xs
xsm
sm
md
lg

“แมร์เคิล” ชนะ แต่ฐานะอ่อนยวบลง ขวาจัดผงาด-รบ.ใหม่อาจไม่มั่นคง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้นำพรรคคริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) เปิดแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ของพรรคในวันจันทร์(25ก.ย.) หนึ่งวันหลังจากเสร็จศึกเลือกตั้งทั่วไป
เอเจนซีส์ - กลุ่มพันธมิตรฝ่ายอนุรักษนิยมของ “อังเกลา แมร์เคิล” ชนะได้เสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ (24 ก.ย.) ทำให้เธอจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปเป็นสมัยที่ 4 แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า จากการผงาดเข้าสู่สภาของพรรคขวาจัด และการที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมขอแยกตัว ทำให้ผู้นำหญิงเหล็กเมืองเบียร์ต้องหันไปหาสองพรรคเล็กที่มีแนวทางนโยบายหลายอย่างแตกต่างกันสิ้นเชิง ส่งผลให้รัฐบาลผสมชุดใหม่ทำท่าว่า จะไร้เสถียรภาพตั้งแต่ยังไม่ทันได้จัดตั้ง

การจัดการรับมือวิกฤตผู้ลี้ภัยเมื่อสองปีที่แล้ว ซึ่งแมร์เคิลตัดสินใจยอมรับผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากมาย กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พันธมิตรอนุรักษนิยมของ 2 พรรคพี่พรรคน้อง คริสเตียน เดโมเครติก ยูเนียน (ซีดียู) - และคริสเตียน โซเชียล ยูเนียน (ซีเอสยู) ของนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล เก็บคะแนนเลือกตั้งคราวนี้ (24) ได้แค่ 33% น้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2013 ราว 8.5% และยังถือเป็นคะแนนต่ำสุดตั้งแต่ปี 1949

เหล่าพรรคการเมืองดั้งเดิมของเยอรมนีช็อกสุดขีด เมื่อผู้มีสิทธิออกเสียงที่สนับสนุนแนวทางอนุรักษนิยมกลับหันไปกาบัตรเลือกอัลเทอร์เนทีฟ ฟอร์ เยอรมนี (เอเอฟดี) พรรคการเมืองขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพ เข้าสู่บุนเดสทัก หรือรัฐสภาเมืองเบียร์ครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษด้วยคะแนน 12.6% หรือสูงสุดอันดับ 3

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพันธมิตรซีดียู/ซีเอสยู ยังคงสามารถครองที่นั่งในสภามากที่สุด ผู้นำหญิงทรงอิทธิพลที่สุดของยุโรปผู้นี้จึงประกาศว่า แนวร่วมอนุรักษนิยมของตนจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และเธอมั่นใจว่า จะสำเร็จลุล่วงภายในช่วงคริสต์มาส

ทว่า สถานะผู้นำที่อ่อนแอลงของแมร์เคิล ประกอบกับแนวโน้มรัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพเนื่องจากพันธมิตรซีดียู/ซีเอสยู คงต้องร่วมหอลงโรงกับ 2 พรรคที่มีขนาดค่อนข้างเล็กซึ่งมีนโยบายที่ต่างกันมาก คือ ฟรี เดโมแครตส์ (เอฟดีพี) เป็นพรรคการเมืองที่ส่งเสริมธุรกิจ และกรีนส์ พรรคที่เน้นเรื่องพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและไม่เคยรับภารกิจระดับชาติมาก่อน ทำให้เล็งเห็นกันถึงความเป็นไปได้ที่การเมืองเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปจะไร้ความแน่นอนนานหลายเดือน ด้วยเหตุนี้นักลงทุนจึงพากันกังวลและฉุดค่าเงินยูโรอ่อนลง 0.2% อยู่ที่ 1.1930 ดอลลาร์ระหว่างการซื้อขายช่วงเช้าในตลาดเอเชียวันจันทร์ (25)

“ช็อก! แผ่นดินถล่ม หุ้นร่วง การเลือกตั้งเพื่อต่อต้านแมร์เคิลในตอนต้น กลับกลายเป็นการสนับสนุนแมร์เคิลในท้ายที่สุด” หนังสือพิมพ์ฮันเดลส์บลัตต์วิจารณ์

“ชัยชนะที่เป็นฝันร้ายสำหรับแมร์เคิล” บิลด์ หนังสือพิมพ์ที่ขายดีที่สุดของเยอรมนีพาดหัวตัวโต

ขณะที่แดร์ สปีเกล หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฟันธงว่า แมร์เคิลโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง ค่าที่รณรงค์หาเสียงจืดชืด แถมมองข้ามความท้าทายจากพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด

ผู้นำธุรกิจบางคนกังวลว่า การที่พรรคเอเอฟดีที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันตราหน้าว่า เป็น “นาซีขนานแท้” ได้เข้าสู่สภาระดับชาติแล้วเช่นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเยอรมนี อย่างน้อยก็สร้างความปั่นป่วนในทางการเมืองและทางสังคมได้เป็นอันมาก

อเล็กซานเดอร์ โกแลนด์ หนึ่งในผู้สมัครแกนนำของเอเอฟดี ทำให้ความกังวลนั้นเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นทันทีด้วยการประกาศว่าจะไล่ล่าแมร์เคิล และ “นำประเทศและประชาชนของเรากลับมา” พร้อมเรียกร้องให้ชาวเยอรมันภูมิใจในทหารผ่านศึก และว่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลที่มีรากเหง้าเป็นคนตุรกีจะต้องถูก “ขนไปทิ้งในอนาโตเลีย” (ดินแดนของตุรกีส่วนที่อยู่ในทวีปเอเชีย)

ดีเทอร์ เคมพ์ ประธานสมาคมอุตสาหกรรมบีดีไอ เรียกร้องให้แมร์เคิลจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อภาพลักษณ์ประเทศที่เอื้ออำนวยสำหรับการทำธุรกิจของเยอรมนี

กระนั้น การที่พรรคโซเชียล เดโมแครต (เอสพีดี) ของมาร์ติน ชูลซ์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้านเพื่อเป็น “ปราการปกป้องประชาธิปไตย” และสกัดไม่ให้เอเอฟดีได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน หลังได้คะแนนเลือกตั้งเพียง 20.5% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในยุคหลังสงครามนั้น ทำให้ตัวเลือกหลักของแมร์เคิลมีเพียงการตั้งรัฐบาลจากพันธมิตร “จาไมกา” คือกลุ่มอนุรักษนิยมของตัวเอง กับเอฟดีพีที่ได้คะแนนเลือกตั้ง10.7% และกรีนส์ 8.9% (ทั้ง 3 พรรคมีสีประจำพรรคคือ ดำ, เหลือง, และเขียว ที่เป็นสีธงชาติจาไมกา จึงเรียกกันว่าพันธมิตรจาไมกา)

คาดกันว่าการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่คงจะต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน เพราะ เอเอฟดี กับ กรีนส์ มีนโยบายสำคัญๆ ที่แตกต่างกัน แถมทั้ง 2 พรรคยังมีนโยบายหลายอย่างที่แตกต่างจากพันธมิตรอนุรักษนิยมของแมร์เคิลอีกด้วย ทั้งนี้เรื่องที่พวกเขาต้องประนีประนอมกัน มีทั้งประเด็นด้านผู้อพยพ ภาษี สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงยุโรป

ขณะเดียวกัน ฐานะที่อ่อนแอลงของแมร์เคิล ขณะที่พรรคขวาจัดอย่างเอฟดีพีก้าวผงาดขึ้นมา ยังน่าสร้างปัญหาในการผนวกรวมกับยูโรโซนใกล้ชิดขึ้น ตามที่ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสเสนอ โดยหวังว่าจะได้รับการหนุนหลังอย่างแข็งขันจากเยอรมนี
กำลังโหลดความคิดเห็น