xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’ควรตรวจสอบ ทำไมการค้าของพวกเขาขาดความสมดุลถึงขนาดนี้

เผยแพร่:   โดย: เคน มวค

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US, China should examine why their trade imbalance is huge
By Ken Moak
05/04/2017

การขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีนในเวลานี้ ส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นเรื่องของความบิดเบือนทางการบัญชี และการนำเอาการเมืองเข้ามาแทรกแซงการค้า ด้วยเหตุนี้ หากมัวแต่โฟกัสไปที่ยอดขาดดุลการค้าอันใหญ่โตมโหฬาร แต่ไม่พิจารณาถึงสาเหตุความเป็นมาว่าทำไมจึงเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาจแก้ไขประเด็นปัญหาดุลการชำระเงินระหว่างสหรัฐฯ-จีนได้ในเร็ววัน

การค้านั้น ตามทฤษฎีว่าด้วยความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (theory of comparative advantage) ของ เดวิด ริคาร์โด (David Ricardo) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษชื่อก้องในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 เสนอแนะเอาไว้ว่า ประเทศหนึ่งๆ ควรที่จะนำเข้าสินค้าต่างๆ ซึ่งตนเองได้มาไว้ในครอบครองด้วยความเสียเปรียบจากต้นทุนที่สูงกว่า และส่งออกพวกสินค้าซึ่งตนเองสามารถครอบครองด้วยความได้เปรียบจากต้นทุนที่ต่ำกว่า ทฤษฎีของริคาร์โดได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่าการค้าสามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งอังกฤษและโปรตุเกส ในลักษณะที่ว่าอังกฤษได้เหล้าไวน์คุณภาพดีขึ้นและราคาถูกลง ขณะที่โปรตุเกสก็จ่ายเงินน้อยลงในการซื้อขนแกะ

ในโลกที่มีความสมบูรณ์แบบ การค้าระหว่างประเทศควรที่จะเป็นปัจจัยซึ่งเพิ่มผลิตภาพ, ลดราคาของสินค้าและบริการทุกๆ อย่างให้ต่ำลง, เพิ่มรายได้แท้จริง, กระตุ้นอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ, และทำให้คุณค่าของการส่งออกและการนำเข้าเข้าสู่ความสมดุล

อย่างไรก็ดี เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งอุดมคติซึ่งเศรษฐศาสตร์สามารถที่จะแยกขาดออกจากการมุ่งเสาะแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นเฉพาะหน้า, อุดมการณ์, การเมือง, หรือทั้ง 3 อย่างนี้ผสมผเสปนเปกัน บ่อยครั้งทีเดียวที่ในข้อเขียนทางวิชาการและในการปฏิบัติของชาติต่างๆ นั้น ผลประโยชน์แห่งชาติ หรือพูดกันให้ถูกต้องยิ่งขึ้นก็ควรต้องบอกว่า ผลประโยชน์ของพวกที่มีเส้นสายพวกที่มีผู้หนุนหลังแน่นปึ๊กทั้งหลาย กลับกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเหนือกว่าตรรกะทางเศรษฐศาสตร์

ตัวอย่างเช่น โลกตะวันตกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ เที่ยวส่งเสริมสนับสนุนและกระทั่งถึงขั้นเรียกร้องต้องการให้มีการค้าเสรีในด้านสินค้าและบริการ (การเกษตร, บริการทางการเงิน ฯลฯ) ซึ่งพวกเขาเป็นฝ่ายที่มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ แต่มุ่งสกัดขัดขวางพวกสินค้าและบริการ (เหล็กกล้าของจีน, สิ่งทอ ฯลฯ) ซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้แก่พวกผู้ผลิตภายในประเทศของพวกเขา ด้วยเหตุนี้เอง สภาพการขาดแคลนไม่เพียงพอ และการมีล้นเกิน จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ระบบการค้าของโลกที่มีความจำกัดหรือถูกควบคุมเอาไว้เช่นนี้ ได้สร้างสายโซ่อุปทานระหว่างประเทศ (international supply chain) ขึ้นมา และกำลังควบคุมต้นทุนการผลิตโดยใช้วิธีการเอาต์ซอร์ซิ่ง (outsourcing) ก็อย่างที่ได้เสนอเอาไว้ในข้อเขียนชิ้นก่อนๆ ของผม เวลานี้วิสาหกิจของโลกตะวันตกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐฯ ได้ยุติการตั้งโรงงานผลิตภายในบ้านตัวเอง แล้วหันไปทำสัญญาว่าจ้างให้ผลิตกับพวกโรงงานที่อยู่ต่างแดน เพื่อให้ได้ผลกำไรสูงสุด กิจการเหล่านี้ได้สถาปนาสายโซ่อุปทานระหว่างประเทศขึ้นมา เพื่อฉวยคว้าหาประโยชน์จากความได้เปรียบในความชำนาญพิเศษของแต่ละภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ไอแพดของบริษัทแอปเปิลนั้นออกแบบขึ้นในสหรัฐฯ, ชิ้นส่วนต่างๆ ของมันถูกผลิตตามโรงงานต่างๆ ซึ่งตั้งกระจายอยู่ในเอเชีย, แล้วจากนั้นชิ้นส่วนเหล่านี้ก็ถูกขนส่งไปยังประเทศจีนเพื่อการประกอบเป็นขั้นสุดท้าย เครื่องไอแพดจึงทำในประเทศจีน ทว่าไม่ได้ทำโดยประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ศุลกากรสหรัฐฯบันทึกมูลค่ารวมทั้งสิ้นของเครื่องไอแพดว่าเป็น “สินค้านำเข้า” จากจีน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วจีนมีส่วนร่วมอยู่แค่ราวๆ 5% ของทั้งหมด ตัวอย่างเรื่องเครื่องไอแพดนี้ คือแบบฉบับของสินค้าซึ่งหากไม่ใช่ทั้งหมดก็เกือบทั้งหมดทีเดียว ที่สหรัฐฯเอาต์ซอร์ซการผลิตไปยังจีนและไปยังประเทศที่ต้นทุนต่ำรายอื่นๆ

การเมืองหรืออุดมการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบการค้าอยู่เป็นประจำ บ่อยครั้งที่รัฐสภาสหรัฐฯสกัดขัดขวางไม่ให้มีการส่งออกสินค้าหรือเทคโนโลยีที่ “ใช้ได้สองทาง” (dual use นั้นคือสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในกิจการพลเรือนและในทางการทหาร) ไปยังผู้ที่ถูกมองว่าเป็น “คู่แข่ง” หรือเป็น “ศัตรู” ด้วยการกระทำดังกล่าว กิจการโรงงานการผลิตและกิจการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของสหรัฐฯก็ต้องสูญเสียธุรกิจไปอย่างมากมายมหาศาล ทำให้การขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีนยิ่งถ่างกว้างขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่าจีนก็ได้จัดเก็บภาษีศุลกากรในอัตราแรงๆ กับสินค้าสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ระดับไฮเอนด์ อย่างเช่น รถยนต์และเสื้อผ้าระดับหรู เป็นความจริงอีกเช่นกันที่ว่าสหรัฐฯไม่ได้จัดเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าซึ่งบริษัทสหรัฐฯเอาต์ซอร์ซไปผลิตในโรงงานต่างๆ ของจีน

แต่เมื่อพิจารณาจากมุมมองของสิ่งที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สหรัฐฯมีอยู่กับจีนในเวลานี้ ส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นเรื่องของความบิดเบือนทางการบัญชีและเรื่องของการนำเอาการเมืองเข้ามาแทรกแซงการค้า ตัวอย่างเช่น บริษัทแอปเปิลจ่ายเงินให้จีนเพียงแค่ 11 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้นสำหรับเครื่องไอแพดแต่ละเครื่อง ไม่ใช่ 172 ดอลลาร์หรือกระทั่งสูงกว่านั้นตามที่บันทึกเอาไว้ในบัญชีของศุลกากรอเมริกัน

อาการวิตกจริตเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิคอมมิวนิสต์แบบจีน ของพวกนักการเมืองสหรัฐฯบางคนนั้น ไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือเรื่องความสัมพันธ์ที่เศรษฐกิจหรือการค้าของอเมริกันมีอยู่กับมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจของเอเชียรายนี้เอาเลย ตัวอย่างเช่น การพยายามจำกัดขัดขวางการลงทุนของจีนในอุตสาหกรรมนันทนาการของสหรัฐฯ สืบเนื่องจากนักการเมืองบางคนคิดว่ามันจะเปลี่ยนแปลงมติความคิดเห็นของสาธารณชนอเมริกันที่มีต่อจีน กำลังเป็นสิ่งที่ทำให้ฐานะบัญชีทุนของสหรัฐฯในดุลการชำระเงินของตนมีแต่ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก

ด้วยเหตุนี้ หากมัวแต่โฟกัสไปที่ยอดขาดดุลการค้าอันใหญ่โตมโหฬาร แต่ไม่พิจารณาถึงสาเหตุความเป็นมาว่าทำไมจึงเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นแล้ว ย่อมไม่อาจแก้ไขประเด็นปัญหาดุลการชำระเงินระหว่างสหรัฐฯ-จีนได้ในเร็ววัน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จำเป็นที่จะต้องมีการสนทนากันอย่างจริงจังในเรื่องที่ว่าทำไมการขาดดุลจึงใหญ่โตมากมายเช่นนี้ และพวกเขาควรทำอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทรัมป์ควรที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ ในการส่งออกเทคโนโลยีหรือสินค้าที่ “ใช้ได้สองทาง” อันที่จริงแล้วคำๆ นี้ในตัวมันเองกำลังทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะทุกๆ อย่างก็ล้วนแต่สามารถ “ใช้ในทางการทหาร” ได้ ตัวอย่างเช่น คลิปหนีบกระดาษ สามารถที่จะดัดให้กลายเป็นเหล็กแหลมเอาไว้ใช้แทงคอคนได้ นอกจากนั้นแล้ว จีนก็มีเทคโนโลยีและความยอดเยี่ยมทางการทหารอยู่แล้วที่จะนำมาใช้สู้รบได้เป็นอย่างดี ถ้าหากถูกสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯโจมตี ตรงกันข้ามกับสิ่งที่สื่อมวลชนสหรัฐฯตลอดจนนักการเมืองและผู้รอบรู้บางคนของสหรัฐฯป่าวร้อง จีนไม่ได้กำลังเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯหรือกำลังทำตัวเป็นอันธพาลรังแกระรานพวกชาติเพื่อนบ้านที่เล็กกว่า หากแต่จีนมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะปกป้องคุ้มครองบรรดาผลประโยชน์ที่เป็นผลประโยชน์แกนกลางของตนเอง

นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ควรที่จะต้องตระหนักด้วยว่า สิ่งที่ถูกจำแนกจัดชั้นให้เป็นสารสนเทศด้านกลาโหมหรือผลิตภัณฑ์ด้านกลาโหมนั้น ส่วนใหญ่ที่สุดสามารถที่จะหาซื้อผ่านทางออนไลน์ หรือสามารถค้นหาได้ในเอกสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์

ดังนั้น การขายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ “ใช้ได้สองทาง” ให้แก่จีน จะไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขยายพัฒนาการทางทหารและเพิ่มพูนความยอดเยี่ยมทางการทหารของแดนมังกรแต่อย่างใด

สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ จีนเป็นตลาดสำคัญที่สามารถรองรับวิสาหกิจสหรัฐฯประเภทต่างๆ อย่างหลายหลากกว้างขวาง ตั้งแต่ด้านการเกษตรไปจนถึงด้านนันทนาการ ทั้งนี้ จีนกำลังกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของถั่วเหลืองอเมริกันและก็ของเครื่องบินโบอิ้ง ฮอลลีวู้ด, สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นบีเอ), สมาคมฟุตบอล (อเมริกัน) แห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอฟแอล) ตลอดจนองค์กรด้านนันทนาการและการกีฬาอื่นๆ ต่างกำลังจับตามองไปที่จีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาทางเพิ่มขยายความมั่งคั่งทางการเงินของพวกตน

สำหรับในส่วนของสี จิ้นผิงแล้ว เขาสามารถที่จะลดอัตราภาษีที่เก็บจากสินค้าหรูหราของจีน และผ่อนคลายข้อจำกัดต่างๆ สำหรับการที่สหรัฐฯจะเข้าไปลงทุนในจีน ด้วยการดำเนินการเช่นนี้ ปักกิ่งก็จะไม่เพียงสามารถปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับวอชิงตันได้เท่านั้น แต่ยังสามารถที่จำนำเข้าเทคโนโลยีและวิธีการบริหารจัดการอันก้าวหน้าของสหรัฐฯอีกด้วย ตัวอย่างเช่น การอนุญาตให้พวกสถาบันการเงินของสหรัฐฯเข้าถือหุ้นส่วนเพิ่มมากขึ้นในแบงก์ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ควรที่จะส่งผลในทางปรับปรุงยกระดับด้านธรรมาภิบาลและประสิทธิผลของระบบการเงินของจีนให้สูงขึ้นได้

(ข้อเขียนซึ่งบุคคลภายนอกเป็นผู้ส่งเรื่องมาให้ ทางเอเชียไทมส์ไม่ขอรับผิดชอบทั้งต่อความคิดเห็น, ข้อเท็จจริง, หรือเนื้อหาด้านสื่อใดๆ ที่นำเสนอ)

เคน มวค สอนวิชาทฤษฎีเศรษฐกิจ, นโยบายภาคสาธารณะ, และกระแสโลกาภิวัตน์ในระดับมหาวิทยาลัยมาเป็นเวลา 33 ปี เขายังเป็นผู้เขียนร่วมของหนังสือเรื่อง China's Economic Rise and Its Global Impact (Palgrave McMillan, 2015) สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดของเขาซึ่งใช้ชื่อว่า Developed Nations and the Impact of Globalization มีกำหนดจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Palgrave McMillan Springer ในปี 2017



กำลังโหลดความคิดเห็น