xs
xsm
sm
md
lg

“คาร์เตอร์” เสนอตัวผูกมิตรโสมแดง ยินดีไปเปียงยางเจรจาสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – คาร์เตอร์ขัดใจทรัมป์ เผยยินดีพบคิมเพื่อปลดชนวนความขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการอาวุธนิวเคลียร์โสมแดงและนำ “สันติภาพถาวร” สู่คาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ทำเนียบขาวชูจุดยืนแข็งกร้าวไม่ยอมญาติดีกับเปียงยางเด็ดขาดไม่ว่ารูปแบบใด นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าแฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือได้ทำการขโมยข้อมูลเอกสารทางทหารจากเกาหลีใต้ไปเป็นจำนวนมาก

พัค ฮัน-ชิค ศาสตราจารย์กิจการระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์จุงอังของเกาหลีใต้ว่า จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ วัย 93 ปี บอกกับตนระหว่างพบกันเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า ยินดีเดินทางไปเปียงยางและพบกับคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เพื่อหารือสนธิสัญญาสันติภาพเกาหลีเหนือ-สหรัฐฯ รวมทั้งการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดของเกาหลีเหนือ แถมคาร์เตอร์ยังบอกว่า ต้องการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพถาวรบนคาบสมุทรเกาหลี

เป็นที่คาดว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเกาหลีเหนือของอดีตประธานาธิบดีผู้นี้จะสร้างความขุ่นเคืองให้ทำเนียบขาว ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วเคยขอให้คาร์เตอร์เลิกพูดถึงวิกฤตนิวเคลียร์โสมแดงต่อสาธารณชน เนื่องจากกลัวว่า จะบ่อนทำลายแนวทางของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ปฏิเสธการญาติดีกับเปียงยางทุกรูปแบบ

สื่อมวลชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เข้าพบคาร์เตอร์ที่บ้านพักเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อถ่ายทอดคำขอของทรัมป์

จุดยืนในการปรองดองของคาร์เตอร์สวนทางกับคณะบริหารของทรัมป์ที่ชูมาตรการคว่ำบาตรและขู่ใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ หากอเมริกาหรือพันธมิตรถูกเกาหลีเหนือคุกคาม แต่ถึงกระนั้น ดูเหมือนคาร์เตอร์ไม่ได้รับฟังเสียงเรียกร้องจากทำเนียบขาวแม้แต่น้อย

ในบทความในหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาร์เตอร์วิจารณ์ว่า สถานการณ์เกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อการดำรงอยู่ของสันติภาพโลก พร้อมเรียกร้องให้วอชิงตันและเปียงยางหาทางปลดชนวนความตึงเครียดอย่างสันติเพื่อบรรลุข้อตกลงสันติภาพที่ยั่งยืน

คาร์เตอร์เสริมว่า เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือทุกคนที่เขาเคยพบ ซึ่งรวมถึงอดีตผู้นำ คิม อิลซุง ล้วนบอกตรงกันว่า ต้องการเปิดเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพโดยตรงกับสหรัฐฯ เพื่อแทนที่ข้อตกลงหยุดยิงฉบับเดิมที่ทำขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีปี 1950-1953

คาร์เตอร์สำทับว่า ความพยายามในการกดดันให้เกาหลีเหนือยุติโครงการขีปนาวุธนิวเคลียร์ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ตราบที่เปียงยางเชื่อว่าความอยู่รอดของตนตกอยู่ในความเสี่ยง ดังนั้นขั้นตอนต่อไปที่วอชิงตันต้องทำก็คือ ส่งผู้แทนระดับสูงไปเปียงยางเพื่อเปิดเจรจาสันติภาพ หรือสนับสนุนการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงตัวแทนจากเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ อเมริกา และจีน ในสถานที่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

การทูตแบบนุ่มนวลที่เป็นสัญลักษณ์ของคาร์เตอร์เคยชนะใจเกาหลีเหนือมาแล้ว เช่น ในปี 1994 ในยุคประธานาธิบดี บิลล์ คลินตัน ตอนนั้นคาร์เตอร์โน้มน้าวให้คิม อิลซุง ระงับโครงการนิวเคลียร์ภายใต้ข้อตกลงที่ช่วยป้องกันความขัดแย้งกับอเมริกา

ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2010 คาร์เตอร์แทรกแซงกระทั่งเปียงยางยอมปล่อยตัว อัลจาลอน โกเมส ชาวอเมริกันที่ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี ข้อหาลักลอบเดินทางเข้าเกาหลีเหนือ

พัคที่ช่วยจัดการเดินทางไปเกาหลีเหนือให้คาร์เตอร์ในปี 1994 และ 2010 กล่าวเสริมว่า เขาแจ้งเปียงยางเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของคาร์เตอร์ในการนำคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ไปยังเกาหลีเหนือแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบกลับมา ถ้าเปียงยางตกลงและส่งคำเชิญอย่างเป็นทางการ ทางคณะทำงานอาจต้องหารือกับทรัมป์ โดยต้องเตรียมทางหนีทีไล่ให้พร้อมแต่เนิ่นๆ ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ถ้าประมุขทำเนียบขาวคัดค้าน

ทั้งนี้ แม้แต่คณะผู้แทนอย่างไม่เป็นทางการยังต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ หลังจากก่อนหน้านี้มีคำสั่งห้ามพลเมืองอเมริกันเดินทางไปเกาหลีเหนือ

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่าแฮกเกอร์จากเกาหลีเหนือได้ทำการขโมยข้อมูลเอกสารทางทหารจากเกาหลีใต้ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงข้อมูลแผนลอบสังหารผู้นำเกาหลีเหนือ "คิม จองอึน"

ส.ส.เกาหลีใต้ "รี โชลฮี" บอกว่าได้รับข้อมูลนี้มาจากกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ซึ่งเอกสารที่ถูกขโมยไปเหล่านั้น มีเอกสารที่เกี่ยวกับการรบ หากมีการทำสงครามกับเกาหลีเหนือ ซึ่งแผนเหล่านี้เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ได้ร่วมกับเขียนขึ้นมา อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

รีบอกว่า ข้อมูลที่ถูกแฮกมีทั้งแผนการทางทหารของกองกำลังพิเศษเกาหลีใต้ รวมถึงพวกข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าและหน่วยงานทางทหารที่สำคัญในเกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังมีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของข้อมูลเอกสารเหล่านี้ที่มีจำนวนมากถึง 235 กิกะไบท์ ที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป้นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร

ทั้งนี้ การแฮกดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้เคยบอกว่าถูกขโมยข้อมูลไปเป็นจำนวนมาก และเกาหลีเหนืออาจมีส่วนในการโจมตีไซเบอร์ดังกล่าว แต่ไม่มีการเปิดเผยในตอนนั้นว่ามีข้อมูลอะไรบ้างที่ถูกขโมยไป
กำลังโหลดความคิดเห็น