xs
xsm
sm
md
lg

จับตา ‘โคอิเกะ’ ผู้ว่าฯหญิงกรุงโตเกียว หลังชัยชนะเหนือ‘พรรคของอาเบะ’เมื่อวันอาทิตย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วิลเลียม เพเซค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Next, Koikenomics?
By William Pesek
03/07/2017

ชัยชนะอันน่าตื่นตะลึงของพรรคการเมืองแนวทางปฏิรูปของ ยูริโกะ โคอิเกะ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภามหานครโตเกียวเมื่อวันอาทิตย์ (3 ก.ค.) ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดคำถามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เกี่ยวกับความทะเยอทะยานทางการเมืองในระดับชาติของผู้ว่าการกรุงโตเกียวผู้นี้ หลายๆ คนกำลังจับตามองว่าเธอจะมีโอกาสก้าวขึ้นมาแทนที่ ชินโซ อาเบะ มากน้อยแค่ไหน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น อาจจะคิดว่า คิม จองอึน คือปัญหาสำคัญที่สุดซึ่งกำลังประจันหน้าการครองตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารแดนอาทิตย์อุทัยของเขาอยู่ในเวลานี้

หรือว่าบางทีมันน่าจะเป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเริ่มต้นเปิดฉากประกาศทำสงครามทางการค้า หรือทวิตข้อความตำหนิวิจารณ์เรื่องค่าเงินเยน ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเป็นพวกช่างโวยช่างเปิดเปิงที่ออกมาโพนทะนาเรื่องไม่ชอบมาพากล ณ โรงเรียนในโอซากา และในจังหวัดเอฮิเมะ (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ https://www.theguardian.com/world/2017/mar/23/shinzo-abe-wife-akie-accused-giving-cash-ultra-nationalist-school)

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงกลับกำลังปรากฏออกมาว่า ทั้งหมดเหล่านี้ยังไม่ใช่หรอก ความท้าทายที่แท้จริงซึ่งเขากำลังเผชิญอยู่ คือ ผู้ว่าการมหานครโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ ต่างหาก

แน่นอนทีเดียว โคอิเกะกลายเป็นหนามแหลมข้างๆ ตัวนายกรัฐมนตรีผู้นี้นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อเธอเดินหมากเหนือชั้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกจากอาเบะ แต่ก็ยังคงประสบความสำเร็จสามารถคว้าชัยชนะในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งผู้ว่าการของนครหลวงของญี่ปุ่น

เธอยังกล้าที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายอันบานปลายของการเตรียมการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกซึ่งจะมีขึ้นในโตเกียวปี 2020 นอกจากนั้นเธอยังสั่งชะลอการโยกย้ายตลาดปลาซึกิจิ แถมดึงลากเอาตัว ชินทาโระ อิชิฮาระ (Shintaro Ishihara) ฮีโรคนหนึ่งของพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (Liberal Democratic Party หรือ LDP) ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวมาแล้วด้วย มาสอบถามเรื่องการใช้จ่ายในโครงการย้ายตลาดปลาชื่อก้องแห่งนี้

ทว่าจากชัยชนะของเธอในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ที่ผ่านมา ในการนำพาพวกผู้สมัครหัวปฏิรูปเข้าสู่สภามหานครโตเกียว แน่นอนทีเดียวว่าจะทำให้อาเบะต้องนอนฝันร้ายไปหลายคืน เนื่องจากต้องขบคิดเรื่องที่โคอิเกะกำลังเตรียมตัวเพื่อที่จะช่วงชิงตำแหน่งของเขาในเวลาต่อไป

ชัยชนะครั้งนี้มีความหมายสำคัญเนื่องจากเหตุผล 3 ประการ

ประการแรก โคอิเกะประสบความสำเร็จโดยที่ตัวเธออยู่นอกพรรคแอลดีพีของอาเบะ ทั้งนี้เธอได้ลาออกจากพรรคการเมืองซึ่งยังคงมีอิทธิพลครอบงำการเมืองของญี่ปุ่นพรรคนี้ไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม

ประการที่สอง เธอสามารถที่จะก้าวข้ามประเด็นปัญหาเรื่องเพศภาวะไปได้ในที่สุด ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อพวกผู้รู้ทั้งหลายอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับการที่โคอิเกะจะขึ้นเป็นผู้นำในอนาคต บ่อยครั้งทีเดียวจะพูดกันในลักษณะที่ว่ามันถึงเวลาหรือยังที่จะให้ผู้หญิงได้ขึ้นมาบ้าง

ประการที่สาม เวลานี้โคอิเกะมีโมเมนตัมที่จะเหวี่ยงตัวเองไปข้างหน้าแล้ว ขณะที่รัฐบาลซึ่งอุดมไปด้วยกรณีอื้อฉาวและเรื่องการประพฤติผิดมารยาทของอาเบะนั้นหามีไม่

แน่นอน เราไม่ควรให้ความสำคัญแก่ประเด็นหลังนี้จนเกินเลยความเป็นจริงไป แต่ระยะไม่กี่ปีหลังๆ มานี้ ผมมักได้ยินได้ฟังพวกนักการเมือง, บุคคลในแวดวงธุรกิจ, เพื่อนร่วมงานแวดวงเดียวกับผม ตลอดจนเพื่อนมิตรของผม เป็นจำนวนมากมายทีเดียว ที่พูดอะไรบางอย่างซึ่งสรุปแล้วคือบอกว่า “เอาล่ะ ผมไม่ได้รักอาเบะหรอกนะ แต่มีใครคนอื่นอีกไหมล่ะที่จะมาแทน?”

แล้วบัญชีรายชื่อเพื่อตอบคำถามอันน่าเหนื่อยยากนี้ก็จะติดตามมาอย่างเคยๆ: “ยอดขี้ขลาดฟู มิโอะ คิชิดะ หรือ? (The milquetoast Fumio Kishida?) เหยี่ยวอันตราย ชิเกรุ อิชิบะ หรือ? (The hawkish Shigeru Ishiba?) ดาราเรียลลิตี้ทีวีสักคนหนึ่งหรือ?” แล้วใครๆ ก็พากันหยักไหล่แสดงความไม่แยแสกันรอบวง

แต่ว่าโคอิเกะ ซึ่งฉลาดหลักแหลม, มีความคิดแบบสากลนิยม, และระมัดระวังตัว อาจจะสามารถครองเก้าอี้ใหญ่ตัวนี้ได้อย่างเหมาะเจาะทีเดียว

แผ่นดินไหวทางการเมือง

ย่อมไม่ใช่หน้าที่ของผมอยู่แล้วที่จะเลือกหยิบหรือผลักดันว่าใครควรที่จะเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแน่นอนชัดเจนอยู่แล้วว่า เส้นทางสู่ชัยชนะในระดับชาติของผู้แข่งขันซึ่งอยู่นอกพรรคแอลดีพีนั้น จะต้องใช้ความพากเพียรพยายามอย่างหนักหน่วงเป็นพิเศษ ในสภาพที่ญี่ปุ่นยังคงแทบจะเป็นรัฐที่ปกครองโดยพรรคการเมืองพรรคเดียว โดยที่นับแต่ปี 1955 แอลดีพีก็ครองอำนาจเป็นรัฐบาลเรื่อยมา โดยมีช่วงยกเว้นสั้นๆ เพียง 2 ช่วง ในปี 1993 และปี 2009 เท่านั้น

แต่โคอิเกะกำลังมีโมเมนตัมอันแรงกล้าไม่ต่างอะไรจากพลังแผ่นดินไหวทางการเมือง

ชัยชนะใหญ่ๆ ในกรุงโตเกียว ของพรรคที่ไม่ใช่แอลดีพี บ่อยครั้งมักเป็นลางบอกเหตุถึงการพ่ายแพ้สูญเสียอำนาจของแอลดีพี ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2009

พรรคโทมิน เฟิร์สต์ (Tomin First แปลกันเป็นภาษาอังกฤษว่า Tokyo Residents First ชาวโตเกียวเป็นอันดับแรก) ของโคอิเกะ ซึ่งก่อนการเลือกตั้งคราวนี้มีที่นั่งในสภามหานครโตเกียวอยู่ 6 ที่ ปรากฏว่าชนะได้มาถึง 49 ที่ ท่ามกลางเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาใช้สิทธิที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงกระแสความตูมตามแบบประชานิยมในแดนอาทิตย์อุทัย ที่มีฐานะเป็นระบบเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของเอเชีย

สำหรับพรรคแอลดีพีที่เคยครองที่นั่ง 57 ที่นั้น ปรากฏว่าได้รับเลือกตั้งกลับคืนมาเพียงแค่ 23 ที่ ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ยิ่งกว่านั้น โคอิเกะยังได้รับความสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ชนะได้ที่นั่งในสภามหานครโตเกียวในคราวนี้ โดยรวมแล้วเธอน่าจะได้เสียงสนับสนุน 79 จากจำนวนทั้งหมด 127 ที่นั่งของสภาท้องถิ่นแห่งนี้

“ผลที่ออกมาดีกว่าที่เราคาดหมายกันไว้มาก” เธอกล่าวในการให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ ฟูจิ ทีวี (Fuji TV)

มันเพียงพอทีเดียวที่จะกลายเป็นเสียงนาฬิกาปลุกให้ตื่นจากหลับ และพรรคของอาเบะก็รีบจัดการประชุมฉุกเฉินกันในวันจันทร์ (3 ก.ค.) เพื่อประเมินความเสียหาย

โคอิเกะโนมิกส์?

ทว่าถ้าหากกระแสประชานิยมกำลังเป็นพลังผลักดันโคอิเกะให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นผู้นำในระดับชาติแล้ว มันก็เป็นพลังขับดันซึ่งเกิดขึ้นมาเนื่องจากความเหน็ดหน่ายท้อแท้ของผู้มีสิทธิออกเสียง มากกว่าจะเป็นความศรัทธาอย่างท่วมท้นร้อนเร่าซึ่งส่งให้โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่ทำเนียบขาว และ โรดริโก ดูเตอร์เต เข้าสู่ทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ว่าทำไม โคอิเกะโนมิกส์ (Koikenomics) ซึ่งเสนอเข้ามาเป็นทางเลือกแทนที่ อาเบะโนมิกส์ (Abenomics) จึงอาจจะต้องมีเนื้อหาสาระมากกว่าเป็นเพียงแค่คำคุยโต (หรือเป็นเพียงแค่อาการคลุ้มคลั่งเนื่องจากฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน)

แผนการฟื้นชีพของอาเบะนั้นตรงไปตรงมาและได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากประชาชน 127 ล้านคนของญี่ปุ่น ทว่าหลังจากเวลาผ่านพ้นไป 4 ปีครึ่ง ก็เห็นได้แจ่มแจ้งว่าอาเบะโนมิกส์มีปัญหาในการนำมาปฏิบัติ

อาเบะโนมิกส์ ซึ่งได้รับการอธิบายว่าประกอบด้วย ลูกธนู 3 ดอก หรือ เสาหลัก 3 ต้นนั้น ปรากฏว่ามีเสาหลักเพียงต้นเดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือการผ่อนคลายทางการเงิน ที่ได้มีการนำมาใช้กันอย่างเต็มที่ สำหรับเสาหลักต้นที่สอง อันได้แก่ การจับจ่ายใช้สอยทางการคลัง ซึ่งการก่อสร้างอย่างมโหฬารในการจัดโอลิมปิกปี 2020 จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญนั้น ปรากฏว่าประสบกับปัญหาอันสลับซับซ้อน สืบเนื่องจากการขึ้นภาษีการบริโภคอย่างไม่ฉลาดเลยเมื่อปี 2014

แต่ในเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างใหญ่โต ซึ่งถือเป็นเสาหลักต้นที่ 3 และทรงความสำคัญที่สุดนั้น กลับแทบไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังอะไรเลย และโอกาสลู่ทางที่จะกระทำเรื่องนี้ได้ก็กำลังลดต่ำลงเรื่อยๆ ตามอัตราเรตติ้งความยอมรับผลงานของอาเบะในสายตาประชาชนญี่ปุ่น ท่ามกลางกรณีอื้อฉาวเรื่องอาเบะเล่นพรรคเล่นพวก (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.eastasiaforum.org/2017/06/21/scandals-are-starting-to-stick-to-the-abe-administration/)

โคอิเกะน่าจะต้องทำให้ได้ดีกว่านี้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ส่วนอาเบะนั้นกำลังทำตัวเป็นนักการเมืองที่ใช้เทคนิคการตลาดแบบหย่อนเบ็ดจูงใจด้วยข้อเสนอที่ดูดี ครั้นแล้วก็เปลี่ยนข้อเสนอดังกล่าวไปเป็นอย่างอื่น

เขาบอกว่าดูนี่นะ ผมกำลังจะปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อทำให้ญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วเขาเอาแต่โฟกัสไปที่เรื่องการปฏิรูปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ออกเสียงไม่นิยมชมชื่นกันเลยเท่านั้น

การที่เขาเร่งรัดมุ่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพซึ่งญี่ปุ่นใช้มาตลอดในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ชื่นชมเคารพนับถือ ขณะที่ค่าจ้างค่าแรงกลับชะงักงันและภาวะเงินฝืดยังคงคุกคามแก้ไขไม่ตกเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่นนี้เองคือสิ่งที่อธิบายความพ่ายแพ้ในวันอาทิตย์ (2 ก.ค.)

อาเบะ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น กลับถูกก่อกวนระหว่างกล่าวปราศรัยตระเวนหาเสียงเมื่อวันเสาร์ (1 ก.ค.) ท่ามกลางเสียงตะโกนเรียกร้องให้เขา “กลับบ้าน” และ “ลาออก” ไป แล้วผู้ลงคะแนนเมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.ค.) ก็ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับเสียงตะโกนเหล่านั้น

ยังมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่บ้างบางประการซึ่งอาจจะได้เห็นกันถ้ามีนายกรัฐมนตรีชื่อ โคอิเกะ

มีโอกาสเป็นไปได้ที่เธอจะกดดันบรรดาธุรกิจญี่ปุ่น (Japan Inc.) อย่างจริงจัง ในวิถีทางซึ่งอาเบะไม่ได้มีความหาญกล้าที่จะกระทำ เป็นต้นว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ที่บังคับใช้กับตลาดแรงงาน, การท้าทายระบบเลือกเลื่อนตำแหน่งที่อิงกับหลักอาวุโสและผู้ชายเป็นใหญ่, การส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการ, การจัดทำนโยบายพลังงานใหม่ๆ, การค้นหาหนทางที่ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองโดยที่ไม่ต้องลดค่าเงินเยน หรือเพิ่มภาระหนี้ให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นประเทศที่มีหนี้ภาคสาธารณะมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่แล้ว

แน่ใจได้ว่าเธอยังจะนำ “วีเมนโนมิกส์” (womenomics) มาใช้กันอย่างจริงจังยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมอัตราเติบโตและผลิตภาพของเศรษฐกิจ โดยเพียงแค่นำเอากำลังแรงงานที่เป็นสตรีมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

สุดท้าย โคอิเกะอาจจะลดภาระให้น้อยลงในเรื่องความสัมพันธ์กับจีน ใช่ครับ เธอเป็นพวกอนุรักษนิยมเหนียวแน่นซึ่งมีความโน้มเอียงในทางชาตินิยมด้วย กระนั้นเธอก็แตกต่างจากอาเบะ ตรงที่คุณตาของเธอไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลคณะผู้นำที่โหดเหี้ยมอำมหิตของญี่ปุ่นในดินแดนแมนจูเรียเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ดี เป็นความผิดพลาดเสมอถ้าหากคิดที่จะประเมินอาเบะให้ต่ำเกินไป การที่เขาหวนกลับขึ้นมาครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้งหนึ่งในปี 2012 หลังจากอยู่ในเก้าอี้ตัวนี้ช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2006 – 2007 โดยที่สถานการณ์ต่างๆ ดูไม่เอื้ออำนวยอะไรเลยนั้น ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกเซอร์ไพรซ์

เช่นเดียวกับความสำเร็จของเขาในการทำให้โลกเกิดความมั่นอกมั่นใจกับ อาเบะโนมิกส์ ก็เป็นเรื่องที่ใหญ่โตเกินกว่าเพียงแค่เป็นกลเม็ดด้านการประชาสัมพันธ์เท่านั้น

พรรคของอาเบะถึงขนาดเลือกหยิบเอาแนวทาง “โจมตีสื่อ” ของทรัมป์มาใช้บ้างในช่วงไม่กี่วันหลังๆ มานี้ ราวกับว่ามันเป็นความผิดของพวกนักหนังสือพิมพ์ ที่ทำให้นโยบายต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจของเขาต้องประสบความล้มเหลว

และ “โคอิเกะ ช็อก” อาจจะกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้อาเบะเปลี่ยนแปลงทิศทาง และฟื้นชีพชะตากรรมของเขาอีกครั้งหนึ่งได้เสมอ

แต่ก็อย่าได้ผิดพลาดหลงลืมเช่นกันว่า ตัวเลือกที่อาจจะเข้าแทนที่อาเบะ ซึ่งทุกๆ คนพูดว่าไม่มีปรากฏให้เห็นเลย แม้กระทั่งเมื่อสักสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เองนั้น จริงๆ แล้วมันก็วางแบชัดๆ อยู่ตรงเบื้องหน้าแล้ว การประเมินยูริโกะ โคอิเกะ ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็ถือเป็นอันตรายมากสำหรับคุณๆ เช่นกันนะครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น