xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำใหม่ “ซิมบับเว” ชูประชาธิปไตย IMF ชี้ ศก.พังยับ-จี้ปฏิรูปครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ว่าที่ประธานาธิบดีซิมบับเว เอมเมอร์สัน เอ็มแนนแกกวา  กล่าวปราศรัยกับกลุ่มผู้สนับสนุน โดยมี อ็อกซิเลีย ภริยาของเขา ยืนอยู่ข้างๆ ณ สำนักงานใหญ่ของพรรคซานู-พีเอฟ ในกรุงฮาราเร วันพุธ (22 พ.ย.) </i>
เอเจนซีส์ - ว่าที่ผู้นำใหม่ซิมบับเวประกาศนำประเทศสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว พร้อมเรียกร้องประชาชนร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นการเติบโต ขณะที่ไอเอ็มเอฟเตือนเศรษฐกิจประเทศแอฟริกาแห่งนี้อยู่ในสภาวะที่ยากลำยากอย่างยิ่ง โดยภารกิจเร่งด่วนคือการลดการขาดดุลลงสู่ระดับที่ยั่งยืน การปรับโครงสร้าง และฟื้นความสัมพันธ์กับนานาชาติเพื่อเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็นอย่างยิ่ง

อดีตรองประธานาธิบดี เอมเมอร์สัน เอ็มแนนแกกวา ที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง เดินทางกลับซิมบับเวเมื่อวันพุธ (22 พ.ย.) เพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสืบต่อจากโรเบิร์ต มูกาเบ ที่ลาออกกะทันหันก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน ท่ามกลางความยินดีของประชาชน

เอ็มแนนแกกวามีกำหนดทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันศุกร์ (24)

ว่าที่ผู้นำใหม่ของซัมบับเวปราศรัยต่อกลุ่มผู้สนับสนุนเมื่อวันพุธ ถือเป็นครั้งแรกนับจากถูกมูกาเบปลดจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 6 เดือนนี้ เพื่อปูทางให้เกรซ สุภาพสตรีหมายเลข 1 สืบทอดตำแหน่งของสามี แต่กลับกลายเป็นการชักชวนให้ทหารเข้ายึดอำนาจ และมูกาเบต้องยื่นจดหมายลาออกต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคาร หลังจากปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการยาวนานถึง 37 ปี

ระหว่างปราศรัยต่อหน้าผู้สนับสนุนนับร้อยในกรุงฮาราเร เอ็มแนนแกกวาประกาศว่า ซิมบับเวกำลังจะเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มตัว และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อฟื้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน

อย่างไรก็ตาม ภารกิจในการฟื้นเศรษฐกิจของเอ็มแนนแกกวามีแนวโน้มหนักหนาสาหัสอย่างยิ่ง

ในวันพุธ (22) จีน ลีออน หัวหน้าคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประจำซิมบับเว แถลงว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศนี้ยังคงยากลำบากอย่างยิ่ง สืบเนื่องมาจากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของรัฐบาล ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ล่มสลาย และมาตรการปฏิรูปที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ ซิมบับเวเคยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจสดใสที่สุดในแอฟริกา แต่ความตกต่ำตลอดหลายทศวรรษภายใต้การบริหารของมูกาเบ ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงเข้ายึดไร่นาของชาวผิวขาว และการพิมพ์เงินจนกระทั่งอัตราเงินเฟ้อพุ่งพล่าน ส่งผลให้ซิมบับเวไม่สามารถกู้ยืมเงินจากสถาบันนานาชาติได้นับจากปี 1999 ที่รัฐบาลเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้ค้างชำระต่างชาติถึง 1,750 ล้านแรนด์

ลีออนชี้ว่า ซิมบับเวต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อลดการขาดดุลลงสู่ระดับที่ยั่งยืน เร่งรัดการปรับโครงสร้าง และฟื้นความสัมพันธ์กับนานาชาติเพื่อเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงินที่จำเป็นอย่างยิ่ง

เจ้าหน้าที่อาวุโสของไอเอ็มเอฟเสริมว่า ซิมบับเวควรชำระหนี้ที่ค้างอยู่กับธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแอฟริกา และธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป เพื่อให้ไอเอ็มเอฟสามารถพิจารณาคำขอความช่วยเหลือด้านการเงินในอนาคต

นอกจากนั้น ซิมบับเวยังควรเตรียมพร้อมในการดำเนินการนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งและการปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นความยั่งยืนทางการคลังและหนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น