xs
xsm
sm
md
lg

จีน‘สั่งสอน’ญี่ปุ่นอย่ามา‘จุ้น’ในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

China’s red line on South China Sea
By M.K. Bhadrakumar
09/08/2016

หลังจากกล่าวเตือนซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าอย่าได้เข้ามาแทรกแซงในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ทว่าญี่ปุ่นไม่ยอมรับฟัง แถมยังกลายเป็นประเทศวงนอกซึ่งพยายามแสดงบทบาทยุแหย่ประเทศเอเชียอาคเนย์อีกด้วย ดังนั้นจึงเกิดกรณีที่เรือจีนเป็นร้อยๆ ลำ ปรากฏตัวรอบๆ หมู่เกาะพิพาทซึ่งญี่ปุ่นครอบครองอยู่ในทะเลจีนตะวันออก และมีเรดาร์ทางทหารที่แท่นขุดเจาะก๊าซของจีน ใกล้ๆ เส้นกึ่งกลางในทะเลระหว่างจีนกับญี่ปุ่น

เมื่อพิจารณาจากเครื่องบ่งชี้ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว หลังจากที่กล่าวเตือนญี่ปุ่นซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าอย่าได้เข้ามาแทรกแซงในกรณีพิพาททะเลจีนใต้ ในที่สุดปักกิ่งก็ตัดสินใจว่าพอกันที และส่งสัญญาณสำแดงความไม่พอใจของตนออกมา

โตเกียวเป็นผู้เต็มอกเต็มใจเองที่จะใช้ความพากเพียรพยายามอย่างมากเป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นยั่วเย้าปักกิ่ง โดยไม่เพียงแสดงความสมัครสมานเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วยถ้อยคำ (และการกระทำ) กับพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเรื่องทะเลจีนใต้เท่านั้น หากยังกำลังยุแหย่ประเทศเหล่านี้อีกด้วย

คำแถลงของโตเกียวเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเมื่อเร็วๆ นี้ บางทีอาจจะเป็นคำแถลงซึ่งใช้ถ้อยคำแรงที่สุด ในบรรดาประเทศทั้งหมดที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นปัญหานี้

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีนได้แถลงว่า สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และออสเตรเลีย กำลัง “โหมกระพือเปลวไฟ” ของความตึงเครียดในภูมิภาค ภายหลังที่พวกเขาออกคำแถลงร่วมซึ่งมีเนื้อความเรียกร้องจีนอย่าได้ก่อสร้างที่มั่นทางทหารหรือถมทะเลสร้างเกาะในน่านน้ำพิพาทต่างๆ ในทะเลจีนใต้

หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการฝ่าฟันผลกระทบต่อเนื่องทางการทูตจากคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร โดยที่ทั้งการประชุมของอาเซียนและการประชุมซัมมิตอาเซมเมื่อเร็วๆ นี้ต่างไม่ได้เอ่ยอะไรสักคำเกี่ยวกับเรื่องนี้ ปักกิ่งก็หันกลับมาหาญี่ปุ่น เพื่อให้โตเกียวได้รับรู้รสชาติว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกคนอื่นมายั่วเย้ายุแหย่

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้พบเห็นเรือประมงจีนเป็นร้อยๆ ลำทีเดียวโดยที่มีเรือของหน่วยยามฝั่งสิบกว่าลำคอยคุ้มกันอยู่ด้านข้าง แล่นอยู่รอบๆ หมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออกซึ่งจีนกับญี่ปุ่นพิพาทกันอยู่ โดยที่เวลานี้หมู่เกาะดังกล่าวอยู่ในการครอบครองของฝ่ายหลัง

ญี่ปุ่นยังเกิดมาทราบด้วยว่าจีนได้ติดตั้งเรดาร์คุณภาพระดับที่ใช้ในทางการทหาร ที่แท่นขุดเจาะก๊าซแห่งหนึ่งใกล้ๆ เส้นกึ่งกลาง (median line) ระหว่างประเทศทั้งสองในพื้นที่แถบนั้น

แน่นอนอยู่แล้ว โตเกียวรู้สึกโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ รัฐมนตรีต่างประเทศ ฟูมิโอะ คิชิดะ (Fumio Kishida) ของญี่ปุ่น เรียกเอกอัครราชทูตจีน เฉิง หย่งหวา (Cheng Yonghua) มาพบ 2 ครั้งซ้อน และแถลงให้ทราบกันอย่างเป็นทางการว่า เรียกมาเพื่อแจ้งให้ทราบว่าสายสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น “กำลังเสื่อมทรามลงอย่างสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตเฉิงยืนกรานว่า หมู่เกาะดังกล่าวเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่มิอาจแบ่งแยกได้ของประเทศจีน “ผมแจ้งท่าน(รัฐมนตรี) ... มันเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เรือของจีนต้องประกอบกิจกรรมในน่านน้ำดังกล่าว” เฉิงบอกกับพวกผู้สื่อข่าว (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.bbc.com/news/world-asia-37019028)

เรื่องความตระหนักสำนึกเกี่ยวกับจังหวะเวลาของจีน ก็ต้องถือว่าประหลาดน่าสนใจทีเดียว กล่าวคือ เมื่อวันจันทร์ (8 ส.ค.) ที่ผ่านมา “ยูเอสเอส เบนฟอร์ด (USS Benford) เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพิ่งเดินทางถึงท่าเรือเมืองชิงเต่าของจีน ซึ่งเป็นฐานของกองเรือภาคเหนือ (northern fleet) ของประเทศจีน เพื่อจัดการฝึกซ้อมด้านสัญญาณกับกองทัพเรือจีน

ในวันจันทร์ (8 ส.ค.) เช่นเดียวกัน ฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ผู้ซึ่งประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพิเศษทำหน้าที่ติดต่อกับจีน ได้บินไปยังฮ่องกงเพื่อการพูดจาอันมีจุดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์กับจีน รามอสบอกว่า “ผมเป็นเพียงแค่อย่างที่เขาพูดกันว่า ไอซ์ เบรกเกอร์ (ice breaker) คนทำให้น้ำแข็งละลาย เพื่อฟื้นฟูให้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านฉันมิตรที่ดีของประเทศพวกเรา บังเกิดความอบอุ่นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง นั่นแหละคือทั้งหมดที่ผมจะต้องทำ" (ดูรายละเอียดได้ที่ http://news.xinhuanet.com/english/2016-08/08/c_135575372.htm)

ช่างบังเอิญคล้องจองอะไรอย่างนี้! ที่จริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคราวนี้มีข้อสรุปซึ่งมีประโยชน์บางประการที่ควรแก่การเก็บรับจดจำ(สำหรับอินเดีย) ประการแรกเลย ปักกิ่งถือสาจริงจังมากกับการที่ฝ่ายซึ่งอยู่วงนอกไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเขาโดยตรงเฉกเช่นญี่ปุ่น จะเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันอย่างไม่จำเป็นในกรณีพิพาทของแดนมังกรในทะเลจีนใต้

ประการที่สอง พวกฝ่ายที่สามที่ชอบจุ้นจ้านก้าวก่ายทั้งหลาย สามารถคาดหมายได้เลยว่าจะเจอกับ “ผลข้างเคียงที่ไม่มีความจำเป็น” –ถ้าหากจะขอยืมใช้วลีหนึ่งซึ่งปรากฏอยู่ในบทวิจารณ์ของหนังสือพิมพ์ “โกลบอลไทมส์ “ (Global Times แทบลอยด์ขายดีในเครือของ เหรินหมินรึเป้า หนังสือพิมพ์ที่ถือเป็นปากเสียงอย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน –ผู้แปล) ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า India should focus on preserving good economic ties with China, rather than on the S. China Sea (อินเดียควรโฟกัสที่เรื่องการสงวนรักษาสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีกับจีน แทนที่จะวุ่นวายกับเรื่องทะเลจีนใต้) (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.globaltimes.cn/content/999240.shtml)

ประการที่สาม ขึ้นอยู่กับประเทศนั้นๆ เอง อย่างเช่น ญี่ปุ่น (หรืออินเดีย) ที่จะต้องทำการวิเคราะห์ด้านต้นทุนต่อผลตอบแทน (cost-benefit analysis) และกำจัดความคิดในเรื่องที่ว่าพวกเขาอาจจะสามารถเข้าแสดงบทบาทในกรณีพิพาททะเลจีนใต้นี้ได้

ประการที่สี่ โตเกียวตกอยู่ในฐานะลำบากจากการกระทำสิ่งที่คนอื่นๆ เขาไม่ทำกัน และตอนนี้ก็ต้องเผชิญกับการรับโทษด้วยตัวเอง ไม่น่าเป็นไปได้เลยที่สหรัฐฯหรือออสเตรเลียกำลังมองหาทางแสดงอะไรสักอย่างในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งพวกเรือของจีนกำลังชุมนุมรวมตัวกันอยู่

ประการสุดท้าย จีนไม่ได้รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการประชุมซัมมิตกลุ่ม จี20 (กลุ่ม 20 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก) ที่กำหนดจัดขึ้นในเมืองหางโจว ของจีนระหว่างวันที่ 4-5 กันยายนนี้ จนกระทั่งไม่กล้าขยับแสดงความไม่พอใจบรรดาชาติที่จะเข้าประชุมอย่างเช่นญี่ปุ่น แน่นอนทีเดียว จีนทำงานหนักมากในเรื่องวาระของ จี20 (เพื่อให้การประชุมซัมมิตคราวนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะถือเป็นศักดิ์ศรีเกียรติคุณของชาติเจ้าภาพ -ผู้แปล) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ข้อพิพาททางดินแดนนั้น จีนถือเป็น “ประเด็นปัญหาแกนกลาง” (core issue) มันจึงมีความแตกต่างกันอย่างมากมายนัก

(เก็บความจากข้อเขียนในบล็อก Indian Punchline)

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น