xs
xsm
sm
md
lg

‘โป๊ปฟรานซิส’ เพิ่มบทบาทบนเวทีสากล ขณะสหรัฐฯและเพลเยอร์อื่นๆ ไม่อาจแสดงความเป็นผู้นำของโลก

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

A kiss in Havana: Pope rolls out his ‘Mission Impossible’ on world stage
BY Francesco Sissi
13/02/2016

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก และสำนักวาติกันของพระองค์ กำลังเข้าไปเกี่ยวข้องและเพิ่มบทบาทในกิจการระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สหรัฐฯ , เพลเยอร์รายใหญ่ที่อาจเป็นคู่แข่งขันของสหรัฐฯ อย่างเช่น รัสเซีย และจีน, ตลอดจนสหประชาชาติ และองค์การระหว่างประเทศทั้งหลาย ล้วนแต่ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำของโลกได้ เนื่องจากตระหนักรับรู้ถึงสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น โป๊ปและสำนักวาติกัน จึงเคลื่อนเข้ามาอุดช่องโหว่ดังกล่าว

ปักกิ่ง - สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก และสำนักวาติกันของพระองค์ กำลังเข้าไปเกี่ยวข้องและเพิ่มบทบาทในกิจการระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังความประหลาดใจไม่ใช่น้อยแก่ผู้คนและพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ของโลก

การแสดงออกล่าสุดของแนวโน้มดังกล่าวนี้ คือการพบปะกันครั้งประวัติศาสตร์ในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส กับ อัครบิดรคีริลล์ (Patriarch Kirill) แห่งคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซีย (Russian Orthodox) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ การ “จุมพิต” กันในเชิงสัญลักษณ์ระหว่างพระสันตะปาปาฟรานซิส กับ อัครบิดรคีริลล์ ในห้องรับรองวีไอพีของท่าอากาศยานกรุงฮาวานาครั้งนี้ เป็นหลักหมายแสดงให้เห็นถึงการพบปะหารือกันครั้งแรกในรอบระยะเวลา 1,000 ปีระหว่างประมุขของคริสตจักรทั้งสอง และก็เป็นการแสดงท่าทีทางการเมืองซึ่งเล็งเป้าหมายไปยังรัสเซียอีกด้วย ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พระสันตะปาปายังทรงกระทำสิ่งที่ไม่เคยมีโป๊ปองค์ใดเคยทำมาก่อน ด้วยการส่งคำอวยพรเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติของจีน ไปยังประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังมีพระดำรัสด้วยว่า โลก “ไม่ควรต้องกลัวการผงาดขึ้นมาของจีน” ในระหว่างการประทานสัมภาษณ์พิเศษแก่เอเชียไทมส์ (ดูรายละเอียดต้นฉบับภาษาอังกฤษของเรื่องนี้ได้ที่ http://atimes.com/2016/02/at-exclusive-pope-francis-urges-world-not-to-fear-chinas-rise/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยได้แล้วที่ http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000017586)

เมื่อเหลือบมองอย่างผิวเผินในตอนแรก แนวโน้มเช่นนี้อาจจะแลดูเหมือนกับเป็นปาฏิหาริย์ ทว่าพัฒนาการเหล่านี้ล้วนมีรากเหง้าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มันเป็นการสืบต่อแบบแผนวิธีการในการรับมือกับกิจการต่างๆ ของโลก ที่คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้เคยใช้มาในอดีต แต่ดูโดดเด่นชัดเจนมากขึ้นในช่วงนี้ สืบเนื่องจากสหรัฐฯ, บรรดาคู่แข่งของสหรัฐฯ, สหประชาชาติ และองค์การที่มีอยู่ในปัจจุบันรายอื่นๆ ต่างประสบความล้มเหลว ไม่สามารถที่จะแสดงความเป็นผู้นำให้แก่โลกได้ เนื่องจากตระหนักรับรู้ถึงสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น โป๊ปและสำนักวาติกันของพระองค์จึงเคลื่อนเข้ามาอุดช่องโหว่ดังกล่าว

ปฏิกิริยาต่อความล้มเหลวของสหรัฐฯ

กล่าวโดยสรุปแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า พวกนโยบายแบบมุ่งเผชิญหน้าทั้งหลาย ซึ่งสหรัฐฯและพันธมิตรของพวกเขานำมาปฏิบัติอยู่ในตอนนี้ ใช้ไม่ได้ผลไม่ว่าต่อจีน, รัสเซีย, หรือในตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน สหประชาชาติหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เวลานี้ก็ไม่ได้ทำหน้าที่อุปถัมภ์ค้ำชูให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกิดความเจ็บปวดเดือดร้อน ได้ดำเนินการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน พระองค์ยังทรงเล็งเห็นด้วยว่า ความพยายามที่จะประกาศใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้าต่อชาติต่างๆ อย่างเท่าเทียมเสมอหน้ากันนั้น กำลังล้มเหลวไม่อาจที่จะปลดชนวนของสิ่งที่มีความหมายเท่ากับเป็นการปะทะสู้รบกันระหว่างอารยธรรมทั้งหลาย

แต่การที่เราจะสามารถทำความเข้าใจได้ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้บังเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น จำเป็นที่จะต้องย้อนเวลากลับไปสัก 20-30 ปี ไปสู่ช่วงเวลาหลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลงไม่นาน และในปีแรกๆ ของคณะบริหารของประธานาธิบดีบิลล์ คลินตัน ในตอนนั้นเองวอชิงตันได้ดำเนินการผลักดันครั้งมโหฬารเพื่อทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ การเปลี่ยนโฉมแปรรูป องค์การความตกลงทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade หรือ แกตต์) ที่ยังมีความบกพร่องไม่ครอบคลุม อีกทั้งใช้งานมานานหลายสิบปีแล้ว ให้กลายเป็น องค์การการค้าโลก (World Trade Organization หรือ WTO) คือส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของความพยายามดังกล่าว สัมฤทธิผลจาก WTO ทำให้อเมริกาทึกทักเอาว่า นี่คือการที่พวกเขาสามารถที่จะนำเอาระเบียบกฎเกณฑ์ทางการลงทุนและการค้าของพวกเขาเอง มาประยุกต์ดัดแปลงให้ส่วนอื่นๆ ของโลกต้องใช้ตาม

หากพูดกันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่ผู้คนจำนวนมากพากันปฏิเสธไม่ยอมรับโลกทัศน์อย่างอื่นๆ ไม่ว่าแบบใดทั้งสิ้น รวมทั้งเชื่อว่าโลกนั้น “แบน” หรือก็คือสามารถที่จะนำเอาระเบียบกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ภูมิภาคใดๆ ของโลกก็ได้ทั้งสิ้น ทัศนะมองความเป็นจริงแบบด้านเดียวมิติเดียวเช่นนี้ ยังได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารโทรคมนาคมแบบเคลื่อนที่ อันเป็น 2 อุตสาหกรรมที่สหรัฐฯก็เป็นผู้นำอยู่

การเดินหน้าไปอย่างแน่วแน่ด้วยศรัทธาความเชื่อมั่นเต็มร้อยเช่นนี้ ประสบกับปัญหาสะดุดติดขัดครั้งใหญ่ครั้งแรกเมื่อเกิดวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997-1998 (หรือที่ในเมืองไทย มีผู้คนนิยมเรียกขานกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” –ผู้แปล) พวกนักเก็งกำไรยังพยายามที่จะบังคับให้เงินเยนญี่ปุ่น ซึ่งเวลานั้นมีฐานะเป็นสกุลเงินทรงอำนาจเป็นอันดับ 2 ของโลก ต้องปรับลดค่า ทว่าพวกเขาล้มเหลวไม่สามารถโค่นล้มเงินหยวนของจีนที่ขณะนั้นอ่อนแอกว่าเงินเยนญี่ปุ่นนักหนา สืบเนื่องจากเงินหยวนยังคงได้รับการปกป้องคุ้มครองจากมาตรการเชิงบริหารแบบโบร่ำโบราณหยาบๆ ของรัฐบาลแดนมังกร

การสะดุดติดขัดที่สำคัญใหญ่โต ยังมีอยู่อีกประการหนึ่ง กล่าวคือ ตั้งแต่ตอนปลายทศวรรษ 1990 สถานการณ์ก็เป็นที่ชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ในโลกใหม่อันฮึกห้าวเหิมหาญแห่งเสรีภาพทางการค้านั้น จีนกลับเป็นผู้ที่กำลังได้รับประโยชน์มากยิ่งกว่าสหรัฐฯนักหนา กระแสเปิดเสรีทางการค้าที่วอชิงตันเร่งรัดผลักดัน ซึ่งก็คือการผ่อนคลายลดทอนกำแพงขวางกั้นกีดกันการค้าทั้งหลาย จึงกลายเป็นการเปิดทางให้สินค้าส่งออกจากจีนที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ บุกทะลักเข้าไปท่วมท้นตลาดสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การประกาศชัยชนะเหนือสกุลเงินตราอื่นๆ ในโลกของเงินดอลลาร์อเมริกัน ยังถูกขัดจังหวะจากการถือกำหนดขึ้นมาของสกุลเงินตราใหม่อีกสกุลหนึ่ง ได้แก่ เงินยูโร ซึ่งจะถูกใช้เพื่อชำระบัญชีธุรกรรมในสหพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งก็คือ ยุโรป

อุปสรรคเครื่องกีดขวางเหล่านี้ ยังไม่สาหัสหนักหนาเพียงพอที่จะหยุดยั้งไม่ให้สหรัฐฯเดินหน้าปฏิบัติให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกของตนได้ก็จริงอยู่ แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็ต้องถือว่าโผล่ขึ้นมาอย่างที่มิได้มีการคาดหมายกันมาก่อน เป็นการสั่นคลอนความเชื่อความหวังของพวกนักวางแผนชาวอเมริกันจำนวนมากที่เล็งว่าโลกจะต้อง “แบนราบ” ลงมาเรื่อยๆ ในเมื่อพิจารณาจากสัญญาณอันปลุกเร้าให้กำลังใจต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นเต็มไปหมดในช่วงที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเผชิญอยู่เหล่านี้ ได้ถูกผสมหลอมรวมเข้าไปสู่ปัญหาอันใหญ่โตยิ่งกว่านั้นในกิจการระหว่างประเทศซึ่งสหรัฐฯเผชิญอยู่ นับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นว่า มีสงครามใหญ่เกิดขึ้นใน 2 สมรภูมิ คือ อัฟกานิสถาน และอิรัก แล้วยิ่งซับซ้อนยุ่งเหยิงเพิ่มขึ้นอีกจากกระแส “การปฏิวัติดอกมะลิ” ในตะวันออกกลาง (jasmine revolution ทั้งนี้ชื่อที่ดูจะนิยมเรียกขานกันและเป็นที่รู้จักมักคุ้นมากกว่าคือ “อาหรับสปริง” Arab Spring -ผู้แปล) ถึงแม้สหรัฐฯจะได้ทุ่มเททั้งชีวิตเลือดเนื้อและเงินทองงบประมาณเข้าไปเป็นจำนวนมากมาย แต่ก็ล้มเหลวไม่อาจผลิตดอกผลตามที่พวกเขาต้องการ ซึ่งได้แก่การเปลี่ยนแปลงตะวันออกกลางและเอเชียกลางให้กลายเป็นโมเดลแห่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจและทางการติดต่อสื่อสาร

ผลสรุปสุดท้ายออกมาว่า อเมริกาประสบความล้มเหลวไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำของโลกอย่างชัดเจนทั้งในทางเศรษฐกิจและในทางการเมือง ในอีกด้านหนึ่ง พวกเพลเยอร์รายใหญ่รายอื่นๆ ก็ล้มเหลวเช่นเดียวกัน ยุโรปนั้น ไม่ว่าจะพูดในแง่รวมๆ หรือว่ากันเป็นรายประเทศ ต่างล้มเหลวในการแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นผู้นำอันซับซ้อนลึกซึ้งซึ่งจำเป็นต้องมีทั้งในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัสเซียจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถึงแม้ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะก้าวหน้าไปตามวาระที่ตนเองจัดวางเอาไว้ ทว่าแดนหมีขาวยังคงอยู่ห่างไกลนักจากความสำเร็จในการผลักดันความทะเยอทะยานที่มีอยู่ตั้งแต่ในยุคอดีตสหภาพโซเวียตให้คืบหน้าไป สำหรับญี่ปุ่น ประเทศนี้อยู่ในอาการพังทลายทางการเมือง แดนอาทิตย์อุทัยลืมไปหมดแล้วถึงแรงขับดันที่ตนเองเคยมีในยุคทศวรรษ 1980 ที่จะแข่งขันเอาชนะสหรัฐฯ เวลานี้พวกเขากลับมีความพอใจเพียงแค่ที่จะได้เล่นบทเป็นพระรองของอเมริกาในเอเชียเท่านั้น

ในส่วนของจีน แดนมังกรได้ใช้จ่ายโอกาสอย่างทิ้งๆ ขว้างๆ เมื่อตนเองอยู่ในช่วงนาทีทองที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกภายหลังจากวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกปะทุขึ้นในปี 2008-2009 (ในเมืองไทยมีบางคนนิยมเรียกว่าเป็น วิกฤต “แฮมเบอร์เกอร์” เพราะจุดเริ่มต้นปะทุคือวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ –ผู้แปล) แดนมังกรสามารถสั่งสมชื่อเสียงเกียรติภูมิในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นระยะเวลาแทบจะตลอด 1 ทศวรรษด้วยการเข้าช่วยเหลือลดทอนผลกระทบต่างๆ อันเกิดจากวิกฤตการเงินเอเชีย กระทั่งภายหลังที่เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2008 นั้น บารัค โอบามา แทบจะอยู่ในอาการพินอบพิเทาสุดฤทธิ์ เมื่อเดินทางไปประเทศจีนเพื่อขอให้ปักกิ่งปรับเพิ่มค่าเงินหยวน

ทว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ปักกิ่งกลับมีข้อวินิจฉัยอันผิดพลาด แดนมังกรไม่ได้ตระหนักเลยว่าคำร้องขอของโอบามานั้นแท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อยู่ในฐานะตัวแทนของอเมริกาเท่านั้น หากแต่มันเป็นแรงบีบคั้นของทั่วโลกทีเดียวที่ต่อต้านไม่พอใจค่าเงินหยวนที่ถูกเกินไป ครั้นแล้วเริ่มต้นจากปี 2010 เป็นต้นมา แดนมังกรก็เกิดกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนกับพวกชาติเพื่อนบ้านอยู่ไม่หยุดไม่หย่อน ทั้งกับญี่ปุ่นในทะเลจีนตะวันออก และกับประเทศอื่นๆ ในทะเลจีนใต้ เหล่านี้ทำให้จีนตกอยู่ในสภาพเหมือนอยู่ตรงบริเวณตาของมหาพายุที่กำลังก่อตัว

ลงท้ายแล้ว ขณะที่สหรัฐฯประสบความล้มเหลวในการใช้อำนาจของตน จีนและผู้ที่อาจกลายเป็นคู่แข่งขันรายอื่นๆ ก็ประสบความล้มเหลวไม่สามารถคว้าลูกบอลที่วอชิงตันทำตกอยู่ขึ้นมาเล่นต่อ และจบลงด้วยการล้มเหลวดำดิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าอเมริกาเสียอีก

ก้าวเข้าไปเต็มเติมช่องโหว่ที่เกิดขึ้น

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงก้าวเข้าไปอุดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นตรงนี้ และจากการกระทำเช่นนั้น พระองค์ก็กำลังทรงดำเนินไปตามบทสคริปต์ที่เคยเกิดขึ้นมานมนานในประวัติศาสตร์ คริสตจักรโรมันคาทอลิกนั้นมีจุดยืนประกาศเรียกร้องสันติภาพในช่วงเวลาทั้งก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 วาติกันยังแสดงบทบาทในตอนสิ้นสุดสงครามเย็นด้วยการเข้าช่วยเหลือนำพาให้การปกครองคอมมิวนิสต์มีอันล้มครืนลงไปในโปแลนด์ จากนั้นในเวลาต่อมา วาติกันก็กลับเล่นบทบาทในทางตรงกันข้าม ด้วยการช่วยเหลือปกปักรักษาการปกครองคอมมิวนิสต์ในคิวบา

เมื่อทรงตระหนักว่าโลกกำลังเกิดสุญญากาศแห่งความเป็นผู้นำ พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ทรงแสวงหาหนทางที่จะนำพาสำนักวาติกันกลับคืนเข้าสู่แสงไฟสปอตไลต์ระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง วัตถุประสงค์ของพระองค์ก็คือการนำพาคริสตจักรโรมันคาทอลิกเข้าสู่ใจกลางของกิจการโลก แบบเดียวกับที่คริสตจักรนี้ได้เคยยืนอยู่ตรงนั้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง โดยในคราวสุดท้ายก็คือในยุคเรอนาซองซ์ (Renaissance) ก่อนที่โลกคริสเตียนจะเกิดการแตกร้าวแบ่งแยกออกเป็นเสี่ยงๆ จากการล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ออทอดอกซ์ (Orthodox Byzantine Empire) ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ภายใต้เงื้อมมือของพวกเติร์ก และจากการก้าวผงาดขึ้นมาของลัทธิโปรเตสแตนต์ (Protestantism) ในภาคเหนือของยุโรปตอนช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 16

พลังงานอันมีชีวิตชีวาชนิดที่มุ่งมองไปข้างหน้าของพระสันตะปาปาฟรานซิส ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับของคณะนักบวชเยซูอิต (Jesuits) ในคริสต์ศตวรรษที่ 16, คณะนักบวชฟรานซิสกัน (Franciscans) ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือกระทั่งอาจเท้าความย้อนกลับไปจนถึง นักบุญเปาโลอัครทูต (St. Paul the Apostle) ในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 1 ยุคสมัยเหล่านั้นก็เป็นกระจกสะท้อนถึงยุคสมัยปัจจุบัน เมื่อ 500 ปีที่แล้ว โรมตกอยู่ใต้วงล้อมของพวกโปรเตสแตนต์ทางตอนเหนือ และพวกมุสลิมซึ่งอยู่ทั้งทางตอนใต้และทางตะวันออก เพื่อเป็นการตอบโต้ คณะเยซูอิต ได้เคลื่อนไหวไปทางตะวันออก สิ่งที่คณะนักบวชเยซูอิตกระทำ อันที่จริงแล้วก็เป็นการสะท้อนกระแสที่เคยเกิดขึ้นในยุคกลาง (Middle Ages) ซึ่งมีความพยายามมุ่งเสาะแสวงหา เพรสเตอร์ จอห์น (Prester John) บุคคลในตำนานผู้ลี้ลับที่กล่าวขานร่ำลือกันว่าเป็นกษัตริย์คริสเตียนแห่งเอเชีย

ทว่าจุดประสงค์อันแท้จริงของคณะเยซูอิตในคริสต์ศตวรรษที่ 17 และ 18 คือการหาทางทำให้ผู้คนในราชอาณาจักรต่างๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่อย่างเช่นจีน, ญี่ปุ่น, และฟิลิปปินส์ เปลี่ยนศาสนาความเชื่อโดยหันมาเข้ารีตเป็นชาวคริสต์ ภายหลังผ่านกระบวนการเช่นนี้เอง คริสตจักรคาทอลิกก็สามารถกอบกู้เกียรติศักดิ์ศรีและอิทธิพลที่สูญเสียไปในยุโรปให้กลับมาคืนได้ในบางระดับ และส่งผลช่วยให้คาทอลิกฟื้นตัวกลับขึ้นมาใหม่ในประเทศจำนวนมาก แม้กระทั่งในพวกประเทศโปรเตสแตนต์เหนียวแน่นอย่าง เยอรมนี หรือ อังกฤษ

แต่แล้วความเสื่อมโทรมก็ไล่ติดตามมาอีก คณะเยซูอิตประสบความสำเร็จมากเกินไปและถูกแยกสลาย พวกเขาต้องสูญเสียความสำเร็จอันใหญ่โตมหึมาที่พวกเขาสร้างขึ้นมาได้ในประเทศจีน (ในจีนนั้น พวกเขาประสบความสำเร็จถึงขนาดที่ได้รับความไว้วางพระทัยสนิทชิดใกล้จากองค์พระจักรพรรดิบัลลังก์มังกรทีเดียว) ตลอดจนในประเทศโปรเตสแตนต์ต่างๆ

ย้อนหวนกลับมาในปัจจุบัน เกมการเล่นบนเวทีโลกของสมเด็จพระสันตะปาปาคืออย่างไรกันแน่ ? พระองค์ทรงตระหนักดีว่า การตั้งหน้าตั้งตาเผชิญหน้ากันกับจีน, รัสเซีย, หรือกับฝ่ายต่างๆ ที่กำลังทำสงครามกันอยู่ในตะวันออกกลางนั้น ไม่ได้แก้ปัญหาและไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นได้ มนตร์ขลังแห่งการทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง “แบนราบ” เท่าเทียมเสมอภาคกันภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ทางการค้านั้น ก็กำลังถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นมนตราแห่งความผิดพลาด เช่นเดียวกับแนวความคิดที่จะสร้างสันติภาพด้วยการนำเอาทั่วทั้งโลกเข้ามาอยู่ใต้หลังคาเก่าๆ ของสหประชาชาติตลอดจนองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ซึ่งถือกำเนิดออกมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้รับความนิยมน้อมรับอีกต่อไปแล้ว

คำถามประการสำคัญที่สุดอยู่ที่ว่า ในเมื่อสถานการณ์ทั้งหมดดำเนินไปเช่นนี้ และองค์พระประมุขคริสตจักรคาทอลิกก็ทรงมีพระทัยแน่วแน่ที่จะแสดงบทบาทในกิจการโลกมากขึ้นเรื่อยๆ อเมริกาซึ่งถึงแม้ไม่ใช่มีอำนาจทางการเมืองในโลกอย่างเด็ดขาดสัมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ยังคงมีฐานะเหนือกว่าอย่างโดดเด่นกว่าใครๆ จะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร? อเมริกาจะเดินตามหรือว่าจะคัดค้านพระสันตะปาปา? แล้วพวกประเทศอื่นๆ ล่ะจะว่าอย่างไร? นี่เป็นเรื่องที่พระสันตะปาปาและวาติกันจะต้องก้าวเดินไปอย่างประคับประคองตัว มุ่งแสดงบทบาทแห่งการสร้างความสมดุลซึ่งลำบากยากเย็นอย่างยิ่งยวดทีเดียว

ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทน

การเดินหมากของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ดูเหมือนจะเริ่มต้นได้อย่างเปี่ยมด้วยความหวัง เป็นที่ชัดเจนว่าวอชิงตันนั้นตระหนักยอมรับว่าตนเองต้องขอความช่วยเหลือจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ในการฟื้นคืนสายสัมพันธ์กับคิวบา และเท่าที่ปรากฏจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีใครส่งเสียงตะโกนก้องเพื่อคัดค้านการที่พระองค์ทรงกระชับไมตรีจิตความสัมพันธ์กับคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซีย

แท้ที่จริงแล้ว พระสันตะปาปาพระองค์นี้ทรงมุ่งแสวงหาทางปรองดองกับกับบรรดาคริสตจักรออทอดอกซ์ต่างๆ ตลอดทั่วทั้งโลก ซึ่งมีคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซียเป็นสมาชิกรายใหญ่ที่สุด โดยในจำนวนคริสต์ศาสนิกชนออทอดอกซ์บนพื้นพิภพนี้จำนวนราว 300 ล้านคนนั้น เป็นออทอดอกซ์รัสเซียถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงปรารถนาที่จะช่วยให้รัสเซียหลุดพ้นจากฐานะซึ่งถูกโดดเดี่ยวในปัจจุบัน และจะทรงกระทำเรื่องนี้โดยไม่ทรงสร้างความแปลกแยกให้แก่อเมริกา หรือแก่คริสตจักรออทอดอกซ์กรีซ ตลอดจนออทอดอกซ์อื่นๆ [1]

ทั้งหมดเหล่านี้ช่างลำบากยากเย็นประดุจภารกิจอันเป็นไปไม่ได้ในภาพยนตร์ “Mission Impossible” ทว่าภารกิจลำบากยากเย็นเช่นนี้แหละคือพระภารกิจขององค์สันตะปาปา ในส่วนเรื่องที่พระองค์ทรงทอดไมตรีไปยังประเทศจีนนั้น ถึงแม้ในแวดวงตะวันตกยังมีบางส่วนสงวนความเห็นและบางส่วนกระทั่งออกมาคัดค้าน ทว่าก็ไม่ได้มีแรงต่อต้านคัดค้านถึงขั้นดุเดือดรุนแรง

ยังจะต้องคอยเฝ้าติดตามกันต่อไปว่า สมมุติฐานอันหลากหลายและพลวัตทางการเมืองอันสลับซับซ้อนซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวขึ้นมาแล้วเหล่านี้ จะก่อให้เกิดผลในทางใด คำถามอันสำคัญภายในระยะใกล้เฉพาะหน้านี้ประการหนึ่งก็คือ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย จะใช้สายสัมพันธ์ความเชื่อมโยงต่างๆ ในอนาคต ซึ่งคริสตจักรออทอดอกซ์ “ของเขา” จะมีขึ้นกับคริสตจักรโรมันคาทอลิก เพื่อฟันฝ่าเจาะทะลุภาวะถูกโดดเดี่ยวทางการเมืองซึ่งรัสเซียต้องประสบอยู่ นับตั้งแต่การเริ่มต้นความเป็นปรปักษ์ต่างๆ ขึ้นในยูเครนหรือไม่ ในกรณีนี้ คริสตจักรโรมันคาทอลิกอาจจะแสดงบทบาททางบวกด้วยการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างมอสโกกับโลกตะวันตก ทว่าก็เฉกเช่นเดียวกับตัวกลางไกล่เกลี่ยทั้งหลายทั้งปวง การแสดงบทบาทดังกล่าวนี้น่าจะก่อให้เกิดทั้งค่าใช้จ่ายและทั้งผลตอบแทนแก่สำนักวาตินกัน

หมายเหตุ

[1] ดูรายละเอียดที่ Vatican Insider La scommessa russa di Papa Francesco (http://www.lastampa.it/2016/02/11/vaticaninsider/ita/vaticano/la-scommessa-russa-di-papa-francesco-v7yRfjBRP8y4iJzJbMh73K/pagina.html)
และ Gianni Valente and Parolin: l’incontro tra il Papa e Kirill segno di intesa per il mondo
(http://www.lastampa.it/2016/02/11/vaticaninsider/ita/vaticano/parolin-lincontro-tra-il-papa-e-kirill-segno-di-intesa-per-il-mondo-RzhtYACJPZXyOq2upP0sjI/pagina.html)

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวของเอเชียไทมส์ รวมทั้งเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) ตลอดจนเขียนเรื่องให้แก่สิ่งพิมพ์อิตาลีและสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศจำนวน หนึ่ง เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทาง สังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง

หมายเหตุผู้แปล

ในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งก่อนหน้านี้ซึ่งนำออกเผยแพร่ในเอเชียไทมส์เช่นกัน ฟรานเชสโก ซิสซี ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพบปะกันระหว่างพระสันตะปาปาฟรานซิส กับ อัครบิดรคีริลล์ ที่กรุงฮาวานา คราวนี้ ในแง่มุมอื่นๆ ซึ่งก็มีความน่าสนใจมาก ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:

การพบปะกันระหว่าง โป๊ปฟรานซิส กับ ผู้นำคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซีย อาจกลายเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’
โดย ฟรานเชสโก ซิสซี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Game changer — Pope Francis and the Russian Patriarch
BY Francesco Sissi
05/02/2016

ปักกิ่ง - สำนักวาติกันแถลงข่าวเขย่าโลกเมื่อวันศุกร์ (5 ก.พ.) ที่ผ่านมา โดยประกาศว่า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส กับ อัครบิดรคีริลล์แห่งมอสโก (Patriarch Kirill of Moscow) จะพบปะกันในกรุงฮาวานา ประเทศคิวบา วันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ (ดูรายละเอียดข่าวนี้ได้ที่ http://www.theguardian.com/world/2016/feb/05/pope-francis-to-meet-russian-orthodox-leader-in-cuba) ในการหารือแลกเปลี่ยนทัศนะครั้งประวัติศาสตร์และเต็มไปด้วยความสำคัญเชิงสัญลักษณ์

อัครบิดรคีริลล์ ทรงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของศาสนิกชนผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์นิกายออทอดอกซ์รัสเซีย (Russian Orthodox) จำนวนกว่า 150 ล้านคน โดยที่ออทอดอกซ์รัสเซียนั้นมีจำนวนราวครึ่งหนึ่งของผู้คนที่เลื่อมใสในคริสตจักรอีสเทิร์นออทอดอกซ์ (Eastern Orthodox Church) 300 ล้านคนทั่วโลก อัครบิดรคีริลล์ ยังทรงเป็นพลังทางศาสนาซึ่งอยู่เบื้องหลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ผู้ซึ่งมักมีทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างและปีนเกลียวกับของพวกประเทศตะวันตกอยู่บ่อยๆ

ในอีกด้านหนึ่ง พระสันตะปาปาฟรานซิสแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก คือผู้นำของศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ถ้าคำนวณกันแบบแยกเป็นแต่ละนิกายศาสนา) ด้วยจำนวนศาสนิกชนที่เลื่อมใสศรัทธาทั้งสิ้นราว 1,200 ล้านคน พระองค์ทรงเป็นตัวแทนขององค์การทางจิตวิญญาณ ซึ่งได้เคยแสดงบทบาทอันสำคัญยุคสงครามเย็น ในการต่อสู้คัดค้านแนวรบไม่เชื่อถือพระเจ้าและต่อต้านศาสนาของเครือประเทศคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี สงครามเย็นนั้นสิ้นสุดลงไปนานแล้ว และโลกทัศน์ของผู้คนทั่วโลกในปัจจุบันก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาล

ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อในเวลานี้ คริสตจักรคาทอลิกไม่ได้พาตัวเองไปผูกติดเข้าร่วมกับผู้นำโลกคนใดคนหนึ่ง หากแต่วางตนเป็นพลังหนึ่งซึ่งปรารถนาที่จะนำใครก็ตามที่ยินดีจะเดินตาม ยิ่งกว่านั้น คริสตจักรนี้ยังกำลังวุ่นวายอยู่กับการจัดทำแผนการเพื่อการเข้าสู่ “ภูมิรัฐศาสตร์” ในวิถีทางพิเศษของตนเอง ทั้งนี้ตามความเห็นของ อันโตนิโอ สปาดาโร (Antonio Spadaro) ที่เขียนเอาไว้ใน ลา ชีวิลตะ กัตโตลีกา (La Civiltà Cattolica) สิ่งพิมพ์ของคณะนักบวชเยซูอิต ฉบับประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ (เรื่อง La diplomazia di Francesco. La misericordia come processo politico เขียนเป็นภาษาอิตาลี) จานนี วาเลนเต (Gianni Valente) ชาวอิตาลีที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับวาติกัน ให้ความเห็นว่า ทัศนะในข้อเขียนชิ้นนี้ของสปาดาโร คือการเปิดช่องให้มองเห็นถึงแนวความคิดของพระสันตะปาปา เนื่องจากสิ่งพิมพ์คณะเยซูอิตเล่มนี้ ก่อนนำออกเผยแพร่ต้องถูกทบทวนตรวจสอบโดยสำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐของนครวาติกัน (Vatican Secretariat of Stat)

คริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซีย แยกห่างออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สำนักวาติกันในกรุงโรม มาเป็นเวลาหลายศตวรรษแล้ว ภายหลังเกิดการร้าวฉานกันระหว่างสำนักวาติกันกับคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople เมืองหลวงของจักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่าจักรวรรดิไบแซนไทน์ และก็หมายถึงคริสตจักรออทอดอกซ์ด้วย -ผู้แปล) เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเทววิทยาที่คลุมเครือและสลับซ้อนประเด็นหนึ่งเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในส่วนของคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซียเองนั้น มอสโกมักมองตนเองว่าเป็นโรมแห่งที่ 3 และเป็นทายาทของจักรวรรดิไบแซนไทน์ ซึ่งได้ถูกชาวเติร์กที่เป็นมุสลิมตีแตกและยึดครองไปตั้งแต่ปี 1453 หากพิจารณาจากมุมมองของฝ่ายรัสเซียแล้ว โรมหรือคริสตจักรโรมันคาทอลิก ถูกตราหน้าเรื่อยมาว่าเป็นพวกเล่ห์เหลี่ยมจัดและก้าวร้าวมุ่งรุกราน ทั้งนี้ภายหลังที่คริสต์ศาสนิกชนของทั้งสองฝ่ายได้มีการร่วมมือกันอย่างไร้ความสุขเป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างสงครามครูเสด ซึ่งสิ้นสุดลงด้วยการที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกนักรบครูเสดฝ่ายตะวันตกปล้นชิงและยึดครองในปี 1204

นอกจากนั้นแล้ว เบื้องหลังของข้อถกเถียงทางเทววิทยา ยังมักจะมีประเด็นปัญหาของการเมืองในหมู่ชาวคริสต์แอบแฝงอยู่ คำถามใหญ่ที่สุดได้แก่ ใครควรที่จะเป็นผู้นำของศาสนาคริสต์ทั่วโลก? ควรที่จะเป็นพระสันตะปาปาในกรุงโรม ซึ่งทรงมีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ หรือว่าควรเป็นกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยมีทั้งอัครบิดรและจักรพรรดิไบแซนไทน์ ครองอำนาจเหนือกว่า?

สายสัมพันธ์ระหว่างคริสตจักรทั้งสองกลับกระเตื้องดีขึ้นอย่างมากมายในช่วงศตวรรษที่แล้ว ภายหลังรัสเซียตกอยู่ใต้การปกครองแบบคอมมิวนิสต์นับจากการปฏิวัติบอลเชวิกเมื่อปี 1917 โรมแสดงความสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อคริสตจักรออทอดอกซ์รัสเซียตลอดยุคสมัยสหภาพโซเวียต ทว่าเมื่อจักรวรรดิโซเวียตล้มครืนลงมาตอนปลายทศวรรษ 1980 การสนับสนุนดังกล่าวก็แตกกระจัดกระจายเป็นเสี่ยงๆ ชาวคาทอลิกโปแลนด์เข้าไปยุ่งเกี่ยวพัวพันกับกิจการของออทอดอกซ์รัสเซีย ขณะที่เหล่าผู้นำใหม่ที่ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ในมอสโก ก็มองเขม็งไปที่คริสตจักรพื้นถิ่นของตนแห่งนี้เพื่อหาความสนับสนุนทางการเมือง

กล่าวได้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างขาดไร้ความสำนึกในเรื่องความละเอียดอ่อน ฝ่ายรัสเซียมองว่าสิ่งที่ฝ่ายชาวโปแลนด์กำลังกระทำอยู่ในกิจการทางศาสนาของพวกเขาก็คือการรุกรานทั้งทางจิตวิญญาณและทางการเมือง เรื่องนี้ส่งผลไปสู่การสะบั้นความผูกพันกับทางโรมหลังจากที่สายสัมพันธ์ดังกล่าวได้รับการถักทอปักร้อยกันอย่างระมัดระวัง ในระหว่างเวลาหลายทศวรรษของความร่วมมือกันแบบใต้ดินแต่เหนียวแน่นมั่นคง

นี่เองคือเหตุผลที่ทำไมการพบปะกันที่คิวบาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ระหว่างพระสันตะปาปาฟรานซิน กับ อัครบิดรคีริลล์ จึงถูกมองว่ามีความสำคัญมากทั้งในทางศาสนาและในทางการเมือง มันเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรทั้งสองต่างต้องการการปรองดองทางศาสนา การปรองดองดังกล่าวนี้จะเพิกเฉยไม่สนใจพรมแดนทางการเมืองเก่าๆ ของยุคสงครามเย็น ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศที่ประมุขคริสตจักรทั้งสองพบปะกันในครั้งนี้ คือ คิวบา ที่เป็นชาติคาทอลิก ทว่าประเทศเกาะแห่งนี้ยังคงปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ โดยที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย และมีคำมั่นสัญญาทางการเมืองมากมายกับจีนซึ่งเป็นอีกชาติหนึ่งที่ยังคงประกาศตนเป็นคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการ แต่ในอีกด้านหนึ่งพระสันตะปาปาพระองค์นี้เอง ที่ได้ทรงแสดงบทบาทอันสำคัญมากในการปรับปรุงยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างฮาวานากับวอชิงตัน ด้วยเหตุดังกล่าว การพบกันระหว่างโป๊ปฟรานซิสกับอัครบิดรคีริลล์ จึงมีความมุ่งหมายที่จะให้เป็นการส่งสัญญาณเพรียกหาสันติภาพในทางการเมืองและทางศาสนา โดยที่ไม่มีการมุ่งคัดค้านต่อต้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ ละม้ายคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เมื่อพระสันตะปาปาทรงพบปะหารือที่กรุงโรม กับประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี (Hassan Rouhani) ซึ่งเป็นทั้งผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางจิตวิญญาณของอิหร่าน หรือเมื่อตอนที่พระองค์ทรงประทานสัมภาษณ์เรื่องจีนให้แก่ผู้เขียน (ฟรานเชสโก ซิสซี) ในฐานะคอลัมนิสต์ซึ่งทำงานให้เอเชียไทมส์ เว็บไซต์ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานอยู่ในฮ่องกง (ดูรายละเอียดต้นฉบับภาษาอังกฤษของการสัมภาษณ์นี้ได้ที่ http://atimes.com/2016/02/at-exclusive-pope-francis-urges-world-not-to-fear-chinas-rise/ หรือที่เก็บความเป็นภาษาไทยได้แล้วที่ http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000017586)

เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่า พระสันตะปาปาทรงต้องการที่จะเปลี่ยนเกมทางภูมิรัฐศาสตร์เก่าๆ ที่เต็มไปด้วยเลือดเนื้อเกรอะกรังของศตวรรษที่แล้ว เนื่องจากเกิดสงครามทางอุดมการณ์ถึง 2 ครั้ง อันได้แก่ สงครามต่อต้านลัทธิเผด็จการฟาสซิสต์ (Fascism มีความหมายครอบคลุมทั้งลัทธิฟาสซิสต์ของเบนิโต มุสโสลินี แห่งอิตาลี และลัทธินาซี ของ อดอฟ ฮิตเลอร์ แห่งเยอรมนี –ผู้แปล) และสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งนี้พระองค์ทรงปฏิเสธสิ่งที่เรียกกันว่า “หลักเหตุผลแห่งยัลตา” (Yalta logic) ซึ่งก็คือผลของการต่อรองกันระหว่างผู้นำของ 3 มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ สหรัฐฯ, อังกฤษ, และสหภาพโซเวียต ที่เมืองยัลตา ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทำการเฉือนแบ่งดินแดนยุโรปมาจัดตั้งประเทศต่างๆ ขึ้นใหม่ภายหลังที่ทวีปนี้ถูกพวกนาซีและพวกฟาสซิสต์รุกรานยึดครอง โดยที่พระองค์ได้ทรงระบุในคำสัมภาษณ์ที่ประทานแก่เอเชียไทมส์ว่า หลักเหตุผลแห่งยัลตา เป็นการตัดแบ่งเฉือนโลกประหนึ่งว่ามันเป็นก้อนขนมเค้ก แต่สิ่งที่พระองค์ทรงปรารถนาก็คือโลกที่มี “ก้อนขนมเค้กซึ่งเติบโตใหญ่ขึ้นสำหรับให้ทุกๆ คนสามารถแบ่งปันกันได้” สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องพึ่งพาอาศัยการมีความเคารพในอารยธรรมและวัฒนธรรมที่มีความผิดแผกแตกต่างกัน (พระองค์ทรงเน้นว่า ต้องเขียนคำว่า เคารพ ด้วยอักษรตัวโตๆ ) โดยที่ “ศาสนจักร (คาทอลิก) มีศักยภาพอย่างใหญ่โตมโหฬารในการยอมรับวัฒนธรรม”

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องที่พระสันตะปาปาทรง “กระตือรือร้นเกินไป” ในการแสวงหาทางฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตที่เป็นปกติกับจีน ตลอดจนในเรื่องที่พระองค์มิได้ทรงหยิบยกประเด็นปัญหาการขาดไร้เสรีภาพทางศาสนาในประเทศจีนและในประเทศอิหร่านขึ้นมาตรัสเลย ล้วนแล้วแต่ผิดพลาดมองไม่เห็นภาพใหญ่ตรงจุดนี้เอง สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสนั้นดูเหมือนจะทรงต้องการไปให้ถึงสิ่งที่ยากจะบรรลุยิ่งกว่าที่พวกนักวิพากษ์วิจารณ์พูดออกมานักหนา นั่นคือ พระองค์ทรงต้องการเปลี่ยนแปลงตรรกะของภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งครอบงำโลกในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20

จักต้องไม่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อคอยต่อต้านคัดค้านกลุ่มอื่นๆ อีกต่อไป จักต้องไม่มีความคิดอุดมการณ์ (ถึงบางครั้งบางคราวอาจใส่หน้ากากอำพรางว่าเป็นศาสนา) ที่ฝ่ายหนึ่งเผชิญหน้าเป็นปรปักษ์กับอีกฝ่ายหนึ่ง แทนที่จะยังคงใช้หลักเหตุผลของภูมิรัฐศาสตร์ยุคคริสต์ศตวรรษที่ 20 พระองค์กลับนิยมชมชื่นให้หมั่นคอยเสาะแสวงหาพื้นฐานที่มีอยู่ร่วมกัน โดยอาศัยการสนทนาแลกเปลี่ยนกัน, การมีเมตตาต่อกันและกัน, การเคารพในวัฒนธรรมและอารยธรรมที่ผิดแผกแตกต่างกัน, และการเป็นมนุษย์ที่สามารถเข้าใจความทุกข์ยากลำบากของคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงเพิกเฉยไม่สนพระทัยกับเส้นพรมแดนของศาสนา แต่ทรงต้องการที่จะเข้าไปให้ถึงทุกๆ ผู้คนทั้งชาวคริสต์, ชาวมุสลิม, และในกรณีของบทสัมภาษณ์ที่ทรงประทานให้แก่เอเชียไทมส์ ก็คือ ชาวจีน

สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแสวงหาหนทางกระทำสิ่งนี้ ด้วยการลดฐานะทางการเมืองของโรม ในฐานะที่เป็น “สำนักงานใหญ่” ของคริสตจักรคาทอลิก ทว่าการที่จิตวิญญาณของพระองค์แผ่กว้างออกไปสู่โลก ก็กลายเป็นการสร้างความเป็นศูนย์กลางอย่างใหม่ให้แก่ “บิช็อปแห่งโรม” เช่นพระองค์ โดยจะทรงกลายเป็นผู้ขับดันให้โลกไปสู่ดุลยภาพใหม่ ในที่นี้พระสันตะปาปามิได้ทรงเดินตามรอยสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เป็นต้นว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Emperor) ในโลกยุคกลาง แทนที่จะเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงดูเหมือนจะเข้าถึงบทบาทใหม่แห่งการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในทำนองเดียวกับที่มีพระสันตะปาปาบางองค์ได้เคยทรงกระทำในระหว่างยุคเรอนาซองซ์ (Renaissance)

ในวันเวลาเหล่านั้น คริสตจักรโรมันคาทอลิกยังถูกจำกัดให้อยู่แต่ในยุโรปและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากนั้นยังถูกล็อกให้อยู่ในการสู้รบขัดแย้งยาวนานหลายศตวรรษระหว่างคริสเตียนกับอิสลาม ทว่าเวลานี้ภูมิทัศน์ทางศาสนาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายมหาศาลแล้ว เวลานี้เป็นโลกที่ครึ่งหนึ่งของประชากรมิได้เป็นทายาทของศาสนาที่เคารพยึดถือคัมภีร์ไบเบิล (ศาสนาที่เคารพยึดถือคัมภีร์ไบเบิล ได้แก่ ศาสนายิว, คริสต์, และอิสลาม) ขณะที่ตรงบริเวณชายขอบของโลกปัจจุบันนี้ ปรากฏพวกซาตานแห่งสหัสวรรษใหม่ ซึ่งแอบอ้างอำพรางพวกเขาเองเป็นมุสลิม หรือเป็นพวกสุดโต่งประเภทต่างๆ ตัวอย่างเช่น พวกฮินดูจอมปลอมที่เที่ยวตั้งศาลเตี้ยทำร้ายชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในอินเดีย, พวกชาวพุทธจอมปลอมที่ทำร้ายชาวมุสลิมในพม่า

ในเวลาเดียวกันนั้น ศตวรรษปัจจุบันก็ได้ผ่อนคลายแรงบีบคั้นกดดันเชิงสถาบันบางอย่างบางประการลงไป เวลานี้คริสตจักรคาทอลิกไม่ได้แบกรับภาระของสิ่งที่เรียกกันว่า “รัฐสันตะปาปา” (Pontiff State) ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาได้ปนเปอย่างสับสนยุ่งเหยิงกับความมุ่งมาดปรารถนาในทางจิตวิญญาณและในทางการเมืองของโรม ถึงแม้ว่าภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (Western Roman Empire) รัฐสันตะปาปาเป็นผู้ที่ค้ำประกันให้โรมยังคงเป็นเอกราช ไม่ขึ้นต่อจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็ตามที

ในปี 2016 ดุลอำนาจในโลก และรัฐวาติกันที่มีขนาดเล็กจิ๋ว ก็เพียงพอแล้วที่จะค้ำประกันความอิสระทางศาสนาของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ซึ่งมิได้มีความทะเยอทะยานที่จะทำการรุกรานในทางการเมือง แต่ต้องการที่จะแสดงบทบาททางบวกเพื่อสันติภาพในโลก คณะบริหารโอบามา ก็เฉกเช่นเดียวกับรัฐบาลคิวบา ได้ยอมรับรองบทบาทดังกล่าวนี้ของพระสันตะปาปาแล้ว มอสโกดูเหมือนมีความปรารถนาที่จะเป็นหุ้นส่วนอีกผู้หนึ่งเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากการนัดหมายจัดการพบปะระหว่างอัครบิดรคีริลล์กับโป๊ปฟรานซิสในฮาวานาคราวนี้ นอกจากนั้นยังมีสัญญาณทำนองเดียวกันจากโลกมุสลิม ด้วยการที่พระสันตะปาปาทรงพบปะหารือกับประธานาธิบดีรูฮานี ส่วนในประเทศจีน บทสัมภาษณ์ที่พระสันตะปาปาทรงประทานแก่เอเชียไทมส์ ได้รับการเสนอเป็นข่าวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจากสื่อมวลชนท้องถิ่น

สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์นี้กำลังทรงเติมเต็มสุญญากาศทางการเมืองและทางจิตวิญญาณในโลกใบนี้ ซึ่งได้เกิดการแบ่งแยกกันอย่างล้ำลึกยิ่งเสียกว่าที่ถ้อยคำโวหารในยุคอดีตจักสามารถบรรยายออกมาได้ พระองค์กำลังทรงเผชิญหน้าความเป็นจริง และความเป็นจริงนั้นก็เข้มแข็งอย่างยิ่ง พระสันตะปาปาพระองค์นี้ทรงเป็นนักเผชิญความเป็นจริง โดยทรงทราบเป็นอย่างดีว่า ก่อนอื่นใดเลยจักต้องยอมรับความเป็นจริงอย่างที่มันเป็นอยู่ จากนั้นจึงจะสามารถใช้ความพยายามใดๆ ก็ตามเพื่อทำมันหรือเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นอย่างอื่น แบบแผนวิธีการของพระองค์มีความแข็งแกร่งขนาดไหนควรที่จะพิจารณาได้จากความสำเร็จอย่างแทบไม่ต้องอาศัยความพยายามเลย ซึ่งพระองค์ทรงได้รับอยู่จากการที่ทรงมุ่งมั่นไปสู่จุดมุ่งหมายของพระองค์ ในช่วงเวลาเพียง 2 ปีที่พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระประมุขคริสตจักรคาทอลิก

นี่แหละคือ “ตัวเปลี่ยนเกม” (game changer) กระทั่งใครก็ตามที่ล้มเหลวมองไม่เห็นตัวเปลี่ยนเกมนี้ ก็ยังอาจจะถูกมันบดบี้บีบบังคับอยู่ดี

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)

ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นคอลัมนิสต์ของเอเชียไทมส์ และเป็นนักวิจัยอาวุโสของมหาวิทยาลัยไชน่าเหรินหมิน (China Renmin University) เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าวของเอเชียไทมส์ รวมทั้งเคยเป็นบรรณาธิการด้านเอเชียให้แก่หนังสือพิมพ์รายวันอิตาลี ลา สตัมปา (La Stampa) และผู้สื่อข่าวประจำกรุงปักกิ่งให้แก่ อิล โซเล ดิ 24 โอเร (Il Sole di 24 Ore) ตลอดจนเขียนเรื่องให้แก่สิ่งพิมพ์อิตาลีและสิ่งพิมพ์ระหว่างประเทศจำนวน หนึ่ง เขาเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้เข้าโปรแกรมบัณฑิตศึกษาของบัณฑิตสถานทาง สังคมศาสตร์แห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Social Sciences) เขาเขียนหนังสือว่าด้วยจีนมาแล้ว 8 เล่ม และได้รับเชิญเป็นนักวิจารณ์จากทางสถานีโทรทัศน์ส่วนกลางของจีน (CCTV) อยู่บ่อยครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น