xs
xsm
sm
md
lg

มาแรง!! ว่าที่ รมว.ต่างประเทศของ “ทรัมป์” บอก ต้องสกัดไม่ให้ปักกิ่งเข้าไปยัง “เกาะเทียม” ในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เร็ก ทิลเลอร์สัน อดีตประธานและซีอีโอของเอ็กซ์ซอนโมบิล ขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันพุธ (11 ม.ค.)  ทั้งนี้เขาจะต้องได้รับการรับรองจากวุฒิสภาจึงจะรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกันอย่างเป็นทางการ  ระหว่างการให้ปากคำคราวนี้ เขาบอกว่าสหรัฐฯควรต้องปฏิเสธไม่ยอมให้จีนเข้าถึงเกาะเทียมต่างๆ ที่ไปสร้างไว้ในทะเลจีนใต้ </i>
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ แสดงท่าทีพร้อมเข้าเผชิญหน้ากับปักกิ่งอย่างดุดัน โดยพูดในขณะให้ปากคำต่อวุฒิสภาอเมริกันเมื่อวันพุธ (11 ม.ค.) ว่าควรต้องปฏิเสธไม่ยอมให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมแห่งต่างๆ ซึ่งแดนมังกรสร้างขึ้นในทะเลจีนใต้

ในการแสดงความเห็นซึ่งคาดหมายกันว่าจะกระตุ้นให้ปักกิ่งโกรธเกรี้ยว ทิลเลอร์สันได้กล่าวต่อที่ประชุมของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์แห่งวุฒิสภาในวันพุธ (11) ระหว่างกระบวนการให้ปากคำเพื่อขอให้สภาสูงสหรัฐฯ อนุมัติรับรองการเข้าดำรงตำแหน่งของเขาว่า จีนกำลังสร้างเกาะเทียมต่างๆ ขึ้นมา และกำลังนำเอาทรัพย์สินต่างๆ ทางการทหารไปประจำยังเกาะเหล่านั้น “เหมือนๆ กับการที่รัสเซียยึดไครเมีย” ไปจากยูเครน

เขาบอกว่า “เรากำลังจะต้องส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังจีนว่า ประการแรก การสร้างเกาะจะต้องหยุดลง และประการที่สอง การที่คุณจะเข้าถึงเกาะเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับความยินยอมอีกต่อไปแล้ว”

อดีตประธานและซีอีโอของบริษัทเอ็กซอนโมบิลคอร์ปผู้นี้ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะทำอย่างไรที่จะปฏิเสธไม่ยอมให้จีนเข้าไปยังเกาะเหล่านั้นซึ่งแดนมังกรสร้างขึ้นมาจากการถมแนวปะการังต่างๆ ในทะเลจีนใต้ แล้วจากนั้นก็สร้างทางขึ้นลงของเครื่องบินซึ่งใช้งานทางการทหารได้ รวมทั้งยังนำเอาอาวุธต่างๆ เข้าไปติดตั้งกลายเป็นป้อมปราการขึ้นมา

ด้านทีมงานรับมอบอำนาจของทรัมป์ก็ไม่ได้แถลงตอบในทันทีเมื่อถูกสอบถามขอรายละเอียดเจาะจงว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าถึงเกาะเทียมเหล่านี้ได้

ทางด้านจีนนั้น เมื่อถูกซักซ้ำไปซ้ำมาเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นของทิลเลอร์สันในเรื่องการสกัดไม่ให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมเหล่านั้น ลู่ คัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวตอบว่า เขาไม่สามารถพูดคาดเดาใดๆ ได้ว่าสิ่งที่ทิลเลอร์สันกล่าวนั้นหมายความว่าอย่างไร รวมทั้งจะไม่ขอตอบคำถามใดๆ ที่อยู่ในลักษณะของการตั้งข้อสมมติ

สิทธิของจีนที่จะดำเนิน “กิจกรรมตามปกติ” ในดินแดนอธิปไตยของตนในทะเลจีนใต้ คือ “สิ่งที่ไม่อาจโต้แย้งได้” ลู่กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำวันตามปกติในวันพฤหัสบดี (12) เขาไม่ได้แจกแจงอะไรมากกว่านี้

สำหรับทิลเลอร์สัน ระหว่างการให้ปากคำในวันพุธ (11) เขากล่าวด้วยว่าวอชิงตันจำเป็นต้องย้ำยืนยันพันธะผูกพันที่มีตนมีอยู่ไต้หวัน ซึ่งปักกิ่งถือว่าเป็นมณฑลกบฏที่จะต้องนำกลับเข้ามารวมกับแผ่นดินใหญ่ ทว่าเขาไม่ได้ไปไกลถึงขนาดทรัมป์ซึ่งกำลังตั้งคำถามว่าจำเป็นด้วยหรือที่วอชิงตันจะต้องดำเนินนโยบาย “จีนเดียว” ซึ่งก็คือการรับรองว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 1979 สหรัฐฯ ได้เปลี่ยนจากที่เคยรับรองในทางการทูตว่าสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันคือตัวแทนของจีน มาเป็นยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนบนแผ่นดินใหญ่แทน ตลอดจนรับรองหลักการ “จีนเดียว” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทว่าในเวลาเดียวกันสหรัฐฯ ก็ยังคงวางตัวเป็นพันธมิตรรายใหญ่ที่สุดและเป็นผู้ขายอาวุธรายใหญ่ที่สุดของไต้หวันอยู่

เมื่อถูกสมาชิกของคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์จี้ถามเรื่องนโยบายจีนเดียว ทิลเลอร์สันกล่าวตอบว่า “ผมไม่ทราบเลยว่ามีแผนการใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงจุดยืนเรื่อง 'จีนเดียว'”

อย่างไรก็ดี ทิลเลอร์บอกว่า เขาพิจารณากิจกรรมที่จีนดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้ว่าเป็น “สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” และจะเป็นภัยคุกคามต่อ “เศรษฐกิจโลกทั่วทั้งหมด” ถ้าปักกิ่งสามารถที่จะบงการควบคุมการเข้าถึงทะเลจีนใต้ได้สำเร็จ

เขากล่าวประณามว่าสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะสหรัฐฯ มีการตอบโต้อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม “ความล้มเหลวของการตอบโต้ เป็นการเปิดทางให้พวกเขาคอยแต่จะถือโอกาสขยายเรื่องนี้ให้กว้างขวางออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ” ทิลเลอร์สันบอก

“วิธีที่เราต้องจัดการกับเรื่องนี้ก็คือ เราต้องแสดงการหนุนหลังต่อบรรดาพันธมิตรแต่ไหนแต่ไรมาของพวกเราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เขากล่าว

คณะบริหารของประธานาธิบดี บารัค โอบามา นั้นได้ดำเนินการตรวจการณ์ทางอากาศและทางทะเลอยู่เป็นระยะๆ เพื่อเป็นการสำแดงสิทธิในการเดินเรือและเดินอากาศอย่างเสรีในทะเลจีนใต้ การกระทำเช่นนั้นทำให้ปักกิ่งขุ่นเคือง แต่การเข้าสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าไปยังเกาะเทียมต่างๆ ที่แดนมังกรสร้างขึ้นมา ย่อมถือเป็นมาตรการที่ไปไกลกว่านั้นมาก และเป็นมาตรการซึ่งวอชิงตันไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งมาก่อนเลย

ยิ่งกว่านั้น คำพูดของทิลเลอร์สันยังถือว่าไปไกลเสียยิ่งกว่าคำพูดอันแข็งกร้าวของทรัมป์ที่มีต่อจีนด้วยซ้ำไป

พวกแหล่งข่าวฝ่ายทหารในภูมิภาคแถบนี้ให้ความเห็นว่า ขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ มีสมรรถนะอันกว้างไกลไพศาลในเอเชียที่จะปฏิบัติการสกัดกั้นเรือผิวน้ำ, เรือดำน้ำ, และเครื่องบินใดๆ ก็ตามที แต่ความเคลื่อนไหวแบบเป็นปรปักษ์ต่อกองนาวีซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของจีนเช่นนี้ ย่อมทำให้สถานการณ์เพิ่มความเสี่ยงอย่างน่ากลัวอันตราย

ทิลเลอร์สันเรียกการที่จีนสร้างเกาะเทียมในทะเลจีนใต้ และการประกาศเขตแสดงตนเพื่อความมั่นคงทางอากาศขึ้นในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งมีกรณีพิพาทอยู่กับญี่ปุ่นว่า เป็น “การกระทำที่ผิดกฎหมาย” เขากล่าวว่า “พวกเขากำลังเข้าครอบครองดินแดนหรือเข้าควบคุม หรือประกาศเข้าควบคุมดินแดนต่างๆ ซึ่งไม่ได้เป็นของจีนอย่างถูกต้องเลย”

ในเรื่องอื่นๆ ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ผู้นี้บอกด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่สามารถที่จะยอมรับ “คำมั่นสัญญาอันว่างเปล่า” ของจีนได้อีกต่อไป ในเรื่องที่จะออกแรงบีบคั้นกดดันเกาหลีเหนือเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธของประเทศนั้น

เขากล่าวว่า วิธีที่เขาจะใช้ในการจัดการกับเกาหลีเหนือ จะอยู่ในลักษณะ “แผนการระยะยาว” ซึ่งอิงอยู่กับมาตรการลงโทษคว่ำบาตรและการเอามาตรการเช่นนี้มาใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเหมาะสม

เมื่อถูกถามว่าวอชิงตันควรพิจารณาประกาศ “การลงโทษคว่ำบาตรระดับรองลงมา” ต่อหน่วยงานและบุคลากรของจีนซึ่งพบว่ากำลังละเมิดมาตรการลงโทษคว่ำบาตรที่ใช้กับเกาหลีเหนือหรือไม่ ทิลเลอร์สันตอบว่า “ถ้าจีนไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของยูเอ็นเหล่านี้ มันก็เป็นการถูกต้องเหมาะสม … สำหรับสหรัฐฯ ที่จะพิจารณาการกระทำต่างๆ ที่จะบังคับให้พวกเขาต้องดำเนินการ”

เขากล่าวหาจีนด้วยว่าไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงระดับโลกในเรื่องการค้าและสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา คำพูดเช่นนี้เป็นการสะท้อนคำวิจารณ์ของทรัมป์ซึ่งขู่ที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้ในอัตราสูงจากสินค้าออกของจีน ทว่าทิลเลอร์สันก็เน้นย้ำว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับจีนนั้นมี “ความโยงใยเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง”

“เราไม่ควรที่จะปล่อยให้ความไม่เห็นพ้องกันในประเด็นปัญหาอื่นๆ มาทำให้มีการละเลยเรื่องต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่มีผลดีขึ้นมา” เขาบอก

กำลังโหลดความคิดเห็น