xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ใช้คำว่า‘อินเดีย-แปซิฟิก’แทน‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เบื้องลึกลงไปคือ‘แนวคิดรวมกลุ่มต่อต้านจีน’

เผยแพร่:   โดย: เดวิด ฮุตต์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Rhetorical birth of an anti-China bulwark
By David Hutt, @davidhuttjourno
13/11/2017

โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯใช้คำว่า “อินเดีย-แปซิฟิก” แทนคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ซ้ำแล้วซ้ำอีกในระหว่างการทัวร์เอเชียของเขา นี่เป็นการส่งสัญญาณบ่งบอกถึงการรื้อฟื้นแผนการความร่วมมือจตุรภาคีขึ้นมาใหม่ เพื่อตอบโต้การผงาดขึ้นมาของจีนในภูมิภาคแถบนี้

ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังไม่ทันเสร็จสิ้นการตระเวนเยือนเอเชียเป็นเวลา 12-13 วันของเขาคราวนี้เลย ก็เกิดมีการตั้งคำถามขึ้นมาแล้วว่า ในการแถลงต่อสาธารณชนของเขา ทำไมเขาจึงใช้คำว่า “อินเดีย-แปซิฟิก” (Indo-Pacific) ซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่จะคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ซึ่งใช้กันคุ้นเคยจนกลายเป็นแบบแผนปกติมากกว่า

ประมุขอเมริกันใช้คำๆ นี้อยู่หลายครั้งระหว่างที่เขาเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ครั้นเมื่อเข้าอยู่ในเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก เขาก็ยังคงแถลงว่า เขารู้สึกเป็นเกียรติที่กำลังเยือน “หัวใจของอินเดีย-แปซิฟิก”

คำตอบของเรื่องนี้ ปรากฏให้เห็นในสิ่งซึ่งเกิดขึ้นไม่นานนักภายหลังนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย เดินทางไปถึงกรุงมะนิลาในวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. โดยในระหว่างที่การประชุมซัมมิตของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน กำลังดำเนินอยู่ในเมืองหลวงของฟิลิปปินส์นั้นเอง พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสจากอเมริกา, ญี่ปุ่น, อินเดีย, และออสเตรเลีย ก็ได้มาเข้าร่วมงานการประชุมข้างเคียง ซึ่งเรียกขานกันว่า การพูดจาหารือ 4 ฝ่าย อันเป็นการบ่งชี้ว่า การสนทนาด้านความมั่นคงจตุรภาคี (Quadrilateral Security Dialogue) ซึ่งได้ยกเลิกร้างราไปหลายปีแล้วนั้น อาจจะมีการฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งนำออกเผยแพร่ภายหลังจากการประชุมว่า ทั้ง 4 ชาติ “เห็นพ้องกันว่าภูมิภาคอินเดีย-แปซิฟิกที่มีเสรี, เปิดกว้าง, มั่งคั่งรุ่งเรือง, และทุกๆ ฝ่ายมีส่วนร่วม เป็นสิ่งซึ่งให้ผลประโยชน์ระยะยาวแก่ทุกๆ ประเทศในภูมิภาคและแก่โลกโดยองค์รวมด้วย”

คำว่า “อินเดีย-แปซิฟิก” จึงกำลังกลายเป็นคำขวัญที่มีเนื้อหาสาระมุ่งบรรยายวิสัยทัศน์ของสิ่งที่ครั้งหนึ่งพวกผู้วางนโยบายเคยเรียกขานว่า “จตุรภาคี” (Quadrilateral) หรือ “กลุ่มคว็อด” (Quad กลุ่ม 4) ซึ่งเป็นการจับมือเป็นกลุ่มพันธมิตรกันของ 4 ประเทศประชาธิปไตยที่วางแผนจัดตั้งกันขึ้นมา เพื่อสร้างภูมิภาคที่เป็นเสรี, เปิดกว้าง, และมีสันติภาพ

คำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียบอกว่า ณ การประชุมที่กรุงมะนิลาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. เจ้าหน้าที่ของทั้ง 4 ชาติได้หารือกันถึง “การยืนหยัดสนับสนุนระเบียบในอินเดีย-แปซิฟิก ที่อิงอยู่กับกฎกติกา และการเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ, เสรีภาพในการเดินเรือและเสรีภาพในการบินผ่าน

ถึงแม้คำแถลงนี้ไม่ได้เอ่ยถึงจีนอย่างเฉพาะเจาะจง แต่พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่สุดก็ตีความกันว่าถ้อยคำเช่นนี้เป็นภาษาเข้ารหัสซึ่งมุ่งคัดค้านต่อต้านลัทธิขยายอาณาเขตของปักกิ่งในทะเลจีนใต้

ชินโซ อาเบะ เมื่อตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสมัยแรก ได้ไปกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาของอินเดียในปี 2007 โดยใช้ชื่อหัวเรื่องคำปราศรัยคราวนั้นว่า “การไหลเข้าบรรจบกันของทะเลทั้งสอง” (Confluence of the Two Seas) เขาเรียกร้องให้มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกมี “การเข้าคู่กันอย่างทรงพลังไม่หยุดนิ่ง” (dynamic coupling) ซึ่งจะนำไปสู่การเป็น “ดินแดนรูปโค้งแห่งเสรีภาพและความมั่งคั่งรุ่งเรือง” (arc of freedom and prosperity) สำหรับ “เอเชียในวงกว้าง”

ปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการจัด “การสนทนาด้านความมั่นคงจตุรภาคี” อย่างไม่เป็นทางการขึ้นระหว่าง 4 ประเทศนี้ ทว่าการสนทนาเช่นนี้ได้ล้มเลิกไปในปี 2008 เมื่อ เควิน รัดด์ (Kevin Rudd) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียคนใหม่ และประกาศถอนตัว โดยที่มีรายงานว่าเนื่องจากถูกบีบคั้นกดดันจากจีน

กระนั้น นับตั้งแต่นั้นมาพวกนักวิเคราะห์ก็ชี้ว่าทั้ง 4 ชาติมีความเกี่ยวพันระหว่างกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่ยังคงหลีกเลี่ยงไม่มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรอย่างเป็นทางการใดๆ อย่างไรก็ดี การประชุมซึ่งเกิดขึ้นที่มะนิลคราวนี้อาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนจุดพลิกผันที่สำคัญ

ประเด็นสำคัญที่ควรชี้เอาไว้ประเด็นหนึ่งก็คือ แนวความคิดของกลุ่มพันธมิตร “อินเดีย-แปซิฟิก” นั้น ไม่ได้เป็นนโยบายที่วางแผนมาจากทางวอชิงตัน มันไม่เหมือนกับยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” หวนกลับคืนสู่เอเชีย (“pivot” to Asia) ในยุคคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพราะเวลานี้ทรัมป์ดูเหมือนกำลังเดินตามการชี้นำของพวกชาติเอเชียที่เป็นหุ้นส่วนของอเมริกา มากกว่าที่จะเป็นผู้กำหนดระเบียบวาระขึ้นมาตัวเขาเอง

นายกรัฐมนตรีอาเบะของญี่ปุ่นนั่นแหละที่กำลังกลายเป็นผู้เสนอแนะคอยผลักดันชี้นำกลุ่มคว็อด โดยเมื่อเขาหวนกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเมื่อปี 2012 พอถึงวันที่ 2 ของการนั่งตำแหน่ง เขาก็ได้เขียนบทความเรื่องหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาเรียกร้องให้ทำการพัฒนา “เพชรแห่งความมั่นคงของชาติประชาธิปไตยในเอเชีย” (Asia’s democratic security diamond)

การที่ทรัมป์กล่าวย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง “อินเดีย-แปซิฟิก” อาจจะเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่าเวลานี้ทำเนียบขาวเดินอยู่เบื้องหลังเป้าหมายของอาเบะแล้ว พวกนักวิเคราะห์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คำๆ นี้มีความหมายที่ตัดแย้งอย่างสำคัญกับคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ตามแบบแผนเดิมที่ใช้กันอยู่ รวม 3 ด้านด้วยกัน

ประการแรก จากการใช้คำซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงมหาสมุทรทั้ง 2 คือ มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก มันก็คือการให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ แก่ความวิตกห่วงใยในด้านอาณาเขตทางทะเล ซึ่งรวมไปถึงลัทธิแผ่ขยายอาณาเขตของจีนในทะเลจีนใต้ด้วย ประเทศทั้ง 4 เหล่านี้ต่างคัดค้านมานานแล้วต่อการที่จีนสั่งสมเพิ่มพูนแสนยานุภาพทางทหารในดินแดนทางทะเลซึ่งช่วงชิงอยู่กับชาติอื่นๆ นี้ พร้อมกับเรียกร้องให้ปักกิ่งเคารพระเบียบที่อิงอยู่กับกฎกติกา รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) ตลอดจนเรียกร้องปักกิ่งยินยอมให้มีการใช้เสรีภาพในการเดินเรืออย่างเต็มที่

ไม่เพียงเท่านั้น คำว่าอินเดีย-แปซิฟิกยังเป็นการส่องแสงสปอตไลต์จับจ้องดูการขยายตัวทางด้านนาวีของจีนในมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย กองทัพเรือจีนนั้นได้จัดการซ้อมรบทางทหารด้วยกระสุนจริงขึ้นในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเพื่อเป็นการตระเตรียมสำหรับความเป็นไปได้ที่เรือรบของพวกเขาจะเข้าปิดล้อมทางทะเลต่อภูมิภาคแถบนี้ ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯกับอินเดียก็มีการจัดฝึกซ้อมทางนาวีในมหาสมุทรอินเดียเป็นประจำทุกปี โดยมีชื่อเรียกขานว่า “เอ็กเซอร์ไซส์ มาลาบาร์” (Exercise Malabar) และญี่ปุ่นได้เข้าร่วมด้วยตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา

ประการที่สอง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ชอบพูดย้ำอยู่บ่อยๆ ถึงเรื่อง “เอเชียสำหรับชาวเอเชีย” อันเป็นการประณามติเตียนอย่างเป็นนัยๆ ถึงการที่อเมริกาเข้ามาแสดงบทบาทอยู่ในกิจการต่างๆ ของภูมิภาคแถบนี้ การเปลี่ยนจากคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” มาเป็น “อินเดีย-แปซิฟิก” จึงมีความหมายแฝงเร้นแสดงถึงความตั้งใจอันชัดเจนที่จะลดทอนการวางตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตของจีนเหนือทวีปเอเชีย

จริงๆ แล้ว มีบางคนบางฝ่ายพูดถึง “จตุรภาคี” ดั้งเดิม ว่า เป็น “องค์การนาโต้ของเอเชีย” (Asian NATO) ทีเดียว ขณะที่อีกหลายๆ คนมองว่ามันเป็นการถ่วงดุลกับ “องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้” (Shanghai Cooperation Organization) ที่จีนหนุนหลังอยู่ ซึ่งบัดนี้ได้เติบใหญ่ขยายตัวกลายเป็นกลุ่มทางการเมืองและความมั่นคงในยูเรเชียที่ประกอบด้วยสมาชิกรวม 8 ชาติแล้ว

ประการสุดท้าย การใช้คำว่า อินเดีย-แปซิฟิก เป็นมุ่งหาทางยืนยันว่าอินเดียเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของความมั่นคงในภูมิภาค หลังจากในอดีตที่ผ่านมาอนุทวีปอินเดียมักถูกมองว่าเป็นดินแดนชายขอบในเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่มีมหาสมุทรอินเดียเป็นเส้นตัดแบ่งระหว่างกิจการของเอเชียใต้กับกิจการของเอเชียตะวันออก

การที่อินเดียกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาครายใหญ่รายหนึ่งนั้น เป็นสิ่งซึ่งได้รับความสนับสนุนส่งเสริมอย่างชัดเจนมากจากทำเนียบขาวของทรัมป์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯ ได้พูดถึงเรื่องการสร้างศตวรรษใหม่แห่ง “ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” กับอินเดีย ในระหว่างกล่าวแสดงปาฐกถาที่กรุงวอชิงตันเมื่อเดือนที่แล้ว

“ชาวอินเดียและชาวอเมริกันไม่เพียงแค่ต่างฝ่ายต่างก็มีความเกี่ยวดองใกล้ชิดกับประชาธิปไตยร่วมกันเท่านั้น เรายังมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตร่วมกันอีกด้วย” ทิลเลอร์สันกล่าว ก่อนที่จะยืนยันการมุ่งเน้นต่อต้านจีนเป็นพิเศษของ “อินเดีย-แปซิฟิก”

“จีนนั้น ขณะที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างเคียงคู่กับอินเดีย แต่เขากลับกระทำสิ่งต่างๆ อย่างแสดงความรับผิดชอบน้อยกว่า อีกทั้งบางครั้งบางคราวก็กำลังบ่อนทำลายระเบียบระหว่างประเทศที่อิงอยู่กับกฎกติกา” ทิลเลอร์สันบอก “พฤติการณ์ยั่วยุของจีนในทะเลจีนใต้นั้นเป็นการท้าทายโดยตรงต่อกฎหมายระหว่างประเทศและบรรทัดฐานระหว่างประเทศซึ่งสหรัฐฯและอินเดียต่างก็เคารพยึดมั่นกันทั้งคู่”

เมื่อตอนที่มีการจัดพูดจาหารือจตุรภาคีกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2007 นั้น มีการกล่าวอ้างกันว่านิวเดลีไม่ได้ให้การสนับสนุนความคิดนี้อย่างเต็มตัว เนื่องจากวิตกว่ามันจะเป็นการเกินกำลังของตัวเองในทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม สำหรับในทุกวันนี้แล้ว อินเดียดูเหมือนมีความยินดีมากขึ้นที่จะสำแดงจุดยืนอันทรงพลังในการต่อต้านคัดค้านลัทธิขยายดินแดนของฝ่ายจีน

ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่นิวเดลีมีอยู่กับโตเกียวยังได้ปรับปรุงยกระดับขึ้นมาในระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ นอกจากนั้นอินเดียยังได้ลงนามในข้อตกลงความมั่นคงฉบับสำคัญฉบับหนึ่งกับออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นเหล่านี้ก่อให้เกิดภาพที่ตัดแย้งกันอย่างชัดเจนรุนแรง กับการที่อินเดียเกิดการปะทะกันเล็กๆ น้อยๆ กับจีนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนในบริเวณที่ราบสูงดอคลัม (Doklam) ซึ่งตั้งอยู่ตรงพรมแดนระหว่างจีนกับภูฏาน

ในที่สุดแล้วจีนและอินเดียสามารถตกลงกันที่จะ “ถอน (ทหารของพวกเขา) ออกห่างจากกันอย่างรวดเร็ว” เมื่อเดือนสิงหาคม สองประเทศนี้ได้เคยสู้รบกันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อครั้งสงครามชายแดนบริเวณเทือกเขาหิมาลัยในปี 1962 อันเป็นการศึกซึ่งจีนเป็นฝ่ายชนะอย่างงดงาม นับแต่นั้นทั้งสองฝ่ายได้นำเอานโยบาย “ตกลงกันที่จะไม่เห็นพ้องกัน” (“agree-to-disagree” policy) มาปรับใช้กับแนวชายแดนร่วมความยาว 3,500 กิโลเมตรของพวกเขา ซึ่งมีหลายๆ ตอนที่แต่ละชาติต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่

อย่างไรก็ดี ภูมิรัฐศาสตร์ได้ทำให้เดิมพันเพิ่มสูงขึ้นไปอีกอย่างมโหฬาร เวลานี้จีนกลายเป็นผู้หนุนหลังทางการเงินและทางการเมืองรายสำคัญรายหนึ่งของปากีสถาน ผู้เป็นศัตรูในประวัติศาสตร์ของอินเดีย นิวเดลียังมีความกังวลอีกด้วยว่าพวกเพื่อนบ้านของตนที่มีความเป็นมิตรต่อกันอยู่อย่างบังกลาเทศและศรีลังกา เวลานี้กำลังถูกดึงเข้าไปอยู่ในวงโคจรของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านทางแผนการริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของแดนมังกร

แล้วหลังจากนี้กลุ่มจตุรภาคีซึ่งทำหน้าที่ถ่วงดุลนี้จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร? การพูดจาหารือกันข้างเคียงที่ประชุมซัมมิตอาเซียนเมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 พ.ย. ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ถึงแม้ยังไม่ได้มีพันธะผูกพันอย่างเป็นทางการใดๆ เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การที่เป็นทางการขึ้นมา

กระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียกล่าวเอาไว้ในคำแถลงว่า “เหล่าผู้เข้าร่วมให้คำมั่นที่จะดำเนินการหารือจตุรภาคีอย่างต่อเนื่องต่อไป และมีการปฏิบัติการร่วมกันอย่างลงรากลึกมากยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของค่านิยมและหลักการต่างๆ ที่มีอยู่ร่วมกัน” บางคนบางฝ่ายมองว่าถ้อยคำเช่นนี้คือการแผ้วถางทางสำหรับการที่ 4 ชาตินี้จะจัดให้มีการประชุมซัมมิตระหว่างผู้นำของพวกเขาเป็นประจำขึ้นมา หรือเดินหน้าในการพัฒนาการฝึกซ้อมทางทหารแบบร่วมกัน 4 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงเหมือนกัน หากเปรียบเทียบกับในปี 2007 เมื่อตอนที่การสนทนาด้านความมั่นคงจตุรภาคีจัดกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกแล้ว จีนในเวลานี้ทรงอำนาจยิ่งกว่าในตอนนั้นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ, การทหาร, หรือทางภูมิรัฐศาสตร์

“ปักกิ่งทุกวันนี้อยู่ในฐานะที่ดีขึ้นกว่าเดิมในการที่จะบ่อนทำลายวิสัยทัศน์อินเดีย-แปซิฟิกนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับที่เคยเป็นมาในอดีต” โรฮัน มุคเคอร์จี (Rohan Mukherjee) รองศาสตราจารย์วิชารัฐศาสตร์ของวิทยาลัย เยล-เอ็นยูเอส คอลเลจ (Yale-NUS College) ในสิงคโปร์ เขียนเอาไว้เช่นนี้

มุคเคอร์จีเขียนต่อไปว่า ทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลียต่างต้องพึ่งพาอาศัยจีนสำหรับการค้าประมาณ 20% ของพวกเขา ซึ่งอาจจะทำให้พวกเขาต้องหลีกเลี่ยงจากการใช้จุดยืนต่อต้านจีนอย่างเข้มแข็งมั่นคงในปริมณฑลทางยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากปักกิ่งข่มขู่คุกคามที่จะใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า

พวกนักวิเคราะห์ยังชี้ด้วยว่า ในหมู่พรรคการเมืองซึ่งต่อล้อต่อเถียงกันไม่หยุดหย่อนของออสเตรเลียนั้น ไม่ได้มีพลังสนับสนุนความร่วมมือจตุรภาคีชนิดที่มาจากพรรคฝ่ายต่างๆ หลายหลาก เรื่องนี้จึงอาจเป็นอันตรายต่อการเจรจาหารืออีกครั้งหนึ่งก็ได้ เหมือนในคราวที่ เควิด รัดด์ ได้บอกยกเลิกการเข้าร่วมสนทนาในกรอบนี้ เมื่อเขาขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีแดนจิงโจ้

สิ่งที่กังวลห่วงใยกันอีกประการหนึ่ง ได้แก่เรื่องที่ว่าทำเนียบขาวของทรัมป์มีความมุ่งมั่นผูกพันกับวิสัยทัศน์จตุรภาคีนี้ขนาดไหน การเดินทางไปเยือนปักกิ่งของเขาในเดือนนี้กลายเป็นการย้ำยืนยันกลายๆ ว่าความสัมพันธ์ของเขากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้นอยู่ในระดับใกล้ชิดสนิทสนมกัน ซึ่งย่อมมีศักยภาพที่จะกลายเป็นจุดสะดุดติดขัดในการทำให้วิสัยทัศน์อินเดีย-แปซิฟิกใดๆ กลายเป็นความจริงขึ้นมา

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปว่าทรัมป์เป็นผู้ที่มีความนิยมชมชื่นกับการดำเนินการในลักษณะทวิภาคี ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมและด้านการทูตของเขามีความเปิดกว้างต่อเส้นทางพหุภาคีมากกว่าอย่างชัดเจนก็ตามที การที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เขาประกาศนำสหรัฐฯถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) ก็ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับบทบาททางเศรษฐกิจในอนาคตของอเมริกาในภูมิภาคแถบนี้

วิสัยทัศน์อินเดีย-แปซิฟิกจะสามารถวิวัฒนาการกลายเป็นตัวถ่วงดุลอันทรงประสิทธิภาพต่อการที่จีนก้าวผงาดขึ้นมาในระดับภูมิภาคในช่วงหลังๆ มานี้ได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีอเมริกาซึ่งมุ่งมั่นผูกพันและเข้าร่วมมีปฏิสัมพันธ์อย่างแข็งขัน แต่เท่าที่เป็นมาจนถึงเวลานี้ การที่ทรัมป์ใช้คำว่า “อินเดีย-แปซิฟิก” แทนคำว่า “เอเชีย-แปซิฟิก” ยังดูเหมือนเป็นเพียงความนิยมในวลีใหม่ๆ แปลกๆ อีกวลีหนึ่ง สำหรับใช้ในเวลาส่งข้อความไปถึงเอเชีย โดยที่ข้อความซึ่งเขาส่งออกมานั้น มักอยู่ในลักษณะขัดแย้งกันเองอยู่เป็นประจำ

เดวิด ฮุตต์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งตั้งฐานประจำอยู่ในกรุงพนมเปญ
กำลังโหลดความคิดเห็น