xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่ รมว.ต่างประเทศ “ทิลเลอร์สัน” เผยจุดยืนแย้ง “ทรัมป์” หลายประเด็น ทั้งเรื่อง “นิวเคลียร์-รัสเซีย-เม็กซิโก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทน้ำมัน เอ็กซ์ซอน-โมบิล ซึ่ง ทรัมป์ วางตัวให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
รอยเตอร์ - เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอ็กซอน-โมบิล ซึ่งถูกวางตัวให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คนใหม่ แสดงวิสัยทัศน์ที่ขัดแย้งกับว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในหลายประเด็นสำคัญๆ ทั้งเรื่องการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงการค้า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และความสัมพันธ์กับเม็กซิโก

ระหว่างการตอบคำถามของวุฒิสภาเพื่อผ่านกระบวนการรับรอง (confirmation hearing) เป็นเวลา 9 ชั่วโมง ทิลเลอร์สัน ระบุว่าสหรัฐฯ ควรคงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียต่อไปก่อน และการที่ชาติพันธมิตรนาโต้รู้สึกหวั่นวิตกกับพฤติกรรมก้าวร้าวของมอสโกก็เป็นเรื่องที่ “ถูกต้องแล้ว”

การไต่สวนของวุฒิสภาเน้นหนักไปที่เรื่องรัสเซียเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันต่างไม่พอใจที่มอสโกแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว รวมไปถึงการส่งทหารยึดคาบสมุทรไครเมียไปจากยูเครนเมื่อปี 2014 และบทบาทในสงครามซีเรีย

สำหรับประเด็นคำถามอื่นๆ ได้แก่ ภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) พฤติกรรมของจีนและปัญหาทะเลจีนใต้ สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงความสามารถของทิลเลอร์สันเองที่จะถอนตัวอย่างเด็ดขาดจากการเป็นผู้บริหารบริษัทน้ำมันรายใหญ่เพื่อมาทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ

ทิลเลอร์สันระบุว่า การที่เขาคิดต่างจากทรัมป์ในประเด็นสำคัญบางอย่างไม่ได้แปลว่าจะต้องขัดแย้งกับทำเนียบขาวเสมอไป เพราะคณะรัฐมนตรีทุกคนย่อมมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น “และประธานาธิบดีต้องเป็นผู้ตัดสินใจ”

เขายืนยันด้วยว่าตนเองเป็นคนใจกว้างและโปร่งใส

ขณะที่ทรัมป์เคยเสนอให้เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เพื่อใช้ป้องกันตนเอง ทิลเลอร์สันกลับเห็นว่าการเปิดทางให้ชาติพันธมิตรผันตัวมาเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์นั้น “ไม่ถูกต้อง” และไม่เห็นความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะต้องขึ้นทะเบียนชาวมุสลิม เพราะไม่สนับสนุนให้รัฐเพ่งเล็งประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ทิลเลอร์สันระบุด้วยว่า ตนไม่ได้ต่อต้านความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans Pacific Partnership - TPP) แบบสุดลิ่มทิ่มประตูอย่างทรัมป์ แต่ก็เห็นว่าข้อตกลงนี้ไม่ได้ช่วยให้อเมริกาได้ประโยชน์เต็มที่

เขาไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามายกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่างของโอบามาเพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนของทรัมป์ เช่น ความสัมพันธ์กับคิวบา และข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน เป็นต้น

วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังเป็นห่วงเรื่องที่ทิลเลอร์สันเคยใกล้ชิดสนิทสนมกับรัสเซียขณะเป็นผู้บริหารเอ็กซอนโมบิล รวมถึงเรื่องที่ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับมอสโก

ทิลเลอร์สันปฏิเสธที่จะเรียกประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” จากการแทรกแซงทางทหารเพื่ออุ้มรัฐบาลซีเรีย และยอมรับว่านโยบายคว่ำบาตรมอสโกอาจมีการปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต

เขาระบุด้วยว่า การเจรจากับมอสโกอย่าง “เปิดเผยและตรงไปตรงมา” จะช่วยให้สหรัฐฯ เข้าใจเจตนาของรัสเซียได้ดีขึ้น

ทิลเลอร์สันชี้ว่า การที่รัสเซียกล้าใช้ปฏิบัติการทหารยึดดินแดนของยูเครนเมื่อปี 2014 เป็นเพราะสหรัฐฯ “ไม่แสดงบทบาทผู้นำ” อย่างเพียงพอ และตนเห็นว่าวอชิงตันควรใช้มาตรการที่แข็งกร้าวยิ่งกว่านี้ เพื่อ “ยับยั้งและป้องกันการขยายพฤติกรรมของผู้ก่อการไม่ดี”

ทิลเลอร์สันระบุว่า ตนยังไม่เคยเห็นเอกสารชั้นความลับที่ยืนยันว่ารัสเซียแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่การตั้งสมมติฐานว่าปูตินน่าจะรับรู้เรื่องนี้ “ก็ไม่ผิด”

โรเบิร์ต เมเนนเดซ ส.ว.พรรคเดโมแครต ถึงกับอุทานว่า “น่าอัศจรรย์” เมื่อทิลเลอร์สันบอกว่าเขายังไม่เคยหารือเรื่องนโยบายรัสเซียกับทรัมป์มาก่อนเลย

ด้าน ส.ว.มาร์โก รูบิโอ ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งทรัมป์ในศึกเลือกตั้งไพรมารี ก็แสดงท่าทีไม่สบอารมณ์ที่ทิลเลอร์สันไม่ยอมรับว่ารัสเซียก่ออาชญากรรมสงครามในซีเรีย “ผมรู้สึกผิดหวังที่คุณไม่สามารถอ้างในสิ่งที่ผมคิดว่าทั่วโลกก็ยอมรับกันอยู่แล้ว”

รูบิโอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า ตนยังไม่แน่ใจว่าจะโหวตรับรองทิลเลอร์สันหรือไม่

ในฐานะที่เป็นหนึ่งใน ส.ว.รีพับลิกัน 11 คนจากคณะกรรมการทั้งหมด 21 คน คะแนนเสียงของรูบิโอนับว่ามีความหมายอย่างยิ่ง

ทิลเลอร์สันยังเลี่ยงที่จะกล่าวตำหนิการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบียและฟิลิปปินส์ โดยระบุว่าต้องการทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน

ในส่วนของข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ที่มหาอำนาจ P5+1 ทำร่วมกับอิหร่านเมื่อปี 2015 ทิลเลอร์สันเห็นว่าควรจะมีการ “ทบทวนใหม่ทั้งหมด” ซึ่งต่างกับท่าทีของทรัมป์ที่ประกาศจะฉีกข้อตกลงนี้เลยทีเดียว

ทิลเลอร์สันชี้ว่าจีนควรถูกห้ามมิให้เข้าไปใช้ประโยชน์จากเกาะเทียมที่สร้างขึ้นในเขตน่านน้ำพิพาททะเลจีนใต้ ส่วนแนวทางที่เขาจะใช้จัดการปัญหาเกาหลีเหนือนั้นจะเป็น “แผนระยะยาว” ซึ่งมีทั้งมาตรการคว่ำบาตร และการบังคับใช้อย่างได้ผล

กำลังโหลดความคิดเห็น