xs
xsm
sm
md
lg

จีนย้ำสงครามมีแต่เสียทั้งสองฝ่าย แนะมะกันศึกษาประวัติ'ทะเลจีนใต้'

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน สัมผัสมือกับรัฐมนตรีต่างประเทศ จูลี บิช็อป ของออสเตรเลีย ก่อนเริ่มการพบปะเจรจากันที่อาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา, ออสเตรเลีย เมื่อวันอังคาร (7 ก.พ.)
เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแนะสหรัฐฯหาประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนที่เกี่ยวกับทะเลจีนใต้มาอ่านเพิ่ม พร้อมย้ำว่า การทำสงครามมีแต่จะเสียทั้งสองฝ่าย ขณะเดียวกัน ทีมผู้เชี่ยวชาญอเมริกันเตือนคณะบริหารทรัมป์อย่าทิ้งนโยบายจีนเดียว เนื่องจากรังแต่จะบ่อนทำลายเสถียรภาพเอเชีย เป็นอันตรายต่อไต้หวัน อีกทั้งสั่นคลอนสถานะของวอชิงตันในภูมิภาคดังกล่าว

จีนนั้นอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และเดินหน้าถมแนวปะการังสร้างเกาะเทียมาขึ้นหลายเกาะพร้อมกับทำลานบินให้เครื่องบินทหารขึ้นลงได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากพวกชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยืนยันอ้างอธิปไตยของตนในบางส่วนของน่านน้ำสำคัญทางยุทธศาสตร์แห่งนี้เช่นเดียวกัน

เกาะเทียมเหล่านั้นกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งหลังจากเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวในระหว่างให้ปากคำต่อวุฒิสภาเมื่อกล่าวเดือนที่แล้วว่า จะต้องสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเกาะเทียมเหล่านี้ ซึ่งตั้งอยู่ในน่านน้ำระหว่างประเทศ จนทำให้มองกันว่านี่เป็นการส่งสัญญาณการเผชิญหน้าทางทหาร ต่อมา ฌอน สไปเซอร์ โฆษกทำเนียบขาว ยังแถลงสำทับว่า อเมริกาจะปกป้อง “น่านน้ำสากล” ในทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อคืนวันอังคาร (7 ก.พ.) ระหว่างที่เขาเยือนออสเตรเลียว่า สงครามไม่เป็นผลดีต่อใครเลย และว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ได้ฝ่าฟันปัญหามาแล้วทุกรูปแบบตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

หวังยังอ้างอิงคำพูดของเจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ระหว่างเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ประเทศคู่กรณีในทะเลจีนใต้ควรแก้ไขข้อขัดแย้งผ่านแนวทางการทูต

กระนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกรสำทับว่า อเมริกาควรไปศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทะเลจีนใต้เพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งนี้ หวังอ้างอิงถึง ปฏิญญาไคโรปี 1943 และปฏิญญาพอทสดัมปี 1945 ของพวกผู้นำมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกำหนดอย่างชัดเจนว่า เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามแล้ว ต้องให้ญี่ปุ่นคืนดินแดนทั้งหมดที่ยึดเอาไปจากจีน โดยรวมถึงหมู่เกาะ “หนานซา” ซึ่งเรียกกันในภาษาอังกฤษว่าหมู่เกาะสแปรตลีย์

“ในปี 1946 รัฐบาลของจีนในเวลานั้น ซึ่งด้วยความช่วยเหลืออย่างเปิดเผยจากสหรัฐฯและก็สอดคล้องกับกฎหมายด้วย ได้รับหมู่เกาะและแนวปะการังหนานซาคืนกลับมา หลังจากที่ได้ถูกญี่ปุ่นยึดครองไว้ และได้ฟื้นฟูดำเนินการใช้อำนาจอธิปไตย” รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าว

ทว่า หวังกล่าวต่อไปว่า “หลังจากนั้นบางประเทศรอบๆ จีน ได้ใช้วิธีการผิดกฎหมายในการยึดครองบางส่วนของหมู่เกาะและแนวปะการังหนานซาเอาไว้ และนี่คือจึงก่อให้เกิดสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ขึ้นมา”

รัฐมนตรีต่างประเทศของจีนย้ำว่า ปักกิ่งมุ่งมั่นในการเจรจากับประเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยอิงกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขข้อพิพาทอย่างสันติ และจุดยืนนี้จะไม่เปลี่ยนแปลง

เขายังเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคสนับสนุนความพยายามของจีนและชาติอื่นๆ ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันอังคาร (7) ได้มีการเผยแพร่รายงานจากการประชุมเฉพาะกิจของผู้เชี่ยวชาญที่จัดโดยสมาคมเอเชีย (เอเชีย โซไซตี้) และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก โดยเนื้อหาสำคัญของรายงานฉบับนี้เตือนว่า คณะบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ควรยกเลิกนโยบายจีนเดียว ตามที่ทรัมป์แสดงท่าทีเอาไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้ารับตำแหน่งว่า อาจใช้นโยบายนี้มาเป็นเครื่องมือสำหรับต่อรองทางการค้า

รายงานระบุว่า ความสัมพันธ์จีน-อเมริกามาถึงทางแยกอันตรายที่สองมหาอำนาจอาจมีแนวทางการดำเนินการที่นำไปสู่ความขัดแย้ง พร้อมระบุถึงบรรยากาศการเป็นปฏิปักษ์ที่คุกรุ่นมากขึ้นในขณะที่จีนอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้อย่างก้าวร้าว

การประชุมอันเป็นที่มาของรายงานฉบับนี้เป็นการหารือของผู้เชี่ยวชาญซึ่งรวมถึงพวกอดีตเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานให้คณะบริหารทั้งของพรรครีพับลิกันและเดโมแครต อาทิ เคิร์ต แคมป์เบลล์ อดีตเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในคณะบริหารของบารัค โอบามาสมัยแรก และอีแวน เมเดรอส ผู้อำนวยการอาวุโสด้านกิจการเอเชียของทำเนียบขาว

รายงานเตือนว่า คณะบริหารของทรัมป์ควรระลึกถึงบทเรียนในอดีต และว่า การยกเลิกนโยบายจีนเดียว ซึ่งเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ มานานเกือบสี่ทศวรรษ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นการบ่อนทำลายสถานะของอเมริกาในเอเชีย

เมเดรอสแจงว่า ประเทศอื่นๆ ในเอเชียคงไม่เห็นด้วยที่อเมริกายกเลิกนโยบายดังกล่าวและหันไปคบหากับไต้หวันออกหน้าออกตา และประเทศเหล่านั้นก็คงไม่อยากเดินตามอเมริกาเข้าสู่การรบรากับจีนจากกรณีไต้หวัน

เมื่อพิจารณาถึงยุคสมัยของโอบามานั้น แม้อเมริการ่วมมือกับจีนอย่างราบรื่นในประเด็นภาวะโลกร้อนและข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน แต่กลับล้มเหลวในการขัดขวางการสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้

รายงานจึงเสนอแนะว่า อเมริกาต้องใช้ความเด็ดขาดมากขึ้นหากจีนแทรกแซงผลประโยชน์ของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่า เวลานี้ จีนมีพฤติกรรมที่แข็งกร้าวมากขึ้นในเอเชีย ขณะที่การปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาดหยุดชะงัก และนโยบายการเมืองภายในประเทศมีความเป็นเผด็จการมากขึ้น

สำหรับประเด็นทะเลจีนใต้นั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้อเมริกาสนับสนุนแนวทางการทูตในการแก้ไขข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับคงการประจำการทางทะเลและอากาศอย่างเข้มแข็งเพื่อให้จีนรู้ว่า อเมริกาจะตอบโต้อย่างกล้าหาญหากจีนใช้กำลังกับพันธมิตรของอเมริกา

ในส่วนเกาหลีเหนือนั้น ทรัมป์ควรดึงประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เข้ามามีส่วนร่วมทันที และควรฟื้นการเจรจาสันติภาพสำหรับคาบสมุทรเกาหลีแลกกับการระงับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ตรวจสอบได้ของเปียงยาง รวมทั้งการทำลายอาวุธนิวเคลียร์

แต่หากจีนไม่ร่วมกดดันเกาหลีเหนือ อเมริกาควรใช้มาตรการแซงก์ชันพวกธนาคารและบริษัทจีนที่ทำธุรกิจกับเปียงยาง


กำลังโหลดความคิดเห็น