xs
xsm
sm
md
lg

IMF ชี้ ศก.โลกขยายตัวยาวถึงปีหน้า แนะฉวยจังหวะเร่งเครื่องแผนปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คริสติน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ(ซ้ายสุด) จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา(ที่2จากซ้าย) เข้าร่วมเวทีสัมมนา  Bloomberg Global Business Forum  ที่นิวยอร์ก สหรัฐฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
เอเจนซีส์ - ไอเอ็มเอฟฟันธงเศรษฐกิจโลกขาขึ้นจะสามารถลากยาวต่อเนื่องไปถึงปีหน้า เรียกร้องประเทศต่างๆ อาศัยจังหวะนี้ดำเนินมาตรการปฏิรูปที่จำเป็นเพื่อจัดการกับปัจจัยถ่วงการเติบโตมากมายที่รออยู่ อาทิ การที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ปัญหาสินเชื่อภาคธุรกิจในจีน ลัทธิกีดกันการค้า และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับปรับปรุงใหม่เมื่อวันอังคาร (10 ต.ค.) โดยมีการปรับอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ จากการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา ให้สูงขึ้น 0.1% มาอยู่ที่ 3.6% สำหรับปี 2017และ 3.7% สำหรับปีหน้า สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของการค้า การลงทุน และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

มอริซ อ็อบสต์เฟลด์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของไอเอ็มเอฟ กล่าวว่า รายงานฉบับล่าสุดที่จัดทำขึ้นในวาระที่กองทุนกำลังจะจัดประชุมประจำปีกับธนาคารโลกในสัปดาห์นี้นั้น ให้ภาพต่างจากรายงานเมื่อต้นปีที่แล้วโดยสิ้นเชิง โดยในตอนนั้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกสะดุดอย่างแรงและตลาดการเงินปั่นป่วน

กระนั้น อ็อบสต์เฟลด์เตือนว่า การฟื้นตัวขณะนี้ในแง่มุมสำคัญหลายด้านยังไม่มีความสมบูรณ์ และโอกาสสำหรับการใช้จังหวะเศรษฐกิจขาขึ้นเพื่อดำเนินการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ไม่ได้เปิดกว้างรออยู่ตลอดไป

นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมแล้ว แนวโน้มการเติบโตของหลายภูมิภาคและประเทศสำคัญ ได้แก่ ยูโรโซน ญี่ปุ่น จีน ตลาดเกิดใหม่ในยุโรป และรัสเซีย ล้วนได้รับการปรับเพิ่มเช่นกัน ขณะที่แนวโน้มการเติบโตของอเมริกาคงเดิมที่ 2.2% ในปีนี้ และ 2.3% ในปี 2018 ภายใต้การคาดการณ์ว่า แผนการลดภาษีของคณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้

การเติบโตของยูโรโซนได้รับการปรับเพิ่มจากการคาดการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 0.2% สำหรับทั้งปีนี้และปีหน้า โดยขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.1% และ 1.9% ตามลำดับ สะท้อนการฟื้นตัวของภาคส่งออก ดีมานด์ภายในเข้มแข็งขึ้น สถานะทางการเงินผ่อนคลาย และความเสี่ยงทางการเมืองบรรเทาลง

ทั้งนี้ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นก่อนเกิดความไม่สงบในแคว้นคาตาลุญญาของสเปน หนึ่งในสมาชิกสำคัญของสหภาพยุโรป (อียู)

อย่างไรก็ดี ไอเอ็มเอฟตั้งข้อสังเกตว่า การเติบโตของยูโรโซนยังคงอยู่ภายใต้ความกดดันของศักยภาพการผลิตที่อ่อนแอ สังคมชราภาพ และภาระหนี้สูงในบางประเทศ

สำหรับอังกฤษ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีปัจจุบันถูกปรับลงอย่างรุนแรงอยู่ที่ 1.7% อันเป็นผลจากการประกาศถอนตัวจากอียู (เบร็กซิต) ในปีที่ผ่านมา และความไม่แน่นอนในกระบวนการเจรจาเพื่อถอนตัว

เบร็กซิตทำให้อังกฤษเปลี่ยนสถานะจากหนึ่งในประเทศที่โตเร็วที่สุดในกลุ่มชาติมั่งคั่งจี 7 กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจชะลอตัวที่สุด มีเพียงญี่ปุ่นและอิตาลีเท่านั้นที่ถูกคาดหมายว่า จะมีอัตราเติบโตต่ำกว่า 1.5% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์สำหรับเศรษฐกิจเมืองผู้ดีในปีหน้า

ไอเอ็มเอฟยังอัปเกรดแนวโน้มการเติบโตของจีนนับจากปัจจุบันจนถึงปี 2022 ภายใต้สมมติฐานว่า ปักกิ่งจะสานต่อนโยบายส่งเสริมการขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนปีนี้จะอยู่ที่ 6.8% และ 6.5% ในปีหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ในเดือนกรกฎาคม 0.1% ทั้งสองปี

รายงานล่าสุดฉบับนี้ของไอเอ็มเอฟบอกว่า เศรษฐกิจชาติชั้นนำมีแนวโน้มขยายตัว 2.2% ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 0.2% จากตัวเลขประมาณการณ์ในเดือนกรกฎาคม และคาดว่าจะอยู่ที่ 2% ในปี 2018 ขณะที่อัตราเติบโตของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาถูกคาดหมายไว้ที่ 4.6% เท่ากับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

แม้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มสดใส แต่ไอเอ็มเอฟไม่วายเตือนว่า ความเสี่ยงสำคัญอาจมาจากกฎระเบียบ ตลอดจนนโยบายการค้าและการคลังของอเมริกาที่ “ยากคาดการณ์” ผลกระทบจากเบร็กซิต การที่ธนาคารกลางของอเมริกาและยุโรปขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไป ปัญหาสินเชื่อธุรกิจในจีน อัตราดอกเบี้ยต่ำเรื้อรังในประเทศพัฒนาแล้ว การรื้อฟื้นกฎในอุตสาหกรรมการเงินในช่วงก่อนเกิดวิกฤตกลับมาใช้ใหม่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่ลัทธิกีดกันการค้ากะทันหัน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์

อ็อบสต์เฟลด์ชี้ว่า สถานการณ์ที่กล่าวมานี้เป็นอุปสรรคทั้งต่อแนวโน้มการเติบโตและการปฏิรูป ดังนั้น ประเทศต่างๆ จึงควรลงมือแก้ไขทันที เช่น ประเทศที่อัตราว่างงานเกือบเป็นศูนย์ควรสะสางหนี้สาธารณะ ส่วนประเทศที่มียอดเกินดุลงบประมาณควรเพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษาและโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป และภาครัฐควรลงทุนในการฝึกอบรมแรงงานเพื่อลดอัตราว่างงานในกลุ่มประชากรหนุ่มสาว
กำลังโหลดความคิดเห็น