xs
xsm
sm
md
lg

‘วงจรอุบาทว์’แห่งการชี้ให้‘โรฮิงญาเป็นผู้ก่อการร้าย’และ‘กองทัพพม่าเป็นพวกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: การ์ลอส ซาร์ดีนา กาลาเช

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Self-fulfilling lethal prophecies in Myanmar
By Carlos Sardiña Galache
09/09/2017

กองทัพกู้ชีพชาวโรฮิงญาแห่งอารากัน เปิดการโจมตีต่อกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลพม่าชุดใหญ่เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างรุนแรงตามที่สามารถทำนายคาดการณ์ได้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และหนึ่งในผลพวงต่อเนื่องซึ่งติดตามมาก็คือการจุดชนวนให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาพากันอพยพทิ้งบ้านช่องครั้งใหญ่ที่สุด รวมทั้งยังคุกคามว่าจะเกิดวิกฤตที่ใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้นอีก

รัฐยะไข่ของพม่าอยู่ในภาวะลุกเป็นไฟขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ประมาณการกันว่ามีชาวมุสลิมโรฮิงญา (Rohingya) จำนวนหลายแสนคน เดินทางจากดินแดนที่ประสบความลำบากเดือดร้อนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าแห่งนี้ข้ามเข้าไปยังบังกลาเทศ เพื่อหลบหนีการปฏิบัติการปราบปรามการก่อการกบฎที่ดำเนินการโดยกองทัพพม่า

การรุกของฝ่ายทหารพม่าคราวนี้ เป็นการตอบโต้การเข้าโจมตีที่มั่นตำรวจราว 30 แห่งพร้อมๆ กัน ในจังหวัดหม่องดอ (Maungdaw District) ของรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม โดยฝีมือกลุ่มนักรบประมาณ 1,000 คนซึ่งเกี่ยวข้องผูกพันกับกองทัพกู้ชีพชาวโรฮิงญาแห่งอารากัน (Arakan Rohingya Salvation Army หรือ ARSA) อันเป็นกองกำลังอาวุธที่ปรากฏตัวเผยโฉมขึ้นมาเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

สถานการณ์รุนแรงร้อนฉ่าเช่นนี้ ได้กลายเป็นชนวนทำให้ชาวโรฮิงญาพากันอพยพหลบหนีทิ้งบ้านช่องครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจวบจนในเวลาที่เขียนข้อเขียนชิ้นนี้

กองทัพพม่า หรือที่เรียกขานกันในภาษาพม่าว่า ทัดมาดอ (Tatmadaw) กำลังแสดงบทบาทสำคัญที่สุดในการสู้รบในสงครามครั้งนี้ ซึ่งพวกเขาระบุว่าเป็น “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ทั้งนี้ในทันทีภายหลังกลุ่ม ARSA เปิดการโจมตีเป็นชุดใหญ่ของพวกเขาในเดือนที่แล้ว รัฐบาลพม่าก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่ากลุ่มนี้เป็น “องค์การผู้ก่อการร้าย” พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายรายอ้างว่า ARSA มีความเชื่อมโยงพัวพันกับกลุ่มนักรบญิฮาด อย่างเช่น รัฐอิสลาม (ไอเอส) หรือ อัลกออิดะห์ ขณะที่จนกระทั่งถึงเวลานี้ยังไม่มีใครแสดงหลักฐานใดๆ ออกมายืนยันกันเลย แต่ก็มีความเป็นไปได้อย่างชัดเจนทีเดียวว่า กลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่งเหล่านี้อาจเข้ามาปรากฏโฉมในภาพสถานการณ์ด้วย ถ้าหากพื้นที่แถบนี้ยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวายมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

การวาดภาพกลุ่มติดอาวุธ ARSA ว่าเป็นองค์การก่อการร้ายของชาวโรฮิงญา กำลังช่วยให้ ทัดมาดอ ได้รับความนิยมชมชอบเพิ่มขึ้นในประเทศพม่าในระดับพุ่งพรวดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งฝ่ายพลเรือนของรัฐบาลพม่าที่นำโดย อองซานซูจี และประชากรส่วนใหญ่ต่างกำลังแสดงความสามัคคีใกล้ชิดกับฝ่ายทหารมากขึ้นในการต่อสู้กับสิ่งที่เห็นกันว่าเป็นภัยคุกคามจากต่างชาติโดยฝีมือของกลุ่มคนที่พวกเจ้าหน้าที่พม่าเรียกขานว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี” (Bengali terrorists) โดยที่บ่อยครั้งมักไม่ได้มีการจำแนกแบ่งแยกอย่างชัดเจนอะไร ระหว่างพวกนักรบกับประชากรชาวโรฮิงญาโดยทั่วไป

ไม่ว่าคำว่าการก่อการร้าย มีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้บรรยายการกระทำของ ARSA แต่มันก็เป็นคำที่ความหมายแฝงซึ่งเร้าอารมณ์อย่างแรงกล้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของเรายุคหลังจากเหตุการณ์ 9/11 ขณะเดียวกันการใช้คำๆ นี้มาโยงใยกับชาวโรฮิงญา เมื่อถึงเวลานี้ก็ดูพอมีเหตุผลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะเป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่มีกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาทำการเคลื่อนไหวปฏิบัติการอยู่ในรัฐยะไข่

กลุ่ม ARSA หรือส่วนประกอบที่เชื่อมต่ออยู่กับกลุ่มนี้ ดูเหมือนพุ่งเป้าหมายโจมตีเล่นงานพวกพลเรือนในรัฐยะไข่ด้วย ถึงแม้คณะผู้นำของพวกเขาได้ระบุยืนยันว่า จะต่อสู้กับพวกกองกำลังความมั่นคงเท่านั้น

การปรากฏขึ้นมาของ “ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย” เช่นนี้ ในระดับหนึ่งย่อมถือได้ว่าเป็นการเติมเต็มด้วยตัวเองเพื่อให้เป็นไปตามคำทำนายทายทักที่ได้มีการตอกย้ำครั้งแล้วครั้งเล่ามาเป็นเวลาแรมปีแล้ว นานมากทีเดียวตั้งแต่ก่อนที่ ARSA จะเผยโฉม โดยที่ได้มีการพูดจากันเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างแพร่หลายในหมู่ประชากรท้องถิ่นของยะไข่ ภายหลังความรุนแรงระหว่างพวกเขากับชาวมุสลิมเหล่านี้ปะทุขึ้นมาหลายระลอกในปี 2012

ทั้งนี้ข้อกล่าวหาที่ว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายซึ่งมาจากบังกลาเทศ และที่ว่าประชากรชาวโรฮิงญาซึ่งประมาณการกันว่าก่อนที่จะเกิดการอพยพทิ้งบ้านช่องครั้งใหญ่โตช่วงหลังๆ มานี้มีจำนวนราว 1.1 ล้านคนในรัฐยะไข่นั้น เป็นพวกที่สามารถขยายตัวเพิ่มทวีกันแบบพุ่งพรวดพราด เหล่านี้คือปัจจัยหลักๆ ส่วนหนึ่งซึ่งอยู่เบื้องลึกลงไปของกระบวนการในการแปรเปลี่ยนให้ผู้คนเหล่านี้กลายเป็นปีศาจร้ายขึ้นมา

ชาวโรฮิงญามีประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ดิ้นรนโดยใช้กำลังอาวุธ ซึ่งอันที่จริงก็เป็นเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ แทบทั้งหมดในพม่านั่นแหละ สำหรับการจับอาวุธขึ้นสู้ของโรฮิงญาในอดีตที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์ที่ถือเป็นจุดสูงสุดคือ การกบฎมูจาฮิด (Mujahid Rebellion) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังพม่าเป็นเอกราชในปี 1948 ทว่าการก่อกบฏคราวนั้นได้พ่ายแพ้ปราชัยไปในปี 1961 และหลังจากนั้นมากลุ่มติดอาวุธทั้งหลาย อย่างเช่น องค์การสมานฉันท์ชาวโรฮิงญา (Rohingya Solidarity Organization หรือ RSO) ก็อยู่ในสภาพเงียบเชียบไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเสียเป็นส่วนใหญ่เป็นเวลาหลายสิบปีทีเดียว

พวกผู้นำชาวโรฮิงญา ซึ่งประกาศเผยแพร่ยุทธศาสตร์แห่งการต่อสู้แบบอหิงสาไม่ใช้ความรุนแรงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนโรฮิงญาได้รับสิทธิต่างๆ กลับคืนมา มีความตระหนักอย่างเต็มที่ว่าการใช้กำลังอาวุธเข้าต่อสู้กับทัดมาดอนั้น จะทำให้เกิดการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างเลวร้ายที่ประชาชนของพวกเขาเองจะต้องกลายเป็นเหยื่อ

มีการกล่าวหากันว่า ARSA ได้ระดมคัดเลือกและฝีกอบรมคนหนุ่มๆ ชาวโรฮิงญาเป็นเวลานานถึง 3 ปีทีเดียว ก่อนที่จะเปิดการโจมตีเผยตัวครั้งแรกขึ้นในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในตอนนั้น เวลาได้เคลื่อนที่ผันผ่านไป 4 ปีหลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างคนต่างเชื้อชาติศาสนาในปี 2012 ที่ทำให้มีชาวโรฮิงญาจำนวนมาก ซึ่งอาจจะสูงถึง 140,000 คน พากันหลบหนีไปอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยชั่วคราวในบังกลาเทศ โดยที่ไม่ได้มีความหวังลู่ทางใดๆ ว่าจะสามารถกลับคืนสู่บ้านเรือนของพวกเขาได้

ด้วยเหตุผลข้ออ้างบังหน้าที่ว่าเพื่อเป็นการรักษาความสงบระหว่างชาวโรฮิงญามุสลิมกับชุมชนชาวยะไข่พุทธทั้งหลาย รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการแบ่งแยกชาวโรฮิงญากับชาวพุทธออกจากกันอย่างเข้มงวดกวดขันในพื้นที่จำนวนมากของยะไข่ ซึ่งนี่น่าจะทำให้ความเป็นไปได้ใดๆ ที่จะเกิดการปรองดองรอมชอมกัน ดูเป็นเรื่องลำบากยากยิ่ง

ก่อนหน้าเดือนพฤษภาคม 2015 ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเคยสามารถที่จะหลบหนีไปยังมาเลเซีย (และไปถึงอินโดนีเซียด้วย แต่ผู้ที่ไปถึงที่นั่นมีจำนวนน้อยกว่ากันมาก) โดยบ่อยครั้งต้องพาตัวเองให้ไปตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกมาเฟียลักลอบค้ามนุษย์ที่โหดเหี้ยมอำมหิต ทว่าเส้นทางออกนอกประเทศสายนั้นได้ถูกปิดลงแล้วเมื่อรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียร่วมมือกันในการปราบปรามทำลายเครือข่ายอาชญากรเหล่านั้น

ขณะที่พม่าจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ในปี 2015 แต่ชาวโรฮิงญาถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้มีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเท่ากับถูกริบแม้กระทั่งการเข้าร่วมอย่างพอเป็นสัญลักษณ์ในชีวิตทางการเมืองของประเทศ ปรากฏว่าผู้ที่ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งนั้น คือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy หรือ NLD) ของ อองซานซูจี จึงได้จุดความหวังขึ้นมาบ้างในหมู่ชุมชนชาวโรฮิงญา แต่แล้วรัฐบาลชุดใหม่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้หรือที่เป็นด้านบวกใดๆ มาสู่ชีวิตของพวกเขา

แนวทางการจับอาวุธขึ้นสู้ของกลุ่ม ARSA นั้นห่างไกลนักจากการได้รับความศรัทธาเชื่อมั่นอย่างกว้างขวางในหมู่ประชากรชาวมุสลิมในรัฐยะไข่เหล่านี้ แต่ภายในบริบทของการไร้ความหวังใดๆ อย่างสิ้นเชิงเช่นนี้เอง คือกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจได้ว่าทำไมจึงมีคนหนุ่มจำนวนมากตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ซึ่งดูมืดมนมีหวังต้องประสบความล้มเหลวในอนาคต

ความหวังที่สลัวรางเต็มทีเพียงอย่างเดียวสำหรับชาวโรฮิงญา ได้แก่คณะกรรมการที่มีอดีตเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ โคฟี อันนัน เป็นประธาน และได้รับการจัดตั้งขึ้นโดย ซูจี เมื่อปี 2016 เพื่อทำหน้าที่สอบสวนสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และจัดทำข้อเสนอแนะต่างๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย ข้อเสนอแนะเหล่านี้บรรจุอยู่ในรายงานฉบับหนึ่งซึ่งส่งให้แก่รัฐบาลพม่า ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่ ARSA จะเปิดการโจมตีชุดใหญ่ในเดือนที่แล้ว

เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ARSA จงใจกำหนดเวลาการเข้าโจมตีของตนให้อยู่ในช่วงเดียวกับการเผยแพร่รายงานฉบับดังกล่าว ในคำแถลงต่อสาธารณชนภายหลังการโจมตีชุดใหญ่คราวนั้น กลุ่มนักรบเหล่านี้อ้างว่า ทัดมาดอ ได้เพิ่มกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ในจังหวัดหม่องดอ และเข้าจู่โจมตรวจค้นมุ่งเอาผิดกับชาวโรฮิงญาในพื้นที่แถบนั้น ด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ในรายงานต้อง “ตกราง” ไม่ถูกนำมาปฏิบัติ

ARSA บอกว่าการที่ตนเองต้องเปิดการโจมตีเช่นนี้ ก็เพื่อ “ปกป้องคุ้มครองประชาชนผู้ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ และปกป้องตัวพวกเราเอง” หากคิดตามหลักเหตุผลอันบิดเบี้ยวเช่นนี้แล้ว มันก็จะดูเหมือนกับว่า ARSA เปิดฉากทำการโจมตีซึ่งเป็นการทำลายข้อเสนอแนะต่างๆ ของคณะกรรมการให้กลายเป็นหมันไป ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ ทัดมาดอ เป็นฝ่ายที่กระทำเช่นนั้น

ไม่ว่าสภาวการณ์ช่วงเฉพาะหน้าก่อนระลอกการโจมตีล่าสุดของ ARSA จะเป็นอย่างไรก็ตามที การปฏิบัติการของกลุ่มนักรบกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถที่จะวาดภาพให้กลายเป็น “การป้องกันตัว” ขึ้นมาได้ และขณะที่เป้าหมายสูงสุดของคณะผู้นำ ARSA ยังคงเป็นปริศนาลี้ลับอยู่นี้ แต่มันก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจนึกคิดได้อยู่ดีว่าพวกเขามองไม่เห็นล่วงหน้าถึงการตอบโต้แก้เผ็ดอย่างโหดเหี้ยมที่ทำนายพยากรณ์กันได้แน่ๆ อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นกับประชากรพลเรือนของพวกเขาเอง ยิ่งกว่านั้น การตอบโต้แก้เผ็ดดังกล่าวอาจจะเป็นส่วนหนึ่งในการคาดคำนวณของพวกเขาอยู่แล้วด้วยซ้ำ

ในบริบทอันพิเศษเจาะจงเช่นนี้ มีคำอธิบายเพียงประการเดียวเท่านั้นซึ่งเป็นไปได้ที่ ARSA จะสามารถเสนอภาพการปฏิบัติการในเชิงรุกอย่างชัดเจนเหล่านี้ ให้กลายเป็น “การป้องกันตัว” ถึงแม้จะเป็นความเคลื่อนไหวที่จะนำพาพลเรือนของตนเองไปสู่ความตายอย่างแทบจะเป็นการแน่นอนอยู่แล้ว นั่นคือคือ การอธิบายด้วยบริบทของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) อันเป็นอาชญากรรมซึ่ง ARSA ตราหน้าประทับให้แก่ ทัดมาดอ

นักเคลื่อนไหวบางคนและกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนบางกลุ่ม กล่าวเสนอแนะว่า ชาวโรฮิงญาคือเหยื่อของ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยรัฐพม่า และแนวคิดนี้ก็ถูกแพร่หลายออกไปอย่างกว้างขวางภายหลังระลอกความรุนแรงในปี 2012 คำๆ นี้ถูกนำมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ในรายงานของสื่อต่างๆ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้กลายเป็นสิ่งที่ผูกพันโยงใยกับชะตากรรมของชาวโรฮิงญาไปแล้ว

คำบรรยายว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้ ยังได้แฝงฝังอย่างแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ ในจิตใจของชาวโรฮิงญาเอง ทั้งที่อยู่ในพม่าและในหมู่พวกที่อพยพออกมานอกประเทศ มันเป็นเฉกเช่นเดียวกับข้อกล่าวหาว่า “เป็นการก่อการร้าย” จากอีกฝ่ายหนึ่งนั่นแหละ การระบุบ่งบอกว่านี่ “เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก็ทำให้การหาทางออกด้วยวิธีสนทนาเจรจาใดๆ กลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นลำบากอย่างยิ่ง

มีบางคนบางฝ่ายโต้แย้งว่า อันที่จริงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาแบบ “ค่อยๆ เผาอย่างช้าๆ” (“slow burning” genocide) ได้เริ่มต้นขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 1978 แล้วด้วยซ้ำ เมื่อตอนที่พม่าภายใต้ระบอบการปกครองของนายพลเนวิน ได้เปิด “ยุทธการจอมนาคินทร์” (Operation Dragon King) ซึ่งตามวัตถุประสงค์ที่แถลงกันไว้คือการมุ่งระบุตัวผู้อพยพที่เดินทางมาจากบังกลาเทศ ในครั้งนั้นปรากฏว่ามีชาวโรฮิงญา 250,000 คนหลบหนีออกไปยังบังกลาเทศ สืบเนื่องจากวิธีการโหดๆ ของกองทัพและกองกำลังความมั่นคง ทว่าแทบทั้งหมดได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับพม่าหลังจากเวลาผ่านไปไม่กี่เดือน

ตั้งแต่นั้นมา ชาวโรฮิงญาก็ได้ตกเป็นเป้าหมายของนโยบายกดขี่ต่างๆ ซึ่งมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าอยู่ในสภาพเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ การกระทำของรัฐพม่าอยู่ในลักษณะชั่วคราวเฉพาะหน้า บางครั้งด้วยจุดมุ่งหมายที่จะยั่วยุให้เกิดเหตุ แต่ในบางคราวกลับเป็นปฏิกิริยาตอบโต้เหตุที่มีผู้ก่อขึ้น หรือในครั้งอื่นๆ ก็เป็นการใช้ชาวโรฮิงญามาเป็นหมากตัวหนึ่งในทางการเมือง –เหมือนอย่างคราวที่ระบอบทหารพม่ายินยอมให้ชาวโรฮิงญาไปใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2010 เพื่อเป็นการทัดทานถ่วงดุลประดาพรรคการเมืองแนวทางชาตินิยมยะไข่— แต่บางครั้งก็ใช้ชาวโรฮิงญาเป็นแพะรับบาปที่สามารถนำมาใช้สอยได้อย่างสะดวก

ชาวโรฮิงญาต้องตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ก่อขึ้นมาโดยมีรัฐเป็นผู้อุปถัมภ์ในหลายหลากรูปแบบ บางอย่างอยู่ในลักษณะเฉกเช่นเดียวกับชาวชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และแม้กระทั่งชาวพม่า (Bamar) ที่เป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่บางอย่างก็เป็นการมุ่งเจาะจงเล่นงานชาวโรฮิงญาโดยตรง โดยที่สำคัญที่สุดคืออาชญากรรมแห่งการแบ่งแยกเชื้อชาติ ซึ่งพวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยรวมทั้งนโยบายต่างๆ ที่มุ่งลดอัตราการเกิดของพวกเขาด้วย พวกเขายังได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนจากการล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) ที่กระทำกันอยู่เป็นพักๆ ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากการขับไล่ไสส่งประชากรชาวโรฮิงญาให้ออกไปจากเมืองซิตตเว (Sittwe) เมืองหลวงของรัฐยะไข่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

จากสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งดูรุนแรงเกรี้ยวกราด ทำให้แนวคิดเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นสิ่งที่ได้รับความเชื่อถือกัน แต่ขณะที่เมื่อพูดกันโดยภาพรวมแล้ว ชาวโรฮิงญาเป็นผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อ กระนั้นเงื่อนไขต่างๆ ก็มีความแตกต่างกันอยู่มากในแต่ละสถานที่ ชาวโรฮิงญาทั้งหมดยังไม่ได้ตกเป็นเหยื่อในระดับเดียวกัน มีบางคนกระทั่งมีฐานะความเป็นอยู่ค่อนข้างมั่งคั่งด้วยซ้ำ ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความทุกข์ยากอย่างน่าสังเวช แต่พวกเพื่อนบ้านของพวกเขาในยะไข่ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้นเช่นเดียวกัน ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่ค่อยมีอะไรแตกต่างออกไปนักในรัฐที่ยากจนที่สุดเป็นอันดับสองของพม่า

ผลรวมของอาชญากรรมเหล่านี้ยังไม่ได้อยู่ในระดับปริมาณและคุณภาพ ซึ่งเท่ากับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แล้ว แต่มันก็เป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งจะกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็กลายเป็นการล้างเผ่าพันธุ์อย่างเหี้ยมโหดมาก ขึ้นมาได้ ถ้าหากมีตัวจุดชนวนซึ่งแรงเพียงพอที่จะทำให้ชาวโรฮิงญาดูเหมือนกับกลายเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงคงอยู่ของพม่า ทั้งนี้การปรากฏตัวขึ้นมาของ ARSA อาจจะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนดังกล่าวนี้

โศกนาฏกรรมที่กำลังคลี่คลายขยายตัวอยู่ในรัฐยะไข่เวลานี้ กำลังทำให้ชาวโรฮิงญาที่ยังคงพำนักอาศัยอยู่ในพม่าเกิดภาวะแปลกแยกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองข้างสองฝ่ายที่กำลังสู้รบกันอยู่ดูเหมือนพยายามที่จะป้อนเชื้อไฟให้แก่กันและกัน นั่นคือ ยิ่ง ARSA เปิดการโจมตีเพิ่มมากขึ้น ทัดมาดอก็ยิ่งตอบโต้ด้วยความโหดเหี้ยมหนักข้อขึ้น และความนิยมชมชื่นในพวกเขาของประชาชนทั่วไปก็ยิ่งพอกพูน

แต่ยิ่งทัดมาดอ ทำการโจมตีพลเรือนมากเท่าใด เยาวชนชาวโรฮิงญาก็จะถูกผลักดันให้เข้าร่วมกับ ARSA เพิ่มขึ้น ในสถานการณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงวูบวาบอย่างสูงยิ่งเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องยากแก่การคาดทายพยากรณ์ แต่วิกฤตชาวโรฮิงญาดูเหมือนกำลังเดินไปจนถึงจุดที่ไม่มีทางหวนกลับมาอีกแล้ว ขณะที่ทั้ง ARSA และ ทัดมาดอ ยังคงดูเหมือนกับเดินละเมอ ตรงเข้าไปสู่การเติมเต็มด้วยตัวเองเพื่อให้เป็นไปตามคำพยากรณ์อันเลวร้ายที่สุดของพวกเขาเอง

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

การ์ลอส ซาร์ดีนา กาลาเช เป็นนักหนังสือพิมพ์อิสระชาวสเปน ซึ่งทำข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น