xs
xsm
sm
md
lg

‘อี-คอมเมิร์ซ’รุ่งทำให้‘ช็อปปิ้งมอลล์จีน’หันไปเน้น‘รีเทลเทนเมนต์’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เจสซิกา แรปป์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Chinese shift to ‘retailtainment’ presses luxury brands
By Jessica Rapp
03/02/2017

ท่ามกลางการช็อปปิ้งทางออนไลน์ในแดนมังกรที่ขยายตัวเติบใหญ่อย่างรวดเร็ว บรรดาผู้บริโภคชาวจีนก็มีการติดต่อสัมพันธ์กับพวกห้างร้านก่ออิฐถือปูนจริงๆ ในลักษณะที่แตกต่างผิดแผกจากเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นภูมิทัศน์หรือสภาพโดยรวม ของการค้าปลีกของประเทศจีนจึงกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬาร

อิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอี-คอมเมิร์ซ (E-commerce) (บวกกับการที่เศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ตลอดจนเกิดพัฒนาการด้านภูมิรัฐศาสตร์สำคัญๆ ในรอบปีที่ผ่านมา) กำลังทำให้พวกผู้ค้าปลีกสินค้าหรูหราทั้งหลาย ในตลอดทั่วทั้งเกรทเตอร์ไชน่า (Greater China จีนแผ่นดินใหญ่ไปจนถึงฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน) เวลาที่บริหารจัดการกิจการร้านค้าปลีกก่ออิฐถือปูนจริงๆ ในพอร์ตโฟลิโอของพวกตน จะเน้นเรื่องการคัดสรร, ความคล่องแคล่วฉับไว, และประสิทธิภาพ เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก

รายงานฉบับใหม่ของบริษัทบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ซีบีอาร์อี (CBRE) ชี้ว่า เพื่อให้ยังคงรักษาตำแหน่งนำเอาไว้ต่อไปสำหรับปี 2017 นี้ พวกกิจการค้าปลีกสินค้าหรูหราแบบที่เปิดห้างร้านก่ออิฐถือปูนจริงๆ ทั้งหลาย ก็จะยังคงถอยห่างออกจากการมุ่งเน้นขยายกิจการจนเกินไปแบบเมื่อหลายๆ ปีก่อน และหันมาโฟกัสรวมศูนย์จุดที่ตั้งของพวกตน เพื่อตั้งเป้าจับผู้บริโภคใน “พื้นที่แกนกลาง” (core areas) เป็นที่คาดหมายกันว่า ในพื้นที่แกนกลางเหล่านี้ แบรนด์หรูหราต่างๆ จะทำการขยายพื้นที่เรือธง (flagship spaces) ของพวกตน และแทนที่จะคำนึงถึงยอดรวมจำนวนห้างร้านที่เปิดทำการของพวกตน ก็จะเน้นหนักไปที่การทำให้ผู้บริโภคสัมผัสกับประสบการณ์ของแบรนด์ เวลาเดียวกันนั้น แบรนด์หลายรายมากขึ้นน่าที่จะปิดห้างร้านในพื้นที่อื่นๆ เพื่อ “เพิ่มประสิทธิภาพในการขาย”

ในทางเป็นจริงแล้ว การทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสประสบการณ์ของแบรนด์ จะยังคงเป็นแรงขับดันสำคัญที่สุดประการหนึ่งต่อไป สำหรับพวกเจ้าของศูนย์การค้าและบรรดาผู้ค้าปลีกทั้งหลายในปีนี้ ทั้งนี้ตามรายงานฉบับดังกล่าวของซีบีอาร์อี ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า รายงานของซีบีอาร์อี ว่าด้วยทิศทางแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิกปี 2017 (CBRE’s 2017 Asia Pacific Real Estate Market Outlook)

รายงานนี้ชี้ว่า ยอดขายทางอี-คอมเมิร์ซจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดหมายว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดในการค้าปลีกของเอเชียแปซิฟิกทั้งหมดจากระดับ 15% พุ่งไปเป็น 24% ภายในปี 2020 และจากแนวโน้มการเติบใหญ่ของการช็อปปิ้งออนไลน์เช่นนี้ ก็ได้ผลักดันให้พวกนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านศูนย์การค้าในประเทศจีน ต้องดำเนินการปรับเปลี่ยนยกเครื่องครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ ดังจะเห็นได้ว่าพวกช็อปปิ้งมอลล์เปิดใหม่ๆ จะให้น้ำหนักลดน้อยลงกับการมีห้างร้านแบรนด์แฟชั่นดังๆ ตรงกันข้ามกลับหันไปเน้น “รีเทลเทนเมนต์” (retailtainment) ซึ่งประกอบด้วยนันทนาการความบันเทิงรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบเดิมๆ อย่างพื้นที่สำหรับการแสดงศิลปะและการศึกษา และทั้งพื้นที่สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม

“เดอะแกรนด์ซัมมิต” (The Grand Summit) ในกรุงปักกิ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของรูปแบบเช่นนี้ ช็อปปิ้งมอลล์แห่งนี้มีทั้งสตูดิโอบริหารร่างกาย 1 แห่ง, ร้านคาเฟ่และเบเกอรี่หลายร้าน, ศูนย์นิทรรศการศิลปะของชุมชน, ตลาดขายของเกษตรกร, และร้านขายสินค้ามีแบรนด์ต่างๆ หลายหลากซึ่งคนท้องถิ่นเป็นผู้บริหารงานและเปิดกันขึ้นมาโดยเกี่ยวข้องเชื่อมโยงการตลาดออนไลน์สู่ออฟไลน์ (online-to-offline marketing)

ศูนย์การค้าแห่งใหม่อีกแห่งหนึ่งของปักกิ่งที่มีชื่อว่าท็อปวินเซนเตอร์ (Topwin Center) ตั้งอยู่ในเขตซานหลี่ถุน (Sanlitun) ซึ่งเป็นย่านเทรนด์เซตติ้งของนครหลวงของจีนแห่งนี้ ก็ใช้สูตรทำนองเดียวกัน โดยมุ่งดึงดูดลูกค้าด้วยห้างร้านที่เน้นให้ประสบการณ์เทคโนโลยีและการดีไซน์ ขณะเดียวกันก็มียิมระดับไฮเอนด์, พวกคาเฟ่และร้านไลฟ์สไตล์มุ่งจับคนรุ่นซึ่งเกิดในช่วงใกล้เปลี่ยนสหัสวรรษ (millennials) และมีความรู้ความสามารถด้านดีไซน์, ตลอดจนศูนย์แสดงงานศิลปะ, พื้นที่ค้าปลีกแบบป๊อปอัป (pop-up retail spaces), และตลาดแบบปกติทั่วไป

ว่านต๋า (Wanda) อาณาจักรยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ถึงแม้เริ่มตั้งแต่ปี 2015 กำลังปิดสถานที่ช็อปปิ้งเกือบๆ 40 แห่งทั่วทั้งแผ่นดินใหญ่ แต่ก็ได้หันมาให้ความสำคัญยิ่งกับการสร้าง “ศูนย์เพื่อการท่องเที่ยว” (tourism centers) ซึ่งก็คือบรรดาช็อปปิ้งมอลล์ที่มีแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าอย่าง อุทยานโรงภาพยนตร์, สวนน้ำในร่ม, สนามกอล์ฟเล็ก, และศูนย์เพื่อการศึกษาต่างๆ

อย่างไรก็ดี บรรดานักช็อปชาวจีนสามารถคาดหวังได้ว่าในปีนี้จะได้เห็นการให้น้ำหนักแก่ “รีเทลเทนเมนต์” ซึ่งอยู่ในประเภทสุขภาพและฟิตเนสมากยิ่งขึ้น อันเป็นการสะท้อนถึงความสนใจที่กำลังเติบใหญ่ขยายตัวของผู้บริโภคในไลฟ์สไตล์แบบเน้นสุขภาพ นี่ไม่ได้หมายความเพียงแค่ว่าน่าจะมีที่ทางมากขึ้นสำหรับพวกสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาเท่านั้น แต่พวกนักพัฒนาช็อปปิ้งมอลล์ทั้งหลายน่าที่จะจัดที่ทางเพิ่มขึ้นสำหรับกิจการค้าปลีกของพวกแบรนด์เฉพาะทางด้านสุขภาพและฟิตเนส ที่จะบุกเข้าสู่ตลาดจีนอีกด้วย ทั้งนี้สำหรับแบรนด์ฟิตเนสระดับโลกในประเทศจีนนั้น (ดูรายละเอียดได้ที่https://jingdaily.com/chinas-athleisure-market-isnt-going-anywhere-functional-fitness-wear-brands-expand/) พวกบริษัทอย่าง ลูลูเลมอน (Lululemon) (ดูรายละเอียดได้ที่https://jingdaily.com/lululemon-helps-chinas-affluent-young-professionals-ath-leisure/) กำลังกลายเป็นเทรนด์เซตเตอร์กันแล้ว “แบรนด์ระดับโลกรายใหญ่ๆ เป็นพวกที่กระหายอยากได้พื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งยังสามารถใช้เป็นสถานที่เปิดคลาสฝึกอบรมและจัดรายการต่างๆ ภายในห้างได้เลย” รายงานฉบับนี้ระบุ

แน่นอนว่า พื้นที่สำหรับสิ่งปลูกสร้างด้านรีเทลเทนเมนต์เช่นนี้ หมายถึงการมีความต้องการใช้พื้นที่ในช็อปปิ้งมอลล์เพิ่มมากขึ้น ทว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ของจีนในปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะซัปพลายล้นเกิน โดยน่าจะล้นอยู่ถึงราว 21.5 ล้านตารางฟุตทีเดียว ดังนั้นคาดหมายว่าอัตราค่าเช่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำไม่สามารถปรับสูงขึ้นมาได้ “สภาพแวดล้อมด้านการค้าปลีกอันท้าทายเช่นนี้จะยังคงขับดันให้พวกเจ้าของศูนย์การค้าทั้งหลายต้องปรับปรุงสิ่งปลูกสร้างของพวกตนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะยังคงสามารถแข่งขันต่อไปได้” รายงานฉบับนี้ระบุ ขณะเดียวกันการที่ความต้องการใน รีเทลเทนเมนต์ มีแต่เติบโตขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดที่พวกเจ้าของช็อปปิ้งมอลล์เหล่านี้ยังต้องมุ่งมั่นโฟกัสที่การพัฒนาโมเดลนี้ให้ก้าวหน้าต่อไปอีก

ข้อเขียนนี้เดิมโพสต์อยู่ใน “จิงเดลี่” Jing Daily (https://jingdaily.com)

เจสซิกา แรปป์ เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยของ จิง เดลี่ และเขียนเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปทางแฟชั่นที่กำลังเผยให้เห็นความเป็นอิสระมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีน ตลอดจนแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของแดนมังกร นับตั้งแต่ที่เธอโยกย้ายไปพำนักในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2011 เธอเคยทำข่าวเจาะลึกโลกแฟชั่นอันคึกคักของปักกิ่งอยู่ 2 ปีในฐานะบรรณาธิการด้านข่าวสไตล์ของนิตยสาร “เป่ยจิงเจอร์” (Beijinger magazine) และงานของเธอยังได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน Dwell, Design Sponge, Roads and Kingdoms, Melting Butter, และ artnet News


กำลังโหลดความคิดเห็น