xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’มีฐานะเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในเวทีการเมืองระดับภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Where Doklam traverses regional politics
By M K Bhadrakumar
10/08/2017

จีนกำลังมีฐานะเข็มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคแถบนี้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการในระยะใกล้ๆ นี้ของความสัมพันธ์ใหญ่ 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ความสัมพันธ์กับอาเซียน, ความสัมพันธ์กับอเมริกา, และความสัมพันธ์กับรัสเซีย

ขณะที่เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียกับจีนตรงบริเวณที่ราบสูงด็อกลัม (Doklam) ในเทือกเขาหิมาลัย การเพิกเฉยไม่แยแสต่อสภาพแวดล้อมของภูมิภาคแถบนี้ ย่อมจะกลายเป็นความเสี่ยงสำหรับอินเดียเอง บัณฑิตปราดเปรื่องชาวอินเดีย ทั้งหลายส่วนใหญ่แล้วกำลังชี้มือไปที่พฤติการณ์ “เที่ยวข่มเหงรังแกคนอื่น” ของจีน ว่าคือปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้แดนมังกรมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้นทุกทีในการครอบงำการสื่อสารและการถกเถียงต่างๆ ไม่ว่าในระดับภูมิภาคและหรือในระดับทวิภาคี ทว่าการกระทำแบบเด็กขี้แยเช่นนี้ของฝ่ายแดนภารตะเช่นนี้ ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไร เนื่องจากข้อเท็จจริงอันไม่น่ารื่นรมย์ของประวัติศาสตร์ย่อมแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชาติที่เข้มแข็งกว่าคนอื่นๆ คือผู้ที่ครอบงำเวทีแห่งการสำแดงอำนาจ และหนทางเดียวที่จะบรรเทาลดทอนการครอบงำดังกล่าวก็คือ การพึ่งพาอาศัยวิธีการทูต

เมื่อพิจารณากันในระยะใกล้ๆ นี้แล้ว คงต้องกล่าวว่าสภาพแวดล้อมของภูมิภาคกำลังดำเนินไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่จีนอย่างแน่นอนชัดเจน เรื่องนี้สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยากเลย ถ้าพิจารณาจากแม่แบบใหญ่ (template) หรือความสัมพันธ์ใหญ่ แห่งการเมืองของภูมิภาค 3 แม่แบบ 3 ความสัมพันธ์ ซึ่งกำลังพัฒนาคลี่คลายอยู่ในปัจจุบัน แม่แบบใหญ่หรือความสัมพันธ์ใหญ่อย่างแรกสุดซึ่งมีคุณค่าสมควรที่จะพิจารณากันอย่างใกล้ชิด ได้แก่การประชุมของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียน ซึ่งปีนี้ครบรอบ 50 ปีแล้ว โดยจัดการหารือกันที่กรุงมะนิลา และเสร็จสิ้นลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว (น่าเสียดายที่อินเดียลดความสำคัญของการประชุมนี้ โดยส่งเพียงแค่ วี. เค. ซิงห์ V. K. Singh รัฐมนตรีอ่อนอาวุโสไปเข้าร่วม)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า แนวเรื่อง ( leitmotif) สำคัญที่สุดในมะนิลานั้น ได้แก่การที่จีนก้าวผงาดขึ้นมาอยู่ในฐานะเป็นผู้นำรายใหม่ของภูมิภาคแถบนี้ แทนที่ของสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ถือว่ายังคงกำลังอยู่ระหว่างการปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างและยังต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ จำนวนมากมายหลากหลาย ทว่าสิ่งสำคัญที่เร่งรัดให้การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ได้แก่การที่สหรัฐฯกำลังประสบความยากลำบากในการกำหนดวาระต่างๆ ของภูมิภาค โดยที่เห็นได้ชัดเจนว่าพวกประเทศอาเซียนไม่ได้มีความเชื่อมั่นเอาเสียเลยในคณะผู้นำของอเมริกัน และในเรื่องความมุ่งมั่นผูกพันต่อเอเชียของอเม ริกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ของสหรัฐฯนั้น ไม่ได้แสดงความใส่ใจแม้กระทั่งการแสดงบทบาทผลักดันให้อาเซียนแสดงจุดยืนต่อกรณีพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ตรงกันข้ามเขากลับโฟกัสอยู่ที่การระดมเรียกร้องหาความสนับสนุนในเรื่องปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งนี่ย่อมเผยให้เห็นการจัดลำดับความสำคัญของสหรัฐฯในยุคนี้ ในทางตรงกันข้าม รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนกลับเหมือนกับปรากฏอยู่ทั่วทั้งสถานที่ประชุมพร้อมใช้กลเม็ดชั้นเชิงทางการทูตเพื่อให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าสมาคมอาเซียนจะหลีกเลี่ยงไม่ทำการวิพากษ์วิจารณ์จีน และจากแถลงการณ์ร่วมซึ่งออกโดยบรรดารัฐมนตรีอาเซียน ก็ดูเหมือนแสดงให้เห็นว่าบรรดารัฐสมาชิกของอาเซียนได้ลดทอนน้ำหนักและขนาดขอบเขตของพื้นที่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับจีนลงมา

มีรายงานว่าเวียดนามได้พยายามที่จะผลักดันให้อาเซียนแสดงจุดยืนที่แข็งขืนกับจีนมากยิ่งขึ้นกว่านี้ ทว่ากัมพูชาได้ขัดขวางสกัดกั้นความเคลื่อนไหวดังกล่าว และฟิลิปปินส์ผู้เป็นประเทศเจ้าภาพของการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเข้ามาแสดงบทบาทใหม่ที่เพิ่งค้นพบของตนด้วยการวางตัวเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างอาเซียนกับจีนนั้น ก็พยายามแนะนำให้ประนีประนอม ด้วยเหตุนี้เอง แถลงการณ์ร่วมของบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงใช้ถ้อยคำธรรมดาๆ ตรงไปตรงมาว่า ที่ประชุม “บันทึกความกังวลซึ่งแสดงออกโดยรัฐมนตรีบางคน” เกี่ยวกับกิจกรรมการถมทะเลสร้างเกาะเทียมที่กำลังดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้ “ซึ่งได้กัดกร่อนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น, เพิ่มความตึงเครียด, และอาจจะบ่อนทำลายสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค”

ในทำนองเดียวกัน แถลงการณ์ร่วมนี้ถึงแม้เน้นย้ำ “ความสำคัญของการไม่สร้างสมแสนยานุภาพทางทหารและการยับยั้งชั่งใจตนเอง” ในพื้นที่ซึ่งมีการพิพาทกันทั้งหลาย แต่พร้อมกันนั้นก็ยังเรียกร้องให้ “รัฐอื่นๆ ทั้งหมด” –ซึ่งก็คือไม่ใช่เฉพาะพวกรัฐที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนกันและเกิดการพิพาทขึ้นมาในทะเลจีนใต้เท่านั้น— ให้กระทำเช่นนั้นด้วย อันเป็นการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างอ้อมๆ ต่อพวกมหาอำนาจภายนอก (ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อินเดีย ฯลฯ) ว่าอย่าได้แสดงฤทธิ์เดชอวดกำลังทางนาวีในพื้นที่แถบนี้ แน่นอนทีเดียวว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นรายรับสุทธิเต็มๆ สำหรับปักกิ่งอยู่ตรงที่ว่าไม่ได้มีการอ้างอิงใดๆ อย่างสิ้นเชิงในเรื่องที่ฟิลิปปินส์ชนะคดีความจีนครั้งสำคัญมากในศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก

ทิลเลอร์สันได้ประชุมหารือทวิภาคีกับหวังในกรุงมะนิลาครั้งนี้ด้วย ทว่าการพบปะของพวกเขามีหัวข้อแคบๆ แค่เรื่องความร่วมมือกันในปัญหาเกาหลีเหนือ และการเตรียมการสำหรับการไปเยือนประเทศจีนอย่างเป็นรัฐพิธีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (ซึ่งคาดหมายกันว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้) เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องทำให้แน่ใจว่า มี “ของชำร่วย” ระดับเป็นประวัติการณ์บางอย่างบางประการซึ่งทรัมป์จะได้ติดไม้ติดมือไปจากการเยือนแดนมังกร ทรัมป์นั้นต้องการเหลือเกินที่จะได้อะไรบางอย่างซึ่งใหญ่โตพอที่จะเอาไปโอ่อวดว่าเป็นรางวัลอันงามหยดสำหรับนโยบาย “อเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) ของเขา –แล้วก้ออย่าได้สำคัญผิดไปเชียว ปักกิ่งจะต้องอาศัยการที่ทรัมป์มีความจำเป็นเหลือเกินที่ต้องได้อะไรสวยๆ ไปโอ้อวดนี้แหละ มาทำให้ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯมีเสถียรภาพและอยู่ในลักษณะที่สามารถคาดการณ์ได้ต่อไปในอนาคต (ทิลเลอร์สันก็ได้พูดออกมาเกี่ยวกับแผนการวางทิศทางระยะ 50 ปีสำหรับความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างจีน-อเมริกัน)

ในเวลาเดียวกัน จากการที่ดูจะสามารถตัดออกไปได้ในทางเป็นจริงในเรื่องการใช้ทางเลือกทางทหารมาเล่นงานเกาหลีเหนือ คณะบริหารทรัมป์ก็มีแต่จะต้องพึ่งพาอาศัยความร่วมมือจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเดินเรือผ่านน่านน้ำอันเต็มไปด้วยอันตรายเป็นอย่างยิ่งในเรื่องโสมแดงนี้ในอนาคตข้างหน้า สำนักข่าวซินหวาได้ไฮไลต์การประเมินสถานการณ์อย่างสงบสุขุมของทิลเลอร์สันเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ซึ่งได้แนะนำประชาชนชาวอเมริกันว่า “ขอให้นอนหลับฝันดีในตอนกลางคืน” ได้

นอกเหนือจากนี้แล้ว สิ่งที่จำเป็นต้องนำมาเป็นปัจจัยพิจารณาในที่นี้ด้วยเช่นกัน ก็คือความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย ที่จะยังคงอยู่ในสภาพขึงตึงต่อไปอีกยาวนานทีเดียว ซึ่งในทางกลับกันก็จะเป็นการเพิ่มแรงกระตุ้นให้แก่มอสโกในเรื่องการร่วมมือกันทางยุทธศาสตร์กับปักกิ่ง ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือ โดยที่ไม่ได้มีความตั้งอกตั้งใจเลย แต่ทรัมป์ก็กำลังถูกบังคับให้ต้องดำเนินโยบายต่อรัสเซียซึ่งแข็งกร้าวยิ่งกว่าที่เขาเคยแสดงความปรารถนา --กระทั่งเป็นนโยบายที่แข็งกร้าวยิ่งกว่าของบารัค โอบามา ด้วยซ้ำไป (เมื่อพิจารณาจากทัศนะมุมมองของมอสโกแล้ว) ถ้าหากบอกว่าโอบามาเลือกที่จะใช้ “การมีปฏิสัมพันธ์แบบเลือกสรร” (selective engagement) กับรัสเซียแล้ว ทรัมป์ก็กำลังถูกบีบบังคับจากรัฐสภาให้ต้องถึงกับใช้ “การมีปฏิสัมพันธ์แบบเลือกสรรอย่างมากๆ” (very selective engagement) กับแดนหมีขาว

เมื่อเป็นเช่นนี้ หากมองกันเป็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว จีนก็พบว่าตนเองอยู่ในฐานะที่แสนสบายมากในการเมืองของภูมิภาค สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ พลวัตทางอำนาจเช่นนี้ยังน่าจะดำเนินไปในสภาพสถานการณ์ระยะใกล้ๆ นี้ด้วย แม้กระทั่งว่าปัญหาเกาหลีเหนือและความตึงเครียดรัสเซีย-อเมริกัน ยังคงคอยแต่แปรเปลี่ยนวนไปเวียนมาในลักษณะเป็นวงกลมซึ่งแผ่กว้างยิ่งขึ้น และยังมองไม่เห็นหนทางแก้ไขคลี่คลายได้อย่างง่ายๆ เลย

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

(เก็บความจากข้อเขียนในบล็อก Indian Punchline)


กำลังโหลดความคิดเห็น