xs
xsm
sm
md
lg

แผน'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' เปลี่ยน'จีน'และเปลี่ยน'โลก'

เผยแพร่:   โดย: เปเป้ เอสโคบาร์


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Peace, harmony and happiness, plus a deluge of yuan
By Pepe Escobar
15/05/2017

โลกาภิวัตน์แบบทุกฝ่ายมีส่วน, การค้าโลกแบบทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ, เมด อิน ไชน่า 2025 … ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ใช้เวทีประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง กล่าวอธิบายแจกแจงว่าแผนริเริ่มด้านการค้าอันใหญ่โตครอบคลุมนี้จะเปลี่ยนแปลงจีนและเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาศัยคำปราศรัยสำคัญของเขาในช่วงเปิด เวทีประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (Belt and Road Forum for International Cooperation) ซึ่งจัดขึ้นในกรุงปักกิ่งเป็นเวลา 2 วัน (13-14 พ.ค.) มาอธิบายแจกแจงให้เห็นถึงอนาคตของเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Roads)

สีบอกว่า “ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative หรือ BRI) -–ที่เมื่อก่อนมีอยู่ช่วงหนึ่งเคยเรียกขานกันว่า “หนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road หรือ OBOR)-- คือโครงการระดับพหุภาคีซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อก่อให้เกิด “สันติภาพ, ความประสานกลมกลืน, และความสุข” ตลอดทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชีย (Eurasia) ด้วยการนำเอาประเทศต่างๆ หลายหลากที่มีความผิดแผกกันอยู่ของมหาทวีปนี้ อย่างเช่น รัสเซีย, มองโกเลีย, ตุรกี, และเวียดนาม มา “ต่อเชื่อมกันทางยุทธศาสตร์” โดยผ่านแผนการพัฒนานานามากมายซึ่งพรักพร้อมที่จะดำเนินการแล้ว เขากล่าวด้วยว่า แผนการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จสืบเนื่องจากมีกองทุนพิเศษตระเตรียมเอาไว้

สีบอกกับผู้ฟังของเขา ซึ่งมีทั้งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย, ประธานาธิบดีเรเจป ตัยยิป แอร์โดอัน ของตุรกี, ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ และผู้นำโลกคนอื่นๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกกลุ่มใหญ่ ว่าเขาได้เสนอที่จะระดมเงินทุนเพื่อนำมาใช้จ่ายเพิ่มเติมขึ้นอีก 780,000 ล้านหยวน (ประมาณ 113,000 ล้านดอลลาร์) โดยมีแหล่งที่มาต่างๆ หลายหลาก

เป็นต้นว่า กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund), ธนาคารพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank), ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศจีน (Export and Import Bank of China) ตลอดจนเงินทุนในต่างแดนที่จัดหาให้โดยธนาคารจีนแห่งต่างๆ ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนแพกเกจเงินใช้จ่ายเพิ่มเติมก้อนนี้ (อย่างน้อยก็ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในขณะนี้)

ถึงกระนั้นตัวเลขนี้ก็ยังคงห่างไกลทีเดียวจากการเติมให้เต็มความต้องการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอันมหึมามหาศาลของเอเชีย –ซึ่งประมาณการเอาไว้ว่าจะต้องใช้ถึงอย่างน้อย 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงตั้งแต่เวลานี้ไปจนถึงปี 2022

หลักเหตุผลในทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นอย่างแน่นอนชัดเจนอยู่แล้วว่า เมื่อการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปเพิ่มทวีคูณขึ้นมาก็ยิ่งมีความจำเป็นที่ทั้งสองส่วนนี้ต้องยิ่งมีการต่อเชื่อมกันมากขึ้นอีก จึงไม่น่าแปลกใจที่อิตาลีและสหราชอาณาจักรต่างเป็นผู้สนับสนุนอย่างกระตือรือร้นของแผนการ OBOR/BRI เช่นเดียวกับพวกนักอุตสาหกรรมของเยอรมนี

ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในทิศทางนี้ประการหนึ่งก็คือ ก่อนหน้าเวทีประชุมซัมมิตที่ปักกิ่งครั้งนี้ สีได้ต่อโทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส เอมมานูแอล มาครง ผู้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ที่ผ่านมา โดยที่สีไม่ได้เพียงแค่เสนอให้ความสนับสนุนอันจำเป็นมากสำหรับการบูรณาการของอียูเท่านั้น แต่เขายังกระตุ้นมาครงให้ตกลงปลงใจเข้ามีส่วนร่วมในเส้นทางสายไหมใหม่ โดยมองมันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่นำไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอียู ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจของฝรั่งเศสและสื่อมวลชนฝรั่งเศสยังไม่ค่อยมีความเข้าอกเข้าใจกันนักว่าเส้นทางสายไหมใหม่นี้มีความหมายความสำคัญอย่างไร

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ความพยายามอันใหญ่โตมโหฬารครั้งนี้ซึ่งมุ่งก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐาน -–ทั้งสายท่อส่งน้ำมันและท่อส่งก๊าซ, ท่าเรือ, ถนนหนทาง, รางไฟฟ้าไฮสปีด, สายเคเบิลไฟเบอร์ออปติก-- ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมเอามหาทวีปยูเรเชียเข้ามาอยู่ในมหาอาณาจักรทางการค้าที่ไร้ต่ออันหนึ่งอันเดียวกันนั้น คือโครงการทางภูมิเศรษฐศาสตร์/ภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นตัวกำหนดตัดสินทิศทางของศตวรรษที่ 21 โดยแท้

OBOR/BRI จะเป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง “โลกาภิวัตน์ขั้นที่ 2” (Globalization Mark II) หรือที่ประธานาธิบดีสีได้เคยพูดบรรยายเอาไว้ในดาวอส, สวิตเซอร์แลนด์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ว่า เป็น “โลกาภิวัตน์แบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” (inclusive globalization)

จริงๆ แล้วมันก็เป็นอย่างเดียวกันที่จะอธิบายตีความว่า OBOR/BRI คือ “โลกาภิวัตน์ที่ถอยห่างออกจากการครอบงำของอเมริกัน” (de-Americanized globalization) (ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://stories.cnas.org/connectivity-and-strategy-a-response-to-robert-kaplan)

และแน่นอนทีเดียวว่า OBOR/BRI จะแสดงตนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากส่วนหนึ่งในความคิดสำคัญของสี ไม่ว่าจะเป็น ยุทธศาสตร์ “เมด อิน ไชน่า 2015” (Made in China 2025 strategy) หรือในแนวความคิด “ความฝันของชาวจีน” (Chinese Dream) ที่เวลานี้กลายเป็นแกนกลางความมุ่งมาดปรารถนาอันสูงส่งของแดนมังกรไปแล้ว OBOR/BRI ยังกลายเป็นแขนขาด้านนโยบายการต่างประเทศทางการค้า/เศรษฐกิจในแรงขับดันของสีที่จะนำพาจีนเข้าสู่ฐานะความเป็นสังคม “ที่มีความมั่งคั่งระดับปานกลาง” (“moderately affluent” society)

สิ่งที่สีตั้งจุดมุ่งหมายไว้จากเวทีประชุมซัมมิตที่ปักกิ่งครั้งนี้ก็คือ การอธิบายไขข้อข้องใจในประเด็นสำคัญแต่มีการโต้แย้งกันมากรวม 2 ประเด็น อันได้แก่ จีนมีข้อเสนออย่างไรในเรื่องการหาความสนับสนุนทางการเงินให้แก่แผนการ OBOR/BRI และทำอย่างไรจึงจะสามารถสร้างฉันทามติขึ้นมาได้ว่า OBOR/BRI คือการปฏิบัติการระดับทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชียซึ่งทุกๆ ฝ่ายจะกลายเป็นผู้ชนะ (Eurasia-wide “win-win” operation)

คำคมว่าด้วยแมวสีขาวหรือสีดำ

กิจกรรมเส้นทางสายไหมใหม่กำลังดำเนินไปอย่างเมามันอึกทึกแล้วในตอนนี้ ยกตัวอย่างรถไฟด่วนสายจีน-ยุโรป (China-Europe Railway Express) เวลานี้เส้นทางรถไฟสายนี้ทอดยาวครอบคลุมจุดเชื่อมรางต่างๆ 51 จุด โดยมีขบวนรถสินค้าแล่นผ่านต่อเชื่อมเมืองใหญ่ 27 เมืองในจีนและ 28 เมืองในยุโรป นอกจากนั้นยังมีการวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟระหว่างจีนกับลาว และทางรถไฟไฮสปีดระหวางมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) ทางภาคใต้ของจีนกับประเทศไทย ในมาเลเซียนั้นมีนิคมอุตสาหกรรมท่าเรือกวนตัน รวมทั้งโรงงานแปรรูปอลูมิเนียมและปาล์มน้ำมัน ส่วนในตุรกีก็มีบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีน 3 แห่งกำลังปรับเปลี่ยน คุมพอร์ต (Kumport) ท่าเรือใหญ่อันดับ 3 ของประเทศนี้ให้กลายเป็นศูนย์ต่อเชื่อมที่สำคัญแห่งหนึ่งของ OBOR/BRI

ในบรรดาโครงการมากมายมหาศาลเหล่านี้ โครงการที่ถือว่ามีความทะเยอทะยานมุ่งหวังสูงส่งที่สุด เห็นจะได้แก่ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor หรือ CPEC) ที่มีมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โครงการนี้เป็นเครือข่ายอันซับซ้อนของถนน, ทางรถไฟ, สายท่อส่งน้ำมัน/ก๊าซ, ท่าเรือ, ท่าอากาศยาน, และเขตเศรษฐกิจพิเศษจำนวนมากมาย ซึ่งต่อเนื่องตั้งแต่ซินเจียง (ซินเกียง) และเรียงรายต่อๆ มาจนถึงเมืองท่ากวาดาร์ (Gwadar) ในแคว้นบาลูจิสถาน ของปากีสถาน CPEC ยังกลายเป็นโครงการเส้นทางสายไหมใหม่โครงการแรกที่จะได้รับเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากกองทุนเส้นทางสายไหมอีกด้วย

ในเดือนพฤศจิกายน 2016 ทางหลวงสายคาราโครัม (Karakoram highway) ได้รับการปรับปรุงยกระดับและขยายเส้นทาง สามารถต่อเชื่อมระหว่าง กวาดาร์ เมื่องท่าริมทะเลอาหรับ กับเมืองคัชการ์ (Kashgar) เมืองโบราณในซินเจียงที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมดั้งเดิม

อย่างที่สีได้เน้นย้ำเอาไว้นั่นแหละ จีนนั้นนอกเหนือจากโครงการ CPEC แล้ว ยังจะใกล้ชิดกับปากีสถานยิ่งขึ้นไปอีกในเชืงภูมิรัฐศาสตร์ ภายใต้กรอบโครงขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization หรือ SCO)

เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว มันก็ถึงคิวของอินเดียที่ต้องแสดงบทบาทอารมณ์เกรี้ยวกราด –จากนั้นก็ส่งคณะผู้แทนระดับล่างๆ เข้าร่วมซัมมิตที่ปักกิ่งครั้งนี้

นี่น่าจะพูดได้ว่ากำลังก่อให้เกิดผลในทางลบ เนื่องจากยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนและของอินเดียนั้นไม่ได้แยกขาดออกจากกันและกันเลย อินเดียคือผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ในแบงก์ AIIB รองลงมาจากจีนเท่านั้น นอกจากนั้นทั้งจีนและอินเดียยังเป็นหุ้นส่วนฐานะเสมอกันในธนาคารพัฒนาใหม่ (New Development Bank หรือ NDB) ซึ่งเป็นธนาคารของกลุ่มบริกส์ (BRICS 5 ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) และไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงในการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการต่างๆ ของ OBOR/BRI

ไม่เพียงเท่านั้น จีนกับอินเดียยังต่างเป็นสมาชิกของ ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-พม่า (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor หรือ BCIM-EC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะมีจุดมุ่งหมายอะไรอื่นได้ล่ะ นอกจากเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ BCIM-EC ต่อไปอาจจะกลายเป็นกิ่งก้านสาขาหนึ่งของOBOR/BRI หรือไม่ก็ยังคงเดินหน้าไปในฐานะกลไกเดี่ยวๆ โดยที่รัฐสมาชิกทุกๆ รายมีเสียงเท่าเทียมกัน

ดังนั้น ถ้าหากจะอัปเกรดคำคมที่เติ้ง เสี่ยวผิง เคยพูดเอาไว้ ก็คงต้องปรับขยายเป็นว่า “มันไม่สำคัญหรอกว่าแมวเส้นทางสายไหมตัวนี้จะเป็นสีขาวหรือสีดำ ขอให้มันจับหนูได้ก็แล้วกัน” และการจับหนูในศตวรรษที่ 21 ย่อมหมายถึงการบูรณาการมหาทวีปยูเรเชียเข้าด้วยกันนั่นเอง

เปเป้ เอสโคบาร์ เป็นผู้สื่อข่าวไม่ประจำที่ (correspondent-at-large) ของเอเชียไทมส์

กำลังโหลดความคิดเห็น