xs
xsm
sm
md
lg

In Clip : รอยเตอร์ชี้ “สัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ” กลับมาสดใส “ประยุทธ์” ผู้นำรัฐประหารไทยคนแรก ได้เยือนทำเนียบขาวตุลาฯนี้ สุดฮือฮา! ทรัมป์อนุมัติลุยขาย “มิสไซล์ฮาร์พูน 5 ลูก” ให้กองทัพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - กระทรวงบัวแก้วของไทยแถลงการณ์ยืนยันวันนี้ (15 ส.ค.) นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดเยือนทำเนียบขาวเป็นทางการในช่วงเดือนตุลาคม รอยเตอร์ชี้ เป็นสัญญาณแรงระดับ 4 จี ชี้สัมพันธ์ระดับทวิภาคีสองชาติจะกลับมาแน่นปึกเหมือนเดิมหลังรัฐประหาร 3 ปีก่อนหน้า ฝ่ายไทยระบุกรอบเจรจาแบบฉันท์มิตร คุยการค้า ลงทุน มั่นคงทางการทหาร และสถานการณ์ใหญ่ของภูมิภาค ล่าสุดมีรายงานรัฐบาลสหรัฐฯ กรุยทางอนุมัติขายมิสไซล์เอจีเอ็ม-84 ฮาร์พูน (RGM-84L Harpoon Block II Surface Launched Missiles) มูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์ให้กองทัพไทย

รอยเตอร์รายงานวันนี้ (15 ส.ค.) ว่า ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ออกแถลงการณ์วันนี้ถึงกำหนดการเยือนทำเนียบขาวครั้งแรกของผู้นำไทย ซึ่งเกิดขึ้นหลังก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้มีการต่อสายคุย และมีคำเชิญออกมาจากปากทรัมป์ในช่วงเดือนเมษายนล่าสุด แต่ในขณะนั้นยังไม่ได้ระบุวันอย่างแน่นอน

โดยในแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยมีเนื้อความว่า “จะมีการหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคงทางทหาร และปัญหาสถานการณ์ของภูมิภาค”

รอยเตอร์ชี้ว่า ก่อนหน้านี้ทางการไทยเคยออกมาเปิดเผยว่าจะมีการเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม

ด้าน สตีฟ เกซตองเก (Steve Castonguay) โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ออกมาให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า ทางสถานทูตยังไม่ทราบถึงกำหนดการครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า “ทางเรารอคอยการมาเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ของนายกรัฐมนตรีไทย ทางเราจะหาข้อตกลงร่วมกันในวันที่เหมาะสมสำหรับการเยือนทำเนียบขาวของนายกรัฐมนตรีไทยต่อไป”

รอยเตอร์ชี้ว่า จากแถลงการณ์กำหนดการเยือนทำเนียบขาวที่ถูกยืนยันจากกระทรวงต่างประเทศของไทยวันนี้ (15 ส.ค.) รวมไปถึงการเดินทางมาเยือนกรุงเทพฯของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สันเมื่อล่าสุด สามารถชี้ไปในทิศทางว่า ความสัมพันะระดับทวิภาคีของทั้งสองชาติ ซึ่งง่อนแง่นมาตั้งแต่พลเอกประยุทธ์นำกองทัพออกมาทำรัฐประหารเมื่อพฤษภาคม 2014 นั้น “เริ่มกลับมาคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ในรายงานของสื่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เวิลด์โพลิติกรีวิว (worldpoliticsreview) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ของทรัมป์นั้นต่างจากรัฐบาลของโอบามาในการจัดการกับไทย

โดยทางทำเนียบขาวของทรัมป์ได้ประกาศอย่างชัดเจนก่อนหน้าแล้วว่า ทางวอชิงตันจะไม่นำปัญหาด้าน “สิทธิมนุษยชน” มากดดันกับผู้นำของไทยในการการหารือ ซึ่งต่างจากในสมัยโอบามา ที่มีท่าทีแข็งกร้าวกับไทยหลังเกิดรัฐประหาร และลดระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติลงเพื่อตอบโต้

เวิลด์โพลิติกรีวิวกล่าวว่า ถึงแม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะยอมพูดคุยกับผู้นำรัฐประหารของไทย พลเอกประยุทธ์ ในขณะที่อยู่ร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถูกจัดขึ้นในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 แต่ทางโอบามาไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียวที่จะส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามาเยือนทำเนียบขาว

ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครตที่ให้ความสำคัญด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ยังกดดันไทยด้านปัญหาสิทธิมนุษยชนเรื่อยมาในระหว่างที่อยู่ในอำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม (เป็นต้นว่าระงับและการลดระดับความร่วมมือและความช่วยเหลือ) พร้อมเร่งให้ฝ่ายรัฐบาลทหารของไทยคืนประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ สื่อเวิลด์โพลิติกรีวิวยังให้ความเห็นว่า มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำรัฐประหารไทยปี 2014 แสดงอาการไม่พอใจอยู่หลายครั้งต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ของโอบามา ที่เข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศ ด้วยการออกมาประณามกองทัพไทยในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองในประเทศช่วงปี 2014

แต่สำหรับทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่มีนโยบายชัดเจนด้านการปกป้องการค้าในประเทศ หนึ่งในนโยบายหาเสียงหลักช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปีที่ผ่านมา ***เชื่อว่าทางฝ่ายไทยอาจต้องเตรียมรับมือกับปัญหาการค้าและการส่งออก*** เพราะเมื่อในช่วงไม่กี่เดือนแรกของการเข้ารับตำแหน่ง ผู้นำสหรัฐฯ ได้สั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายงานสรุปแยกแยะประเทศที่มีการเอาเปรียบการค้ากับสหรัฐฯ พร้อมแจกแจงประเภทสินค้าที่อเมริกาเสียเปรียบ และพบว่า ไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ถูกพบว่ามีการเกินดุลการค้ากับอเมริกาจำนวนมหาศาล

ล่าสุดข่าวดีของไทยยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสื่อการเมืองต่างประเทศ ดิดิพโพลแมต รายงานวันนี้ (15 ส.ค.) ว่า สหรัฐฯ ยอมอนุมัติการขายอาวุธให้กับกองทัพไทยแล้ว

ในรายงานของดิดิพโพลแมต ชี้ว่า ไทยและสหรัฐฯได้เริ่มต้นการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างกันอีกครั้งอย่างเงียบๆถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองชาติยังไม่มีโอกาสพบปะหารืออย่างเป็นทางการ

โดยพบว่าในเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือในการประชุมทางยุทธศาสตรระหว่างไทยและสหรัฐฯครั้งที่ 6 และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ได้เดินทางมาเยือนไทยเป็นครั้งแรก ถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายสหรัฐฯ ที่เดินทางมาไทยตั้งแต่หลังการเกิดรัฐประหาร

โดยในรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์เมื่อวันที่ 8 ส.ค ได้รายงานว่า ทิลเลอร์สันได้กดดันให้ฝ่ายไทยช่วยเหลือสหรัฐฯ ในปัญหาเกาหลีเหนือ โดยวอชิงตันหวังว่าจะสามารถตัดช่องทางการเงินป้อนโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเปียงยางได้

ขณะที่ทางสหรัฐฯ เชื่อว่า ในขณะนี้พบความเคลื่อนไหวของบริษัทเอกชนที่ถูกเปียงยางใช้เปิดบังหน้าทำการอยู่ในไทย ที่เชื่อว่าอาจมีความคล้ายคลึงกับบริษัทเอกชนของเปียงยางที่ทำการอยู่ในมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน โดยทางสหรัฐฯ ต้องการให้ฝ่ายไทยสั่งปิดบริษัทเหล่านี้

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศไทย ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้ยืนยันในรายงานของรอยเตอร์วันนี้ (15 ส.ค.) ว่า ทิลเลอร์สันไม่ได้หยิบยกประเด็นเกาหลีเหนือมาหารือ โดยเขากล่าวว่า “ทางสหรัฐฯ ไม่ได้กดดันให้ฝ่ายไทยทำการสั่งปิดธุรกิจของเกาหลีเหนือ” และกล่าวต่อว่า “การมาเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯนั้นหารือในกรอบกว้างๆ เท่านั้น”

ทั้งนี้ ซูซาน ทอร์นสัน (Susan Thornton) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางอยู่บนเครื่องบินของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ทิลเลอร์สันในขณะนั้น ถึงเรื่องปัญหาบริษัทบังหน้าเปียงยางในกรุงเทพฯ

โดยเธอได้ชี้แจงว่า ***เกาหลีเหนือใช้กรุงเทพฯเป็นเสมือนฮับของภูมิภาค ซึ่งพบว่าบริษัทเหล่านี้มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง***

และในการให้ความเห็น ทอร์นสันยังชี้ว่า ทางสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ไทยยอมรับผู้ลี้ภัยจากทางเกาหลีเหนือ มากเท่าที่ทางไทยจะรับได้ ซึ่งสื่อนิวยอร์กโพสต์ได้อ้างอิงไปถึงรายงานพิเศษของรอยเตอร์ ทอมสันก่อนหน้า ที่ระบุถึงจำนวนการไหลเข้าไทยผิดปกติของพลเมืองเกาหลีเหนือ

ดิดิพโพลแมตรายงานต่อว่า สำหรับประเด็นการอนุมัติการขายอาวุธให้ทางฝ่ายไทยนั้น พบว่า ในวันพฤหัสบดี (10 ส.ค.) สำนักความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงการป้องกันประเทศ DSCA ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่ด้านการจำหน่ายอาวุธและการส่งถ่ายเทคโนโลยีทางการทหาร และกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมยืนยันว่า วอชิงตันตกลงใจเดินหน้าอนุมัติดีลขายอาวุธมูลค่า 24.9 ล้านดอลลาร์ สำหรับขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ รุ่น RGM-84L (RGM-84L Harpoon Block II Surface Launched Missiles) จากบริษัทผู้ผลิตโบอิ้ง

สื่อดิดิพโพลแมตเปิดเผยว่า DSCA ระบุว่า ทางฝ่ายไทยได้ส่งคำสั่งซื้อสำหรับขีปนาวุธ ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ รุ่น RGM-84L จำนวน 5 ยูนิต และขีปนาวุธซ้อมยิง ฮาร์พูน บล็อก ทูว์ (RTM-84L Harpoon Block II Exercise Missile) อีก 1 ยูนิต พร้อมกับอุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็นรวมไปถึงอะหลั่ย อุปกรณ์สำหรับการซ่อมบำรุง แพกเกจการฝึกอบรบการใช้ ระบบลอจิสติกส์สนับสนุน และความช่วยเหลือด้านเทคนิกต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่าระบบขีปนาวุธฮาร์พูนนี้จะถูกติดตั้งบนเรือรบฟริเกต ดีดับเบิลยู 300 (DW300) “ร.ล.ท่าจีน” ของไทย ซึ่งทางกองทัพเรือไทยได้สั่งให้เกาหลีใต้เป็นผู้รับผิดชอบการต่อในดีลข้อตกลงมูลค่า 410 ล้านดอลลาร์ ที่ได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่สิงหาคม 2013 หรือก่อนหน้าการเกิดรัฐประหาร ซึ่งพบว่ามีการทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ร.ล.ท่าจีน ที่เกาหลีใต้เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ และคาดว่าทางเกาหลีใต้จะสามารถส่งมอบเรือรบฟริเกตให้ไทยได้ในปีหน้า

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และประธานาธิบดีทรัมป์
ระบบขีปนาวุธฮาร์พูนนี้จะถูกติดตั้งบนเรือรบฟริเกตดีดับเบิลยู 300 ร.ล.ท่าจีน ของไทย ซึ่งกองทัพเรือไทยได้สั่งให้เกาหลีใต้เป็นผู้รับผิดชอบการต่อในดีลข้อตกลงมูลค่า 410 ล้านดอลลาร์ ที่ได้ลงนามร่วมกันตั้งแต่สิงหาคม 2013
มิสไซล์เอจีเอ็ม-84 ฮาร์พูน (RGM-84L Harpoon Block II Surface Launched Missiles )





กำลังโหลดความคิดเห็น