xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำอาเซียนเดินตาม ‘ดูเตอร์เต’ ใช้ท่าทีอ่อนลงแยะต่อ ‘ปักกิ่ง’ ไม่แตะเรื่องสร้างเกาะเทียมทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ กล่าวในการประชุมแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนครั้งที่ 30 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  เมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.)  ทั้งนี้คำแถลงของประธานอาเซียนที่สรุปผลการประชุมคราวนี้เพิ่งนำออกเผยแพร่ในวันอาทิตย์ (30) โดยมีน้ำเสียงที่อ่อนลงมาในเรื่องเกี่ยวกับท่าทีแข็งกร้าวของจีนในทะเลจีนใต้ </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แห่งฟิลิปปินส์ ในฐานะประธานสมาคมอาเซียนวาระปัจจุบัน ออกคำแถลงที่เผยแพร่ในวันอาทิตย์ (30 เม.ย.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้จุดยืนที่อ่อนลงเกี่ยวกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ระหว่างการประชุมซัมมิตของพวกเขาซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันเสาร์ (29) ทั้งนี้โดยหลีกเลี่ยงการระบุอ้างอิงตรงๆ เรื่องจีนกำลังทำการสร้างเกาะเทียมต่างๆในน่านน้ำดังกล่าว ตลอดจนการติดตั้งอาวุธบนที่มั่นเหล่านี้

ในคำแถลงสุดท้ายความยาว 25 หน้าซึ่งออกในนามของประธานอาเซียน ได้ตัดข้อความส่วนที่อ้างอิงถึง “การถมทะเลสร้างเกาะเทียมและการประกอบติดตั้งเสริมกำลังทางการทหาร” ของจีน ซึ่งรวมอยู่ในเอกสารเช่นนี้ของการประชุมระดับผู้นำอาเซียนปีที่แล้วในประเทศลาว ตลอดจนปรากฏอยู่ในเวอร์ชั่นร่างคำแถลงก่อนหน้านี้ของการประชุมคราวนี้ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์ตลอดจนอีกหลายสำนักข่าวต่างประเทศต่างระบุว่าได้เห็นได้อ่านกันมา

คำแถลงสุดท้ายปรากฏออกมาเช่นนี้ ภายหลังจากนักการทูตชาติอาเซียน 2 คนเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า พวกเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจีนและสถานเอกอัครราชทูตแดนมังกรในกรุงมะนิลาพยายามกดดันฟิลิปปินส์ ให้กันเอากิจกรรมต่างๆในทะเลจีนใต้อันก่อให้เกิดการพิพาทโต้แย้งกันหนัก ออกไปจากวาระทางการของอาเซียน

นอกจากนั้น คำแถลงนี้ยังเป็นการบ่งชี้ว่า 4 ชาติสมาชิกสมาคมอาเซียน ซึ่งนักการทูต 2 รายนี้ระบุว่าได้แสดงความต้องการให้ใช้จุดยืนที่หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้นนั้น ได้ตกลงยินยอมให้ออกคำแถลงสุดท้ายซึ่งมีน้ำเสียงรอมชอมประนีประนอมมากกว่า

จีนนั้นไม่ได้เป็นสมาชิกของอาเซียนซึ่งเป็นการรวมตัวของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไม่ได้เข้าร่วมการประชุมซัมมิตครั้งนี้ซึ่งมีเฉพาะสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม แต่ก็แสดงความอ่อนไหวเป็นอย่างยิ่งต่อเนื้อหาในคำแถลงต่างๆ ของสมาคมแห่งนี้ ปักกิ่งมักถูกกล่าวหาอยู่บ่อยครั้งว่าพยายามส่งอิทธิพลต่อร่างคำแถลงของอาเซียนซึ่งมองเห็นกันว่าแสดงท่าทีคัดค้านไม่พอใจและท้าทายการกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยอย่างครอบคลุมกว้างขวางของแดนมังกร

ทั้งสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงมะนิลา และกระทรวงการต่างประเทศจีนต่างไม่ตอบอะไร เมื่อพวกผู้สื่อข่าวติดต่อขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้

ในคำแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (30) ของประธานฃอาเซียน ยังมีข้อความชี้ถึง “ความร่วมมือที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นมาระหว่างอาเซียนกับจีน” แต่ไม่ได้มีการพาดพิงอ้างอิงถึง “ความตึงเครียดต่างๆ” หรือ “กิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มทวีไต่ระดับสูงขึ้น” อย่างที่เห็นในร่างคำแถลงก่อนหน้านี้หลายๆ ร่าง ตลอดจนในคำแถลงสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยเพียงแต่กล่าวคลุมๆ อย่างไม่ชัดเจนอะไรว่า ผู้นำบางคนแสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับ “พัฒนาการต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้” ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรต่างๆ
<i>บรรดาผู้นำของชาติสมาชิกสมาคมอาเซียนคล้องแขนกัน ระหว่างพิธีเปิดการประชุมซัมมิตอาเซียนครั้งที่ 30 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  เมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.) </i>
นักการทูตฟิลิปปินส์ผู้นี้กล่าวว่า เป็นความลับที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้วว่า จีนพยายามที่จะอิงอาศัยสมาชิกอาเซียนบางรายในการพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของแดนมังกร ทว่านี่ไม่ใช่เหตุผลที่ทำไมจึงมีความล่าช้าผิดปกติในการออกคำแถลงสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วควรที่จะออกหลังปิดประชุมซัมมิตในวันเสาร์ (29)

“มีประเทศสมาชิกหนึ่งหรือสองรายซึ่งล็อบบี้เพื่อให้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในเนื้อหาบางตอนในคำแถลง ทว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องทะเลจีนใต้” แหล่งข่าวรายนี้กล่าวกับรอยเตอร์

เท่าที่ผ่านมาปักกิ่งแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างโกรธเกรี้ยวต่อชาติสมาชิกอาเซียนรายใดก็ตาม ซึ่งแสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการที่แดนมังกรกำลังเร่งถมแนวปะการังต่างๆ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์และสร้างเป็นเกาะเทียมขึ้นหลายแห่ง และในการติดตั้งระบบขีปนาวุธตลอดจนสร้างลานบินขึ้นบนเกาะเทียมเหล่านี้

ขณะเดียวกัน มีนักการทูตชาติอาเซียนอีกรายหนึ่งกล่าวว่า คำแถลงสุดท้ายนี้เป็นตัวแทนอย่างถูกต้องแท้จริงของบรรยากาศในการประชุมซัมมิตที่มะนิลาคราวนี้

“เราเคารพในทัศนะต่างๆ ของฝ่ายฟิลิปปินส์ และให้ความร่วมมือด้วย” นักการทูตผู้นี้บอก “มันเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประเด็นปัญหานี้ได้มีการหารือกันอย่างไร (ในที่ประชุมซัมมิต)”

คำแถลงที่น้ำเสียงอ่อนลงเช่นนี้ ปรากฏออกมาในขณะประธานาธิบดีดูเตอร์เตแห่งฟิลิปปินส์ ผู้เป็นประธานคนปัจจุบันของอาเซียน ก็พยายามหาทางกลบลบความบาดหมางที่ประเทศของเขามีอยู่กับจีนมาเป็นแรมปี ภายหลังปักกิ่งใช้ท่าทีอันแข็งกร้าวในการยืนกรานการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเลของตน ทั้งนี้หลังจากความพยายามในการล็อบบี้ของดูเตอร์เต จีนก็ตกลงยินยอมให้ชาวประมงฟิลิปปินส์กลับเข้าไปยังพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำในบริเวณสันดอนสคาร์โบโร โชล หลังจากทำการปิดกั้นขัดขวางอยู่เป็นเวลา 4 ปี

อันที่จริงผู้นำแดนตากาล็อกผู้นี้ได้พยายามนำร่องกำหนดน้ำเสียงสำหรับการหารือซัมมิตคราวนี้ตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี (27) เมื่อเขากล่าวว่าไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลต่างๆ ของจีน เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีใครกล้าไปกดดันขัดขวางปักกิ่งอยู่ดี
<i>ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ กล่าวในการประชุมแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำของอาเซียนครั้งที่ 30 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์  เมื่อวันเสาร์ (29 เม.ย.) </i>
ในการส่งสัญญาณแสดงไมตรีจิตมิตรภาพของดูเตอร์เตกับปักกิ่ง เมื่อวันอาทิตย์ (30) เรือรบจีน 3 ลำได้เดินทางไปเยือนฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสิ่งที่นานๆ ครั้งจะเกิดขึ้นมา โดยที่ตัวดูเตอร์เตเองมีกำหนดจะขึ้นไปตรวจเยี่ยมเรือพิฆาตติดขีปนาวุธของจีนลำหนึ่งด้วยในวันจันทร์ (1 พ.ค.) ณ เมืองดาเวา ที่เป็นภูมิลำเนาของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ผู้นี้

ยุทธศาสตร์ด้านนโยบายการต่างประเทศของดูเตอร์เต เป็นสิ่งที่กลับหัวกลับหางอย่างน่าตื่นตะลึงกับของคณะบริหารชุดที่แล้วของประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ซึ่งเลือกที่จะผูกพันใกล้ชิดกับสหรัฐฯ และถูกจีนมองอย่างขัดเคืองใจว่าเป็นตัวป่วนตัวก่อกวน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลฟิลิปปินส์ในยุคของอากีโนนี่เองที่เมื่อปี 2013 ได้ท้าทายปักกิ่งด้วยการยื่นฟ้องร้องคดีเกี่ยวกับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ต่อศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ และเป็นหนึ่งในองค์กรยุติธรรมซึ่งได้รับการรับรองสนับสนุนจากสหประชาชาติให้ตัดสินกรณีพิพาทอันเกี่ยวข้องกับกฎหมายทะเล

สองสัปดาห์ก่อนที่ดูเตอร์เตจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮกแห่งนี้ได้ประกาศคำตัดสินซึ่งระบุให้ฟิลิปปินส์เป็นผู้ชนะ ทำให้จีนโกรธเคืองมาก ทว่าดูเตอร์เตแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าเขาจะไม่กดดันปักกิ่งให้ต้องกระทำตามคำตัดสินนี้ในเร็ววัน และสนอกสนใจในเรื่องการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการทำธุรกิจมากกว่าการทะเลาะเบาะแว้งกันแดนมังกร

คำแถลงสุดท้ายของประธานอาเซียนที่ออกมาคราวนี้ ไม่มีข้อความเอ่ยถึงคดีที่ตัดสินโดยศาลอนุญาโตตุลาการนี้ อย่างไรก็ดี ในหมวดที่แยกออกมาว่าด้วยทะเลจีนใต้นั้น มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งระบุว่า จำเป็นที่จะต้อง “เคารพอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและทางการทูต” ในการแก้ไขคลี่คลายข้อพิพาท

ในความเคลื่อนไหวซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นความอ่อนไหวของปักกิ่งเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการนี้ แหล่งข่าวนักการทูตชาติอาเซียน 2 รายกล่าวกับรอยเตอร์เมื่อวันเสาร์ (28) ว่า พวกเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตจีนได้ล็อบบี้อยู่หลังฉากให้ตัดข้อความประโยคนี้ไปเลย และถือว่าข้อความเช่นนี้ยังคงเป็นการอ้างอิงอย่างซ่อนเร้นถึงคำตัดสินของศาลกรุงเฮก

มีนักการทูตผู้หนึ่งชี้ว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างจีนกับอาเซียนเพื่อร่างกรอบโครงสำหรับการเจรจาจัดทำแนวทางปฏิบัติในทะเลจีนใต้ น่าจะเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้อาเซียนตกลงกันได้ในเรื่องออกคำแถลงที่มีน้ำเสียงอ่อนลงครั้งนี้

เวลานี้ทุกๆ ฝ่ายต่างแสดงความต้องการที่จะจัดทำกรอบโครงดังกล่าวให้เสร็จสิ้นในปีนี้ ถึงแม้ยังคงมีความระแวงสงสัยกันอยู่เหมือนกันว่า จีนจะยอมรับกฎกติกาชุดที่อาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ระดับยุทธศาสตร์โลกของตนนี้จริงๆ หรือ

กำลังโหลดความคิดเห็น