xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์นอกหน้าต่าง : ทั้ง‘เบร็กซิต’และ‘กาตาลุญญา’ คือบททดสอบ‘อียู’ต่อสู้กับ‘ชาตินิยม’ได้แค่ไหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>ผู้ต่อต้าน “เบร็กซิต” ถือธงชาติอังกฤษและธงอียู ไปประท้วงที่ด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.   ทั้งนี้พวกนักวิเคราะห์ในยุโรปมองว่า กรณี “เบร็กซิต” และ “กาตาลุญญา” ต่างเป็นกระแสลัทธิชาตินิยมรูปแบบใหม่ซึ่งกำลังทดสอบคุณค่าความมหมายของสหภาพยุโรป </i>
เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ไม่ว่าจะเป็นกรณี “เบร็กซิต หรือความปั่นป่วนวุ่นวายในแคว้นกาตาลุญญา ของสเปน กระแสลัทธิชาตินิยมรูปแบบใหม่กำลังทดสอบคุณค่าความหมายของสหภาพยุโรป และความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของเหล่ารัฐสมาชิก บรรดานักวิเคราะห์มองกันเช่นนี้

วิกฤตการณ์ในสเปนทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนอย่างโจ่งแจ้งชัดเจนถึงรอยแยกรอยร้าวต่างๆ ที่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรป เมื่อรัฐบาลกลางของประเทศหนึ่งลงมือทำศึกกับแคว้นๆ หนึ่งซึ่งพวกผู้นำต้องการที่จะแยกตัวออกไปเป็นเอกราช

ในอังกฤษ เสียงเรียกร้องต้องการอธิปไตยก็นำพาให้ประชาชน 17.4 ล้านคนเข้าคูหาโหวตให้แยกตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู ในการลงประชามติเมื่อเดือนมิถุนายน 2016

พวกผู้รณรงค์เรียกร้อง “เบร็กซิต” ยังหาประโยชน์จากความขุ่นเคืองในเรื่องที่ประเทศต้องจ่ายเงินทุนให้แก่อียู โดยชูประเด็นว่าสหภาพยุโรปที่อยู่ไกลโพ้นนอกบ้าน คอยแต่เที่ยวบังคับใช้ระเบียบกฎหมายแบบราชการ รวมทั้งยังคอยกีดกันไม่ให้ประเทศเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ของโลก

ในกาตาลุญญา เหตุผลเร้าอารมณ์ของความต้องการแยกตัวเป็นอิสระสาวย้อนไปได้ไกลถึงยุคจอมเผด็จการฟรังโกช่วงระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แถมยังมีประเด็นทางเศรษฐกิจเข้ามาผสมผสาน

บรูโน ยามมิเนอ นักประวัติศาสตร์ซึ่งตั้งฐานอยู่ในเบลเยียมอธิบายว่า พวกนักชาตินิยมนั้นเข้าใจดีว่า สำหรับแว่นแคว้นภูมิภาคที่พัฒนาแล้วและมีความมั่งคั่งรุ่งเรือง การเชิดชูความคิดชาตินิยมของท้องถิ่น โดยหนุนหลังด้วยแนวความคิดที่ว่าชาติพันธุ์ของพวกตนได้เคยถูกกดขี่มาในอดีตอย่างไรบ้างนั้น ไม่สามารถสร้างเสน่ห์ดึงดูดใจได้เพียงพอเสียแล้ว ตรงกันข้ามหากใช้เหตุผลข้อโต้แย้งทางเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า การเป็นเอกราชจะสามารถตัดภาระไม่ต้องนำความมั่งคั่งของแว่นแคว้นไปให้รัฐบาลกลาง เพื่อนำไปจัดสรรเจือจานแก่ภูมิภาคที่ยากจนกว่า เหตุผลเช่นนี้กลับเป็นที่รับฟังมากกว่า

พวกรณรงค์เรียกร้องเบร็กซิตก็ใช้ข้อโต้แย้งทำนองนี้แหละ โดยบอกว่าเงินทองซึ่งลอนดอนกำลังต้องจ่ายให้อียูอยู่นั้น สามารถทำประโยชน์ได้มากมายกว่าถ้านำเอามาใช้เป็นงบประมาณของบริการสาธารณสุขในอังกฤษเอง ถึงแม้ตัวเลขทางการเงินที่พวกเขาอ้างว่าจะสามารถประหยัดได้นั้น ยังคงเป็นที่โต้เถียงกันว่ามีข้อเท็จจริงเพียงใด

สำหรับในกาตาลุญญา อันเดรส เด บลาส เกร์เรโร อาจารย์รัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยการศึกษาทางไกลแห่งชาติของสเปน ชี้ว่ามีการเสนอแนวความคิดที่ว่าแคว้นนี้สามารถที่จะแสดงตัวเป็นเวทีระหว่างประเทศเองได้โดยยังคงอยู่ภายใต้กรอบของอียู ทว่าแยกตัวจากสเปน

นอกจากนั้นพวกนักชาตินิยมประชานิยมทั้งหลายยังหยิบยกเหตุผลอันเร้าอารมณ์อย่างอื่นๆ มาปลุกเร้า เป็นต้นว่า การเข้ามาของผู้อพยพจำนวนมากกำลังเป็นภัยคุกคามต่ออัตลักษณ์แห่งชาติ , อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านปฏิเสธพวกชนชั้นนำที่เต็มไปด้วยความทุจริต

เรโนลด์ ธิลเลย์ นักวิเคราะห์ด้านกิจการยุโรป แห่ง ฟลินต์ โกลบอล บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารในลอนดอน มองว่า การที่พวกนักชาตินิยมจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าในด้านหนึ่งพวกเขาต้องโยงใยไปให้ถึงความทุจริตฉ้อฉลตลอดจนความไม่น่าเชื่อถือของพวกพรรคการเมืองเก่าๆ ดั้งเดิม รวมทั้งป่าวร้องให้เกิดความกระหายในประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง พวกนักชาตินิยมก็จำเป็นจะต้องปักหลักในด้านวัฒนธรรมโดยยึดมั่นอยู่กับการมีภาษาร่วมกันและมีมรดกร่วมกัน ในเวลานี้ซึ่งสิ่งต่างๆ กำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และลักษณะต่างๆ ที่เป็นประดิษฐ์สร้างขึ้นมาของรัฐชาติ กำลังถูกเปิดเผยให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

กล่าวได้ว่าเวลานี้พวกนักชาตินิยมประสบความสำเร็จทีเดียวในการวาดภาพพวกองค์การเหนือรัฐอย่างเช่นอียู ว่าเป็นเครื่องมือของโลกาภิวัตน์ ซึ่งพวกเขาพากันประณามติเตียน เพื่อเรียกร้องระดมกำลังให้มีการแก้ไขปัญหาความแตกต่างระหว่างคนรวย-คนจนในประเทศ รวมทั้งสร้างความสมานฉันท์ขึ้นภายในชาติ
<i>ผู้สนับสนุนให้แคว้นกาตาลุญญาแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน ถือธงสัญลักษณ์การเรียกร้องเอกราชของแคว้น ระหว่างการเดินขบวนที่เมืองบาร์เซโลนา เมื่อวันอาทิตย์ (24 ธ.ค.)  ทั้งนี้ถึงแม้ผู้นำกาตาลุญญาวาดหวังความสนับสนุนจากสหภาพยุโรป  แต่ที่เป็นมา อียูกลับมีแนวทางมุ่งบั่นทอนขบวนการเรียกร้องเอกราชในยุโรป </i>
อียูไม่สนับสนุนพวกนักแบ่งแยกดินแดน

ธิลเลย์ แห่ง ฟลินต์ โกลบอล ในลอนดอน บอกว่า อียูนั้นใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้การแยกตัวแยกรัฐกลายเป็นกระแสแผ่ลามขยายตัวออกไป รวมทั้งยังทำทุกอย่างเพื่อบั่นทอนขบวนการเรียกร้องเอกราช ไม่ว่าจะในสกอตแลนด์, กาตาลุญญา, หรือ คอร์ซิกา ในฝรั่งเศส ถึงแม้ขบวนการเหล่านี้เมื่อถึงจุดหนึ่งมักมองอียูว่าเป็นพันธมิตรของตนในการต่อสู้กับรัฐบาลกลาง

ทั้งนี้อียูเข้าข้างสเปนอย่างชัดเจนวิกฤตการณ์แคว้นกาตาลุญญา ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของสกอตแลนด์ซึ่งต้องการมีฐานะที่แยกตัวออกต่างหากจากอังกฤษ ภายหลัง “เบร็กซิต” แล้ว

นักประวัติศาสตร์ยามมิเนอ กล่าวว่า ไม่มีรัฐไหนในยุโรปต้องการให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนอย่างแพร่หลายกว้างขวาง เนื่องจากแทบทุกชาติในทวีปนี้ต่างก็มีชนกลุ่มน้อยของตนเองกันทั้งนั้น โดยที่ผู้นำของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้บางรายก็กำลังมีความมุ่งมาดปรารถนาแบบนักชาตินิยมกันอยู่แล้ว

ยุโรปที่ไร้เสถียรภาพ

เท่าที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ ยุโรปยังดูสามารถต้านทานกระแสช็อกจากเบร็กซิตได้

เขตยูโรโซนยังไม่ได้ประสบกับความไร้เสถียรภาพทางการเงินใดๆ อันโยงใยเชื่อมต่อกับเบร็กซิต สืบเนื่องจากอังกฤษก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของยูโรโซนอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน การเจรจาอันยากลำบากลำบนระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับอียูเกี่ยวกับการถอนตัวออกไปของอังกฤษ ยังอาจจะกลายเป็นตัวป้องปราพวกรัฐสมาชิกรายอื่นๆ ซึ่งอาจพิจารณาที่จะออกจากอียูเช่นเดียวกัน

แต่กระนั้น ความตึงเครียดที่ก่อขึ้นโดยนักชาตินิยมยังใช่ว่าจะหมดสิ้นไป ธิลเลย์ กล่าวเตือน

“พวกประเทศที่ไม่สามารถหาช่องทางระบายให้แก่ความเรียกร้องต้องการเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะตกลงไปสู่ความยุ่งยากลำบากอันสาหัส อย่างที่เราได้เห็นกันอยู่ในกาตาลุญญา” เขาบอก

แมตธิว กู๊ดวิน นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเคน ในอังกฤษ มองว่า ระบบการเมืองของยุโรปเวลานี้อยู่ในอาการไร้เสถียรภาพอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยที่ผู้ออกเสียงลงคะแนนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีโหวตของตนกันอย่างมากมายเป็นประวัติการณ์ ขณะที่พวกพรรคกระแสหลักก็สูญเสียเสียงสนับสนุน

เขาชี้ว่า การแบ่งแยกทางค่านิยมระหว่างฝ่ายหนึ่งที่เป็นนักชาตินิยม กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นพวกสากลนิยม เวลานี้กำลังมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ในระดับพอๆ กับการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาแบบดั้งเดิมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น