัวพวกเขาเอง” โฆษกผู้นี้บอก

จีนนั้นมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลยามีน โดยที่ทั้งสองประเทศเพิ่งลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงแม้ถูกฝ่ายค้านวมัลดีฟส์วิพากษ์วิจารณ์

เห็นกันว่า ถ้าหากอินเดียเข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันด้วย ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มความตึงเครียดขึ้นอีกในประเทศหมู่เกาะที่มีประชากรราว 400,000 คนซึ่งแทบทั้งหมดเป็นชาวมุสลิมแห่งนี้ รวมทั้งยังจะเร่งให้เกิดการแข่งขันชิงดีกับจีนอีกด้วย

นอกเหนือจากการเข้าแทรกแซงในปี 1988 โดยทั่วไปแล้วอินเดียพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของมัลดีฟส์ ถึงแม้ยังคงให้ความช่วยเหลือทั้งทางการทหารและทางเศรษฐกิจเรื่อยมา


กำลังโหลดความคิดเห็น