xs
xsm
sm
md
lg

ศาลงัดข้อคำสั่งผู้นำมะกันแบนมุสลิม ตัดสินให้พำนักชั่วคราว-ห้ามเนรเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฮามิด กาหลิด ดาร์วีช (คนกลาง) ชาวอิรักผู้ถูกควบคุมตัวที่สนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ตามคำสั่งห้ามคนจาก 7 ชาติมุสลิมเข้าอเมริกาของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปล่อยตัวหลังจากที่ศาลสั่งให้พำนักชั่วคราวและห้ามเนรเทศ
เอเจนซีส์ - ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในบรูคลิน ได้อนุญาตให้ผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อเนรเทศทันทีที่เดินทางถึงอเมริกาทั้งที่ได้วีซ่าถูกต้องตามกฎหมาย ให้สามารถพำนักชั่วคราวได้ ซึ่งถือเป็นการคัดค้านคำสั่งฝ่ายบริหารบางส่วนของทรัมป์เรื่องระงับการเดินทางเข้าอเมริกาของผู้อพยพจาก 7 ชาติมุสลิม

ไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังจากชายอิรักสองคนถูกกักตัวที่สนามบินจอห์น เอฟ. เคนเนดี เมื่อเช้าวันเสาร์ (28) ผู้พิพากษา แอนน์ ดอนเนลลี จากศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในบรูคลิน มีคำสั่งให้สิทธิ์ชายทั้งคู่พำนักฉุกเฉิน รวมทั้งห้ามการเนรเทศบุคคลใดๆ ที่ถูกควบคุมตัวในสนามบินทั่วสหรัฐฯ ภายใต้สถานการณ์เดียวกันนี้

ดอนเนลลี แถลงในห้องพิจารณาคดีที่เต็มไปด้วยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมือง นักกฎหมาย และผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลอาจยังไม่มีโอกาสทบทวนนโยบายนี้อย่างสมบูรณ์

ทั้งนี้ สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (เอซีแอลยู) และกลุ่มอื่นๆ เป็นผู้ยื่นฟ้องในคดีนี้เพื่อคัดค้านการกักตัวชายอิรักทั้งสองคนดังกล่าว และในภายหลังได้เพิ่มชื่อผู้ร้องทุกข์อีกสองคนที่มีบัตรประจำตัวผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสหรัฐฯ (กรีนการ์ด)

ผู้ร้องทุกข์สองคนในจำนวนนี้คือ ผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่ถูกกักตัวที่สนามบินเจเอฟเคนานหลายชั่วโมง “ฮามิด กาหลิด ดาร์วีช” ที่ทำงานให้รัฐบาลสหรัฐฯ มาหนึ่งทศวรรษ ส่วนอีกคน คือ “ไฮเดอร์ ซามีร์ อับดุลกาเลค อัลชาวี” ที่เดินทางมาเพื่อใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา ซึ่งเป็นพนักงานสัญญาจ้างในอเมริกา

ดอนเนลลี ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ได้รับการเสนอชื่อโดยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้ทำการวินิจฉัยว่า การเนรเทศอาจทำให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับอันตรายโดยไม่อาจแก้ไขได้ จากการถูกส่งตัวกลับประเทศที่คนเหล่านั้นถูกคุกคาม และตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ร้องทุกข์มีวีซา และได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าอเมริกาแล้ว และหากเดินทางไปถึงที่หมายเร็วขึ้นสักสองวันก็คงไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้

ผู้พิพากษาสำทับว่า การพำนักจะมีระยะเวลาอย่างน้อยจนกว่าจะมีการไต่สวนในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ และครอบคลุมทุกคนที่ถือวีซาที่ถูกกฎหมายทุกประเภท รวมถึงผู้ที่ได้กรีนการ์ด

แอนโธนี โรมีโร ประธานเอซีแอลยู แสดงความยินดีต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากคำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ส่งผลกระทบต่อผู้เดินทางเข้าประเทศ และผู้อพยพนับร้อยนับพันคน

โรมีโร เสริมว่า คำวินิจฉัยของผู้พิพากษาครอบคลุมผู้ที่อยู่บนผืนแผ่นดินอเมริกา คือ ผู้ที่อยู่ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินหรือเดินทางถึงอเมริกาช่วงที่ประธานาธิบดีลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ทั้งยังประเมินว่า มีผู้ถูกกักตัวในสนามบินทั่วสหรัฐฯ ขณะนี้อย่างน้อย 100 - 200 คน ซึ่งแม้แต่ทีมกฎหมายของรัฐบาลยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขนี้ได้

นอกจากนั้น ทนายความของผู้ร้องทุกข์และกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองยังกังวลกับความเป็นอยู่ของผู้ได้รับสิทธิพำนักฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นที่คาดว่า คนเหล่านั้นจะถูกกักตัวอยู่ในศูนย์กักกันคนเข้าเมืองจนกว่าจะได้รับการไต่สวนในอีกสามสัปดาห์ข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาดอนเนลลีแนะนำให้ทนายความกลับไปร้องเรียนที่ศาล หากนักเดินทางถูกกักตัวในศูนย์กักกัน

ช่วงเช้าวันเสาร์ คำสั่งฝ่ายบริหารที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามไปเมื่อวันศุกร์ (27) กระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายในสนามบิน มหาวิทยาลัย และสถานที่ประกอบธุรกิจ รวมถึงในครัวเรือนทั้งในอเมริกาและต่างแดน จากการที่ผู้คนต่างถกเถียงเกี่ยวกับความหมายกำกวมของคำสั่งดังกล่าว

นักเดินทางพากันยกเลิกแผน หรือถูกควบคุมตัวที่จุดตรวจ มหาวิทยาลัยเรียกร้องให้นักศึกษาที่มีความเสี่ยง งดเดินทางออกนอกประเทศหรือขอคำแนะนำ ขณะที่บริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่เรียกตัวพนักงานกลับจากต่างประเทศ หลายครอบครัวได้รับโทรศัพท์จากสมาชิกที่ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้

แม้คำสั่งของผู้พิพากษาดอนเนลลีเป็นความหวังสำหรับผู้ที่ได้รับการควบคุมตัวในอเมริกา แต่คนนับล้านทั่วโลกกำลังเผชิญอนาคตที่ไม่แน่นอน อาทิ ฟาราห์ อัลคาฟจิ ที่เดินทางสู่อเมริกาในฐานะผู้อพยพจากอิรักที่สามีถูกฆ่าตาย พ่อถูกลักพาตัว บ้านถูกเผา และตัวเองกำลังจะผ่านการทดสอบเพื่อโอนสัญชาติเป็นอเมริกันในอีกไม่กี่สัปดาห์

หลังการประกาศคำวินิจฉัยของดอนเนลลีไม่นาน ผู้พิพากษา “ลีโอนี บรินเคมา” ในเวอร์จิเนียสั่งห้ามการเนรเทศผู้ถูกควบคุมตัวที่ท่าอากาศยานนานาชาติดัลเลส รวมทั้งสั่งให้เจ้าหน้าที่สนามบินอนุญาตให้ผู้ถูกควบคุมตัวได้พบทนาย อย่างไรก็ตาม คำสั่งของบรินเคมาห้ามการเนรเทศเพียง 7 วันเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การวินิจฉัยในบรูคลินถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในการท้าทายทางกฎหมายต่อคณะบริหารของทรัมป์ที่ออกกฎเหล็กมากมายตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้ารับตำแหน่ง

การแบนการเดินทางที่ร่างขึ้นอย่างรวดเร็วโดยขาดมาตรการรองรับ ส่งผลให้อัยการของรัฐไม่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนในศาล สะท้อนความสับสนของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานเหล่านี้บังคับใช้คำสั่งแบนการเดินทางตามยถากรรม เนื่องจากไม่มีเวลาตรวจสอบหรือทบทวนสถานการณ์ทางกฎหมาย

ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมนับร้อยหน้าศาลในบรูคลินเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักกัน นอกจากนั้นยังมีการประท้วงในลักษณะนี้ในสนามบินกว่า 10 แห่งทั่วอเมริกา รวมทั้งมีนักกฎหมายด้านการเข้าเมืองจำนวนมากเดินทางไปยังสนามบินต่างๆ เพื่อเสนอความช่วยเหลือฟรีแก่ผู้ถูกกักตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น