xs
xsm
sm
md
lg

ทีมรับมอบตำแหน่ง'ทรัมป์'วุ่นหนัก วงในลือสาเหตุมาจากศึกชิงอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายไมก์ เพนซ์ ว่าที่รองประธนาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นประธานทีมงานเปลี่ยนผ่าน เดินทางออกจากอาคารทรัมป์ ทาวเวอร์ เมื่อวันอังคาร(15พ.ย.)
เอเจนซีส์ - โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องออกมาปกป้องการดำเนินการรับมอบทำเนียบขาวของเขาเมื่อคืนวันอังคาร (15 พ.ย.) ท่ามกลางรายงานข่าวความวุ่นวายในทีมงาน โดยว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ถอดเอาผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงแห่งชาติออก และเล็งดึงนายแบงก์วอลล์สตรีทเข้ามาคุมงานสำคัญทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันพวกแกนนำวงในคนสำคัญๆ ก็ช่วงชิงอำนาจและแย่งตำแหน่งกัน รวมทั้งมีความล่าช้าในการเคลียร์งานเอกสาร สืบเนื่องจากการที่ก่อนหน้านี้ทรัมป์เปลี่ยนตัวประธานคณะทำงานเปลี่ยนผ่านอำนาจของเขา

หลังจากแอบขึ้นรถหนีกองทัพนักข่าวซึ่งรออยู่ที่อาคารที่พักของตน และพาครอบครัวไปดินเนอร์ที่ “21 คลับ” ในแมนฮัตตัน, นิวยอร์ก ทรัมป์ได้ทวิตยืนยันว่า กระบวนการในการแต่งตั้งทีมงานรับมอบตำแหน่งประธานาธิบดี ตลอดจนการคัดสรรผู้ที่จะมาอยู่ในคณะรัฐมนตรีตลอดจนตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในคณะบริหารชุดใหม่ของเขานั้น ดำเนินไปอย่างมีระบบระเบียบอย่างดี และ “ผมเป็นคนเดียวที่รู้ว่า ใครบ้างที่เข้ารอบสุดท้าย”

ก่อนหน้านี้ สื่อสหรัฐฯรายงานว่า สมาชิกอาวุโส 2 คนในทีมงานรับมอบอำนาจของทรัมป์ ซึ่งกำลังทำงานดูแลด้านความมั่นคงแห่งชาติอยู่ ได้ถูกบีบบังคับให้ลาออกไป และปรากฏว่า ไมค์ โรเจอร์ส อดีต ส.ส.รีพับลิกันที่เคยเป็นประธานคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรด้วย ก็ได้ประกาศในวันอังคาร (15) ว่า เขากำลังจะออกจากทีมงานจริงๆ

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นอกจากโรเจอร์สแล้ว สมาชิกอีกคนในทีมรับมอบงานด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ถูกปลด ได้แก่ แมตธิว ฟรีดแมน โดยที่โรเจอร์สถูกมองว่าเป็นคนที่สนิทสนมกับ คริส คริสตี ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ ขณะที่ฟรีดแมน เป็นคนในความดูแลของ พอล มานฟอร์ต อดีตผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ที่ลาออกไปตั้งแต่เดือนสิงหาคม

ทั้งนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ว่าการคริสตี ก็ถูกทรัมป์ถอดออกจากการเป็นประธานทีมงานเปลี่ยนผ่านอำนาจ แล้วให้ว่าที่รองประธานาธิบดี ไมก์ เพนซ์ ทำหน้าที่นี้แทน โดยที่สื่อมวลชนรายงานกันว่า จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยและที่ปรึกษาคนสนิทของทรัมป์ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนตัวนี้

จากการเปลี่ยนตัวประธานทีมงานรับมอบอำนาจ ทำให้การดำเนินกระบวนการรับ/ส่งงานต้องติดขัดชะงักงัน เนื่องจากเพนซ์ประธานคนใหม่ของฝ่ายทรัมป์ ต้องลงนามในบันทึกความเข้าใจที่มีผลผูกพันทางกฎหมายก่อน หลังจากเอกสารซึ่งคริสตีประธานคนเก่าเซ็นเอาไว้ถือว่ากลายเป็นโมฆะไป จากนั้นทางเจ้าหน้าที่ในคณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จึงจะสามารถติดต่อสื่อสารและให้ตรวจดูเอกสารทางราชการต่างๆ ได้ โดยที่กว่าที่เพนซ์จะเซ็นชื่อเวลาก็ล่วงเลยถึงตอนค่ำวันอังคาร (15)
โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์(ซ้าย) และเอริค ทรัมป์(ขวา)  ลูกชายของโดนัลด์ ทรัมป์  กำลังเดินอยู่ในอาคารทรัมป? ทาวเวอร์ เมื่อวันจันทร์(14พ.ย.) ขณะที่บิดาของอยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาคณะรัฐมนตรี
กระนั้น แบรนดี ฮอฟไฟน์ โฆษกหญิงของทำเนียบขาวเผยว่า คณะบริหารยังต้องรอเอกสารเพิ่มเติมตามกฎหมายอีก ก่อนที่หน่วยงานต่างๆ จะสามารถนำเอาข้อมูลบางอย่างมาให้ทีมเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ได้ เช่น เอกสารรับรองว่า สมาชิกในทีมงานรับมอบ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

ผู้ช่วยในทีมรับมอบอำนาจคนหนึ่งเชื่อว่า เพนซ์ และริค เดียร์บอร์น ผู้อำนวยการบริหารของทีมเปลี่ยนผ่าน อาจปลดพวกล็อบบี้ยิสต์บางคนออกอีกเพื่อรับประกันว่า ทรัมป์มุ่งมั่นกีดกันไม่ให้ล็อบบี้ยิสต์มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ หลังจากที่ถูกเอลิซาเบธ วอร์เรน วุฒิสมาชิกเดโมแครต รุกไล่เรื่องนี้อย่างหนัก

ในอีกด้านหนึ่ง คาร์ล ไอคาห์น นักธุรกิจใหญ่ชาวอเมริกัน ทวิตโดยอ้างการพูดคุยกับว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ว่า ทรัมป์กำลังพิจารณาเลือกสตีฟ มนูชิน อดีตนายแบงก์โกลด์แมน แซคส์ และวิลเบอร์ รอสส์ นักลงทุนและมหาเศรษฐีพันล้าน คุมกระทรวงการคลังและพาณิชย์

ขณะเดียวกัน หลังจากที่มีเสียงพูดกันมากว่า รูดี จูเลียนี อดีตนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคนสนิทคนหนึ่งของทรัมป์ แสดงความปรารถนาที่จะได้ตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็มีรายงานว่าอาจจะเกิดปัญหาขึ้น โดยที่ทีมรับมอบอำนาจของทรัมป์กำลังตรวจสอบงานที่บริษัทของจูเลียนีให้บริการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจแก่พวกรัฐบาลต่างประเทศ เช่น กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ซึ่งแหล่งข่าววงในแย้มว่า การตรวจสอบนี้อาจทำให้การเสนอชื่อจูเลียนีล่าช้าหรือกระทั่งถูกโยกไปนั่งตำแหน่งอื่นแทน

เจ้าหน้าที่ของทีมทรัมป์เผยว่า จอห์น โบลตัน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับเป็นเจ้ากระทรวงต่างประเทศ อย่างไรก็ดี แม้มีประสบการณ์ด้านนี้มานานปี แต่โบลตันซึ่งเป็นพวกนีโอคอนเซอร์เวทีฟ เคยถูกวิจารณ์รุนแรงจากกการแสดงทัศนคติแข็งกร้าว เช่น ในบทความของนิวยอร์กไทมส์เมื่อปีที่แล้ว ที่เขาสนับสนุนให้ทิ้งระเบิดถล่มอิหร่านเพื่อชะลอโครงการนิวเคลียร์

ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาตินั้น ชื่อที่ถูกกล่าวขานถึงมากที่สุดคือ พลโทไมค์ ฟลินน์ ที่ก่อนหน้านี้เรียกร้องให้อเมริกาเลิกปกป้องพันธมิตรเก่าแก่อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น

แหล่งข่าววงในยังเผยว่า กลุ่มต่างๆ ในทีมทรัมป์กำลังแย่งชิงอำนาจกัน เพราะตัวเขาเองได้สร้างศูนย์กลางอำนาจสองขั้วในทำเนียบขาวด้วยการแต่งตั้งเรนซ์ พรีบัส ประธานคณะกรรมการแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน เป็นประธานเจ้าหน้าที่ของทำเนียบขาว และแต่งตั้งสตีฟ แบนนอน ประธานทีมหาเสียงและเจ้าพ่อสื่อชื่อดัง เป็นหัวหน้านักยุทธศาสตร์ และกำชับว่า ทั้งคู่เป็น “หุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน”

นอกจากนั้น จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของทรัมป์ ยังมีบทบาทอย่างมากในทีมรับมอบอำนาจ ทำให้น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า ใครกันแน่ที่มีอำนาจตัดสินใจ

ทรัมป์เหลือเวลาอีกไม่ถึง 70 วันก่อนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมศกหน้า ในการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีและตำแหน่งอื่นๆ อีกราว 4,000 ตำแหน่ง


กำลังโหลดความคิดเห็น