xs
xsm
sm
md
lg

“เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน” แย้มสหรัฐฯ อาจไม่ถอนตัวจาก “ข้อตกลงสู้โลกร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ
รอยเตอร์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุวานนี้ (17 ก.ย.) ว่าสหรัฐฯ อาจจะยอมเป็นภาคีข้อตกลงภูมิอากาศปารีสต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการปรับจุดยืนของรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากที่เคยขู่ถอนตัวออกจากข้อตกลงสู้โลกร้อนจนสร้างความไม่พอใจต่อพันธมิตรหลายประเทศ

ระหว่างให้สัมภาษณ์ในรายการ Face the Nation ทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอส ทิลเลอร์สัน ย้ำว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ เต็มใจที่จะร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนในข้อตกลงปารีส หากวอชิงตันสามารถกำหนดเงื่อนไขที่เป็นธรรมและสมดุลต่อชาวอเมริกัน

เมื่อพิธีกรถามว่ามีโอกาสแค่ไหนที่สหรัฐฯ จะล่มหัวจมท้ายกับข้อตกลงภูมิอากาศปารีสต่อ ทิลเลอร์สัน ก็ตอบว่า “ผมคิดว่า... ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม”

“ประธานาธิบดียืนยันว่า ท่านยังพร้อมที่จะพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ที่จะทำให้เราสามารถร่วมมือกับประเทศอื่น เกี่ยวกับสิ่งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องว่าเป็นปัญหาท้าทาย”

ด้าน เอช. อาร์. แมคมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทรัมป์ ก็ออกมาส่งสัญญาณคล้ายๆ กันขณะให้สัมภาษณ์สื่อทีวีเมื่อวานนี้ (17) โดยระบุว่าผู้นำสหรัฐฯ เต็มใจที่จะรับการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขข้อตกลงปารีสไว้พิจารณา

“ท่านเปิดโอกาสที่เราจะกลับไปเข้าร่วมในภายหลัง หากมีเงื่อนไขที่ดีกว่าสำหรับสหรัฐอเมริกา... ว่ากันตรงๆ ก็คือ ถ้าข้อตกลงมันจะเป็นประโยชน์สำหรับชาวอเมริกัน” แมคมาสเตอร์ กล่าวผ่านรายการ This Week ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซี

เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกให้การรับรองข้อตกลงฉบับประวัติศาสตร์ระหว่างการประชุมซัมมิตว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (COP 21) ที่กรุงปารีสเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2015 เพื่อฉุดรั้งให้อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับ “ต่ำลงไปกว่า” 2 องศาเซลเซียสเหนืออุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยแต่ละประเทศต่างให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสารพิษอื่นๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ อ้างว่าข้อตกลงนี้จะบั่นทอนเศรษฐกิจและอธิปไตยของสหรัฐฯ และได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อช่วงหาเสียง โดยประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเมื่อเดือน มิ.ย. เรียกเสียงประณามอื้ออึงจากผู้นำรัฐบาลทั่วโลก

ทั้งนี้ กระบวนการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสต้องใช้เวลา 4 ปี นั่นหมายความว่าสหรัฐฯ จะยังมีสถานะเป็นภาคีต่อไปจนกว่ารัฐบาล ทรัมป์ เทอมแรกจะหมดวาระไปแล้ว 2 วัน

ทิลเลอร์สัน ระบุว่า ทรัมป์ ได้มอบหมายให้ แกรี โคห์น ที่ปรึกษาเศรษฐกิจของทำเนียบขาว เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ “เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ผู้อำนวยการ โคห์น คงจะพิจารณาช่องทางต่างๆ ที่เราสามารถทำงานร่วมกับหุ้นส่วนในข้อตกลงปารีสได้ สหรัฐฯ ต้องการมีส่วนสนับสนุนและสร้างประโยชน์”

โคห์น เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนให้วอชิงตัน “คงอยู่” ในข้อตกลงปารีสต่อไป เช่นเดียวกับ อิวองกา ทรัมป์ และ เจเร็ด คุชเนอร์ บุตรสาวและบุตรเขยคนโปรดของประธานาธิบดี ขณะที่ สตีฟ แบนนอน ซึ่งเป็นหัวหอกคัดค้านเรื่องนี้ถูกปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าทีมยุทธศาสตร์ ทรัมป์ เมื่อเดือนที่แล้ว

ทรัมป์ มองว่า เงื่อนไขปัจจุบันของข้อตกลงปารีสอ่อนข้อให้ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่อย่างจีนและอินเดียมากเกินไป และทำให้ภาคอุตสากรรมของสหรัฐฯ ตกอยู่ในความเสี่ยง

ระหว่างแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสเมื่อเดือน ก.ค. ทรัมป์ ยอมรับว่ามีโอกาสที่ตนจะเปลี่ยนใจ “อาจมีบางอย่างเกิดขึ้นในเรื่องข้อตกลงปารีส ขอให้รอดูกันต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น