xs
xsm
sm
md
lg

นักสิทธิฯ จวก “ทรัมป์” เชิญ “ดูเตอร์เต” เยือนทำเนียบขาวเท่ากับ “อวยฆาตกร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์
รอยเตอร์ - ทำเนียบขาวชี้แจงวานนี้ (30 เม.ย.) กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเชื้อเชิญผู้นำฟิลิปปินส์ โรดริโก ดูเตอร์เต ไปเยือนทำเนียบขาว โดยระบุว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากมะนิลาเพื่อสกัดภัยคุกคามเกาหลีเหนือ หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักสิทธิมนุษยชนที่คัดค้านนโยบายสงครามยาเสพติดของผู้นำขาโหด

คำเชิญนี้มีขึ้นเมื่อค่ำวันเสาร์ (29) ระหว่างที่ ทรัมป์ พูดคุยโทรศัพท์ “อย่างเป็นมิตร” กับ ดูเตอร์เต ซึ่งถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติกล่าวหาว่าสนับสนุนการล่าสังหารผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดในฟิลิปปินส์โดยปราศจากการไต่สวน

“เวลานี้ไม่มีภัยคุกคามใดๆ ต่อสหรัฐฯ และภูมิภาคที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าปัญหาเกาหลีเหนือ” ไรน์ซ พรีบัส ประธานคณะเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวให้สัมภาษณ์ในรายการ This Week ทางสถานีโทรทัศน์เอบีซีเกี่ยวกับความพยายามของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะแสวงหาความร่วมมือกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อบีบคั้นโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของโสมแดง

พรีบัส ยืนยันว่า การเชื้อเชิญ ดูเตอร์เต “ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังมองข้ามเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ภัยคุกคามหลายด้านที่เกาหลีเหนือเป็นต้นเหตุนั้นร้ายแรงเสียจนเราจำเป็นต้องขอความร่วมมือในระดับหนึ่งจากหุ้นส่วนหลายๆ ประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าพันธมิตรของเรามีจุดยืนไปในทางเดียวกัน”

การเชิญ ดูเตอร์เต ไปเยือนทำเนียบขาวซึ่งยังไม่กำหนดวันและเวลาที่แน่นอนนี้ นับเป็นกรณีล่าสุดที่ ทรัมป์ หยิบยื่นไมตรีให้แก่ผู้นำต่างชาติที่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ก็ใช้อำนาจปกครองเยี่ยงเผด็จการ

ทรัมป์ เคยออกมากล่าวชื่นชมประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียตอนหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปี 2016 และหลังจากที่เป็นผู้นำสหรัฐฯ แล้ว เขาก็ได้เชิญประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี แห่งอียิปต์ไปเยือนทำเนียบขาว แถมยังพูดเอาอกเอาใจประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อกล่อมให้จีนช่วยให้อิทธิพลป้องปรามเกาหลีเหนือ

เมื่อวานนี้ (30) ทรัมป์ ยังได้พูดคุยโทรศัพท์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2014 และยังกล่าวเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ไปเยือนทำเนียบขาวด้วย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลประยุทธ์มีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ดีนักกับสหรัฐฯ ในยุคของ บารัค โอบามา

“การยกย่องชายคนหนึ่งที่โอ้อวดการเข่นฆ่าพลเมืองตัวเอง และยังเชิญให้มาเยือนทำเนียบขาวโดยไม่พูดอะไรสักคำเกี่ยวกับประวัติสิทธิมนุษยชนที่น่ารังเกียจของเขา ถือเป็นการส่งสารที่น่าหวาดกลัว” จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการ ฮิวแมนไรต์วอตช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุ

“หาก ทรัมป์ เห็นด้วยกับสงครามยาเสพติดของดูเตอร์เต ก็เท่ากับสมรู้ร่วมคิดทางใจต่อการเข่นฆ่าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งออกมาให้เหตุผลว่า คำเชิญนี้ไม่ได้ถือเป็น “รางวัล” หรือ “การรับรอง” ต่อนโยบายของดูเตอร์เต หากแต่ ทรัมป์ นั้นเห็นว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นมิตรเก่าแก่ของสหรัฐฯ ย่อมดีกว่าการเลิกคบหา ซึ่งอาจจะทำให้ ดูเตอร์เต “แสดงพฤติกรรมเลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก”

เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายนี้ยังปฏิเสธรายงานของนิวยอร์กไทม์สที่ว่า กระทรวงการต่างประเทศและสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ “ไม่ทราบมาก่อน” ว่าจะมีการเชิญ ดูเตอร์เต และคาดว่าจะมีการคัดค้านเกิดขึ้นภายใน

“นี่ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์สำหรับเรา พวกเจ้าหน้าที่ซึ่งตระเตรียมการพูดคุยโทรศัพท์ต่างก็เห็นด้วยในเรื่องนี้” เขากล่าว

ชาวฟิลิปปินส์หลายพันคนถูกสังหารโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมนับตั้งแต่ ดูเตอร์เต เริ่มประกาศสงครามกับยาเสพติดเมื่อ 10 เดือนก่อน ตำรวจฟิลิปปินส์อ้างว่าพวกเขาจำเป็นต้องวิสามัญฯ เพื่อ “ป้องกันตัวเอง” ในขณะที่ผู้ค้าหรือผู้เสพอีกจำนวนมากถูกสังหารโดยระบบศาลเตี้ย หรือไม่ก็ถูกแก๊งค้ายาเสพติดด้วยกันเองฆ่าปิดปาก

กำลังโหลดความคิดเห็น