xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ขู่บนเวที UN พร้อมขยี้โสมแดง แถมด่าอิหร่าน-เวเนซุเอลา นานาชาติรุมค้าน-ชูการทูตแก้ไขวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กล่าวปราศรัยต่อการประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งเป็นการพูดบนเวทีใหญ่ของยูเอ็นครั้งแรกของเขา ณ สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก เมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) </i>
เอเจนซีส์ - “ทรัมป์” ปราศรัยครั้งแรกบนเวทีสมัชชาใหญ่ยูเอ็น โดยขู่คำรามว่าถ้าจำเป็นก็พร้อมทำลายเกาหลีเหนือให้สิ้นซาก พร้อมกับระบุต้องการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับรัฐบาลฆาตกรของอิหร่าน และเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับสถานการณ์ในเวเนซุเอลา ขณะที่พวกผู้นำประเทศซึ่งถูกพาดพิง ยกเว้นเพียงโสมแดง ต่างออกมาตอบโต้อย่างดุเดือด นอกจากนั้นผู้นำอีกหลายชาติที่แม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายแข็งกร้าวของประมุขทำเนียบขาว

ระหว่างขึ้นปราศรัยเป็นครั้งแรกในการประชุมประจำปีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ บอกว่า อเมริกามีความเข้มแข็งและอดทน “แต่ถ้าถูกบังคับให้ต้องป้องกันตัวเองหรือพันธมิตร เราคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำลายเกาหลีเหนือให้สิ้นซาก

“มนุษย์จรวดกำลังปฏิบัติภารกิจฆ่าตัวตายและทำลายระบอบของตัวเอง อเมริกาพร้อมยินดีและสามารถ แต่หวังว่าเราจะไม่ต้องทำเช่นนั้น” ทรัมป์กล่าวถึง คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ โดยใช้ฉายาใหม่ที่เขาเพิ่งตั้งให้และเผยแพร่เอาไว้ในทวิตเตอร์

ผู้นำสหรัฐฯ ยังตำหนิจีนอย่างอ้อมๆ โดยไม่เอ่ยชื่อว่า “น่าโมโหที่บางประเทศไม่เพียงค้าขายกับเกาหลีเหนือเท่านั้น แต่ยังติดอาวุธและให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ประเทศที่กำลังทำให้โลกตกอยู่ในอันตรายจากความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์”

ถ้อยโวหารของทรัมป์ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำปราศรัยของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นที่ขึ้นเวทีก่อนผู้นำสหรัฐฯ ไม่กี่นาที และเรียกร้องว่า “เราต้องไม่เดินละเมอพาตัวเองเข้าสู่สงคราม”

ตลอดการปราศรัยต่อหน้าผู้นำจากทั่วโลกเป็นเวลา 42 นาทีคราวนี้ ประมุขทำเนียบขาวพยายามน้อยมากที่จะเก็บงำภาษาดุเดือดก้าวร้าวที่เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเอง อาทิ เขาเตือนว่า โลก “กำลังจะลงนรก” และยังเรียกอิหร่านว่า “รัฐอันธพาล” ที่ทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับวลี “อักษะปีศาจ” ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ทรัมป์ขู่ฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ชาติมหาอำนาจทำกับอิหร่านเมื่อปี 2015

“เชื่อผมเถอะ ถึงเวลาแล้วที่ทั่วโลกจะร่วมกับอเมริกาเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านยุติการไล่สังหารและการทำลายล้าง” และเสริมว่า ภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดสำหรับเตหะรานไม่ใช่กองทัพอเมริกัน แต่เป็นประชาชนอิหร่านที่หมดความอดทน

ทว่า โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน ทวิตโต้ว่า คำปราศรัยโง่เขลาเบาปัญญาและปลุกเร้าความเกลียดชังของทรัมป์เสมือนเป็นถ้อยคำจากยุคกลาง ไม่ใช่ภายในยูเอ็นในศตวรรษที่ 21 ดังนั้นจึงไม่มีค่าที่จะตอบโต้

นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังระบุว่า สถานการณ์ในเวเนซุเอลาเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้โดยสิ้นเชิง และเตือนว่า อเมริกากำลังพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมกับรัฐบาลการากัส

นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” และลัทธิชาตินิยมจัดของทรัมป์ได้รับการตอกย้ำอีกครั้ง ด้วยการประกาศว่า ตราบที่ยังอยู่ในตำแหน่ง เขาจะปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกาเหนือสิ่งอื่นใด แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อประเทศชาติให้ลุล่วง อเมริกาตระหนักว่า ทุกประเทศควรมีอธิปไตย ความมั่งคั่ง และความปลอดภัย

ทรัมป์ยังโจมตีว่า ข้อตกลงการค้าพหุภาคีขนาดใหญ่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และสถาบันทรงอำนาจระดับโลก ไม่ได้ช่วยส่งเสริมความสำเร็จอย่างที่อวดอ้างกัน แต่กลับทำให้คนเป็นล้านตกงานและโรงงานมากมายต้องปิดกิจการ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ทรัมป์ไม่ได้พาดพิงถึงกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือวิกฤตในพม่าแต่อย่างใด

แม้การปราศรัยในที่ประชุมสมัชชายูเอ็นครั้งแรกของทรัมป์จะได้รับเสียงชื่นชมจากสมาชิกชั้นนำของรีพับลิกันหลายคน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศกลับไม่ประทับใจนัก เช่นเดียวกับผู้นำหลายชาติทั้งที่ถูกพาดพิงและที่เป็นเพียงผู้รับฟัง

นิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา บอกว่า เวเนซุเอลาพร้อมต่อต้านการดำเนินการทุกรูปแบบของอเมริกา แม้แต่การรุกรานด้วยกำลังทหาร และวิจารณ์ทรัมป์เป็นฮิตเลอร์ในการเมืองระหว่างประเทศยุคใหม่

ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีของอิหร่าน เตือนว่า วอชิงตันเสี่ยงทำลายความไว้วางใจของนานาชาติ หากยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์กับเตหะราน

เอมมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ขานรับว่า การยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์จะถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง และการไม่เคารพต่อข้อตกลงก็เท่ากับไร้ความรับผิดชอบ มาครงยังบอกว่า ปารีสจะไม่ปิดประตูการเจรจากับเปียงยาง
<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กลับมานั่งในที่นั่งของเขา ภายหลังกล่าวปราศรัยต่อการประชุมประจำปีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) </i>
มาร์กอต วอลล์สตรอม รัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดน ให้สัมภาษณ์วิทยุโทรทัศน์บีบีซีหลังออกจากห้องประชุมว่า คำปราศรัยของทรัมป์ผิดทั้งกาลเทศะและกลุ่มเป้าหมาย

ที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคล บอกว่า จะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อให้แน่ใจว่า วิกฤตการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจะได้รับการแก้ไขผ่านแนวทางการทูต

แม้แต่จิม แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยังบอกกับผู้สื่อข่าวว่า เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ กำลังพยายามคลี่คลายวิกฤตเกาหลีเหนือด้วยวิธีการทางการทูต ขณะที่ทิลเลอร์สันย้ำนโยบายการกดดันเปียงยางผ่านมาตรการแซงก์ชัน ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์ นิวส์

ปัก ซู-ฮยุน โฆษกของประธานาธิบดีมุน แจอินของเกาหลีใต้ มองว่า คำปราศรัยของทรัมป์เป็นการตอกย้ำจุดยืนมาตรฐานว่า อเมริกาจะพิจารณาทางเลือกทั้งหมด ซึ่งรวมถึงมาตรการทางทหาร หากต้องเผชิญหน้ากับเกาหลีเหนือ นอกจากนั้น การที่ทรัมป์ใช้เวลายาวนานในการพูดถึงประเด็นนี้ ยังบ่งชี้ว่าวอชิงตันให้ความสำคัญกับสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี

ทว่า นักการเมืองฝ่ายค้านในเกาหลีใต้กลับมองว่า เกาหลีใต้ถูกผลักออกจากกระบวนการแก้ไขวิกฤตเกาหลีเหนือของนานาชาติ เนื่องจากทรัมป์ไม่ได้ปรึกษาหารือหรือแจ้งโซลล่วงหน้า ว่าจะใช้คำพูดดุดันขู่เปียงยางในเวทียูเอ็น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า ทรัมป์กำลังใช้ลีลาและพฤติกรรมการข่มขู่แบบเดียวกับคิม จองอึน

เฉิง เสี่ยวเหอ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินในปักกิ่ง มองว่า คำปราศรัยของทรัมป์ฟังคล้ายอเมริกาใกล้ประกาศสงครามกับเกาหลีเหนือเต็มที และมีแนวโน้มสูงมากว่า วอชิงตันจะลงมือสกัด ถ้าเปียงยางทดสอบขีปนาวุธอีก

ล่าสุด หลู่ คัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน แถลงเมื่อวันพุธ (20) ว่า มติของคณะยูเอ็นชี้ชัดว่า ปัญหาบนคาบสมุทรเกาหลีต้องแก้ไขด้วยสันติวิธีและแนวทางการทูต
กำลังโหลดความคิดเห็น