xs
xsm
sm
md
lg

ยอดอพยพหนี “ภูเขาไฟปะทุ” ในบาหลีพุ่ง 144,000 คน ทางการวอน ปชช.ที่อยู่นอกเขตเสี่ยงภัย “กลับบ้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กลุ่มควันสีขาวลอยขึ้นมาจากปากปล่องภูเขาไฟอากุงบนเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา
เอเอฟพี - ทางการอินโดนีเซียขอร้องวันนี้ (30 ก.ย.) ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยเดินทางกลับบ้าน หลังยอดผู้อพยพหนีการปะทุของภูเขาไฟอากุง (Agung) บนเกาะบาหลีพุ่งกว่า 144,000 คน

ภูเขาไฟอากุงซึ่งอยู่ห่างจากย่านกูตา (Kuta) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของบาหลีราว 75 กิโลเมตร เริ่มมีการสั่นสะเทือนมาตั้งแต่เดือน ส.ค. ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่าภูเขาไฟลูกนี้อาจจะระเบิดอีกครั้ง หลังจากที่ปะทุครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1963 และได้มีการยกระดับเตือนภัยสู่ขั้นสูงสุดเมื่อ 8 วันก่อน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระบุว่า ยอดผู้อพยพได้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินความจำเป็น และได้ย้ำเตือนอีกครั้งว่าเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 9 กิโลเมตรจากปากปล่องภูเขาไฟเท่านั้นที่จะต้องอพยพมายังศูนย์พักพิง หรือจะไปอาศัยอยู่กับเพื่อนและญาติที่อยู่ห่างออกไปก็ได้

“ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกเขตเสี่ยงภัยไม่มีความจำเป็นต้องอพยพ และขอให้เดินทางกลับบ้าน ไม่เช่นนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะต้องรับภาระหนักเกินไป” มาเด มังกู ปัสติกา ผู้ว่าการเกาะบาหลี แถลง

ทางการอินโดนีเซียระบุว่า มีประชาชนเพียงแค่ 70,000 คนเท่านั้นที่อาศัยอยู่ภายในรัศมีที่จะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของภูเขาไฟอากุง ส่วนอีกกว่า 70,000 คนที่เหลือสามารถเดินทางกลับบ้านได้

“มีเพียง 27 หมู่บ้านเท่านั้นที่ต้องอพยพ ที่เหลือกลับบ้านได้ ท่านสามารถเดินทางกลับด้วยตัวเอง หรือจะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ได้” สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุ

ศูนย์ภูเขาไฟวิทยาและการบรรเทาความเสี่ยงทางธรณีวิทยาแห่งอินโดนีเซีย แถลงว่า กิจกรรมของภูเขาไฟอากุงแม้จะอยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังคงเสถียร โดยตรวจพบแรงสั่นสะเทือนไม่ถึง 200 ครั้งตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึง 06.00 น.ของวันนี้ (30 ก.ย.) ซึ่งถือว่าลดลงกว่าเมื่อวันพุธ (27) และวันพฤหัสบดี (28) ที่ผ่านมา

หมู่เกาะอินโดนีเซียตั้งอยู่บนแนววงแหวนไฟในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ring of Fire) ซึ่งจุดที่แผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นมาบรรจบกัน จึงเกิดกิจกรรมแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง

เมื่อปี 2010 ภูเขาไฟเมอราปี (Merapi) บนเกาะชวาได้เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงหลังจากที่มีสัญญาณเตือนมาตั้งแต่ปี 2006 ส่วนภูเขาไฟซินาบุง (Sinabung) บนเกาะสุมาตราซึ่งถูกประกาศเตือนภัยขั้นสูงสุดเช่นกันก็ปะทุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013

“เรายังไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าภูเขาไฟอากุงจะระเบิดเร็วๆ นี้ ฉะนั้นขอให้นักท่องเที่ยวอย่ากลัวที่จะมาเยือนบาหลี ที่นี่ยังปลอดภัย และต่อให้ภูเขาไฟระเบิด ประชาชนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่เสี่ยงภัยก็จะไม่ได้รับผลกระทบ” นูโกรโฮ กล่าว
ประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซียและภริยาเดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่อพยพหนีการปะทุของภูเขาไฟอากุงบนเกาะบาหลี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา
หน่วยกู้ภัยบาหลีช่วยกันอพยพสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านออกจากพื้นที่ซึ่งเสี่ยงได้รับอันตรายจากการปะทุของภูเขาไฟอากุง
กำลังโหลดความคิดเห็น