xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ “นอกหน้าต่าง” : ‘อาเบะ’ ได้หรือเสียจากการเจรจาหารือ ‘ทรัมป์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น กลายเป็นผู้นำต่างประเทศคนที่ 2 ต่อจาก เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่ได้พบปะประชุมซัมมิตกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประมุขคนใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งสาบานตัวเข้าครองทำเนียบขาวในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา

แต่อันที่จริงแล้ว อาเบะคือผู้นำต่างประเทศคนแรกด้วยซ้ำ ซึ่งได้พบหน้าเจอะเจอกันแบบ “ตัวเป็นๆ” กับทรัมป์ นับตั้งแต่ที่เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และดารารายการทีวีเรียลิตี้โชว์ผู้นี้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2016 เพราะเพียงสัปดาห์เศษๆ ถัดจากนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นผู้นี้ก็ได้แวะไปเข้าพบทรัมป์ที่อาคารทรัมป์ทาวเวอร์ในนครนิวยอร์ก

หลังจากพูดคุยกันอยู่ราว 90 นาที อาเบะพูดถึงทรัมป์แบบยกยอว่า “เป็นผู้นำซึ่งผมสามารถให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง” พร้อมกับกล่าวถึงการหารือของพวกเขา 2 คนว่าเป็นการพูดจากัน “ตรงไปตรงมาเป็นอย่างยิ่ง และอบอุ่นฉันมิตรเป็นอย่างยิ่ง”

ทว่าไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องสำคัญที่สุดซึ่งทำให้เขาร้อนใจต้องรีบรุดมาพบกับทรัมป์ นั่นคือ อนาคตของข้อตกลงทีพีพี

ข้อตกลงทีพีพี หรือ “ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” นั้น ในยุคของคณะบริหารประธานาธิบดีบารัค โอบามา ถือเป็นจิ๊กชอว์ชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในยุทธศาสตร์ “ปักหมุดหวนคืนสู่เอเชีย” (Pivot to Asia) ของสหรัฐฯ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า แกนกลางของยุทธศาสตร์ “ปักหมุด” คือการที่สหรัฐฯชักชวนเหล่าชาติพันธมิตรของตนในเอเชีย-แปซิฟิกและพวกประเทศเอเชียซึ่งไม่พอใจการก้าวผงาดขึ้นมาของแดนมังกร ให้ร่วมมือร่วมใจกัน “ปิดล้อมจีน” มุ่งกีดกันฉุดรั้งการขยายตัวขึ้นสู่ฐานะความเป็นมหาอำนาจใหญ่ของปักกิ่ง

ภายในยุทธศาสตร์ภาพรวมนี้ ทีพีพีจะเป็นส่วนประกอบที่มีบทบาทสำคัญมากในการกีดกันปิดล้อมแดนมังกรทางเศรษฐกิจ โดยทีพีพีมุ่งสร้างเขตการค้าเสรีในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งใช้กติกาข้อตกลงทางการค้าการลงทุนและทางเศรษฐกิจอย่างใหม่ๆ ชนิดที่จีนเข้าร่วมได้ยากแม้จะไม่ได้ระบุกีดกันแดนมังกรอย่างโต้งๆ ก็ตามที

มองกันว่า ทีพีพีซึ่งมีสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นผู้นำสำคัญ น่าจะทำให้พวกชาติเพื่อนบ้านของจีนขยับเข้าใกล้ชิดสหรัฐฯมากขึ้นและลดทอนการที่พวกเขาต้องพึ่งพาการค้ากับจีนลง ข้อตกลงฉบับนี้ยังจะเพิ่มความแข็งแกร่งของอิทธิพลอเมริกันที่มีต่อกฎกติกาเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในอนาคต ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะดำเนินการการปฏิรูปทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูชุบชีวิตเศรษฐกิจของตนขึ้นมาใหม่

ด้วยการทำให้เศรษฐกิจแดนมังกรลดความได้เปรียบในการแข่งขันลงไป และคณะผู้นำจีนก็มีโอกาสน้อยลงที่จะเป็นผู้เขียนกฎกติกาทางการค้าในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แดนมังกรย่อมต้องเผชิญแรงบีบคั้นทั้งภายในและภายนอกอย่างมหาศาลให้ต้องหันมายอมรับกฎกติกาแบบทีพีพี ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจที่ แอช คาร์เตอร์ รัฐมนตรีกลาโหมของคณะบริหารโอบามา มองว่า ทีพีพีมีคุณค่าเสมอกับการที่สหรัฐฯมีเรือบรรทุกเครื่องบินอีกลำหนึ่ง ขณะที่โอบามาเตือนว่า ถ้าไม่มีทีพีพี ถ้าสหรัฐฯ ไม่เข้าเป็นผู้เขียนกฎกติกา จีนก็จะกลายเป็นผู้เขียนกฎกติกาทางการค้าของโลก

ทว่าสำหรับทรัมป์ซึ่งแสดงตนเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของเหล่าคนงานอเมริกันในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่กลายเป็นผู้สูญเสียจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ จึงโจมตีว่าข้อตกลงเปิดเสรีเอื้ออำนวยให้แก่การโยกย้ายทุนอย่างทีพีพี เป็นข้อตกลงที่ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งงาน เขาไม่คิดมากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องยุทธศาสตร์ระดับโลก สิ่งที่เขาคำนึงคือ “American First” อเมริกัน (โดยเฉพาะอเมริกันที่เป็นฐานเสียงสำคัญของเขา) ต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้นเขาประกาศตั้งแต่ตอนหาเสียงว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะนำสหรัฐฯถอนตัวจากข้อตกลงนี้ และเขาก็ทำเช่นนี้จริงๆ ในวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา

สำหรับอาเบะนั้น ทรัมป์คงยืนยันกับเขาตั้งแต่พบหน้ากันที่นิวยอร์กแล้วว่าจะฉีกทิ้งทีพีพีอย่างแน่นอน และเรื่องนี้ย่อมต้องสร้างความตื่นตระหนกให้นายกฯญี่ปุ่นผู้นี้ เนื่องจากเขาวางเดิมพันเอาไว้มากกับทีพีพี เป็นต้นว่าไปเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ยินยอมอ่อนข้อเปิดเสรีบางส่วนตามแรงกดดันของพวกชาติคู่เจรจาโดยเฉพาะสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการทำให้ข้อตกลงฉบับนี้ประสบความสำเร็จ

อาเบะเป็นนักชาตินิยม แต่ก็ดูจะตระหนักถึงข้อจำกัดในปัจจุบันของญี่ปุ่นซึ่งไม่สามารถที่จะก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจใหญ่ในเอเชียโดยลำพัง ดังนั้นญี่ปุ่นจึงยังต้องเกาะเกี่ยวอยู่กับสหรัฐฯ ยังต้องสนับสนุนให้สหรัฐฯมีบทบาทในเอเชียในเวลาเดียวกับที่ญี่ปุ่นเพิ่มความเข้มแข็งของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามกีดกันการก้าวขึ้นมาของจีน

เมื่อทรัมป์กลับนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากทีพีพีเสียแล้วเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำปราชัยในทางยุทธศาสตร์สำหรับอาเบะทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเสียท่าครั้งใหญ่ แต่อาเบะก็ดูฉับไวในความพยายามที่จะแก้เกม พยายามทำให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุดในความปราชัยเช่นนี้

ก่อนที่อาเบะจะเดินทางมากรุงวอชิงตันเที่ยวนี้ เมื่อทรัมป์พูดโจมตีเรื่องสหรัฐฯ ยังคงขาดดุลการค้าจำนวนมากให้แก่ญี่ปุ่น รวมทั้งบอกว่าแดนอาทิตย์อุทัยกำลังให้ธนาคารกลางของตน (บีโอเจ) ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินจนกระทั่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงกว่าความเป็นจริง ซึ่งเข้าข่ายเป็นการปั่นค่าเงิน

อาเบะก็รีบหารือกับพวกภาคธุรกิจของญี่ปุ่น เป็นต้นว่า โตโยต้า ว่าจะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ อย่างไรได้บ้าง รวมทั้งออกข่าวแก้ต่างว่าปัจจุบันญี่ปุ่นมีฐานะเป็นชาติซึ่งเข้าไปลงทุนมากที่สุดในสหรัฐฯ ซึ่งช่วยสร้างงานจำนวนมากในอเมริกา ตลอดจนยังพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนใหม่ๆ ในสหรัฐฯ อย่างเช่นการคมนาคมขนส่งระบบราง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่สุดในแผนการของทรัมป์ที่จะทุ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงซ่อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมโทรมล้าหลังในสหรัฐฯ

ผลที่ออกมาจากการพบปะหารือระหว่างอาเบะกับทรัมป์คราวนี้ ได้รับการตีข่าวว่าประสบความสำเร็จมาก ภายหลังการหารือกันที่ทำเนียบขาวในวันศุกร์ (10 ก.พ.) ทรัมป์แถลงแสดงความชื่นชมอาเบะ และบอกว่า “เคมี” ของทั้งสองคนเข้ากันได้ดีมาก ทั้งนี้ตอนที่เขาไปรอต้อนรับอาเบะขณะก้าวลงจากรถนั้น เมื่อเขาจับมืออาเบะแล้วก็เกิดความรู้สึกชอบใจซาบซึ้งจนต้องดึงตัวอาเบะมาโอบกอด

นอกจากนั้น ทรัมป์ยังพาอาเบะขึ้นเครื่องบินประจำตำแหน่ง “แอร์ฟอร์ซ วัน” ไปพักที่คฤหาสน์ของเขาในฟลอริดา และเล่นกอล์ฟกันในวันเสาร์ (11 ก.พ.)

พร้อมกันนั้น ในคำแถลงร่วมของผู้นำทั้งสองเมื่อวันศุกร์ (10) ทรัมป์ประกาศยืนยันทำตามสนธิสัญญาร่วมป้องกันที่ทำไว้กับญี่ปุ่น รวมทั้งถือว่าหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ เป็นพื้นที่ซึ่งครอบคลุมโดยสนธิสัญญาดังกล่าวด้วย ขณะที่คำแถลงร่วมไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องที่ทรัมป์เคยพูดไว้ตอนหาเสียงว่า จะต้องให้ชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น ร่วมออกค่าใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับกองทหารสหรัฐฯซึ่งเข้าไปประจำการในประเทศเหล่านี้

ในด้านเศรษฐกิจก็เช่นกัน คำแถลงร่วมไม่ได้พูดถึงเรื่องที่ทรัมป์กล่าวหาญี่ปุ่นปั่นค่าเงิน ขณะที่ในทางการค้านั้น อาเบะก็ทำได้สำเร็จในการหลีกเลี่ยงยังไม่ให้คำมั่นสัญญาเรื่องเปิดเจรจาการค้าทวิภาคี

ทั้งนี้ หลังจากทีพีพีล้มไปแล้วเช่นนี้ ทรัมป์ก็ต้องการให้สองประเทศเปิดการเจรจาจัดทำข้อตกลงการค้าทวิภาคีขึ้นมา แต่การทำข้อตกลงเช่นนี้ ญี่ปุ่นในฐานะที่เป็นฝ่ายต้องพึ่งพาสหรัฐฯย่อมตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และจะถูกเรียกร้องให้ยอมอ่อนข้อมากกว่าสิ่งที่เคยให้ไปในตอนเจรจาทำข้อตกลงทีพีพีเสียอีก

ปรากฏว่า คำแถลงร่วมระบุเพียงแค่ว่า อาเบะและทรัมป์ตกลงที่จะจัดตั้ง “กรอบโครงการสนทนาทวิภาคี” ซึ่งจะมี ทาโร อาโสะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่น กับรองประธานาธิบดีไมก์ เพนซ์ ของสหรัฐฯ เป็นประธานร่วมกัน

สื่อญี่ปุ่นอย่างสำนักข่าวเกียวโดชี้ว่า ฝ่ายญี่ปุ่นคงจะต้องพยายามถ่วงรั้งการเจรจาให้ยืดเยื้อออกไป อาจจะจนกระทั่งถึงช่วงหมดวาระการดำรงตำแหน่งของทรัมป์หรือของอาเบะทีเดียว

สงวน พิศาลรัศมี


กำลังโหลดความคิดเห็น