xs
xsm
sm
md
lg

IMFมองภาพเศรษฐกิจโลกมืดมัว การเติบโตยังคงอ่อนแรง กระแส'ประชานิยม'รุนแรง กีดกันการค้าเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<i>ภาพที่เผยแพร่โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้เห็น มัวรีซ อ็อบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาตร์ของไอเอ็มเอฟ ตอบคำถามระหว่างการแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน “เวิลด์ อีโคโนมิก เอาต์ลุค” ฉบับล่าสุด ที่สำนักงานใหญ่ของกองทุนฯ ในกรุงวอชิงตันวันอังคาร (4 ต.ค.) </i>
รอยเตอร์/เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังคงการคาดการณ์อัตราการเติบโตขยายตัวอันอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกเอาไว้ที่เดิม ขณะเดียวกันรายงานฉบับล่าสุดซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันอังคาร (4 ต.ค.) กล่าวเตือนด้วยว่า ภาวะชะงักงันที่ดำเนินต่อเนื่องไปเช่นนี้ จะกลายเป็นเชื้อเพลิงทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแบบประชานิยมที่ต่อต้านการค้าและการอพยพเพิ่มมากขึ้นอีก และนี่ก็จะส่งผลในทางลดทอนกิจกรรม, ผลิตภาพ, และนวัตกรรม

ในฉบับล่าสุดของรายงาน “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) ซึ่งนำออกเผยแพร่ปีละ 2 ครั้ง และอาจมีการอัปเดตอีกเป็นระยะๆ ไอเอ็มเอฟระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2016 จะลดต่ำลงสืบเนื่องจากผลงานที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรก ทว่าก็จะได้รับการชดเชยจากความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นในเศรษฐกิจของญี่ปุ่น, เยอรมนี, รัสเซีย, อินเดีย, และอีกบางประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่

ดังนั้นในภาพรวมแล้ว กองทุนฯจึงยังคงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกเอาไว้เหมือนที่พยากรณ์ไว้ก่อนหน้านี้ นั่นคือ 3.1% สำหรับปี 2016 และ 3.4% สำหรับปี 2017 ทั้งนี้หลังจากที่ได้ลดตัวเลขทำนายของตนเรื่อยมา 5 ไตรมาสติดต่อกัน

“มองกันในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะที่ยังไม่แน่นอน” มัวรีซ อ็อบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุในคำแถลงประกอบคำทำนายครั้งล่าสุดนี้

“เมื่อปราศจากการปฏิบัติการด้านนโยบายด้วยความเด็ดเดี่ยว เพื่อเข้าสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวแล้ว อัตราการเติบโตแบบต่ำกว่ามาตรฐานเฉกเช่นในระดับที่เป็นอยู่ช่วงระยะหลังๆ นี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะยืดยาวออกไป”

ตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดนี้ได้รับการเผยแพร่ออกมาในขณะที่พวกผู้กำหนดนโยบายทางการเงินการคลังทั่วโลก เริ่มเดินทางไปรวมตัวกันในกรุงวอชิงตันเพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีภาคฤดูใบไม้ร่วงของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกในสัปดาห์นี้
<i>ธงชาติอเมริกันโบกสะบัดอยู่ด้านนอกของอาคารหลังหนึ่งใน “อินดัสเตรียล ซิตี้” เขตบรูคลิน ของนครนิวยอร์กในวันอังคาร (4 ต.ค.) โดยที่รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของสหรัฐฯในปีนี้ลงมา 0.6% เหลือ 1.6% </i>
รายงานล่าสุดของกองทุนฯกล่าวด้วยว่า พวกเศรษฐกิจก้าวหน้าของโลกโดยภาพรวมแล้ว จะมีการเติบโตอ่อนแอลงในปี 2016 โดยไอเอ็มเอฟได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ต่ำลงจากที่ให้ไว้ในการอัปเดตเมื่อเดือนกรกฎาคม 0.2% มาอยู่ที่ 1.6% แต่สำหรับพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น รายงานปรับสูงขึ้น 0.1% ไปอยู่ที่ 4.2%

ในส่วนการคาดการณ์สำหรับปี 2017 ของทั้ง 2 กลุ่มนี้ ไอเอ็มเอฟยืนยันตัวเลขพยากรณ์เดิม นั่นคือพวกเศรษฐกิจก้าวหน้าจะขยายตัว 1.8% และพวกตลาดเกิดใหม่จะอยู่ที่ 4.6%

เศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีส่วนสำคัญอยู่มากสำหรับการถดถอยลงมาของพวกเศรษฐกิจก้าวหน้า โดยไอเอ็มเอฟซึ่งในเดือนกรกฎาคมทำนายว่าปีนี้อเมริกาจะโตได้ 2.2% นั้น ล่าสุดได้ลดลงมาเหลือ 1.6% เหตุผลสำคัญคือผลงานรอบครึ่งปีแรกน่าผิดหวัง สืบเนื่องจากการลงทุนที่อ่อนแอของภาคธุรกิจ และการลดลงของยอดสินค้าคงคลัง

แต่ผลลบต่อเศรษฐกิจอเมริกันจากการที่เงินดอลลาร์มีค่าแข็งขึ้นและราคาพลังงานลดต่ำลง น่าที่จะหดหายไปภายในปี 2017 และกองทุนฯคาดการณ์ว่าปีหน้าสหรัฐฯจะเติบโตได้ 1.8%

รายงานล่าสุดนี้ยังชี้ว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ใช้วิธีขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนแบบค่อยเป็นค่อยไป “เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาณอันชัดเจนที่ว่าอัตราค่าจ้างและระดับราคากำลังมั่นคงอย่างยืนยาว”
<i>ภาพจากแฟ้มถ่ายเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2014 แสดงให้เห็นภูเขาไฟฟูจิ ที่อยู่เบื้องหลังอาคารระฟ้าของย่านชินจูกุ ในกรุงโตเกียว  ทั้งนี้รายงานของไอเอ็มเอฟที่เผยแพร่ในวันอังคาร (4 ต.ค.) เพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทว่าก็ยังคงเป็นการขยายตัวที่น้อยนิด </i>
สำหรับชาติเศรษฐกิจก้าวหน้ารายอื่นๆ ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเติบโตของญี่ปุ่นขึ้นมาเล็กน้อย สืบเนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาล, การชะลอการขึ้นภาษีการบริโภค, และการใช้นโยบายการเงินแบบมุ่งให้ขยายตัว ทว่าอัตราการเติบโตที่ทำนายนี้ก็ยังถือว่าอ่อนแออยู่ นั่นคือ ปีนี้อยู่ที่ 0.5% และปีหน้าเป็น 0.6%

ไอเอ็มเอฟยังปรับตัวเลขพยากรณ์สำหรับยูโรโซนให้สูงขึ้นเช่นกันในระดับ 0.1% ทำให้ปีนี้น่าจะโตได้ 1.7% และปีหน้า 1.5%

ในส่วนของสหราชอาณาจักร ไอเอ็มเอฟปรับเพิ่มการคาดการณ์สำหรับปี 2016 ขึ้นมา 0.1% เนื่องจากการใช้จ่ายด้านค้าปลีกอยู่ในสภาพที่ดีกว่าที่คาดหมายกันไว้ ภายหลังการลงประชามติในเดือนมิถุนายนให้ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกอียู

ทว่าสำหรับคำพยากรณ์ปี 2017 นั้นได้ปรับลดลง 0.2% มาอยู่ที่ 1.1% เนื่องจากคาดกันว่าความไม่แน่นอนในเรื่องกระบวนการแยกตัวจากอียู จะสร้างความเสียหายต่อการลงทุนในประเทศนี้อย่างใหญ่โตยิ่งขึ้น
<i>ลูกจ้างพนักงานช่วยกันติดตั้งโมเดลของอพาร์ตเมนต์ต่างๆ ขณะเตรียมงานนิทรรศการด้านอสังหาริมทรัพย์ ในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน ในภาพจากแฟ้มถ่ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2012 ภาพนี้  โดยที่รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟพยากรณ์ว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตในอัตรา 6.6% </i>
ทางด้านชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ไอเอ็มเอฟคงตัวเลขพยากรณ์สำหรับจีนเอาไว้คงเดิม นั่นคือปี 2016 จะโต 6.6% และปี 2017 อยู่ที่ 6.2% โดยที่ความสนับสนุนทางด้านนโยบายอันแข็งแกร่ง และการเติบโตของสินเชื่อ กำลังก่อให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม รายงานของไอเอ็มเอฟว่าการขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนของจีนที่กำลังเติบโตอย่างน่ากลัวอันตราย และการอุดหนุนพวกรัฐวิสาหกิจเพื่อเลื่อนเวลาการประกาศยอดขาดทุนที่กำลังเลวร้ายเป็นประวัติการณ์ กำลังเสี่ยงที่จะทำให้ต้องมีการปรับตัวอย่างยุ่งเหยิงโกลาหลในท้ายที่สุด

ส่วนอินเดีย ไอเอ็มเอฟปรับตัวเลขคาดการณ์สูงขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 7.6% สำหรับทั้ง 2 ปี ขณะเดียวกัน รัสเซียจะได้ประโยชน์จากการกระเตื้องขึ้นของราคาพลังงาน ทั้งนี้รายงานล่าสุดนี้บอกว่า ภาวะการหดตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียและบราซิลจะสิ้นสุดลง

อ็อบสต์เฟลด์ระบุว่า อัตราการเติบโตของโลกที่ยังอ่อนแออย่างยืดเยื้อเช่นนี้ ทำให้ประชาชนรายได้ต่ำที่ถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง และกลายเป็นเชื้อเพลิงให้แก่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง “ซึ่งประณามโลกาภิวัตน์ว่าเป็นตัวการของความลำบากเดือดร้อนทั้งหลายทั้งปวง” และมุ่งเรียกร้องให้มีการตั้งกำแพงกีดกันการค้า โดยที่การลงประชามติให้ “เบร็กซิต” เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของกระแสนี้

“กล่าวโดยสรุป การเติบโตอยู่ในภาวะที่ต่ำเกินไปเป็นเวลายาวนานเกินไป และในประเทศจำนวนมากด้วยแล้ว ผลประโยชน์ของการเติบโตยังไปถึงมือผู้คนจำนวนน้อยเกินไป ทำให้เกิดแรงสะท้อนกลับทางการเมืองซึ่งน่าที่จะบีบคั้นอัตราการเติบโตของโลกต่อไปอีก” อ็อบสต์เฟลด์กล่าว

รายงานของไอเอ็มเอฟกล่าวด้วยว่า ความเสี่ยงอื่นๆ ต่อทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในยังมีดังเช่น ความปั่นป่วนวุ่นวายที่ยังดำเนินต่อไปจากการที่จีนกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับดันโดยผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น, การลดต่ำลงอีกครั้งของราคาสินค้าโภคภัณฑ์, การตั้งกำแพงกีดกันการค้ากันเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย, และ “ความขัดแย้งตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ก็อาจระเบิดปะทุ เป็นการเพิ่มเติมจากวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมซึ่งเกิดขึ้นอยู่แล้วในตะวันออกกลางและแอฟริกา”

กำลังโหลดความคิดเห็น